WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, March 9, 2011

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ทำไมถึงเปิดเขื่อนปากมูลไม่ได้?

ที่มา ประชาไท

วันที่ 4 มี.ค.54 ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระและกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ร่วมเวทีสัมมนาสาธารณะ 2 ทศวรรษปากมูลครั้งที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง “เปิดเขื่อนปากมูล น้ำแห้งจริงหรือ?” จัดโดยศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกองทุนเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ณ ห้องมาลัยหุวนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยในเวทีดังกล่าวมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงถอดความบางส่วนมานำเสนอ

000

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมไม่มีความรู้เฉพาะด้าน แบบคุณวิฑูรย์ หรือคุณมนตรีที่จะพูดเรื่องน้ำหรืออะไร แต่ผมสนใจเรื่องเขื่อนปากมูลในแง่ของสังคมและการเมืองไทยมากกว่า คือ เขื่อนปากมูลนับเป็นกรณีแรกๆ ในสังคมไทยเราเลยก็ได้ ที่ประชาชนระดับล่างๆ หน่อย ลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าอย่าสร้างเขื่อนปากมูล แล้วลุกขึ้นมาเป็นกอบเป็นกำ

ลองนึกย้อนกลับไปถึงการสร้างเขื่อนภูมิพลซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าเขื่อนปากมูลหลายสิบปี คนที่เคยมีชีวิตอยู่แถวที่มาการสร้างเขื่อนภูมิพลในทุกวันนี้ได้ถูกย้ายไปอยู่บนยอดเขาที่ปลุกอะไรไม่ได้เลย นอกจากหินซึ่งมันงอกขึ้นเองตามธรรมชาติ คือไปอยู่ในที่ที่คุณทำอะไรไม่ได้เลย แล้วก็ไม่มีการทัดทาน คือไม่ได้ร้องอะไรเลยสักแอะเมื่อตอนที่เขาจะสร้างเขื่อนภูมิพล สรุปก็คือว่า นโยบายสาธารณะในประเทศไทยขนาดใหญ่ๆ เช่น การสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้า ฯลฯ ประชาชนระดับเล็กๆ จะไม่เคยเข้ามามีส่วนในการบอกว่าอะไรสร้างได้ สร้างไม่ได้ คือพวกท่านทั้งหลายในทัศนะของผู้บริหารรัฐไทย ไม่มีตัวตน ไม่มีหน้าตา อย่าไปพูดถึงจะมีเสียงมาคัดค้านเลย ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นผมอยากจะพูดถึงประเด็นนี้มากกว่าประเด็นอื่น อย่างไรก็ตามแต่ อยากจะเตือนให้ก่อนว่า หลายคนบอกว่าผมเป็นเสื้อแดง ผมจะไม่รับ หรือไม่ปฏิเสธว่าผมเป็นเสื้อแดงจริงหรือไม่ คุณก็ฟังหูไว้หูก็แล้วกันนะครับ

ผมคิดว่า กรณีของการเคลื่อนไหวของประชาชนระดับล่างหน่อย ในการเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนโยบายสาธารณะนั้นมีการสืบทอดมา คือมองเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ว่า เมื่อประมาณ 22 ปีมาแล้ว มันมีคนที่เป็นชาวบ้านธรรมดาซึ่งไปนั่งที่ก้นแม่น้ำ “ท้าให้มึงระเบิดเหินใส่กู” จนตำรวดต้องไปลากตัวออกาจากก้นแม่น้ำ นี่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทยเราที่คนระดับนั้นจะลุกขึ้นมา แล้วใช้ทุกอย่างเท่าที่มีในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันกับเสื้อแดงที่ราชประสงค์ คือ “กูอยากจะบอกมึงว่าให้ยุบสภา” แต่คุณลองนึกย้อนกลับไปนะว่า การยุบสภานี่เป็นเกมหรือเป็นเครื่องมือการเล่นเกมทางการเมืองของคนระดับสูงๆ เท่านั้น ชาวบ้านไม่เกี่ยว “มึงเป็นใคร มึงมาบอกให้กูยุบสภา” หรือ “มึงเป็นใคร มึงมาบอกกูว่าสร้างเขื่อนได้ สร้างเขื่อนไม่ได้” ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับผม เป็นเรื่องน่าสนใจตรงนี้ว่า จริงๆ แล้วถ้ามองกรณีเขื่อนปากมูล การเคลื่อนไหวของประชาชนระดับล่างในการเข้ามามีส่วนในนโยบายสาธารณะนี่มันเกิดขึ้นมานานแล้ว และเกิดขึ้นก่อนเสื้อแดง เสื้อแดงหลายคนยังไม่ได้เกิดด้วยช้ำไป และนี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่าน่าสนใจในสังคมไทย

