ที่มา Thai E-News
ดังนั้นเพื่อให้พวกเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมมีความมั่นคงในชีวิต เศรษฐกิจและสังคม เพื่อความเป็นธรรม ความเสมอภาค เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยของประชาชนที่แท้จริง เพื่อให้พวกเราได้ในสิ่งที่พวกเราถูกขูดรีดไปกลับคืนมา และเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเรา ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงขอใช้โอกาสวันสตรีสากล วันแห่งความเสมอภาคและความเป็นธรรมนี้ประกาศว่า “พอกันที”
ที่มา เฟซบุ๊คJittra Cotchadet
8 มีนาคม 2554
แถลงการณ์กรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย วันสตรีสากล
พวกที่ออกมาเรียกร้องสิทธิสตรี ส่วนหนึ่งอาจทำให้เราหลงเชื่อว่า ผู้ชายคือต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง และผู้หญิงต้องลุกขึ้นปลดแอกจากการกดขี่ของผู้ชาย
แต่ลองมองดูความเป็นจริงสิ! มีแต่ผู้หญิงที่ต้องขายแรงงานหรือเปล่า? มีเฉพาะผู้หญิงที่ถูกเลิกจ้างหรือเปล่า? มีแต่เฉพาะผู้ชายที่เป็นนายจ้างหรือเปล่า? มีแต่เฉพาะผู้ชายที่อยู่ในรัฐบาลอยู่ในรัฐสภาหรือเปล่า?
เปล่าเลย! ชนชั้นกรรมาชีพผู้ถูกขูดรีดมีทั้งผู้หญิง มีทั้งผู้ชาย และรวมถึงเพศอื่นๆ ขณะเดียวกันชนชั้นผู้เอาเปรียบก็ประกอบด้วยผู้หญิง ผู้ชาย และรวมถึงเพศอื่นๆเช่นกัน ดังนั้นปัญหามันจึงไม่ใช่เรื่องเพศ แต่มันเป็นเรื่องของชนชั้นต่างหาก นายทุนไม่ว่าเพศใด เชื้อชาติใด สัญชาติใด หรือศาสนาใด ก็ขูดรีดกรรมาชีพโดยไม่เลือกหน้าว่ากรรมาชีพคนนั้นจะสังกัดเพศใด เชื้อชาติใด สัญชาติใด หรือศาสนาใด ซึ่ง คลาร่า แซทคิน ผู้นำกรรมกรสตรีที่ให้กำเนิดวันสตรีสากลก็ยืนยันเช่นนี้
ปัจจุบัน ท่ามกลางวิกฤติทุนนิยมที่เป็นระบบซึ่งเติบโตมาจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากชนชั้นกรรมาชีพอย่างพวกเรา การดำรงชีพของพวกเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมกลับลำบากมากขึ้น ชนชั้นนายทุนผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตได้ฉวยโอกาสนี้ลดสวัสดิการ หรือไม่ก็ปลดพวกเราออกจากโรงงานที่พวกเราสร้างมากับมือ รวมทั้งเปลี่ยนระบบการจ้างงานโดยนำเอาการจ้างงานแบบเหมาช่วง ซึ่งขูดรีดหนักกว่ามาแทนระบบที่ขูดรีดอยู่เดิม เพียงเพื่อรักษาไว้ซึ่งกำไรสูงสุดที่พวกเขาทำมาโดยตลอดไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจแบบไหน
แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลแทบทุกชุดไม่ว่าที่อ้างความชอบธรรมจากการเป็นตัวแทนของประชาชน หรือที่อ้างคุณธรรมอันสูงส่ง ต่างก็ออกนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนรวย ของชนชั้นนายทุน โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจ แทนที่จะออกนโยบายมาเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของคนส่วนใหญ่
พวกเขากลับมองชีวิตที่ไร้หลักประกันของพวกเราว่า เป็นเพียงความโชคร้าย เป็นกรรมเก่า ดังนั้นด้วยความเอื้ออาทรพวกเขาจึงพร้อมที่จะถ่มเศษชิ้นเนื้อที่ติดตามซอกฟันของเขามาให้พวกเราเพื่อการสงเคราะห์กันตายไปวันๆเท่านั้น ทั้งๆที่ชีวิตที่ไร้ซึ่งความมั่นคง ไร้ซึ่งหลักประกันของพวกเราแท้จริงแล้ว เป็นผลมาจากการขูดรีดของพวกเขาอย่างเป็นระบบนั่นเอง
ดังนั้นแท้จริงแล้วรัฐบาลหาใช่ตัวแทนพวกเราไม่ แต่เป็นตัวแทนของเหล่าชนชั้นนำชนชั้นนายทุนมาโดยตลอด รวมถึงวิกฤติทุนนิยมครั้งนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าระบบทุนนิยมไร้น้ำยาที่จะสร้างความสุขให้กับคนส่วนใหญ่
