ที่มา ประชาไท
นักปรัชญาชายขอบ
การเมืองตั้งแต่ยุคทักษิณเป็นต้นมา เมื่อทักษิณถูกกล่าวหาว่าโกงมโหฬาร (ก่อนยุคทักษิณก็โกง) จนมีการประดิษฐ์วาทกรรมว่า โคตรโกง โกงทั้งโคตร คอร์รัปชันบูรณาการ ธนกิจการเมือง ทุนนิยมสามานย์ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์ประชาชนศรัทธาหรือ “รักทักษิณ” จำนวนมาก ชนิดที่ว่าไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนที่ประชาชนสนับสนุนมากเช่นนี้มาก่อน วาทกรรมหนึ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้คือ “โกงไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน”
แล้วก็มีผลสำรวจของโพลสำนักต่างๆ รายงานว่า คนรุ่นใหม่และชาวบ้านทั่วๆไป (โดยเฉพาะคนอีสาน) ส่วนใหญ่ยอมรับหลักคิดที่ว่า “โกงไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน” ผลสำรวจดังกล่าวทำให้สื่อ นักวิชาการ พระสงฆ์ ประเภท “นักศีลธรรมนิยม” ยอมรับไม่ได้ ฉะนั้น จึงเกิดการอธิบายอย่างเป็น “แบบแผน” (pattern) เดียวกันทั้งทางสื่อ บนเวทีเสวนาทางวิชาการ บนธรรมาสน์ของพระสงฆ์ บนเวทีปราศรัยในการชุมนุมทางการเมืองว่า ประชาชนยังไม่มีคุณภาพ ไม่รู้ทันนักการเมือง ตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง ไม่รู้ประชาธิปไตย ขายสิทธิ์ขายเสียง โง่ พวกรากหญ้ากินหญ้า ถ่อย กเฬวราก ฯลฯ
จึงเกิดการรณรงค์ขนานใหญ่ว่าให้เลือกคนดี ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งดูเหมือนจะมีมุมมองเชิงสรุปว่า คนทุกวันนี้ศีลธรรมเสื่อม เห็นผิดเป็นชอบ ไม่สนใจความดี ไม่เคารพคนดี แต่ยกย่องเชิดชูคนชั่ว จนในที่สุดหมดทางเลือก จำเป็นต้องจัดการกับคนชั่วด้วยรัฐวิธีรัฐประหาร และเป็นรัฐประหารที่อ้างอิง “ความดีสูงสุด” คือความดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อบ้านเมืองวิกฤต นักการเมืองชั่วเป็นที่พึ่งไม่ได้ พสกนิกรจะถวิลหาพระเจ้าอยู่หัว” ดังนั้น สาระสำคัญของรัฐประหารจึงเป็นการอ้างความดี คนดีสูงสุดมาลบล้างความชั่ว คนชั่วที่โกงชาติ ทำลายสถาบัน
ทว่ารัฐประหาร 19 กันยา 49 ที่อ้างอิงความดีสูงสุด คนดีสูงสุด เพื่อขจัดนักการเมืองชั่ว แทนที่จะเป็นการปลุกกระแสศรัทธาในความดีและคนดีเพื่อลบล้างค่านิยม “โกงไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน” ให้หายไปจากสังคมไทย แต่กลับกลายเป็นรัฐประหารที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์การตั้งคำถามต่อความดี คนดี การฉีกหน้ากาก หรือการ “เปิดเปลือย” คนดีกลุ่มต่างๆ ให้เห็นธาตุแท้ หรือตัวตนที่แท้จริงอย่างโล่งโจ้งที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ ปัญญาชน ทหาร องคมนตรี และ ฯลฯ ที่สังคมยกย่องว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม
เมื่อ เราได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเขาเหล่านั้น เราต้องตระหนกเป็นอย่างยิ่งว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงไม่รู้สึกสะเทือนใจ หรือรู้สึกรับผิดชอบต่อความตายของประชาชนในการสลายการชุมนุมปี 2553 บ้างเลย มโนธรรม หรือ “ความเป็นมนุษย์” ของคนดีเหล่านี้หายไปไหน?