ผมจะไม่เข้าไปสู่รายละเอียดเรื่องเหตุผลว่าควรจะเปิดเขื่อนหรือไม่ควรเปิดเขื่อน เพราะผมคิดว่ามันชัดเจนมากๆ คือ กรณีไฟฟ้าเวลานี้ ในครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลนี้ก็ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นไปศึกษา หลังที่มีการศึกษากันมาหลายต่อหลายครั้ง เพราะวิธีการให้ไปศึกษา บอกว่าให้ไปศึกษาดูก่อน จริงๆ แล้วในทางการเมืองคือการบอกว่า “กูยังตัดสินใจตามมึงไม่ได้ เพราะกูมีอะไรที่วิเศษกว่าคนอย่างมึง เพื่อที่กูจะได้ตัดสินใจ กูจะไม่ฟังเสียงมึง” นั่นเอง ทั้งที่จริงๆ เวลาคนจำนวนมากค้านก็เป็นผลการศึกษาชนิดหนึ่งที่คุณจะใช้ตัดสินใจได้ แต่คุณบอกว่า “เฮ้ย... ถ้ากูตัดสินใจตามมึงอย่างนี้ กูก็ต้องฟังมึงข้างหน้าด้วยอีก” ฉะนั้นจึงเอางานศึกษาที่อ้างว่ามันดี เพราะอย่างน้อยถ้ากูจะตัดสินใจ กูไม่ได้ตัดสินใจตามที่มึงว่า แต่กูตัดสินใจตามที่นักวิชาการศึกษามา ก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการไปศึกษา เมื่อไปศึกษาก็จะพบข้อมูลเก่าๆ อย่างที่เขาได้ศึกษามาแล้ว 5 หน 7 หนอย่างที่ว่านั่นแหละ

สิ่งที่ได้ ข้อที่ 1 คือว่า สิ่งที่น่าสังเกตในเรื่องของงานศึกษาล่าสุดของรัฐบาลชุดนี้ก็คือว่า ข้อถกเถียงเรื่องไฟฟ้าแทบจะไม่มีแล้ว คือทุกคนยอมรับแล้วว่าเรื่องไฟฟ้านี่ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด หายไปแล้ว และข้อถกเถียงซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้ในเรื่องปลากระชังก็หายไปอีกเหมือนกัน ไม่มีใครมาพูดถึง ผมยังจำได้ว่าสมัยหนึ่ง กฟผ.เขาเคยบอกว่าถ้าเปิดเขื่อนเมื่อไหร่ แล้วคนที่จะเลี้ยงปลากระชังเขาจะไม่สามารถเลี้ยงปลากระชังได้ เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่คนเหล่านั้น แต่ข้อถกเถียงเหล่านี้ไม่ปรากฏในงานศึกษาชิ้นล่าสุดนี้แล้ว คือเหตุผลที่เคยใช้มาแล้วทั้งหลายหมดไป

ความมั่นคงด้านพลังงานหรือเสถียรภาพช่วงที่มีความต้องการไฟสูงสุด ที่ว่าถ้าไม่มีเขื่อนปากมูลแล้วมันจะลำบาก เพราะ กฟผ.อ้างตลอดมาว่าที่ต้องสร้างเขื่อนปากมูลนั้นไม่ใช่ต้องการตัวไฟฟ้าแท้ๆ แต่เพื่อประกันเสถียรภาพของพลังงานในอีสานใต้ ซึ่งไม่ใช่อีสานทั้งหมดด้วย แต่จริงๆ แล้วเขามีทางเลือกในการจะประกันความมั่นคงดังกล่าวตั้งแต่เมื่อ 22 ปีมาแล้ว ด้วยวิธีอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น เชื่อมสายส่งจากอีสานเหนือลงมาอีสานใต้ เป็นต้น แต่เขาเลือกที่จะทำเขื่อนปากมูลแทน ซึ่งข้ออ้างนี้ก็หายไปอีกแล้ว เพราะฉะนั้นโดยสรุปก็คือว่า คณะอนุกรรมที่ศึกษาเสนอรัฐว่าให้เปิดเขื่อนตลอดปี เปิดถาวรไปเลยไม่ต้องไปสนใจเรื่องอื่นอีกแล้ว

