ที่มา Thai E-News
*ก่อนพระศรีศิลป์ ซึ่งเป็นพระอนุชาพระเจ้าทรงธรรมจะตายนั้น วันวลิตบันทึกว่า พระองค์ตรัสแก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ที่เป็นหลานว่า ไม่ควรทรงไว้ใจออกญากลาโหมมากนัก “ออกญากลาโหมเป็นสุนัขจิ้งจอกที่แยบยล จะแยกมงกุฎจากพระเศียรของพระองค์ จะฆ่าพระองค์ และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นของราชวงศ์พระบิดา และจะปกครองอาณาจักรดุจราชสีห์”
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
20 กันยายน 2552
กรณีที่1:พระเจ้าทรงธรรมสึกออกมายึดอำนาจหลังสิ้นพระเอกาทศรถ
#สมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในภาพยนตร์ตำนานพระนเรศวร
บันทึกของเยเรเมียส ฟอน ฟลีต (Jeremais Van Vliet)พ่อค้าชาวฮอลันดา หรือที่เรียกตามปากแบบไทยๆว่า”วันวลิต”นี้ มีขึ้นในปีพ.ศ. 2182 ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง(ครองราชย์ พ.ศ. 2173-2198 )
โดยฟอน ฟลีต ได้มาทำงานกับบริษัทอิสต์อินเดียของฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยา และได้จดบันทึกร่วมสมัยนั้นเสนอให้เจ้านายได้รับรู้ความเป็นไปในราชอาณาจักรอยุธยา ต่อมาได้แปลเป็นไทยและเรียกกันว่า"พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182"
บันทึกของวันวลิตกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนหน้ารัชสมัยพระเจ้าปราสาททองว่า เป็นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยพระองค์ทรงเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ(พระอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) อันเกิดจากพระสนม
ในบั้นปลายรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถตอนจวนใกล้จะเสด็จสวรรคตได้ส่งมอบราชสมบัติให้พระศรีเสาวภาคย์ พระราชโอรสอันเกิดแต่พระมเหสีเอก
เวลานั้นพระเจ้าทรงธรรมทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง เนื่องจากพระองค์เกิดแต่นางสนม จึงไม่มีสิทธิในราชสมบัติ แต่ว่าเนื่องจากพระองค์ทรงมีลูกศิษย์ลูกหาและขุนนางข้าราชการชมชื่นอยู่มาก ทำให้สามารถซ่องสุมกำลังเข้ายึดอำนาจได้ พระองค์ครองราชย์อยู่ 18 ปี หลังจากนั้น ก็ทรงประชวรและสวรรคตในปี พ.ศ.2171 พระชนมายุได้ 38 พรรษา
แต่ปัญหาความยุ่งยากในบั้นปลายรัชกาล และการสืบราชสมบัติก็คล้ายๆ กับตอนที่พระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เพราะพระเจ้าทรงธรรมเองทรงแย่งชิงราชสมบัติมาจากพระศรีเสาวภาคย์ พระโอรสอันเกิดจากมเหสีเอกในพระเอกาทศรถดังกล่าวมาแล้ว
เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสิ้นพระชนม์ ขณะที่โอรสองค์ใหญ่คือ พระเชษฐาธิราชยังมีพระชนมายุ เพียง 15 พรรษา ระหว่างที่ยังครองราชย์อยู่นั้น ได้ตั้งพระอนุชาขึ้นเป็นมหาอุปราช คือพระพันปีศรีศิลป์ เมื่อใกล้สวรรคตปรากฏว่าทรงต้องการให้ราชสมบัติตกแก่พระราชโอรส พระเจ้าทรงธรรมจึงได้ให้ขุนนางคนหนึ่งชื่อออกญาศรีวรวงค์คอยช่วยเหลือให้พระโอรสได้ราชสมบัติ
กรณีที่2:พระเจ้าปราสาททองตลุยเลือดขึ้นบัลลังก์ น้องพระเจ้าทรงธรรมบวชก็ยังหนีไม่พ้น
