ที่มา ข่าวสด
ที่ศปภ. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงร่างพ.ร.ฎ.อภัยโทษว่า ตนในฐานะผู้ที่เสนอร่างพ.ร.ฎ.ดังกล่าว ตามอำนาจ คือ รมว.ยุติธรรม จึงขอทำความเข้าใจดังนี้ คือ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ตนได้เริ่มทำหน้าที่ รมว.ยุติธรรม(ยธ.) ก็เสนอร่างดังกล่าว โดยจะทำทุกปี เนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรม ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด 20 คน อาทิ ปลัดยธ. เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการตราร่าง พ.ร.ฎ. เสนอข้อคิดเห็นการอภัยโทษ การประสานงานในส่วนราชทัณฑ์ การเร่งรัดและติดตามรายงานผลการดำเนินงาน โดยวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา น.ส.กัญญานุช สายทิพย์ รองปลัดยธ. ได้เสนอกิจกรรมเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. โดยมีหลักเกณฑ์การขออภัยโทษ เสนอต่อนายพีระพันธ์
ทั้งนี้นายพีระพันธุ์ได้ให้ความเห็นชอบในท้ายของร่างดังกล่าว และเห็นด้วยในหลักการที่คณะกรรมการเสนอว่าจะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการรับ พระราชทานอภัยโทษ โดยมีเนื้อหาสำคัญ 2 ประการดังนี้ 1.ขอให้พระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาดที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไปโดยไม่มีเงื่อนไข เว้นแต่คดีต้องโทษประหารชีวิต และคดียาเสพติดให้โทษ และ 2.ให้ขอพระราชทานอภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดที่มีอายุ 60-69 ปี โดยยกเลิกหรือผ่อนคลายเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆเท่าที่จะกระทำได้ เว้นแต่ผู้ต้องโทษประหารชีวิตหรือความผิดร้ายแรง และคดียาเสพติด ซึ่งเดิมพ.ร.ฎ.ปี 2553 มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ท้ายพ.ร.ฎ. เมื่อนายพีระพันธุ์ พ้นจากหน้าที่ คณะกรรมการได้เสนอเรื่องมาถึงตนในวันที่ 1 ก.ย. ตนก็ได้ยืนยันว่ารับทราบในหลักการเดียวกัน ให้ดำเนินการไปตามข้อเสนอเดิม คณะกรรมการจึงนำไปดำเนินการเพื่อร่างพ.ร.ฎ.และนำเสนอมาถึงตนอีกครั้ง ในวันที่ 13 พ.ย. ซึ่งตนให้ความเห็นว่าให้กรมราชทัณฑ์นำพ.ร.ฎ.นี้ไปหารือในทางกฎหมายกับสำนัก งานคณะกรรมการกฤษฎีกาและนำเสนอมาที่ตนอีกครั้ง จากนั้นนำเข้าครม.เมื่อวันที่ 15 พ.ย.
“มีการถามว่าร่างพ.ร.ฎ.นี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ ผมขอตอบด้วยความสัตย์จริง ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้คนใดคนหนึ่งหรือคนที่ผิดกฎหมายป.ป.ช.ในบัญชีแนบท้าย ก็ยังอยู่และผู้ต้องหาที่เกี่ยวกับยาเสพติดยังอยู่ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อาจทำให้คนสับสน จึงขอยืนยันว่าไม่น่าห่วงอะไร เพราะมีการเห็นชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่ผิดกระบวนการทางกฎหมาย” พล.ต.อ.ประชากล่าว
เมื่อ ถามว่าสำหรับโทษที่เกี่ยวกับการทุจริตในร่างพ.ร.ฎ.ดังกล่าว ยืนยันว่าไม่ได้ตัดออกใช่หรือไม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มี
ต่อข้อถามว่าหมายถึงคนที่ยังไม่ได้รับโทษจะไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.นี้ ใช่หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีหนังสือว่าจะไม่ขอรับพระราชทานอภัยโทษ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าใครทำหนังสืออะไรแต่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนดังกล่าว ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างมาก จึงตัดสินใจมาให้ข้อมูล เมื่อถามย้ำว่าจะระบุให้ชัดได้หรือไม่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ได้รับประโยชน์นี้ รมว.กล่าวว่า “ไม่มี ไม่ได้รับ”
เมื่อถามว่าสุด ท้ายแล้วถ้ามีชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ปรากฎได้ออกมาว่าอยู่ในข่ายจะทำอย่างไร พล.ต.อ.ประชา กล่าวพร้อมหัวเราะว่า “ผมก็ไม่อยู่”
ต่อข้อถามว่ามีการเสนอความคิดเห็นหักล้างในร่างพ.ร.ฎ. จากของเดิมหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ไม่มี ไม่หักล้างอะไร
เมื่อถามว่ามีการเพิ่มข้อความว่าให้มีการอภัยโทษนักโทษที่อายุ 60 ปี ขึ้นไปซึ่งตัดสินโทษจำคุก 3 ปี รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เอาแต่ประเด็นสำคัญแล้วกันที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ เพราะขณะนี้ยังเป็นความลับ ขอเป็นความลับไว้ก่อน อะไรที่สามารถตอบได้ตนก็ตอบหมด ส่วนจะนำเข้าครม.เห็นชอบในสัปดาห์เลยหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะพิจารณเสร็จทันหรือไม่ ยืนยันว่าร่างที่ตนเสนอไม่ขัดแย้งกับของนายพีระพันธุ์
ผู้สื่อข่าวถามว่าสาเหตุที่มาแถลงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสาเหตุอะไร พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนยุ่งเรื่องน้ำมากพอแล้ว ยังต้องมีเจอปัญหาเช่นนี้อีก ซึ่งความลับของราชการทุกคนคงทราบดีว่ามีระเบียบปฏิบัติอยู่ตามกฎหมายอะไรที่ พูดได้หรือไม่ได้ แต่หากเกิดผลเสียหายและทำให้ประชาชนสงสัย ก็จำเป็นที่ต้องอธิบาย
เมื่อถามว่าในการเสนอพ.ร.ฎ.ของปีที่ผ่านๆสามารถ เปิดเผยแต่ทำไมในปีนี้เป็นความลับ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ยืนยันว่าที่ผ่านวาระดังล่าวเป็นเรื่องลับโดยตลอด ตนไม่อยากให้เกิดเหตุการที่ประชาชนมาชุมนุมต่อต้านคัดค้านขึ้น เนื่องจากขณะนี้ประเทศบอบช้ำมามากแล้ว หากตนยังพอมีเกียรติอยู่บ้างคนก็คงจะเชื่อถือในสิ่งที่อธิบาย เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ชินแล้ว ตั้งแต่รับราชการมาไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ไม่เคยมีกรณีทุจริตหรือกระทั่งถูกสอบสวน ยอมรับว่าเสียใจกับข้อกล่าวหาเด็ดขาด