แต่ก็มาเกิดข้อถกเถียงใหม่คือว่าน้ำแห้ง ซึ่งคุณมนตรีก็คงจะพูดถึงต่อไป โดยวิธีการมองน้ำเหมือนกับท่อทีวีซี คุณเอาน้ำใส่ท่อไว้ แล้วคุณเอียงท่อเมื่อไหร่มันก็ไหลหมด แต่ว่าแม่น้ำมันไม่ใช่ท่อทีวีซี มันจะมีแก่ง มันจะมีความลาดชัน มันจะมีสิ่งที่เขาเรียกว่าแก้มลิงธรรมชาติ และอื่นๆ ที่เป็นการเก็บกักน้ำอีกเยอะมาก มันไม่เหมือนกับการที่เราเทน้ำผ่านท่อทีวีซี เทพรวดเดียวหมดแล้วแห้งเลย มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามแต่นี่เป็นความรู้เฉพาะด้านที่คุณมนตรีจะพูดถึง ตรงนี้ถือข้ออ้างอันใหม่ที่เกิดขึ้นมา และข้ออ้างอันใหม่นี้จะใช้ต่อไปอีกกี่ปีนั้นผมก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าข้ออ้างเหล่านี้ถ้าจะมีการใช้ต่อไป ไม่ว่าคุณมนตรีจะพูดว่าอะไร ไม่ว่านักวิชาการอื่นจะพูดว่าอะไรก็ตาม แต่ก็อาจจะใช้เป็นข้ออ้างต่อไปได้อีกระยะหนึ่งในการที่จะไม่เปิดเขื่อนปากมูล

ทำไมถึงเปิดเขื่อนปากมูลไม่ได้ ผมคิดว่ามันมีการเมืองสองสามระดับด้วยกันในประเทศไทย อันแรกสุดคือการเมืองที่เราเรียกว่าการเมืองท้องถิ่น เวลาที่เห็น สฺ.ส.มานั่งอยู่ในสภา เราดูเหมือนว่ามันเป็นการเมืองระดับชาติใช่ไหม แต่การที่ ส.ส.คนใดจะมานั่งในสภาได้นั้น ถามว่าหัวใจสำคัญอยู่ตรงไหน ไม่ใช่อยู่ที่การชื้อเสียงอย่างที่ชอบพูดกัน แต่อยู่ที่คุณสามารถตั้งเครือข่ายหัวคะแนนได้กว้างแค่ไหน ทีนี้ผมจะไม่เข้าไปสู่รายละเอียด มันมีงานศึกษาในเรื่องนี้เยอะมากเลยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับเครือข่ายหัวคะแนน เครือข่ายหัวคะแนนกับเครือข่ายหัวคะแนนด้วยกันเองมันเป็นอย่างไร

ผมจะไม่เข้าไปสู่รายละเอียด แต่ว่าเครือข่ายหัวคะแนนเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง และเครือข่ายหัวคะแนนคือผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายให้กับ ส.ส.ของตัวเอง ยิ่งถ้า ส.ส.ได้ขึ้นไปเป็นรัฐมนตรี ไอ้เครือข่ายหัวคะแนนจะได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับตัว ส.ส.ที่ตนเป็นผู้ผลักดันขึ้นไปมากทีเดียว เพราะฉะนั้นเวลาที่ใครออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูน ผมจึงคิดว่าที่คุณต้องไปดู คือไปดูว่า เครือข่ายหัวคะแนนมันได้มันเสียกับเรื่องเขื่อนปากมูลอย่างไร

ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ที่การปกครองเป็นการปกครองของหัวคะแนน โดยหัวคะแนน และเพื่อหัวคะแนนนะครับ ส.ส.และใครต่อใครก็แล้วแต่นั้นเป็นแต่เพียงคนที่เป็นตัวแทนของหัวคะแนนส่งมา สำหรับการในการจะตัดสินใจที่ดูมันเป็นทางการหน่อยเท่านั้นเอง อันนี้เป็นสิ่งที่การเมืองระดับท้องถิ่นจะกระทบต่อนโยบายสาธารณะค่อนข้างสูง แต่ว่าในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจด้วยว่า อย่าไปคิดว่าหัวคะแนนเหล่านั้นจะนั่งคิดว่าเราควรจะมีไฟฟ้า เราควรมีความมั่นคง ฯลฯ เขาไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น เข้าอาจจะคิดแค่เพียงว่าถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องซื้อที่ และเขาสามารถมีรายได้จากการเป็นนายหน้าขายที่ดินก็ได้... คือเป็นคนละเรื่องกับเรื่องพลังงาน คนละเรื่องกับเรื่องที่เรากำลังนั่งพูดกันอยู่ แต่ว่านี่คือของจริง

