เข้าเขตอันตราย รัฐประหารครึ่งใบ
วิกฤติประเทศไทยไม่มีเบาบางลง
มีแต่จะเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ
ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระดมพลคนเสื้อแดงเข้ากรุงเทพฯ
ยึดพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ตั้งเวทีม็อบเสื้อแดง เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล
กดดันนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ยุบสภา
มาถึงวันนี้ สถานการณ์ในการชุมนุมของกลุ่มม็อบเสื้อแดง ผ่านมาแล้วหนึ่งเดือนครึ่ง มีเหตุการณ์วิกฤติต่างๆเกิดขึ้นมากมาย
ที่ร้ายแรงหนัก ก็คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่มี การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับทหาร บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน
สูญเสียชีวิต บาดเจ็บล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ท่ามกลางภาพปริศนากลุ่มชายชุดดำที่แฝงอยู่ในม็อบเสื้อแดง ใช้อาวุธสงครามกราดยิงเข้าใส่แนวปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุม
เป็นผลให้ทั้งฝ่ายทหารและผู้ชุมนุมเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุก่อวินาศกรรมหวังผลสร้างความปั่นป่วน สอดแทรกเข้ามาในสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งการวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูง ย่านอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการยิงจรวดอาร์พีจีถล่มคลังน้ำมันขนาดใหญ่ ในอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
เดชะบุญที่การก่อวินาศกรรมเหล่านี้ไม่บรรลุเป้าหมาย ผลความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธสงครามลอบยิงสถานที่ราชการหลายแห่ง และก่อเหตุวินาศกรรมอย่างต่อเนื่อง
แต่ฝ่ายถืออำนาจรัฐ ยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้
สถานการณ์จึงอยู่ในจุดที่ยังสุ่มเสี่ยงต่อไป
ขณะเดียวกัน การที่แกนนำกลุ่ม นปช.สั่งยุบเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือด 10 เมษายน
ระดมคนเสื้อแดงตรึงพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ ย่านธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ เป็นป้อมปราการหลักชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล
สถานการณ์มีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะการที่นายกฯอภิสิทธิ์ออกมาระบุว่า มีผู้ก่อ การร้ายแฝงอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบเสื้อแดง ใช้อาวุธก่อความไม่สงบ
หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศครั้งใหญ่
พร้อมแต่งตั้งให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในเขตพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอำนาจเต็มในการสั่งใช้กำลังทหารจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงอยู่ในม็อบเสื้อแดง
ในขณะที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ภายใต้ การกำกับของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ก็ส่งสัญญาณเข้ม
ประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ชุมนุม สั่งทหารติดอาวุธปืนประจำกายในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันตัวในกรณีที่ถูกทำร้ายลอบยิง
แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้า ใส่ประชาชนย่านสีลมและกลุ่มเสื้อหลากสี ที่ออกมาแสดงพลังต่อต้านม็อบเสื้อแดง ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง และหน้าโรงแรมดุสิตธานี
ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 70 กว่าคน
กลายเป็นแดนมิคสัญญี เข้าขั้นกลียุค
ที่สำคัญ เมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ ความมุ่งหวังจากหลายฝ่ายหลายองค์กรในสังคมที่ประสานเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจา
แต่ทางแกนนำม็อบเสื้อแดงก็ตั้งเงื่อนไขสูง ยื่นคำขาดให้ยุบสภาทันที โดยไม่ขอเจรจากับนายกฯอภิสิทธิ์อีกแล้ว
ส่วนทางรัฐบาล แม้เปิดช่องพร้อมเจรจาเรื่องการยุบสภา แต่วางเงื่อนไขขอเวลาเพื่อจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณฯประจำปี 2554 และแก้ไข กติการัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายก่อนยุบสภา
ต่างฝ่ายต่างแข็งกร้าว ไม่มีใครยอมใคร ไม่มีใครยอมถอย
ทำให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติบนโต๊ะเจรจา ถูกปิดไปโดยปริยาย
ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายฝ่ายที่เรียกร้องให้การเมืองแก้ ปัญหาด้วยการเมือง โดยนำปัญหาวิกฤติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเข้ามาแก้ไขกันในระบบตามกลไกระบอบประชาธิปไตย
แต่ก็อย่างที่เห็นกัน เมื่อมีการนำปัญหาวิกฤติความขัดแย้ง เข้าสู่ เวทีรัฐสภาเพื่อหาทางออก ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
ส.ส.ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล แม้แต่ ส.ว. แทนที่จะร่วมมือกันหาทางออกให้กับประเทศ
กลับกลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างใช้เวทีสภา เป็นสถานที่ปะทะคารม ห้ำหั่น ฟาดฟันกัน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองเป็นหลัก