บันทึกของวันวลิตระบุว่า เมื่อพระเจ้าทรงธรรมประชวรใกล้สวรรคตนั้น ขุนนางส่วนหนึ่งเห็นว่า ราชสมบัติควรตกแก่พระอนุชาซึ่งเป็นอุปราช แต่พระเจ้าแผ่นดินและออกญาศรีวงค์เห็นควรว่าสมบัติควรจะตกแก่โอรส
ในตอนที่พระเจ้าทรงธรรมใกล้สิ้นพระชนม์ และเกิดการแตกออกเป็น2ฝ่ายดังกล่าว จึงเป็นโอกาสให้ ออกญาศรีวรวงค์ที่กุมอำนาจในมืออยู่ขณะนั้น ฉวยโอกาสที่จะรัฐประหารยึดอำนาจ โดยได้ให้ทหารของตนเฝ้าทางเข้าพระราชวังทุกด้าน ไม่มีขุนนางแม้แต่คนเดียวเข้าไปดูอาการพระเจ้าทรงธรรมได้ในระหว่างนั้น
ออกญาศรีวรวงค์เพียงคนเดียวเป็นผู้รับสนองคำสั่ง และพระราชโองการ แล้วนำมาแจ้งต่อที่ประชุมเสนาบดี มีการแสร้งกระจายข่าวว่าพระเจ้าทรงธรรมอาการดีขึ้น (ทั้ง ๆ ที่กำลังจะสวรรคต) แล้วในขณะเดียวกันก็ไปเกลี้ยกล่อมขุนนางญี่ปุ่นที่พระเจ้าทรงธรรมชุบเลี้ยงไว้ คือออกญาเสนาภิมุขให้เป็นพวก และยังได้นำกำลังทหารที่เป็นฝ่ายตนเข้ามาไว้ในเมืองหลวง อ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชประสงค์ใช้ทหารในการเสด็จประพาส หลังจากหายประชวรแล้ว
เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตลง ออกญาศรีวรวงค์มีคำสั่งให้ขุนนางทั้งปวงมาที่ในวัง แล้วแจ้งว่า พระเจ้าแผ่นดินสวรรคต 1 ชั่วโมงแล้ว แต่ขุนนางส่วนมากเชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตนานแล้ว แต่ออกญาศรีวรวงค์ปิดบังไว้ ออกญาศรีวรวงค์ได้แจ้งว่า พระเจ้าทรงธรรมทรงต้องการมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส ขุนนางทั้งปวงจึงคล้อยตาม
พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ขึ้นสู่พระราชบัลลังก์ คือสมเด็จพระเชษฐาธิราช มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ในขณะที่พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรม คือพระศรีศิลป์ ที่เป็นอุปราชอยู่ ก็ได้หนีราชภัยไปบวชที่เมืองเพชรบุรี
ออกญาศรีวรวงค์ได้กำจัดขุนนางที่หนุนฝ่ายพระศรีศิลป์ ซึ่งเสด็จออกผนวชหนีราชภัย รวมทั้งพวกที่ไม่ประกาศออกมาชัดเจนว่าเป็นพวกใดก็ไม่ละเว้น พวกเขาถูกจับกุมและถูกพันธนาการอย่างแน่นหนา บ้านเรือนตลอดจนทรัพย์สมบัติถูกปล้นสดมภ์ ข้าทาสบริวารถูกคร่าไปสิ้น ขุนนางผู้ใหญ่ถูกสับออกเป็นท่อน ๆ ศรีษะและร่างกายอื่น ๆ ถูกเสียบประจานไว้หลาย ๆแห่ง เพื่อเตือนใจพวกคิดต่อต้าน
ขุนนางคนสำคัญที่สุดที่ถูกประหารคือออกญากลาโหม แม่ทัพช้าง และออกหลวงธรรมไตรโลก เจ้าเมืองตะนาวศรี จากนั้นออกญาศรีวรวงค์ก็ได้ยึดตำแหน่งออกญากลาโหมแทน ส่วนตำแหน่งต่าง ๆที่ว่างลง เพราะขุนนางฝ่ายตรงข้ามถูกประหารหรือถูกถอดยศ ออกญากลาโหมคนใหม่ก็ตั้งคนของตนเข้าไปแทน
แต่ศัตรูก็ยังมีอยู่เพราะอุปราชหนีไปผนวช ออกญากลาโหมไม่กล้าแตะต้องเพราะกลัวบาป และกลัวคนสาปแช่ง จึงให้ออกญาเสนาภิมุขไปล่อลวงให้กลับกรุงศรีอยุธยา โดยแจ้งว่าจะได้รับอำนาจเป็นพระมหากษัตริย์ อุปราชก็หลงเชื่อจึงกลับมา แต่ไม่ยอมสึก เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาก็ถูกหลอกให้สึกพระ โดยญี่ปุ่นทำเป็นว่าได้วางทหารไว้ทั่ววังแล้ว วางใจได้แน่
แต่พอสึกก็โดนจับได้ ไปขังไว้และถูกสั่งประหารถึงแก่ทิวงคตในที่สุด ในตอนที่มีพระชนม์ชีพเพียง 26 พรรษา และได้แต่งตั้งพระเชษฐาธิราชขึ้นนั่งราชบัลลังก์