ประเด็นที่ 2 ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือว่า ในกระบวนการตัดสินใจด้านนโยบายสาธารณะในประเทศไทย มันมีการจัดช่วงชั้นของสังคมเอาไว้ค่อนข้างแน่นหนา หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าไอ้ตัวคนที่มันทำงานเฉพาะด้านทั้งหลาย เช่น ข้าราชการในกระทรวง กรม กองต่างๆ คนทำงานใน กฟผ. คนทำงานในรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย คนเหล่านี้ถูกถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเฉพาะด้าน และเขามีสิทธิในการตัดสินใจมากกว่าคนอื่น ทำไหมถึงเป็นอย่างนี้ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าในประเทศไทยเราเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน

คุณจะพูดว่ามนุษย์เราเสมอภาพอะไรก็แล้วแต่ แต่ลึกลงไปในหัวใจ คนไทยที่อยู่กันมา 7-8 ร้อยปีในประเทศนี้ เราเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน มันมีคนบางคนที่มีความรู้มากกว่าหรือมีความดีมากกว่า ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเหนือคนอื่น เหตุดังนั้น ไอ้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะทั้งหลายเหล่านี้ จะอ้างสองอย่างเสมอ คือหนึ่งอ้างว่ากูเก่ง กับสองอ้างว่ากูเป็นคนดีเสมอ เพื่อจะยึดอำนาจการตัดสินใจนี้เอาไว้ แม้แต่นักการเมืองที่เป็นหัวหน้าหัวคะแนนทั้งหลาย แล้วมานั่งในสภา นั่งในตำแหน่ง ครม.ยังไม่กล้าจะตัดสินใจ ไม่กล้าเข้าไปขวางกลุ่มคนที่เป็นราชการก็ตาม วิสาหกิจก็ตาม อย่างออกหน้าจนเกินไป

แม้แต่อย่างกรณีที่ อ.ชัยพันธ์ (ชัยพันธ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน) พูดถึงคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ซึ่งเป็นนักการเมืองที่สามารถกุมคะแนนเสียงในสภาได้สูงมาก การตัดสินใจของคุณทักษิณก็ยังออกมาในลักษณะประนีประนอม คือ เปิดเขื่อน 4 เดือน ปิดเขื่อน 8 เดือน เพื่อผลิตพลังงาน? ไม่ใช่ เพื่อจับปลา? ไม่ใช่ เพื่ออะไร? ก็เพื่อประนีประนอมทำให้ทุกฝ่ายพอใจหมด นี่คือเป็นเหตุผลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรในทางเทคนิคโดยสิ้นเชิง ไอ้ตัวกระบวนการช่วงชั้นของการตัดสินใจที่ว่านี้มันบังคับให้ยากมากเหลือเกินในการเปิดเขื่อนปากมูล

เขื่อนปากมูลสำหรับผม ผมว่ามันหมดสภาพไปนานแล้ว คือไม่ว่าคุณจะเถียงด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เรื่องไฟฟ้า เรื่องชลประทาน เรื่องอะไรเหล่านี้ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยเหลืออยู่แล้ว แต่ทำไมถึงไม่มีใครกล้าตัดสินใจเปิดเขื่อน ผมว่าเหตุผลมันอยู่ลึกกว่าเรื่องกรณีเทคนิค แต่มันไปอยู่ที่วัฒนธรรมทางการเมืองและสังคมของเราเองที่มีบังคับให้นักการเมืองไม่มีทางที่จะกล้าตัดสินใจในการเปิดเขื่อนปากมูล และในครั้งนี้ก็เหมือนกัน ในวันที่ 8 (การประชุม ครม.วันที่ 8 มีนาคม 2554) ผมเชื่อว่าจะมีการเลื่อนการตัดสินใจออกไปอีก คือจะตัดสินใจว่าไม่เอาแล้วไม่เปิดก็ไม่กล้า เพราะมันใกล้เลือกตั้งแล้ว จะตัดสินใจว่าเปิดก็ไม่กล้าอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องมีเหตุในการเลื่อนการตัดสินใจออกไปอีก แน่นอนที่สุด

