ที่มา ประชาไท
1. ความท้าทายจากโลกาภิวัตน์
กระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังดำเนินไปทั่วโลกในปัจจุบัน คือการเชื่อมต่อกันเข้าของระบบเศรษฐกิจสังคมนานาประเทศผ่านโครงข่ายตลาดการค้าและการลงทุนข้ามชาติ โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพลังหลัก ลดต้นทุนธุรกรรม การสื่อสารและการขนส่ง กระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของสินค้า บริการ เงินทุน ผู้คน และทรัพยากรระหว่างประเทศในจำนวนมหาศาลต่อวัน การขยายการแข่งขันทางธุรกิจที่ข้ามกำแพงรัฐชาติ การแพร่หลายของการผลิตแบบห่วงโซ่ข้ามชาติ การไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลและวัฒนธรรมที่รวดเร็ว รวมทั้งการแพร่ขยายของระบอบประชาธิปไตยไปในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่ซึ่งอดีตเคยเป็นระบอบเผด็จการในรูปแบบต่าง ๆ
โลกาภิวัตน์ในขั้นตอนปัจจุบันมีรากฐานมาจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 2520-30 ก่อนหน้านั้น รัฐบาลประเทศเหล่านี้ได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเคนส์เสียนที่รัฐเข้าแทรกแซงควบคุมระบบเศรษฐกิจทุนนิยม จำกัดการทำงานของกลไกตลาดด้วยกฎระเบียบและข้อห้ามมากมาย จัดตั้งรัฐวิสาหกิจผูกขาดในอุตสาหกรรมหลัก ส่งเสริมสหภาพแรงงาน และอัดฉีดงบประมาณของรัฐเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะล้นพ้นตัว เงินเฟ้อสูงเรื้อรัง วิกฤตการณ์ค่าเงินตกต่ำ และการว่างงานเชิงโครงสร้าง เป็นผลให้พรรคการเมืองที่เดินนโยบายลัทธิเคนส์เสียนพากันพ่ายแพ้เลือกตั้ง แทนที่ด้วยรัฐบาลฝ่ายเสรีนิยมที่ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน (privatization) ลดการแทรกแซงควบคุมของรัฐ (deregulation) และเปิดเสรีการแข่งขันภายในประเทศและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ (liberalization)
โลกาภิวัตน์กลายเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกรากเมื่อเกิดการล่มสลายของระบบสังคมนิยมทั่วโลกในช่วงปี 2532-34 ระบอบการเมืองแบบเผด็จการด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียวที่รัฐเข้าแทรกแซงกิจกรรมทุกแง่มุมในชีวิตส่วนตนของประชาชนได้พังทลายลงพร้อมกับระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่รัฐเข้าวางแผนและควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกชนิดอย่างเบ็ดเสร็จ ก่อให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพและสูญเปล่า ความเป็นอยู่ของประชาชนเสื่อมทรุด อัตคัดขาดแคลน การล่มสลายของสังคมนิยมทำให้ประชากรกว่าหนึ่งในสามของโลกซึ่งเคยอยู่นอกระบบตลาดได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ระบบตลาดของทุนนิยมในชั่วข้ามคืน กลายเป็นแหล่งแรงงาน ทรัพยากร ทุน และตลาดผู้บริโภคแห่งใหม่ให้กับการขยายตัวของทุนนิยมโลกในทศวรรษ 2530-50
ความเสื่อมของนโยบายเศรษฐกิจเคนส์เสียนในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา กับการล่มสลายของระบบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก เป็นข้อพิสูจน์ถึงความล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทั่วโลกในการแทรกแซงควบคุมระบบเศรษฐกิจ ประชาชนจำนวนมากไม่เชื่อหรือมั่นใจใน “ภูมิปัญญาของรัฐบาล” อีกต่อไป
การมาถึงของโลกาภิวัตน์เป็นความท้าทายต่อรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจของตนให้สอดรับและแสวงหาประโยชน์จากการแข่งขัน การไหลเวียนอย่างรวดเร็วของสินค้า เงินทุน ทรัพยากร มนุษย์ และข่าวสารข้อมูลในปริมาณมหาศาล เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจให้สามารถเผชิญกับการแข่งขันข้ามชาติ และดำเนินมาตรการลดผลกระทบทางลบของโลกาภิวัตน์ โดยทั้งหมดเป็นการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ลดการแทรกแซงของรัฐ เสริมสร้างระบบตลาดและการแข่งขัน และการปฏิรูประบบสวัสดิการประกันสังคมให้กะทัดรัดและมีประสิทธิภาพ
ระบบเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์กลายเป็นเวทีแข่งขันระหว่างประเทศที่ดุเดือดเข้มข้น ทั้งแข่งขันกันปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้ก้าวหน้า ทันสมัย มีประสิทธิภาพ แล้วยังแข่งกันรวมตัวสร้างพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาคขึ้นทั่วโลก โดยต่างหวังจะนำเอาจุดแข็งของประเทศคู่ค้ามาเสริมกับจุดแข็งของประเทศตน เช่น
• การก่อตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement --- NAFTA) ที่รวมตลาดการค้าและการลงทุนของแคนาดา สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก
• การปรับโครงสร้างการเงินและอุตสาหกรรมในเกาหลีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 1997
• การเปิดประตูเศรษฐกิจรับเงินทุนและเทคโนโลยีตะวันตกของจีนและอินเดีย
• การปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยนายกรัฐมนตรีโคอิซูมิ (การปฏิรูปการเงิน การแปรรูปไปรษณีย์)
• การปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมในหลายประเทศของละตินอเมริกาและคาริบเบียน
• การก่อตั้งสหภาพยุโรป (EU) เพื่อแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาและ NAFTA
• การผลักดันโดยสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในกลุ่มเอเปก (Free Trade Area of the Asia and Pacific --- FTAAP)
• สหรัฐอเมริกาเดินนโยบายเร่งทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในเอเชีย ตั้งแต่สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลี โดยมีญี่ปุ่นและเวียดนามเป็นรายต่อไป
• มาเลเซียเดินยุทธศาสตร์มุ่งพัฒนาฐานอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์และอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน
• สิงคโปร์ประกาศวาระแห่งชาติเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในปี 2544 มุ่งยกระดับโครงสร้างจากระบบเศรษฐกิจแบบเทคโนโลยีเข้มข้น ไปเป็นสังคมความรู้เข้มข้น
• เวียดนามเปิดประเทศด้วยมาตรการปฏิรูปพัฒนาเศรษฐกิจอย่างทั่วด้าน เช่น แผนการเชิงพาณิชย์ท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวคัมราห์น ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนครบวงจรเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ รถไฟหัวกระสุนฮานอย-โฮจิมินห์ซิตี้ โครงการผลิตและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปด้วยโรงกลั่นน้ำมันสามโรง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สองแห่งเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นต้น
2. พัฒนาการเศรษฐกิจไทย
ประเทศไทยเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ปี 2501 เรื่อยมา โดยระยะเริ่มแรกเป็นการเน้นอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ด้วยการส่งออกสินค้าเกษตรและสินแร่ไปแลกกับการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบขั้นกลางเข้ามาสร้างเป็นฐานอุตสาหกรรม ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสนองตลาดภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้าสินค้าบริโภคจากต่างประเทศ ด้วยการส่งเสริมการลงทุนของเอกชนและการร่วมทุนกับต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มทุนขุนนางจารีตนิยมและทุนใหญ่เชื้อสายจีน ทั้งให้มีรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภคและอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทาง “ยุทธศาสตร์” ทั้งหมดนี้ยืนอยู่บนฐานของระบบสถาบันการเงินไทยแบบปิด ที่ผูกขาดอยู่ในกลุ่มทุนขุนนางจารีตนิยมและทุนใหญ่เชื้อสายจีนเพียงไม่กี่ตระกูล ภายใต้การควบคุมและคุ้มครองของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ปลอดพ้นจากการแข่งขันกันเองและการแข่งขันจากทุนต่างชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา “อุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น” (Labor-intensive industries) เนื่องจากมีแรงงานล้นเกินจากภาคเกษตร ค่าจ้างแรงงานและค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำ เทคโนโลยีการผลิตไม่ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะความชำนาญสูง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า สิ่งอุปโภคประจำวัน และเกษตรแปรรูป เป็นต้น
แนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าภายใต้ทุนนิยมขุนนางอุปถัมภ์ดังกล่าวประสบภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน เผชิญวิกฤตราคาน้ำมันในช่วงปี 2515-2522 และความไม่สงบทางการเมือง (14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519) จนถึงยุคหลัง 2520 จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ซึ่งยังคงดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า แต่ได้เพิ่มแนวทางอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกโดยร่วมลงทุนกับต่างชาติ ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต การพัฒนาเศรษฐกิจได้ยกระดับไปสู่ “อุตสาหกรรมทักษะเข้มข้น” (Skill-intensive industries) เนื่องจากในตลาดส่งออก สินค้าต้องมีคุณภาพและต้นทุนที่แข่งขันได้ เครื่องจักรและเทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น ต้องใช้แรงงานที่มีความรู้และทักษะสูงขึ้น
ในช่วงเดียวกัน ก็เริ่มมีการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งคือ “อุตสาหกรรมทุนเข้มข้น” (Capital-intensive industries) เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินทุนมหาศาล ใช้เทคโนโลยีและพลังงานมาก แต่จ้างแรงงานน้อย ทั้งหมดยังคงเป็นการร่วมทุนของทุนขุนนางจารีตนิยม ทุนใหญ่เชื้อสายจีน กับทุนต่างชาติ เป็นอุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี พลาสติก ยางสังเคราะห์ และอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็กและเหล็กกล้า ประกอบรถยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลเกษตร เป็นต้น
ช่วงหลังปี 2530 กลุ่มทุนญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวันได้ย้ายฐานการผลิตสินค้าเครื่องไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศเข้ามาในประเทศไทยเพื่อหลบเลี่ยงการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและยุโรป เกิดเป็นกลุ่ม “อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้มข้น” (Technology-intensive industries) ซึ่งจ้างแรงงานทักษะสูง ค่าจ้างแรงงานสูง ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เน้นการส่งออก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน วงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องจักรกลเกษตร เป็นต้น การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงปี 2530-40 ยังทำให้เกิดการเติบโตของกลุ่มทุนใหม่ ซึ่งอยู่ในภาคเศรษฐกิจส่งออกและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับสูง มีผลประโยชน์ผูกติดกับการค้าการลงทุนและแนวโน้มของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกอย่างแนบแน่น
การพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไปจากประเทศเกษตรกรรมในอดีต กลายเป็น “ประเทศอุตสาหกรรมระดับกลาง” คือ ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจาก ร้อยละ 23 ในปี 2523 เหลือเพียงร้อยละ 11 ในปัจจุบัน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มสัดส่วนจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 36 และเมื่อพิจารณาสาขาเศรษฐกิจสมัยใหม่ (อุตสาหกรรม ก่อสร้าง ขนส่งและคมนาคม บริการทางการเงิน ค้าส่งค้าปลีก) จะมีสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 66 ของจีดีพี
ประเทศไทยจึงมีโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าและอุตสาหกรรมส่งออก ตั้งแต่อุตสาหกรรมที่ยังใช้แรงงานและทักษะเข้มข้น ไปจนถึงอุตสาหกรรมทุนเข้มข้นและเทคโนโลยีเข้มข้นที่เติบโตเร็ว ในด้านการค้าต่างประเทศของไทยนับแต่ปี 2538 ถึงปัจจุบัน สินค้าส่งออกประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทักษะเข้มข้นและเทคโนโลยีเข้มข้น เช่น เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เคมีภัณฑ์ พลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รถยนต์และชิ้นส่วน ในขณะที่ด้านสินค้านำเข้า ประกอบด้วยเครื่องจักร เคมีภัณฑ์ และสินค้าอุตสาหกรรม รวมกันสูงถึงร้อยละ 68 โดยยังคงพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูงมากถึงร้อยละ 20
3. ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมไทย
ระบบเศรษฐกิจไทยปัจจุบันเป็นทุนนิยมขุนนางอุปถัมภ์ ถูกครอบงำด้วย “กลุ่มทุนเก่า” ที่ประกอบด้วยทุนขุนนางจารีตนิยมและทุนใหญ่เชื้อสายจีน เต็มไปด้วยการผูกขาดตัดตอน ใช้อำนาจทั้งในและนอกระบบราชการแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจผ่านสิทธิพิเศษทางกฎหมาย การส่งเสริมการลงทุนโดยรัฐ โครงการต่าง ๆ ของรัฐ สัมปทาน และรัฐวิสาหกิจ ในด้านต่างประเทศ ก็ดำเนินนโยบายจำกัดการแข่งขันจากต่างประเทศด้วยมาตรการกีดกันการค้า กำแพงภาษี ปกป้องคุ้มครองธุรกิจใหญ่ของกลุ่มทุนขุนนางภายในประเทศให้ปลอดพ้นจากการแข่งขันในระดับสากล ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความอ่อนแอเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการแข่งขันยุคโลกาภิวัตน์ เห็นได้จากความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน การกำกับดูแลสถาบันการเงิน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค และนโยบายวิเทศธนกิจในช่วงปี 2532-2536 ซึ่งเป็นการ “เปิดเสรีให้กู้เงินจากต่างประเทศ” กระแสเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าสู่เศรษฐกิจไทยที่ยังเต็มไปด้วยระบบผูกขาด วิสาหกิจล้าสมัยขาดประสิทธิภาพ เป็นผลให้แทนที่เงินทุนจะถูกใช้ไปในการปรับโครงสร้าง วางรากฐานเศรษฐกิจ ยกระดับเทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจ เงินทุนเหล่านั้นกลับถูกใช้ไปในการเก็งกำไรหุ้นและอสังหาริมทรัพย์และการทุจริตในภาคธุรกิจ นำมาซึ่งวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งที่รุนแรงที่สุด
จุดเปราะบางสำคัญของเศรษฐกิจไทยในการแข่งขันของโลกาภิวัตน์ก็คือ ประเทศไทยยังขาดการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งที่เป็นของตนเองและที่ใช้ประโยชน์ต่อยอดจากเทคโนโลยีต่างชาติ ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีในระดับสูงมาก ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีการขาดดุลค่าใบอนุญาตใช้เทคโนโลยีระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากหนึ่งหมื่นล้านบาทในปี 2536 เป็นสูงถึงราว 8 หมื่นล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน หรือเพิ่มจากร้อยละ 0.34 เป็นร้อยละ 0.94 ของจีดีพีในช่วงดังกล่าว
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันในโลกาภิวัตน์อย่างรุนแรง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและทักษะเข้มข้นมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีแรงงานราคาถูก ไม่มีสินแร่และทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เหมือนช่วงปี 2500-2520 ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยปัจจุบันมีปริมาณสำรองจำกัด และยังต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศในปริมาณมาก การพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศในระดับสูงมากทำให้เสี่ยงต่อการที่ทุนต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้มข้นออกไปประเทศอื่นเมื่อเงื่อนไขภายในและภายนอกเกิดเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการแข่งขันจากจีนและอินเดียที่ผลิตสินค้าได้หลากหลายทุกระดับ ความท้าท้ายของระบบเศรษฐกิจไทยคือ ต้องยกระดับฐานอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นสู่ “อุตสาหกรรมความรู้เข้มข้น” (Knowledge-intensive industries) พัฒนาความรู้เทคโนโลยีของตนเองและต่อยอดจากของต่างชาติ เน้นพัฒนาและผลิต “ทรัพย์สินทางปัญญา” นำมาประยุกต์กับสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรแปรรูปที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีของตนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น
แต่ประเทศไทยปัจจุบันกลับอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาฐานความรู้ที่ต่ำที่สุดในเอเชีย เห็นได้จากระดับ “ดัชนีชี้วัดสมรรถนะการผลิตทรัพย์สินทางปัญญา” ที่ต่ำมาก เช่น ประเทศไทยมีการลงทุนใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพียงร้อยละ 0.25 ของจีดีพีในปี 2547 เกือบจะต่ำที่สุดในเอเชีย ดัชนีอื่น ๆ เช่น อัตราคำขอจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของคนไทยในสหรัฐอเมริกาต่อประชากรไทยล้านคนอยู่ที่เพียง 1.08 คำขอ อัตราคำขอสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในประเทศไทยต่อประชากรไทยล้านคนอยู่ที่ 12.86 คำขอ ซึ่งล้วนอยู่ในระดับเกือบต่ำสุดของเอเชีย คือสูงกว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้น ในขณะที่อัตราการจ่ายค่าใบอนุญาตเพื่อใช้เทคโนโลยีต่างประเทศต่อจีดีพีกลับมีระดับเกือบสูงที่สุดในเอเชีย
วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และความอ่อนแอด้อยพัฒนาในการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจไทยยังคงล้าหลังและอ่อนแออย่างยิ่งในการเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ เผยให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบอบอำมาตยาธิปไตยของกลุ่มทุนขุนนางจารีตนิยมในการปกครองบริหารประเทศ เป็นสัญญาณชี้ว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตย ระบบราชการ และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเมืองของพวกเขาตั้งแต่ยุค 2500 มาบัดนี้ได้ถึงทางตันแล้ว และมิอาจปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย มีประสิทธิภาพ แข่งขันได้ในยุคโลกาภิวัตน์
4. การต่อสู้ทางชนชั้น การต่อสู้สองแนวทาง
ระบอบการเมืองไทยนับแต่รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 เป็นต้นมามีเนื้อในที่เป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยของกลุ่มทุนขุนนางจารีตนิยมซึ่งผูกขาดอำนาจรัฐผ่านกองทัพและระบบราชการ แต่มีเปลือกนอกที่สลับกันไปมาระหว่างระบอบเผด็จการทหารแบบโจ่งแจ้งกับระบอบรัฐธรรมนูญที่มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองและรัฐบาลที่อ่อนแอ มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนหุ่นเชิดของพวกเขา
วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ได้สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับกลุ่มทุนเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารพาณิชย์ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ขณะที่กลุ่มทุนใหม่ได้รับความเสียหายน้อยมาก เปิดโอกาสให้มีการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีวินัย รัฐสภามีเสถียรภาพ และรัฐบาลมีความมั่นคง กลุ่มทุนใหม่ซึ่งมีพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทนนั้น มีความเข้าใจถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยและเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างเพื่อให้ทันกับยุคโลกาภิวัตน์ พวกเขาอาศัยรัฐธรรมนูญ 2540 สามารถชนะการเลือกตั้งในปี 2544 และเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ มุ่งยกระดับเศรษฐกิจไทยจากการผลิตที่เน้นแรงงาน ไปสู่การผลิตที่เน้นฝีมือและความรู้ แปรเศรษฐกิจสังคมไทยให้ทันสมัย เช่น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดเสรีการค้าและการลงทุน จัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทยอยลดอัตราภาษีศุลกากร ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ปฏิรูปกฎหมายและระบบราชการ ปฏิรูปการศึกษา และลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งระบบ เป็นต้น ให้เศรษฐกิจไทยยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้ในกระแสโลกาภิวัตน์