ปัจจุบันเวลาพูดถึงความดี คนดี คนฟังดูจะรู้สึกเอียนๆ แต่เราจะสรุปได้หรือว่าสังคมนี้ไม่ต้องการความดี และคนดี ผมคิดว่าเรายังสรุปไม่ได้เช่นนั้น สังคมนี้ยังต้องการความดีและคนดีอยู่ แต่ที่เอียนๆ กันมากนั้น เป็นการเอียนความดี คนดี ตาม “โมเดล” ที่ถูกปลูกฝังกันมานาน คือโมเดล “คนดี-ความดี-คนประสบความสำเร็จที่มีความสัมพันธ์เป็นสาเหตุและผลแก่กันใน ลักษณะเฉพาะที่แน่นอนตายตัว” ดังนี้
- คนดี/ความดีหนึ่ง คือคนที่มีความมุมานะต่อสู้เพื่อการเลื่อนสถานะทางสังคมที่สูงขึ้น และความสำเร็จหนึ่ง คือการเลื่อนสถานะทางสังคมที่สูงขึ้น
- คนดี/ความดีสอง คือ คนที่มีความจงรักภักดีและมุมานะพยายามจนได้เลื่อนสถานะทางสังคมตามเงื่อนไข ความจงรักภักดี และความสำเร็จสอง คือการได้ทำงานรับใช้ด้วยความจงรักภักดี การมีชื่อเสียงเกียรติยศ
แน่นอนว่า ความดีสองและความสำเร็จสอง คือความดีและความสำเร็จสูงสุดในชีวิต เป็นเกียรติประวัติที่ผู้คนในสังคมต่างก็ใฝ่ฝัน ฉะนั้น การได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งคุณหญิง ท่านผู้หญิง แม้กระทั่งได้รับพระราชทานเพลิงศพ ฯลฯ จึงเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของชีวิตที่ได้ทำความดี และประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างรูปธรรมของคนดีและประสบความสำเร็จตามโมเดลดังกล่าวที่ชัดเจน มาก ก็เช่น คนหนึ่งเป็นลูกแม้ค้าขายพุงปลา เป็นเด็กวัดมีความมุมานะเรียนจนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และได้เลื่อนสถานะทางสังคมเป็นนักการเมือง และเป็นนายกรัฐมนตรีผู้มีภาพลักษณ์ซื่อสัตย์จงรักภักดี และเป็นมิตรที่ดีของฝ่ายอำมาตย์เสมอมา และอีกคนเป็น ศาสตราจารย์นายแพทย์ที่มีภูมิหลังเป็นเด็กชนบทที่มีความมุมานะเรียนดี จนได้ทุนพระราชทานไปเรียนจบจากเมืองนอก ได้เลื่อนสถานะทางสังคมเป็นปัญญาชนและเอ็นจีโอสายอำมาตย์ที่มีความจงรัก ภักดี และเป็นมิตรที่ดีของฝ่ายอำมาตย์ แต่ประดิษฐ์วาทกรรมที่สะท้อนให้เห็นภาพอัปลักษณ์ของนักการเมืองเสมอมา
(ต้องหมายเหตุ ณ ที่นี้ว่า คนอย่าง ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น นอกจากจะไม่ใช่คนดี คนประสบความสำเร็จตามโมเดลดังกล่าวแล้ว พวกเขายังถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อโมเดลดังกล่าวอีกด้วย ฉะนั้น คนอย่างพวกเขาจึงไม่สมควรถูกยกย่องเชิดชู “อย่างเป็นทางการ” จากรัฐไทย)
แต่เมื่อเผชิญกับรัฐประหาร 19 กันยา แล้ว คนดีตามโมเดลข้างต้น ซึ่งมีทั้งสื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน คนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษาดี ที่มีสถานะที่ได้เปรียบในทางสังคมการเมือง พวกเขาต่างสนับสนุนรัฐประหารทั้งโดยลับๆ และเปิดเผย และจนวันนี้พวกเขายังพยายามทุกวิถีทางเพื่อคัดค้านการลบล้างผลพวงของรัฐ ประหาร และการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการนิรโทษกรรม และให้ความยุติธรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร และคนเสื้อแดงที่ถูกจับติดคุก บาดเจ็บ ล้มตาย อันเนื่องมาจากการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้อง ประชาธิปไตย
ฉะนั้น คนดี ความดี ตามโมเดลข้างต้นนี้ต่างหากที่ประชาชนส่วนใหญ่ผู้ซึ่งต้องการเห็นสังคม เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยสากลรู้สึกสะอิดสะเอียน เพราะเบื่อหน่ายกับการเห็นพฤติกรรม “ศีลธรรมดัดจริต” ที่แพร่ระบาดอย่างมากมายเหลือเกินในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา
ไม่ ว่าจะเป็นการอ้างทศพิธราชธรรมเพื่อข่มศีลธรรมภาคสาธารณะ อ้างความไม่มีตัวกูของกูทางการเมืองโดยไม่ใส่ใจความยุติธรรม อ้างความรักของพ่อบ้านของพ่อข่มประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค อ้างหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพื่อคัดค้านการนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร แต่ยอมรับพวกทำรัฐประหารนิรโทษกรรมแก่ตัวเอง ฯลฯ