ก่อนพระศรีศิลป์จะตายนั้น วันวลิตบันทึกว่า พระองค์ทรงขออนุญาต ตรัสแก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ที่เป็นหลานสักครั้งก่อนถูกประหารชีวิต ซึ่งก็ได้รับอนุญาต เมื่อได้เข้าเฝ้า ก็ทรงทูลข้อเตือนใจและคำแนะนำที่เป็นแก่นสาร ในตอนท้าย ได้ตรัสว่าพระเจ้าแผ่นดินว่า ไม่ควรทรงไว้ใจออกญากลาโหมมากนัก หรือให้ออกญากลาโหมมีอำนาจมากเกินไป ทรงเพิ่มเติมว่า “ออกญากลาโหมเป็นสุนัขจิ้งจอกที่แยบยล จะแยกมงกุฎจากพระเศียรของพระองค์ จะฆ่าพระองค์ และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นของราชวงศ์พระบิดา และจะปกครองอาณาจักรดุจราชสีห์”
อย่างไรก็ดี พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ใส่ใจคำเตือนนี้ ทรงมีกระแสรับสั่งให้ประหารชีวิต พระปิตุลาถูกนำไปยังป่าช้าที่เงียบเหงา ซึ่งพระองค์ถูกบังคับให้นอนบนพรมสีแดง จากนั้นถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ที่พระอุระ ทั้งพระองค์ ท่อนจันทน์ และพรมสีแดง ก็ถูกเหวี่ยงลงบ่อน้ำไป ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 26 พรรษา ทรงเป็นเจ้าชายที่เข้มแข็งมาก ถ้าหากพระองค์ทรงได้ครองราชสมบัติตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว พระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีคุณงามความดีเหนือพระเชษฐาธิราชหลายประการ
แม้ได้ขจัดศัตรูทางการเมืองอย่างพระศรีศิลป์ไปแล้ว แต่ผู้ทรงอำนาจในแผ่นดินตัวจริงก็หาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ กลับเป็นออกญากลาโหมนั่นเอง
วันหนึ่ง เมื่อน้องชายออกญากลาโหมตาย และเพื่อที่จะทำพิธีเผาศพอย่างใหญ่โตเอิกเกริก ออกญากลาโหมก็เชิญขุนนางหลายคนเดินทางไปกับตนเป็นเวลาหลายวัน เพื่อทำพิธีเผาศพให้สมเกียรติ ทำให้วันหนึ่ง ขณะที่ออกขุนนาง พระเจ้าแผ่นดินทรงมีรับสั่งถามว่า “ขุนนางหายกันไปไหนหมด ทำไมถึงไม่มาเข้าเฝ้าเป็นเวลาหลายวันแล้ว”
เมื่อทรงทราบว่า พวกขุนนางติดตามออกญากลาโหมไปในพิธีเผาศพน้องชาย ก็ทรงพระพิโรธ ตรัสว่า “ข้าตั้งใจไว้แล้วว่าแผ่นดินสยามนั้นจะต้องมีพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว และพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นก็คือข้า ออกญากลาโหมเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สองหรือ? ข้าไม่ยักรู้ เอาเถิดปล่อยให้มันและพวกพ้องกลับมาถึงราชสำนักก่อน แล้วข้าจะให้รางวัลในการกระทำของพวกมันอย่างเต็มที่” ขุนนางคนหนึ่งซึ่งเฝ้าอยู่ในขณะนั้น ก็แอบลอบออกจากพระราชวัง ไปเตือนออกญากลาโหมถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ออกญาและพวกขุนนางอื่นๆ
ออกญากลาโหมมีทีท่าวุ่นวายใจเมื่อทราบข่าว และกล่าวกับขุนนางทั้งปวงว่า เขายินดีที่จะตายถ้าหากเลือดเนื้อของเขาจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินหายพิโรธได้ แต่ได้กล่าวเพิ่มเติม ว่า “ถ้าหากข้าซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่สุดในบรรดาพวกเรา จะต้องสิ้นชีวิตลงแล้ว พวกเจ้าจะเป็นอย่างไร..”