สภาพอันนี้ มันเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น มาจนกระทั้งถึงประมานสัก 30 สิบปีมาแล้วซึ่งไม่เป็นไร แต่ตอนนี้มันเกิดขึ้นในสภาพที่ผมคิดว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างน้อยที่ปากมูนมันเปลี่ยนไปตั้ง 22 ปีแล้ว การที่คนธรรมดาที่นุ่งผ้าถุงแล้วไปนั่งอยู่ก้นแม่น้ำ บอกว่า “มึงระเบิดก็ระเบิดกูด้วย” ไม่ใช่ธรรมดานะครับ เรื่องอย่างนี้ผมเชื่อว่าพ่อขุนรามไม่เคยเห็นมาก่อน มันแตกต่างจากสิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ที่เป็นอย่างนั้น เราไม่มองในแง่ตัวบุคคลว่าผู้หญิงคนนั้นเก่งเหลือเกิน มันไม่ใช่ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานในสังคมไทยเลยทีเดียว ที่ทำให้คนจำเป็นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ

สมัยหนึ่งคนที่อยู่ตามชนบท อาจบอกว่า เฮ้ย.. มึงจะตัดสินใจอะไรเรื่องของมึงกูไม่เกี่ยว แต่บัดนี้มันทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว และเขาจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ย้อนกลับไปนะครับ รัฐไทยแย่งชิงทรัพยากรของประชาชนอันดับล่างไปสังเวยให้แก่นายทุนตลอดมา ผมว่าไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว เราไม่เคยแอะ (ปริปากบ่น) อะไรเลย แต่สัก 20 กว่าปีที่แล้ว เราเริ่มแอะ แล้วก็แอะมากขึ้นๆ มากขึ้นอยู่ตลอดมา ในขณะที่ตัวรัฐไม่เปลี่ยน แม้สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว รัฐก็ไม่เปลี่ยนและก็ยังยืนยันอยู่อย่างนี้ ใช้วิธีล่อหลอก คือแทนที่จะเอาตำตรวจไปตีหัวคุณ หรือยกทหารไปยิงคุณตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ใช้วิธีการเลื่อนการตัดสินใจไปเรื่อยๆ โดยที่เขาไม่ทำตามที่พวกคุณว่า

ถามว่า ถ้าอย่างนั้นมันจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ผมคิดว่า สิ่งน่าวิตกมากๆ ก็คือจะเกิดเหตุการณ์ดังเช่นที่ราชประสงค์อีก ไม่รู้แล้วรู้รอด เข้าใจไหมครับ ไม่รู้แล้วรู้รอดเพราะว่ารัฐหรือชนชั้นนำของรัฐไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เราหลีกหนีไม่พ้น เพราะมันได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมของเราเอง

ผมก็ไม่รู้จะให้บทเรียนอะไรแก่คนปากมูน หรือพี่น้องที่ร่วมในการต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูลมาเป็นเวลานาน ถามว่าไปร่วมต่อสู้กับพวกเสื้อแดงเสียดีไหม ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเสื้อแดงจะสนใจต่อปัญหาปากท้องอย่างแท้จริงของประชาชนในระดับนี้ คือถ้าเสื้อแดงต่อสู้เพียงเพื่อที่จะเปลี่ยนการเมืองระดับชาติโดยไม่สนใจปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตคน ไปร่วมก็ไม่มีประโยชน์อะไร เหตุดังนั้น สำหรับผมก็คือไม่มีคำตอบ นอกจากบอกกับพี่น้องว่า ปัญหาที่ท่านเผชิญอยู่เวลานี้ มันหนักหนากว่าเรื่องเปิดหรือไม่เปิดเขื่อนปากมูล มันเป็นปัญหาที่สังคมเราจะเอาตัวรอดโดยไม่ต้องนองเลือดกันอีกได้หรือไม่ ถ้าตัวชนชั้นนำของรัฐเราไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงว่า ประชาชนทุกระดับจำเป็นต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ

ผมขอยกตัวอย่าง สิ่งที่ผมชอบยกอยู่เสมอ เมื่อสมัยหนึ่งคุณทำนา คนส่วนใหญ่ของประเทศไทยทำนาเลี้ยงตนเองแต่เพียงอย่างเดียว รัฐบาลจะทำระห่ำอะไรก็เรื่องของรัฐบาล ไม่เกี่ยวอะไรกับเรานะครับ แต่บัดนี้เราจำเป็นที่จะต้องมาอยู่ในที่ซึ่งมันไม่ใช่ทำนาแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว คือรายได้ส่วนใหญ่ของคนไทยไม่ได้มาจากภาคเกษตรกรรม คุณต้องออกมาทำอะไรบางอย่างข้างนอก เช่น ขายก๋วยเตี๋ยวในหมู่บ้าน เมื่อคุณขายก๋วยเตี๋ยว นโยบายหมูของรัฐบาล จะกระทบต่อหม้อก๋วยเตี๋ยวของคุณ เพราะคุณต้องเอากระดูกหมูมาเคี่ยว ฉะนั้นจะบอกว่า “เฮ้ย... อย่าไปสนใจรัฐบาลเลย” มันจึงไม่ได้แล้ว สังคมมันเปลี่ยนเพราะอย่างนี้

และด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่า ถ้าเราไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และปรับตัวเองเพื่อเปิดรับให้ประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจจริงๆ ไม่ใช่เขียนแปะเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วไม่ต้องทำนะครับ เปิดให้ได้จริงๆ เท่านั้นที่เราจะสามารถหลุดพ้น หรือรอดไปจากการนองเลือดอย่างนั้นได้ อีก ขอบคุณมากครับ

เพิ่มเติมในช่วงท้าย

ผมคิดถึงอย่างนี้ว่า เมื่อสมัยที่ยังมีสมัชชาคนจนอยู่ พลังสำคัญของสมัชชาคนจนนั้นอยู่ที่การจัดองค์กร จริงๆ สมัชชาคนจนประกอบด้วยประเด็นปัญหาเป็นร้อยๆ เช่นเดียวกันขบวนที่เคลื่อนไหวกันอยู่ในเวลานี้ก็มีประเด็นปัญหาเกิน 500 ด้วยซ้ำไป แต่พลังมันไม่ค่อยมี ทำไมผมถึงพูดถึงสมัชชาคนจนและพลัง คืออย่างนี้ ผมคิดว่าชาวบ้านไม่มีเครื่องมือในการต่อสู้สักอย่างเดียว อันแรกคือว่าชาวบ้านไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนในระดับล่างสักพรรคเดียวในประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็ไม่มีสื่อ ไม่มีทีวีช่องไหนที่สนใจกับเรื่องของพี่น้องประชาจริงๆ ตามไปดูถึงที่ เข้าใจปัญหาของประชาชนระดับล้าง แล้วเอามาเล่าให้คนในกรุงเทพฯ ได้เข้าใจอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นการต้อสู้ทางการเมืองของพี่น้องถึงแม้ว่าจะมีจำนวนมากเท่าไรก็แล้วแต่ พลังมันน้อยมาก

เมื่อสักครู่มีผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งบอกกับผมว่า การชุมนุมที่อยู่บริเวณทำเนียบเวลานี้ พวกกลุ่มเสื้อเหลืองนี่มีจำนวนน้อยที่สุดเลย แต่ว่าคนในกรุงเทพฯ จะรู้เรื่องราวความต้องการของเสื้อเหลืองมากกว่าทุกปัญหาที่พวกท่านซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาลเสียอีก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือว่า ก็แน่นอนเสื้อเหลืองเขามีการจัดองค์กรภายในของเขาเอง ส่วนพวกท่านมีการจัดองค์กรเพียงเพื่อจะสามารถนำคนเขามาในกรุงเทพฯ ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะแพ้หรือชนะในครั้งนี้ ผมว่าสิ่งที่ท่านทั้งหลายต้องคิดก็คือว่าจะพัฒนาการจัดองค์กรอย่างไรให้มันเกิดพลังขึ้นจริงๆ

ผมคิดว่าในประเทศไทยยังอาจจะต้องใช้ถนนเป็นเครือมือในการต่อสู้ทางการเมืองต่อไปอีกนานพอสมควรทีเดียว มันคงไม่หมดไปในเร็ววัน เพราะฉะนั้นท่านจึงต้องคิดเรื่องการจัดองค์กรให้ดีๆ ถ้าต้องการจะมีพลังในการบังคับให้รัฐฟังท่านบ้าง