ที่มา ประชาไท การให้ประกันตัวแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) "แดงทั้งแผ่นดิน" พร้อมกับการจับกุมนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ในข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" (ป.อาญา ม.112) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงทางความคิด แนวทางนโยบาย และยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอย่างกว้างขวางภายในขบวนประชาธิปไตย จึงสมควรที่จะอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตร เพื่อผลักดันให้ขบวนประชาธิปไตยยกระดับคุณภาพทางความคิดและการจัดตั้งไปสู่ขั้นตอนใหม่ 1. กลยุทธ์ปล่อยตัว นปช. ปราบปราม "แดงสยาม" เป็นที่ชัดเจนว่า ฝ่ายปกครองเผด็จการต้องการตอกลิ่มความแตกแยกให้ขยายกว้างขึ้นระหว่างแกนนำ นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" กับแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ โดยหวังผลสองด้าน คือ ในด้านหนึ่ง ให้แกนนำ นปช. เกิดอาการหลงทิศผิดทาง ยึดติดอยู่กับแนวทางการต่อสู้และการจัดตั้งแบบเก่าที่เชื่อว่า สามารถต่อรองทำให้พวกตนได้รับการปล่อยตัว รวมทั้งให้มวลชนเกิดการระแวงสงสัยในตัวแกนนำ นปช. ซึ่งก็คือ กลยุทธ์ "ปล่อยตัวแกนนำ นปช.เพื่อทำลาย" ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ผู้ปกครองเผด็จการก็พุ่งปลายหอกแห่งการปราบปรามมาที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงย่อย ๆ ที่ไม่ได้สังกัด นปช. ที่พวกเขาเชื่อว่า "เป็นแดงล้มเจ้า" โดยหันมาใช้อาวุธข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อย่างเอาการเอางาน โดยเชื่อว่า นปช. จะไม่เคลื่อนไหวต่อต้านเนื่องจากแกนนำ นปช.ไม่ต้องการ "ติดเชื้อโรคแดงล้มเจ้า" ฉะนั้น จังหวะก้าวและท่าทีของแกนนำ นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" ต่อการเคลื่อนไหวอิสระของเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่สังกัดนปช. และต่อการกวาดล้าง "แดงสยามและแดงอื่นๆ" ของฝ่ายปกครองจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะกำหนดว่า แกนนำ นปช. จะยังดำรง "ภาวะการนำ" และ "ความเชื่อมั่น" ในหมู่มวลชนไว้ได้หรือไม่ ในเบื้องต้น จะต้องเข้าใจว่า การให้ประกันตัวชั่วคราวนี้เป็นกลยุทธ์หลอกลวงของฝ่ายปกครองหลังจากที่ปราบปรามคนเสื้อแดงทั้งด้วยอาวุธและกฎหมายมายาวนานและเป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ประสบความสำเร็จ นี่เป็นการรุกทางการเมืองที่แหลมคมที่มุ่งทำลายทั้งแกนนำ นปช.และแกนนำคนเสื้อแดงอื่นๆ โดยตรง แกนนำ นปช. จะต้องรับมืออย่างถูกต้องด้วยการสามัคคีกับแกนนำเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อต้านการปราบปรามรอบใหม่ด้วยเครื่องมือ ม.112 ของฝ่ายปกครองอย่างจริงจัง เพื่อยุติความกังวลสงสัยในหมู่มวลชน และพัฒนายกระดับการนำของขบวนประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การสามัคคีร่วมมือระหว่างแกนนำ นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" และกลุ่มเสื้อแดงอื่นๆ จะต้องยืนอยู่บนความเข้าใจร่วมกันในหลักการสำคัญจำนวนหนึ่ง 2. ลักษณะเฉพาะของมวลชนคนเสื้อแดง การประชุมแกนนำเสื้อแดงภาคตะวันตก 7 จังหวัดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ได้ตกผลึกทางความคิดและการจัดตั้งที่สำคัญ เป็นการบรรลุเอกภาพอย่างเป็นไปเองโดยปราศจากการชี้นำจาก นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" และคาดได้ว่า แกนนำเสื้อแดงในภาคอื่น ๆ จะทยอยกันบรรลุเอกภาพในลักษณะเดียวกัน ทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องหมายแสดงว่า การรวมตัวทางความคิดและจัดตั้งของมวลชนคนเสื้อแดงในท้องที่ทั่วประเทศกำลังเกิดการยกระดับคุณภาพครั้งสำคัญอย่างเป็นไปเอง ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ยิ่งใหญ่ไพศาลที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีความหลากหลาย เป็นประชาธิปไตย และเป็นอิสระอย่างสูง ประกอบด้วยชั้นชนต่าง ๆ หลากอาชีพ อายุ เพศ ศาสนา และมีหลายขนาด ตั้งแต่กลุ่มเล็กไม่ถึงสิบคน ไปจนถึงกลุ่มขนาดใหญ่กลุ่มละหลายพันคน กระจายกันหลายพันกลุ่มในเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดง กลุ่ม นปช.นั้นประกอบด้วยแกนนำจำนวนหนึ่งและมวลชนเสื้อแดงจำนวนมาก แต่ก็ไม่ครอบคลุมขบวนคนเสื้อแดงทั้งหมด ความจริงที่ว่า การชุมนุมใหญ่ของ นปช.ทุกครั้ง มีผู้คนเข้าร่วมมากกว่าการจัดกิจกรรมของกลุ่มเสื้อแดงอื่นๆ มิได้หมายความว่า มวลชนเสื้อแดงที่มาร่วมทั้งหมดขึ้นต่อ นปช. มวลชนคนเสื้อแดงนั้นไม่ยึดติดว่า ต้องเป็น นปช.หรือไม่ แต่ที่พวกเขามาร่วมชุมนุมกับแกนนำ นปช.อย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมากนั้น เพราะลักษณะของมวลชนคนเสื้อแดงคือ ความเป็นประชาธิปไตยและเสรีชน ในด้านความเป็นประชาธิปไตย พวกเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตนเองว่า อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางประชาธิปไตยในประเทศไทยคืออะไร การสังหารหมู่เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ทำให้พวกเขาตกผลึกชัดเจนว่า พวกเขาไม่ต้องการสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบประชาธิปไตยจารีตนิยม" ซึ่งเปลือกนอกอาจเป็นเผด็จการทหารหรือเป็นระบอบรัฐสภาหุ่นเชิด แต่มีเนื้อในเป็นเผด็จการของพวกจารีตนิยม พวกเขาต้องการระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่อำนาจอธิปไตยที่แท้จริงเป็นของปวงประชามหาชนในลักษณะเดียวกันกับที่มีแพร่หลายอยู่แล้วในบรรดาประเทศที่เป็นอารยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว มวลชนคนเสื้อแดงจึงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงทุกกลุ่ม เห็นคนเสื้อแดงทุกกลุ่มเป็นดั่งพี่น้อง เห็นแกนนำทุกกลุ่มประดุจญาติสนิท แต่พวกเขารู้ว่า ในกลุ่มต่าง ๆ นั้น แกนนำ นปช.มีศักยภาพมากที่สุดในทางบุคลากร ความสามารถส่วนบุคคล ทรัพยากร ตลอดจนความสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย สามารถสร้างผลสะเทือนทางการเมืองและมีอิทธิพลต่อสื่อมวลชนกระแสหลักได้ยิ่งกว่าแกนนำกลุ่มอื่นๆ จึงมีโอกาสมากกว่าที่จะผลักดันการต่อสู้ให้ก้าวไปในทิศทางใหญ่ที่พวกเขาต้องการ พวกเขาจึงหนุนช่วยแกนนำ นปช. อย่างเอาการเอางาน นัยหนึ่ง มวลชนคนเสื้อแดงกำลัง "ใช้งาน" แกนนำ นปช. ไปบรรลุจุดประสงค์ของตนแม้จะรู้ว่า แกนนำ นปช. มีขีดจำกัดทางเป้าหมายและทางความคิดที่สำคัญ ในขณะเดียวกัน มวลชนคนเสื้อแดงก็เป็นเสรีชน จึงมีการเรียนรู้เป็นของตนเอง บทเรียนอันเจ็บปวดเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ทำให้พวกเขายกระดับความคิดขึ้นสู่ขั้นใหม่ สุกงอมและชัดเจนในเป้าหมาย พวกเขาจึงตรวจสอบ ประเมิน และวิจารณ์ แกนนำนปช.และแกนนำกลุ่มอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ และในเมื่อ นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" เป็นกลุ่มที่มีผลสะเทือนมากที่สุด แกนนำ นปช.จึงต้องถูกประเมินวิจารณ์มากที่สุดด้วยทั้งจากมวลชนและจากแกนนำกลุ่มอื่นๆ นี่คือ "ภาระของการเป็นแกนนำใหญ่" ที่ควรแบกรับไว้ด้วยความอดทน อดกลั้น อ่อนน้อมถ่อมตน และใจกว้าง วาทกรรม "แดงเทียม" "แดงเสี้ยม" ที่ใช้กล่าวหากันระหว่างกลุ่มต่างๆ นั้นจึงสะท้อนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการทำลายความสามัคคี สมควรยุติ เพราะในขบวนประชาธิปไตยไม่มี "แดงแท้" ไม่มี "แดงเทียม" ไม่มี "แดงเสี้ยม" มีแต่ "แดง" เท่านั้น ความเป็นเสรีชนของคนเสื้อแดงยังหมายความว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของพวกเขา ไม่มีใครเป็น "ครูสั่งสอน" ของพวกเขา และที่สำคัญคือ ไม่มีใครไป "จัดตั้ง" พวกเขา พวกเขาเรียนรู้เอง เติบโตเอง รวมทั้ง "จัดตั้งตนเอง" ในรูปแบบและจังหวะก้าวที่ช้าเร็วของพวกเขาเองอีกด้วย วิธีการที่เอาความคิดสูตรสำเร็จรูปและการจัดตั้งแบบรวมศูนย์จากบนสู่ล่างไปยัดเยียดให้กับพวกเขา จึงขัดกับธรรมชาติของคนเสื้อแดงที่เป็นเสรีชน มีแต่จะทำลายความหลากหลายและริเริ่มสร้างสรรค์ของพวกเขา 3. ขบวนการมวลชนประชาธิปไตยแห่งศตวรรษที่ 21 ประสบการณ์ในการต่อสู้เผด็จการทั่วโลกช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสคลื่นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในตะวันออกกลาง ได้แสดงให้เห็นว่า ขบวนการมวลชนประชาธิปไตยสมัยใหม่มีลักษณะที่แตกต่างจากการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 19-20 และกลุ่มคนเสื้อแดงก็คือ แบบอย่างแรกสุดของขบวนการมวลชนสมัยใหม่นี้เอง ลักษณะสำคัญของขบวนการมวลชนแบบใหม่นี้คือ ไม่มีแกนนำ หรือมีหลายแกนนำ อีกทั้ง "แกนนำ" ที่ปรากฏก็ไม่ใช่แกนนำในความหมายเดิมที่เป็น "ผู้ชี้นำ ผู้กำหนดวาระ ผู้กำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ผู้ออกคำสั่ง" หากเป็นแต่เพียงผู้ประสานงาน ผู้ส่งสัญญาณ ขบวนการมวลชนสมัยใหม่นี้เกิดขึ้นในระบอบเผด็จการที่ฝังรากลึกมายาวนาน ผู้ปกครองมีเครือข่ายอำนาจและผลประโยชน์ที่กว้างขวางหยั่งลึก แทรกแซงควบคุมองค์กรสังคมและสื่อสารมวลชนทุกส่วนอย่างเบ็ดเสร็จ การต่อสู้ของมวลชนจึงต้องใช้การจัดตั้งและเครื่องมือที่ผู้ปกครองควบคุมได้น้อยที่สุดคือ การรวมตัวจัดตั้งในรูปสภาหรือสมัชชาประชาชนในแนวนอนและจากล่างสู่บน ที่ไม่มีแกนนำหรือ มี "หลายแกนนำ" ใช้สื่อสารไร้สาย เครือข่ายสังคมอินเทอร์เน็ต และสื่อดิจิตอลเป็นเครื่องมือสื่อสาร โฆษณาเผยแพร่ข้อมูล และรณรงค์ต่อสู้กับผู้ปกครองเผด็จการ ประสานกับการต่อสู้บนท้องถนนไปสู่ชัยชนะ สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นคนแรกที่เข้าใจลักษณะของการเคลื่อนไหวมวลชนสมัยใหม่นี้และเรียกชื่อได้อย่างสวยงามว่า การเคลื่อนไหวแบบ "แกนนอน" ขบวนคนเสื้อแดงได้พัฒนาเข้าสู่การเคลื่อนไหวมวลชนลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจนภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่ซึ่งคนเสื้อแดงแต่ละกลุ่มคือ "แกนนอน" ที่รวมตัวกัน ริเริ่มสร้างสรรค์และเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ด้วยเครื่องมือดิจิตอลหลากหลายในมือ แม้แต่นักรบไซเบอร์ที่มีอยู่หลายพันคนในปัจจุบัน แต่ละคนก็เป็นเสมือน "แกนนอนออนไลน์" ในตัวเอง แกนนำไม่ว่ากลุ่มใดจะต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะในขั้นตอนใหม่นี้ของคนเสื้อแดง ความพยายามที่จะ "ดึงมวลชนกลับ" ให้เข้ามาอยู่ในกรอบความคิดสูตรสำเร็จและการจัดตั้งแนวดิ่งที่ตายตัวอันเป็นลักษณะของการเคลื่อนไหวในศตวรรษที่ 19-20 นั้นขัดกับธรรมชาติของมวลชน และจะถูกมวลชนปฏิเสธ ที่ผ่านมา แกนนำ นปช.เป็นหนี้ต่อการเคลื่อนไหวแบบแกนนอนนี้เอง ที่ประสานหนุนช่วยในยามที่ถูกคุมขัง แน่นอนว่า นปช. มีลักษณะจำเพาะที่ไม่ใช่ "แกนนอน" แต่ก็สามารถเป็นกำลังสำคัญผลักดันการก้าวไปของขบวนเสื้อแดงแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยการสนับสนุนส่งเสริม ร่วมมือและประสานกัน
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
11 มีนาคม 2554