หลังจากนั้น พวกขุนนางก็เสนอความเห็นหลายประการ และสาบานว่าจะสนับสนุนออกญากลาโหมทุกประการ และลงมติว่าออกญากลาโหมจะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพของพระเจ้าแผ่นดิน ( ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของออกญากลาโหม ) และขุนนางแต่ละคนจะเกณฑ์สมัครพรรคพวกและข้าทาสเข้าร่วมด้วย เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันกลับที่พักของตนพร้อมกับเริ่มดำเนินการตามแผน
เย็นวันนั้น ออกญากลาโหมพร้อมกับทหารจำนวนหนึ่ง ก็ปรากฎตัว ณ ประตูกวาง พวกขุนนางก็เข้ารวมพวกด้วย และบุกเข้าไปในพระราชวังและสามารถยึดอำนาจรัฐไว้ได้
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทราบข่าว ก็กระโดดขึ้นช้างตีนเร็ว ( fleet-footed-elephant ) หนีไปแต่ผู้เดียว ให้ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำ และหนีต่อไปทางเหนือเมืองเจ็ดไมล์ เสด็จไปซ่อนพระองค์อยู่ในวัดร้างแห่งหนึ่ง
เมื่อออกญากลาโหม ทราบข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินหลบซ่อนอยู่ในที่ใดแล้ว ก็ส่งทหารของตนออกไปจับพระองค์เป็นเชลย นำกลับมายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึง พวกขุนนางก็พิจารณาลงโทษประหารชีวิตพระองค์ ตามข้อแนะนำของออกญากลาโหม ผู้ซึ่งกล่าวว่า “เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จหนีไปจากพระราชวังของพระองค์เอง ทรงละทิ้งมงกุฎและเกียรติยศของกษัตริย์ พระองค์ไม่สมควรที่จะปกครองพวกเราสืบไป!” ทันใดนั้น พระองค์ก็ถูกคุมตัวไปยังป่าช้า สถานที่เดียวกับที่พระปิตุลาถูกประหาร และพระองค์ก็สิ้นพระชนม์แบบเดียวกันกับพระปิตุลา เสวยราชย์อยู่เพียง 8 เดือน
จากนั้นออกญากลาโหมก็ยังไม่ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่เสียเลยทีเดียว ได้มีการตั้งยุวกษัตริย์อีกองค์คือพระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาของพระองค์เชษฐาธิราช ขึ้นเสวยราชสมบัติด้วยความเห็นชอบของขุนนาง ขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ 10 พรรษา ออกญากลาโหมได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์ แต่ออกญากลาโหมประกาศว่าไม่ต้องการที่จะรับหน้าที่ดังกล่าว
อย่างไรก็ดีหลังจากอิดออดพอเป็นพิธีแล้ว ในตอนท้าย ออกญากลาโหมก็รับเป็นผู้สำเร็จราชการตามคำวิงวอนของขุนนาง ซึ่งกล่าวว่าออกญากลาโหม เป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงจากพระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่และยุติธรรม และเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน ในที่สุดหลังจากที่ได้คัดค้าน ออกญากลาโหมก็ยอมรับเป็นผู้ปกครอง และได้มีการรับรู้ และประกาศให้ทราบทั่วกันโดยพระราชวงศ์