แม้แต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการฯขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ นองเลือด 10 เมษายน ก็ยังไม่สามารถทำได้
เนื่องจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมากไม่เห็นด้วย
เพราะรู้ทางกันดีว่า ฝ่ายค้านจะใช้เวทีนี้ อภิปรายกล่าวหาการ บริหารงานของรัฐบาล ชิงความชอบธรรม
เช่นเดียวกับการเสนอให้รัฐบาลขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ เพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภา และให้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ 10 เมษายน รวมทั้งสถานการณ์วิกฤติม็อบเสื้อแดง
ล่าสุดนายกฯอภิสิทธิ์รับหลักการ โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติ
แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันว่าจะนำไปสู่ทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกันได้ เพราะโดยสภาพการณ์แล้วคงต้องมีการอภิปรายโต้เถียงกันอย่างดุเดือด ประท้วงกันวุ่นวายแน่นอน
สุดท้าย เวทีนี้ก็จะไม่ใช่เวทีแก้ปัญหา แต่จะยิ่งสร้างปัญหา
ส่วนช่องทางแก้ปัญหาการเมืองด้วยการเมือง ด้วยการยุบสภาหรือลาออกนั้น ก็มีคำตอบชัดเจนจากนายกฯอภิสิทธิ์ ที่เน้นย้ำมาตลอดว่า
การยุบสภาโดยทันทีตามข้อเรียกร้องของม็อบเสื้อแดง ไม่ได้แก้ปัญหา และไม่ได้ทำให้เกิดความสงบ
เพราะถ้ายังไม่มีการแก้ไขกติกาเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับ ลดบรรยากาศความขัดแย้งในสังคม ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความรุนแรงในสนามเลือกตั้ง
ไม่ขัดข้องเรื่องการยุบสภา แต่ขอเวลา 6-9 เดือน เพื่อจัดการเรื่องต่างๆให้เข้ารูปเข้ารอยก่อนกลับสู่สนามเลือกตั้ง
แต่ฝ่ายแกนนำม็อบไม่รับมุก ทำให้การเจรจาขาดสะบั้นไป
สำหรับการลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในสถานการณ์ ขณะนี้ นายกฯอภิสิทธิ์คงไม่สามารถตัดสินใจตามหลักประชาธิปไตยสากลได้
เพราะถ้าลาออกกลางคัน อาจส่งผลให้โครงสร้างประเทศเพลี่ยงพล้ำ
ก็อย่างที่เห็นๆกันว่า ที่ผ่านมา โครงสร้างประเทศถูกเขย่ามาโดยตลอด จากกรณีการเคลื่อนไหวต่างๆ
ไล่ตั้งแต่เรื่องที่มีการพูดถึงการขอพึ่งพระบารมี การลงชื่อขอพระราชทานอภัยโทษ การประกาศสงครามชนชั้นไพร่ อำมาตย์ และวาทกรรมต่างๆอีกมากมาย
รวมถึงการที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ประกาศจะขอเข้าเฝ้าฯขอพึ่งพระบารมี คลี่คลายวิกฤติความขัดแย้งในบ้านเมือง
จนมาถึงการผุดโปสเตอร์ที่มีข้อความเกี่ยวกับรัฐไทยใหม่ และประธานาธิบดี
ใครทำไม่รู้ แต่สื่อให้เห็นว่า วิกฤติครั้งนี้เกินกว่าเรื่องการเมืองธรรมดา
จากปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวและสภาพแวดล้อมต่างๆทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันสะท้อนให้เห็นว่า
สถานการณ์ในขณะนี้เลยจากขั้นวิกฤติการเมือง แต่มันเป็นวิกฤติโครงสร้างประเทศ
ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศไทย
วิกฤติตรงนี้จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผู้นำรัฐบาลลาออกกลางคันไม่ได้ และยุบสภาไม่ได้
ถ้าลาออกหรือยุบสภาทันที ก็จะเดินไปเข้าล็อก เข้าแผน เพลี่ยงพล้ำ สะเทือนโครงสร้างของประเทศ
ดังนั้น นายกฯอภิสิทธิ์จึงต้องเลือกที่จะอยู่ในตำแหน่งผู้นำรัฐบาลต่อไป
และเมื่อหนทางในการที่จะใช้แนวทางการเมืองแก้ปัญหาการเมืองมีอัตราลดลง
หลังจากเหตุการณ์ 10 เมษายน จึงได้เห็นการแต่งตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ มาเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในเขตพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
มีอำนาจเต็มในการสั่งใช้กำลังทหารปราบกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงอยู่ในม็อบ
ตามด้วยการสั่งให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบติดอาวุธเพื่อป้องกันตัว
ถ้าสลายม็อบไม่ได้ ก็ต้องบั่นทอน จำกัดเขต ป้องกันการขยายพื้นที่ ลิดรอนการยกระดับความเข้มข้นในการเคลื่อนไหว
ต่างๆเหล่านี้ถือเป็นความชอบธรรมของผู้รับผิดชอบดูแลความสงบของบ้านเมือง
แต่สถานการณ์มาถึงวันนี้ เมื่อวิกฤติยังไม่ลดลง แถมมี แนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น ถ้าฝ่ายความมั่นคงยังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้เบาบางลงไปได้
ขณะที่กลุ่มเสื้อหลากสีก็ออกมาตั้งป้อมต่อต้านกลุ่มเสื้อแดง สถานการณ์ปะทะรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ยังไม่รวมกลุ่มทมิฬ กองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่จ้องใช้ อาวุธสงครามยิงถล่มฝูงชน สร้างสถานการณ์ความรุนแรง
เมื่อ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.สถานการณ์ ฉุกเฉิน ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ก็เป็นไปได้สูงที่ฝ่ายความมั่นคงอาจต้องขยับไปถึงขั้นใช้กฎอัยการศึก
ให้ทหารนำการเมือง ภายใต้ภารกิจรักษาความมั่นคงของประเทศ
ซึ่งการใช้กฎอัยการศึก ก็ไม่ต่างอะไรกับการรัฐประหาร โดยไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ
เป็นรัฐประหารครึ่งใบ.
"ทีมการเมือง"