ที่มา Thai E-News
โดย red-grassroot
7 เมษายน 2552
3 ปีมานี้...กลุ่มการเมืองเครือข่ายเหลืองของ “ระบอบอมาตยาธิปไตยอันมีองคมนตรีและแก๊ง 7 คน เป็นผู้ ชักใย กำกับ ชี้นำ” ได้ใช้ประโยชน์จากความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยทำลายคู่แข่งทางการเมือง โดยยัดเยียดข้อหา “ความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” เพื่อให้ประชาชนเกลียดชังและเป็นศัตรูกับคู่แข่งทางการเมืองของพวกเขา ครั้งแล้ว ครั้งเล่า จนทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจ...”ถ้าทักษิณ ไม่เป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นที่รักของประชาชน...และมีโอกาสรับเลือกตั้ง..เขาจะใช้ข้อหานี้โจมตีนายกทักษิณหรือไม่...?” “ทำไมอยู่ดีๆ...จึงเกิดการตั้งข้อกล่าวหาว่า คนนั้น คนนี้ ไม่จงรักภักดีกันถี่ เหลือเกิน?..”
ทำให้ข้าพเจ้า ต้องกลับมาตรวจสอบความจงรักภัคดีของตนเอง
ผ่านการตรวจสอบไตร่ตรองแล้ว ข้าพเจ้าพบว่า....
ความจงรักภักดีของข้าพเจ้า มีได้เกิดจากข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และมิได้เกิดจากความเกรงกลัวต่อ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ความจงรักภักดีของข้าพเจ้า มิได้เกิดจากการยืนตรงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี, มิได้มุ่งหวังเครื่องราชอิสราภรณ์, มิได้เกิดจากการดูข่าวพระราชสำนัก, มิได้เกิดจากความปิติยินดี ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร, พระราชทานเพลิงศพญาติผู้ใหญ่, สมรสพระราชทานแก่ญาติมิตร, พระราชทานนามสกุลให้แก่เพื่อนบางคน
ความจงรักภักดีของข้าพเจ้า มิได้เกิดจากกระแส แซ่ซ้อง สรรเสริญ จากแบบอย่างขององคมนตรี หรือนักการเมือง ที่ประจบสอพลอ
แท้ที่จริงแล้ว...ข้าพเจ้าจงรักภักดีเพราะ รับรู้ รับทราบ ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงปฏิบัติธรรม ที่เรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้...
- ทาน (ทานํ) การให้ หมายถึงการให้ การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้ว ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่นด้วย
- ศีล (ศีลํ) คือความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา
- บริจาค (ปริจาคํ) คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม
- ความซื่อตรง (อาชชวํ) คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต
- ความอ่อนโยน (มัททวํ) คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่ เสมอกันและต่ำกว่า
- ความเพียร (ตปํ) หรือความเพียร มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน
- ความไม่โกรธ (อกฺโกธ) หรือความไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ไม่มุ่งร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล
- ความไม่เบียดเบียน (อวีหึสา) การไม่เบียดเบียน หรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น
- ความอดทน (ขันติ) การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย
- ความยุติธรรม (อวิโรธนํ) ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใดๆ
และข้าพเจ้าขอยืนยันว่า....แม้ไม่มีกฎหมายหมิ่น ไม่มีข้อกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีพิธีกรรมใดๆ ข้าพเจ้าก็ยังจงรักภักดี ตราบเท่าที่ข้าพเจ้า รับรู้ รับทราบและเชื่อว่า...พระองค์ทรงปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า....ทศพิธราชธรรม..