ข้อสังเกตคือ โมเดลคนดี ความดีดังกล่าว อาจถือได้ว่าเป็น “วัฒนธรรมทางศีลธรรม” ของคนชั้นกลางในสังคมเมือง ที่มีการศึกษา และสถานะทางสังคม อาชีพการงานดี คนเหล่านี้มักถือว่าตนเองฉลาดกว่า มีวิจารณญาณทางศีลธรรมดีกว่า ฉะนั้น พวกเขาจึงเอาจริงเอาจังกับการล้มรัฐบาลที่คนต่างจังหวัด คนชนบทเลือก ซึ่งคนเหล่านั้นถูกมองว่าด้อยการศึกษา ไม่มีวิจารณญาณทางศีลธรรม ไม่สามารถมีอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นได้แค่เครื่องมือของนักการเมืองโกง ไม่มีสำนึกเรื่องผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือ “รักชาติ” เท่าเทียมกับคนมีการศึกษาดีกว่า เข้าถึงสื่อดีกว่าอย่างพวกเขา
ขณะที่กรรมกร คนขับแท็กซี่ คนชนบท คนต่างจังหวัด ไม่ได้ซาบซึ้งกับโมเดลคนดี ความดีดังกล่าวมากนัก พวกเขากลับ “โดน” หรือมีความรู้สึกร่วมอย่างจริงจังกับวาทกรรม “ไพร่โค่นอำมาตย์” ทว่าคนชั้นกลางในเมืองโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ กลับหัวเราะเยาะว่า นั่นเป็นวาทกรรมหลอกลวง แถมยังพูดเย้ยหยันว่าชาวบ้านถูกปั่นหัวมาชุมนุมเพื่อ “โค่นอำมาตย์” โดยไม่รู้ว่าอำมาตย์คืออะไร พอมาถึงกรุงเทพฯ ต่างก็ถามกันว่า “ต้นอำมาตย์อยู่ที่ไหน พวกเราจะได้ช่วยกันโค่น” นี่คือการ “พูดเหยียด” เพื่อนมนุษย์ออกทีวีของคนกรุงเทพฯ ที่มีการศึกษาดี
สำหรับคนมีการศึกษาดี มีวิจารณญาณทางศีลธรรมดีกว่าอย่างพวกเขาแล้ว “อำมาตย์-ไพร่” เป็นคำพูดที่น่าหัวเราะ เพราะหมดยุคไปแล้ว ไม่มีอยู่จริง หรือถึงมันจะมีอยู่จริงก็ไม่เป็นเป็นไร ในเมื่อสังคมนี้คนทุกคนยังมีเสรีที่จะมุมานะพยายามเพื่อเลื่อนสถานะทางสังคม ของตนเองให้สูงขึ้นได้เสมอ ถ้าคุณเป็นคนดี ทำดีตามโมเดลข้างต้น คุณก็มีสิทธิ์ มีโอกาสเป็นคนดี มีเกียรติยศน่าภาคภูมิใจ และน่ายกย่องในสังคม
แต่ปัญหาคือ โมเดลความดีตามวัฒนธรรมทางศีลธรรมของคนชั้นกลางในเมืองดังกล่าว ในระดับรากฐานแล้วมันกีดกันคนอย่างปรีดี กุหลาบ จิตร เป็นต้นออกไป นักศึกษา ประชาชนที่ถูกฆ่า ถูกจับติดคุกตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และพฤษภา 53 ล้วนแต่ถูกตราหน้าว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อโมเดลคนดี ความดีดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าวัฒนธรรมคนดี ความดีตามโมเดลดังกล่าวไม่ยอมรับว่า คนที่ต่อสู้และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย เป็นคนดี และเป็นความดี
แล้วในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อคนดี ความดีตามโมเดลดังกล่าวสนับสนุนรัฐประหาร และถูกกระชากหน้ากาก คนที่ตาสว่างจำนวนมากจึงหมดศรัทธา และเอียนอย่างรุนแรงกับพฤติกรรมศีลธรรมดัดจริตที่แพร่ระบาดในหมู่ปัญญาชน นักวิชาการ สื่อ พระสงฆ์ หรือคนมีการศึกษาดี มีฐานะการงานดีที่เรียกกันว่า “สลิ่ม” ทั้งหลาย
แต่ไม่ได้หมายความกว่า “กระแสเอียนศีลธรรมดัดจริต” จะเป็นกระแสปฏิเสธคนดี และความดีเสียทุกอย่าง เพราะจริงๆ แล้ว ในระยะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ สังคมยังต้องการคนดี ความดี แบบปรีดี กุหลาบ จิตร เป็นต้น ดังที่เกิดกระแสการยกย่องวีรกรรมของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ การสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยของชาวบ้านธรรมดาๆ เป็นต้น
โลก เปลี่ยนไปแล้ว แต่ในความเปลี่ยนแปลงนั้น สังคมยังต้องการคนดี ความดีในความหมายที่เอื้อต่อการสร้างสังคมที่มีเสรีภาพ เสมอภาค และมีความเป็นธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้!