หลังจากพระเจ้าแผ่นดินขึ้นครองราชย์ได้หลายวัน ออกญากลาโหมต้องการจะสละตำแหน่งหน้าที่ โดยกล่าวว่า “เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่ว่าชีวิตหรือตำแหน่งหน้าที่การงานของข้าก็จะต้องไม่มั่นคง เพราะว่าย่อมจะมีทางเป็นไปได้ ที่บุคคลซึ่งไม่ใช่เพื่อนแท้ และพวกปากหอยปากปู ย่อมจะกล่าวร้ายป้ายสีการกระทำของข้า ทำให้ข้ามีมลทิน ซึ่งย่อมจะทำให้พระเจ้าแผ่นดินพิโรธ” และกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เป็นการถูกต้องนัก ที่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่นี้จะปกครองโดยพระเจ้าแผ่นดินที่เยาว์วัย ด้วยเหตุผลต่าง ๆ จึงพิจารณาว่า ควรจะมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองเป็นการชั่วคราวก่อนที่เจ้าชายองค์น้อยนี้จะบรรลุนิติภาวะ และทรงสามารถปกครองได้ด้วยพระองค์เอง เมื่อถึงเวลานั้น พระเจ้าแผ่นดินชั่วคราวจะต้องถวายราชสมบัติคืนแก่รัชทายาทที่ถูกต้อง ในตอนนี้เจ้าชายจะต้องอยู่ในความดูแลของพระสงฆ์เพื่อจะได้เรียนรู้หลักธรรม
หลังจากได้พิจารณาข้อเสนอของออกญากลาโหมแล้ว ก็ไม่สามารถจะตกลงให้สละตำแหน่งหน้าที่ได้ แต่ต้องสถาปนาออกญากลาโหมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินขึ้นสืบทอดอำนาจหลังจากทำรัฐประหารมาสำเร็จลุล่วงแล้ว ตามเงื่อนใขที่ออกญาวางไว้เอง
แต่อย่างไรก็ดี ออกญากลาโหมแสดงท่าทีอิดออดว่าไม่ต้องการรับมงกุฎ แต่ในที่สุดก็ยินยอมรับตามคำอ้อนวอนและขอร้องของบุคคลทุกชั้น(ซึ่งก็ล้วนเป็นพวกของออกญากลาโหม) สองสามวันหลังจากที่ได้สถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ออกญากลาโหมก็ทรงเสนอต่อขุนนางด้วยคุณธรรมจริยธรรมสูงยิ่งว่า ที่จะให้เจ้าชายปกครองพระราชอาณาจักรร่วมกัน แต่ขุนนางพรรคพวกของออกญากลาโหมก็ทำทีทัดทานว่าไม่สามารถจะยอมได้ การจำกัดอำนาจดังกล่าวจะเกิดผลอันตรายเพราะว่าเมื่อเจ้าชายมีพระราชอำนาจเต็มที่แล้วอาจจะไม่ไว้ใจออกญากลาโหมโดยการยุยงของผู้อื่น และจะคอยจับผิดเพื่อติเตียนออกญากลาโหมในด้านการปกครอง และดังนั้นจะเป็นอันตรายต่อออกญากลาโหมเป็นอย่างมาก
ดังนั้นออกญากลาโหมจึงไม่ขอรับมงกุฏ หรือภาระหน้าที่การปกครอง คณะขุนนางไม่สามารถจะปล่อยให้เป็นไปดังกล่าวได้ แต่เพื่อรักษาชีวิต และตำแหน่งของพวกเขาเหล่านั้น และเพื่อให้อาณาจักรมีการปกครองที่ถูกต้อง คือมีพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว ไม่ใช่สององค์ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือกำจัดเจ้าชายองค์น้อยเสีย แต่พระเจ้าแผ่นดินชั่วคราวไม่ทรงปรารถนาให้ทำเช่นนั้น มีดำรัสว่าเจ้าชายเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้ทรงทำผิดอะไร ก็ไม่สมควรที่จะต้องเสียเลือดเนื้อ แต่พวกขุนนางคะยั้นคะยอให้ทำ ในที่สุดก็ทรงยินยอมที่จะให้ประหารชีวิตเจ้าชาย ด้วยวิธีเดียวกับพระเชษฐาธิราช และพระปิตุลาคือพระศรีศิลป์
ทรงมีกระแสรับสั่งให้นำเจ้าชายไปจากโรงเรียน แล้วนำไปสู่ป่าช้าที่เงียบเหงา ซึ่งเจ้าชายองค์น้อยก็ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ที่พระอุระ และโยนลงบ่อดังเช่นพระเชษฐาและพระปิตุลา พระองค์เสวยราชย์อยู่แค่เพียง 38 วัน
เมื่อเจ้าชายองค์น้อยสิ้นพระชนม์ ออกญากลาโหม ก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแต่องค์เดียวในอาณาจักรสยาม ทรงครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ 30 พรรษา ทรงพระนามว่า พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช หรือพระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 25 แห่งสยาม และทรงเสวยราชย์อยู่นาน 11 ปี
การผลัดแผ่นดินอย่างนองเลือดไม่ได้จบลงเพียงนั้น ในปีที่สามแห่งรัชกาลของพระเจ้าปราสาททอง ทรงประหารชีวิตเจ้าชายอีกสองพระองค์ องค์หนึ่งพระชนมายุ 7 พรรษา อีกองค์หนึ่ง 5 พรรษา ทั้งสองพระองค์เป็นโอรสของพระอินทราและอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งถูกปลงพระชนม์ บรรดาขุนนางที่คัดค้านการกระทำนี้ ถูกทำร้ายด้วยน้ำมือของพระองค์เอง และที่พักอาศัยรวมทั้งทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ก็ถูกริบราชบาตร เป็นการกำจัดเสี้ยนหนามลงอย่างราบคาบ แต่ก็ทรงราชย์อยู่ด้วยความหวาดระแวง
พระองค์ทรงกำจัดออกญาเสนาภิมุข ขุนศึกญี่ปุ่นที่ร่วมกันทำรัฐประหารอย่างโหดเหี้ยม โดยอ้างกับขุนศึกญี่ปุ่นว่าจะส่งเขาไปกินเมืองที่นครศรีธรรมราช ขณะเดียวกันก็มีสารลับไปถึงเจ้าเมืองนครว่าให้กลุ้มรุมลอบทำร้ายและเข่นฆ่าเสียให้ตายอย่าให้เหลือเมื่อออกญาเสนาภิมุขเดินทางไปถึง และที่สุดออกญาเสนาภิมุขก็พบชะตากรรมที่เลวร้ายตามพระราชประสงค์ทุกประการ
ในปีที่เจ็ดแห่งรัชกาล ทรงสั่งประหารชีวิตออกญาพิษณุโลกด้วยสาเหตุที่ทรงสร้างขึ้นเอง ถึงแม้ว่าออกญาพิษณุโลกเป็นผู้ช่วยเหลือพระองค์ให้ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกที่ปฎิบัติต่อขุนนางเยี่ยงทาส ขุนนางจะต้องเข้าเฝ้าทุกวัน และอนุญาตให้ไปเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกันตามบ้านหรือที่รโหฐานได้ แต่ไม่อนุญาตให้พูดกัน เว้นแต่ในที่สาธารณะ
แต่เมื่อสิ้นรัชกาลกงเกวียนกำเกวียนก็เวียนมาสนองพระองค์ อันเนื่องจากความยุ่งยากในบั้นปลายรัชกาลที่เกิดขึ้นซ้ำๆซากๆนั่นเอง (ติดตามตอนที่2:สงครามกลางเมืองในบั้นปลายรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง และการก่อการรัฐประหารของพระเพทราชา-พระเจ้าเสือในบั้นปลายรัชกาลพระนารายณ์มหาราช)