แต่นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้กลุ่มทุนเก่าซึ่งบอบช้ำอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ต้องสูญเสียประโยชน์และถูกบั่นทอนอำนาจผูกขาดที่ครอบงำเศรษฐกิจการเมืองไทยมายาวนาน ในที่สุด กลุ่มทุนขุนนางจารีตนิยมจึงก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ฉีกเปลือกนอกที่เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ 2540 ทิ้ง และเผยให้เห็นเนื้อในที่เป็นระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยอีกครั้ง รัฐประหาร 19 กันยายนจึงเป็นปฏิกิริยาของกลุ่มทุนขุนนางจารีตนิยมที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ และได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากบรรดาพลังปฏิกิริยาต่อต้านโลกาภิวัตน์ในสังคมไทยที่เกาะกินแสวงหาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกลุ่มทุนจารีตนิยม-ราชการ ได้แก่ ทุนใหญ่ผูกขาดเชื้อสายจีน ปัญญาชนขวาจัดและราษฎรอาวุโส ปัญญาชน “อีแอบ” ตีสองหน้า ครูอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชน นักคิดและปัญญาชนชาตินิยมและชุมชนนิยม เป็นต้น
ชนชั้นล่างในเมืองและชนบทเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากรัฐธรรมนูญ 2540 และจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลไทยรักไทย พวกเขาเกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เข้าใจได้เป็นครั้งแรกว่า “ประชาธิปไตยนั้นกินได้และเห็นหัวคนจน” พวกเขากลายเป็นฐานพลังอันเข้มแข็งที่สนับสนุนผู้นำพรรคไทยรักไทย และเป็นมวลชนพื้นฐานที่ต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายนและระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 จากการต่อสู้กับเผด็จการตลอดกว่าสามปีมานี้ พวกเขาได้ยกระดับจิตสำนึกทางการเมืองและความรับรู้สูงถึงขั้นรู้แจ้งว่า แท้จริงแล้ว อะไรคือปัจจัยขัดขวางประชาธิปไตย ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง และการกินดีอยู่ดีของประชาชน ตลอดจนเป็นรากเหง้าของรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดหลายสิบปีมานี้
ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างกลุ่มทุนขุนนางจารีตนิยม ทุนเก่าและปัญญาชนขวาจัดด้านหนึ่ง กับกลุ่มทุนใหม่ ปัญญาชนประชาธิปไตยและชนชั้นล่างในเมืองและชนบทในอีกด้านหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็เป็นการต่อสู้สองแนวทางระหว่างระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยและระบบทุนนิยมขุนนางอันล้าหลังของพวกจารีตนิยม-ทุนเก่าด้านหนึ่ง กับระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและแนวทางทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ก้าวหน้าในอีกด้านหนึ่ง การต่อสู้นี้ยืดเยื้อยาวนาน ยากลำบาก และอันตราย ถึงปัจจุบัน ยังคงอยู่ในขั้นตอน “สงครามกลางเมืองที่ไม่หลั่งเลือด” และอาจจะพัฒนายกระดับไปเป็นสงครามชนชั้นที่เปิดเผยได้หากฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยยังคงดื้อดึงฉุดรั้งสังคมไทยให้ถดถอยต่อไป ผลลัพธ์จะตัดสินว่า ประเทศไทยจะเดินไปทางไหนระหว่างการเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่เป็นเผด็จการ เศรษฐกิจหยุดนิ่ง และวัฒนธรรมล้าหลังเสื่อมโทรม กับการเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า สังคมวัฒนธรรมทันสมัยและหลากหลาย