ดังนั้นเพื่อให้พวกเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมมีความมั่นคงในชีวิต เศรษฐกิจและสังคม เพื่อความเป็นธรรม ความเสมอภาค เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยของประชาชนที่แท้จริง เพื่อให้พวกเราได้ในสิ่งที่พวกเราถูกขูดรีดไปกลับคืนมา และเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเรา ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงขอใช้โอกาสวันสตรีสากลวันแห่งความเสมอภาคและความเป็นธรรมนี้ประกาศว่า “พอกันที”
1. ในเบื้องต้นเราจะร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ คือสังคมที่ให้หลักประกันในทุกด้านอย่างถ้วนหน้าและครบวงจร ซึ่งระบบสวัสดิการรูปแบบที่พัฒนาไปถึงระดับสูงสุดสำหรับระบบทุนนิยม เรียกว่า ตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน โดยไม่เจาะจงว่าคนนั้นเป็นคนจนเท่านั้น เช่น เรียนหนังสือฟรีอย่างมีคุณภาพ สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม สิทธิการทำแท้งของสตรีที่เข้าสู่ระบบสวัสดิการของรัฐ งานที่มีความหมายต่อสังคม ค่าตอบแทนที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพและมีเกียติในสังคม การใช้ระบบ 3 แปดตามเจตนาสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 รวมถึงรัฐต้องสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
2. งบประมาณเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการต้องมาจากภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และภาษีเงินได้ ในอัตราก้าวหน้า คนมีมากต้องจ่ายมาก คนมีน้อยไม่ต้องจ่าย รวมถึงยกเลิกภาษีทางอ้อม (VAT)
3. ลดงบประมาณของรัฐที่ไม่จำเป็น เช่น งบประมาณทางการทหาร งบประมาณการโฆษณาและพิธีกรรมของรัฐที่ไม่จำเป็นต่อชนชั้นล่าง เป็นต้น
4. รัฐสวัสดิการจะนำไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตย เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ตัวอักษรตามรัฐธรรมนูญ
5. แม้การมีองค์กรของชนชั้นกรรมาชีพอย่างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งจะเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างรัฐสวัสดิการ แต่แค่นั้นไม่เพียงพอ ประสบการณ์ของประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ก้าวหน้านั้นจะมีพรรคการเมืองที่เป็นของแรงงานไปต่อสู้บนเวทีรัฐสภา ชนชั้นนายทุนเพื่อกำหนดนโยบายรัฐโดยตรง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่พวกเราจะต้องร่วมกันสร้างพรรคของพวกเรา ทางหนึ่งเพื่อกำหนดนโยบายรัฐโดยตรง ทางหนึ่งเพื่อให้การศึกษาแก่มวลชน
6. เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพในการพูด และเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อ ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112
สังคมใหม่ที่เท่าเทียมพวกเราคนส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่ร้องขออีกต่อไป
รวมพลังสร้างประชาธิปไตย สร้างรัฐสวัสดิการ
8 มีนาคม 2011
******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:
-จรรยา ยิ้มประเสริฐ:100 ปีสตรีสากล ผู้หญิงอยู่ตรงไหน?
-เปลวเทียน ส่องทาง: 100ปีวันสตรีสากล: การต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ใช้แรงงาน เสรีภาพและประชาธิปไตย