ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา ปาฐกถาฉบับเต็มจากประชาไท
9 เมษายน 2552
ใครก็ตามที่คิดจะตั้งศูนย์อำนาจใหม่ หรือต่อต้านอำนาจเก่า ควรจะต้องรู้ว่าอำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และอิงอาศัยนานาปัจจัย อำนาจไม่ได้บรรจุอยู่ในอาคารสถานที่ การยึดอำนาจรัฐไม่ได้เกิดจากการยึดตัวอาคาร หากจะต้องยึดครองที่หัวใจคน การเปลี่ยนแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน หากสังคมยังไม่เห็นพ้องต้องกันในทิศทางการเปลี่ยนแปลง การล้มลงของระบอบเก่าหรืออำนาจเก่า ก็รังแต่จะนำไปสู่สภาพกลียุคและอนาธิปไตย
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บางครั้งอำนาจใหม่กลับฆ่าคนเสียยิ่งกว่าอำนาจเก่าที่ล่มสลาย เนื่องจากทิฏฐิที่ยึดติดในการเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องการรอคอยให้ผู้คนเห็นด้วย เรื่องเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วในหลายๆประเทศ ซึ่งเราควรถือเป็นบทเรียน
หมายเหตุ:ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้นำนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง"อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ" จัดโดยมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อ 12 กันยายน 2551ที่ผ่านมา ทีมข่าวไทยอีนิวส์พิจารณาเห็นว่าสอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน จึงยกบางตอนมาให้อ่านกันอีกรอบ
0000000000000000
การต้านอำนาจนั้นถือเป็นการแสดงอำนาจชนิดหนึ่ง ซึ่งก็ต้องอยู่ภายใต้กฏอิทัปปัจจยตาเช่นกัน มีสภาพเป็นความว่างเช่นเดียวกัน
ดังนั้นใครก็ตามที่คิดจะตั้งศูนย์อำนาจใหม่ หรือต่อต้านอำนาจเก่า ควรจะต้องรู้ว่าอำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอิงอาศัยนานาปัจจัย อำนาจไม่ได้บรรจุอยู่ในอาคารสถานที่ การยึดอำนาจรัฐไม่ได้เกิดจากการยึดตัวอาคาร หากจะต้องยึดครองที่หัวใจคน
ถามว่าเช่นนี้แล้ว คนที่จิตไม่ว่าง หรือคนที่เต็มแน่นไปด้วยอัตตาจะขึ้นไปกุมอำนาจได้หรือไม่? คำตอบคือคงได้ตามวิถีทางโลก และในความหมายแบบทางโลก แต่จะไม่ใช่อำนาจที่แก้ปัญหาอะไรได้ อย่างถึงราก กลับเป็นอำนาจที่ก่อความเดือดร้อน สร้างทุกข์เข็ญให้บ้านเมืองเสียมากกว่า อีกทั้งจะไม่มีความมั่นคงยั่งยืน เนื่องจากถูกปฏิเสธต่อต้าน
อันที่จริง ตรงนี้แหละคือความแตกต่างระหว่างผู้แสวงหาอำนาจธรรมดากับผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าในความหมายของธรรมะ หรือในความหมายทางรัฐศาสตร์ก็ตาม
ผู้นำการเมืองเมื่อว่างจากตัวตน จึงสามารถทำทุกอย่างได้เพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้การปกครอง เสียสละทุกอย่างได้เพื่ออาณาประชาราษฎร์ ส่วนผู้กุมอำนาจที่จิตไม่ว่างนั้น ต่อให้ไม่ก่อปัญหาร้ายแรง ก็จะมีทางเลือกและศักยภาพในการแก้ปัญหาได้น้อยกว่ากันมาก
การเป็นผู้นำการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงบุคคลที่กุมอำนาจการปกครองแต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายต่อต้านคัดค้านที่รวบรวมกำลังคนมาตั้งเป็นพรรคเป็นพวก หรือตั้งเป็นขบวนการเมืองในชื่อต่างๆก็สามารถเป็นผู้นำการเมืองได้ หรือจะเป็นแค่ผู้แสวงหาอำนาจธรรมดาๆก็ได้ ถ้าหากไม่ยึดถือในหลักธรรม ถ้าหากมองไม่เห็นว่างแห่งอำนาจ
ถ้าเราหยั่งถึงอิทัปปัจยตา(หรือปฏิจจสมุปบาท) ก็จะมองเห็นว่าความรักบ้านรักเมืองไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างเดียว บางครั้งการยอมแพ้กลับเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่า แสดงความรักบ้านรักเมืองได้มากกว่า เหมือนมารดาพร้อมยกบุตรให้ผู้อื่นในยามที่ตัวเองดูแลปกป้องไม่ได้
แพ้ชนะถึงที่สุดแล้วก็เป็นสุญญตา ไม่มีความจริงรองรับ มีแต่เราเองไปบัญญัติมันขึ้นมา
พูดกันตามหลักรัฐศาสตร์ อำนาจนั้นเปลี่ยนมือได้เสมอ ถ้าผู้ปกครองไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้อยู่ใต้การปกครองได้ หรือมีวิกฤตฉันทานุมัติอย่างต่อเนื่อง
แต่เปลี่ยนแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวเสมอไป มันขึ้นอยู่กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงว่า มีปัญญาญาณมากน้อยเพียงใด คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันในทิศทางของการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน หากสังคมยังไม่เห็นพ้องต้องกันในทิศทางการเปลี่ยนแปลง การล้มลงของระบอบเก่าหรืออำนาจเก่า ก็รังแต่จะนำไปสู่สภาพกลียุคและอนาธิปไตย
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บางครั้งอำนาจใหม่กลับฆ่าคนเสียยิ่งกว่าอำนาจเก่าที่ล่มสลาย เนื่องจากทิฏฐิที่ยึดติดในการเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องการรอคอยให้ผู้คนเห็นด้วย เรื่องเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วในหลายๆประเทศ ซึ่งเราควรถือเป็นบทเรียน
ดังนั้น ในทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาส ระบอบการเมืองแบบไหน ยังไม่สำคัญเท่ากับว่ามีธรรมะหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีธรรมมะ ถึงอย่างไรก็สร้างสันติสุขให้บังเกิดมิได้ และท่านถือว่าภาวะไร้สันติภาพเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดของมนุษย์
การไม่ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข นับเป็นเคราะห์กรรมอย่างยิ่งของแผ่นดิน