5. ชูธงสามผืน ปฏิวัติประชาธิปไตย ปลดปล่อยประเทศไทยสู่ “สังคมความรู้”
ฝ่ายประชาธิปไตยต้องชูธงชาติไทยสามผืนให้สูงเด่นคือ ธงประชาธิปไตย ธงโลกาภิวัตน์ และธงความเป็นธรรมทางสังคม ธงสามผืนนี้เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก เกื้อกูลสนับสนุนและเป็นเงื่อนไขให้แก่กัน เพราะไม่อาจมีประชาธิปไตยถ้าไม่มีโลกาภิวัตน์ และไม่อาจมีโลกาภิวัตน์ถ้าไม่มีประชาธิปไตย แต่ทว่า ทั้งประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและก่อเป็นดอกผลแห่งการพัฒนาก้าวหน้าที่ยั่งยืนได้นั้น จะต้องสามารถสนองตอบความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจของประชาชนได้ สามารถแจกจ่ายประโยชน์ของโลกาภิวัตน์ไปในหมู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมได้
ธงประชาธิปไตยหมายถึง การต่อสู้ขจัดอำนาจอำมาตยาธิปไตยที่เป็นรากเหง้าของรัฐประหารและเผด็จการ เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน บนหลักการ
• อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
• หลักสิทธิและโอกาสอันเท่าเทียมของพลเมือง
• หลักเสรีภาพนิยมและปัจเจกชนนิยมของพลเมือง
• หลักนิติรัฐ-นิติธรรมที่คงไว้ซึ่งความยุติธรรมและเท่าเทียมกันของพลเมืองทุกคนภายใต้กฎหมาย
ธงโลกาภิวัตน์คือ การดำเนินนโยบายและมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจไทย สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพและก่อประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันและแสวงผลประโยชน์ของประเทศไทยในเศรษฐกิจโลก
• ยกระดับและขยายโครงสร้างพื้นฐานทางขนส่ง พลังงาน และโทรคมนาคม ให้เป็นระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและทั่วด้าน
• การเปิดเสรีการค้า บริการ การลงทุน และทางการเงินอย่างเป็นขั้นตอน
• ส่งเสริมการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้นและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีของไทยและต่างประเทศ
• การแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างโปร่งใสและมีขั้นตอน
• มีมาตรการและกองทุนสนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่ถูกผลกระทบจากมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ
• วินัยทางการคลังและหนี้สาธารณะในระดับต่ำ
• เน้นสาธารณสุข การศึกษา และสวัสดิการสังคมเพื่อเสริมสร้าง “ทุนมนุษย์” ในสังคมไทย
• ปฏิรูประบบภาษีให้ง่าย โปร่งใส เป็นธรรม รวมภาษีทรัพย์สิน
• ยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่เทคโนโลยีเข้มข้นและความรู้เข้มข้น
• เพิ่มการใช้จ่ายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภาครัฐ ส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
ธงความเป็นธรรมทางสังคม การแก้ปัญหาความยากจน ส่งเสริมการกระจายรายได้เพื่อให้ดอกผลของประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์ และการพัฒนาเศรษฐกิจได้กระจายไปสู่ประชาชนส่วนข้างมากของประเทศ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์มีความชอบธรรม มั่นคงและยั่งยืน
• สร้างและขยายระบบประกันสังคมแก่ลูกจ้างพนักงาน คนว่างงาน คนพิการและคนชรา เสริมสร้างการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
• ขยายและยกระดับมาตรการแก้ไขความยากจนต่อเนื่อง เช่น กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แปลงทรัพย์สินเป็นทุน ธนาคารประชาชน เป็นต้น
• เพิ่มและพัฒนามาตรการภาษีเพื่อกระจายรายได้ เช่น ภาษีที่ดินว่างเปล่า และภาษีมรดก
• บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ยกระดับมาตรฐานกฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้สูงขึ้นตามมาตรฐานสากลเพื่อปรับปรุงยกระดับคุณภาพชีวิตในที่ทำงานและในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงาน