ที่มา Thai E-News
โดย คุณอริน
ที่มา เวบไซต์ โลกวันนี้
9 เมษายน 2552
การชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก้าวมาถึงจุดที่ยกระดับจากกลุ่มต่อต้านเผด็จการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาเป็นขบวนการประชาชนขนาดใหญ่ ที่มีกลุ่ม องค์กรต่างๆ หนุนเนื่องเข้าร่วมมากขึ้นทุกที
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากวันที่ 6 เมษายน หลายๆ องค์กรประชาชนที่จัดตั้งกันอย่างเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง โดยผ่านการพิสูจน์ทดสอบในท่ามกลางการเคลื่อนไหวระดับต่างๆ มาเป็นระยะเวลาแน่นอน ประกาศเข้าร่วมการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการ
มาถึงเวลานี้ แทบไม่มีข้อสงสัยใดๆ อีกแล้วว่า ครั้งนี้เป็นการชุมนุมมวลชนครั้งใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยประชาชนชั้นชนต่างๆ ตั้งแต่ระดับรากหญ้าขึ้นไป จนถึงคนชั้นกลางในเมือง คนชั้นสูงบางส่วน ที่ไม่สามารถนิ่งเฉยกับการแสดงอำนาจเผด็จการอันธพาล แสดงการสนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างไม่ปิดบังอำพรางอีกต่อไป
เป็นปรากฏการณ์ “ใครมีแรงออกแรง ใครมีเงินออกเงิน ใครมีปัญญาออกปัญญา” อย่างมิได้นัดหมายเป็นครั้งแรก นับจากห้วงเวลา “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา อันยิ่งใหญ่
ทั้งนี้ รวมถึงการประกาศคำแถลงของ “เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย” บนเวทีนอกทำเนียบรัฐบาล เพื่อประกาศจุดยืนร่วมต่อสู้กับคนเสื้อแดง ในเวลาประมาณ 18.15 น. วันที่ 6 เมษายน ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชน ที่ยังไม่ถูกปิดกั้นสัญญาณออกอากาศ ด้วยเครื่องมือทันสมัยประดามีของรัฐเผด็จอำนาจ เป็นการประกาศเข้าร่วมรุกรบ โดยไม่มีเงื่อนไขในการขับไล่ผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และผลักดันจนเกิดรัฐบาลอภิสิทธิ์ชน ที่ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรมเยี่ยงโจรก่อการร้ายสากล ...
หัวใจของคำประกาศจากกลุ่มคนรากหญ้า ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาตลอดประวัติศาสตร์ สะท้อนความองอาจแกล้วกล้า ความฮึกห้าวเหิมหาญของผู้คน ที่อยู่ในสถานะตกเป็นเบี้ยล่างเสมอมา
ใน ...“ระบอบอำมาตยาธิปไตย เป็นศัตรูกับชาวนา ขอให้สมาชิกเครือข่าย ปรับสถานการณ์ขณะนี้ เป็นสถานการณ์สู้รบ และรับฟังคำสั่งจากแกนนำในระดับประเทศเท่านั้น และหากรัฐใช้กำลังสลายผู้ชุมนุม สมาชิกของเครือข่าย จะออกมากระทำการให้การบริหารประเทศเป็นอัมพาต และจะทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินต่อไปไม่ได้”
ไล่เลี่ยกันในเวลา 20.40 น. นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ออกคำแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี ที่ ณ บัดนี้ รัฐบาลโดยการนำของพรรคประชาธิปัตย์สามารถใช้ “กฎหมาย” ในมือ ครอบงำบงการเป็นกระบอกเสียงของรัฐอย่างสมบูรณ์ ...ทุกรูปแบบ
ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของระบอบอำมาตยา-อภิชนาธิปไตย หลั่งไหลจากปากผู้นำรัฐบาล ที่เป็นผลิตผลจากระบอบเผด็จการทหาร หลังการรัฐประหาร 19 กันยา แม้จนที่สุด “มาตรการทางกฎหมาย” ที่เป็นที่กังขาเสมอมา ในสายตาของสังคม และผู้คนที่ยึดถือเชื่อมั่นในหลักการ “ความยุติธรรมมาตรฐานเดียว”
น่าเสียดายที่ถ้อยความในเนื้อหา ที่ดูเหมือนแข็งกร้าวยิ่งกว่าครั้งใด นับจากการก้าวขึ้นมาฉวยโอกาสจัดตั้งรัฐบาลผสมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา กลับไม่อาจอำพรางความกระวนกระวาย ลังเลสงสัย เมื่อตระหนักว่า ระบอบอำมาตย์-อภิชน ที่ตนเป็นตัวแทนอยู่นั้น กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งสำคัญที่สุด เท่าที่รัฐไทย ...ในฐานะที่เป็นรัฐอธิปไตยสมัยใหม่ จากบรรดาผู้คนที่เคยเป็นเพียง “ผู้ถูกปกครอง” ที่ไม่มีสิทธิมีเสียง หรือมีสิทธิมีเสียงเพียงเท่าที่ “ผู้ปกครอง” ที่เป็น “อภิชน” จะหยิบยื่นให้
ถัดมาอีกเพียงวันเดียว สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ออกแถลงการณ์ “โค่นล้มอำมาตยา สถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์” มีเนื้อหาที่เป็นข้อเรียกร้องหลัก 4 ประการคือ
“1.ประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้กำหนดอนาคตของตัวเอง
2.ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอำมาตยาธิปไตยมีกระบวนการเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย
3.ห้ามรัฐบาลสกัดกั้นหรือใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด...
4.สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เห็นด้วยกับหลักการของ นปช. และขอสนับสนุนการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยระบบเลือกตั้ง และระบบรัฐสภา”
ประชามหาชนคนรากหญ้าทุกยุคทุกสมัย ค่อยตระหนักทีละน้อยว่า ไม่เคยมีครั้งใดที่ “ผู้ปกครอง” ดั้งเดิมจะยินยอมสละสถานะได้เปรียบ ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นแต่โดยดี
อย่างน้อยหลักฐานที่ชัดเจน ที่เป็นเสมือนหอกทิ่มแทงความรู้สึกนึกคิดของ “ผู้ปกครอง” เหล่านั้น ยังคงเป็นประจักษ์พยานในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี
หนึ่งคือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” หรือที่เดิมเรียกว่า “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” ตั้งอยู่ที่วงเวียนบางเขน หรือแยกหลักสี่ เป็นอนุสรณ์ที่ประชาชนที่รักและหวงแหนในระบอบประชาธิปไตย รวมกำลังกันเข้าต่อสู้กองกำลังฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2476 ที่เรียกกันว่า “กบฏบวรเดช”
และอีกหนึ่งคือ “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา” ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ใกล้กับ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”
และที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไปของการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยอนุสาวรีย์มีชีวิต ในสถานการณ์รุกคืบหน้า โถมเข้าทำลายป้อมปราการของ “ระบอบอำมาตยา-อภิชนาธิปไตย” อย่างเอาการเอางาน...
ในท่ามกลางการต่อสู้ที่แหลมคมนี้ ข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าคือ “รากหญ้าทั้งหลาย จงรวมตัวกัน โค่นอำมาตย์ สถาปนาประชาธิปไตย”