ที่มา ข่าวสด
เหตุการณ์ยิงระเบิดเอ็ม 79 ถล่มบริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดงและหน้าโรงแรมดุสิตธานี
จุดชุมนุมของฝูงชนเสื้อหลากสีที่ออกมาต่อต้านกลุ่มคนเสื้อแดง
เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเกือบร้อยคน เมื่อค่ำวันที่ 22 เมษายน
รวมถึงเหตุการณ์ความชุลมุนวุ่นวายระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมสองฝ่าย
ที่ยึดเอาพื้นที่ย่านธุรกิจสำคัญใจกลางกรุง แบ่งฟากเปิดศึกขว้างปากันด้วยขวดแก้ว ก้อนอิฐ หนังสติ๊ก และระเบิดเพลิง โดยเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจไม่สามารถเข้าคุมสถานการณ์ไว้ได้
ทำให้ภาพออกมาใกล้เคียงกับการเป็น "สงครามประชาชน" เข้าไปทุกที
นับจากเหตุการณ์ทหารปะทะกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน
รัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตกอยู่ในห้วงคับขัน
ต้องพึ่งพาวิชาเทพและวิชามารสารพัดกว่าจะพาตัวเองรอดพ้นจากวิกฤตการณ์มาได้
โดยที่นายกฯ ไม่ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ หรือยุบสภาตามข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดง
ทั้งที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ถึง 25 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 800 คน
เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย ถูกกลบทับด้วยกระแส "ผู้ก่อการร้าย" ที่ฝ่ายรัฐบาลปล่อยออกมาเป็นซีรีส์ผ่านสื่อในมือ
ขณะเดียวกันศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ได้ปรับโครงสร้างใหม่ให้พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เข้ามารับผิดชอบด้านการสั่งการใช้กำลัง
ได้พยายามป่าวประกาศข่มขู่ต่างๆ นานาให้ผู้ชุมนุมถอนตัวจากพื้นที่แยกราชประสงค์
พร้อมยืนยันไม่ยอมให้คนเสื้อแดงขยายพื้นที่เข้าไปในย่านสีลมอย่างเด็ดขาด โดยส่งกำลังทหารติดอาวุธจำนวนมากตรึงสกัดไว้บริเวณแยกศาลาแดง
ท่ามกลางข่าวหนาหูรัฐบาลเตรียมหาจังหวะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอีกระลอก
อย่างไรก็ตามบรรยากาศเผชิญหน้าระหว่างทหารกับคนเสื้อแดงลดความตึงเครียดลงไป
เมื่อศาลแพ่งเปิดไต่สวนฉุกเฉินและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ไม่ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. สั่งการเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง
นอกจากนี้ล่าสุดแกนนำเสื้อแดงยังได้ลดข้อต่อรองของตนเองลงจากเดิมให้นายกฯ ประกาศยุบสภาในทันที
มาเป็นยุบสภาใน 30 วัน
แต่แล้วความเป็นห่วงที่เข้ามาแทนที่คือการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อหลากสีที่ออกมาต่อต้านคนเสื้อแดง และกลุ่มเสื้อเหลืองที่กดดันรัฐบาลให้ใช้วิธีการเด็ดขาดเข้าแก้ไขสถานการณ์
โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของคนเสื้อหลากสีที่เชื่อกันว่าเป็นกลุ่มเดียวกับคนเสื้อเหลือง
หรือแม้แต่กลุ่มคนรักสีลมที่จับกลุ่มชุมนุมในสถานที่ล่อแหลม จนเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับคนเสื้อแดง 2 วันติดกันช่วงปลายสัปดาห์ต่อหน้าต่อตาทหาร-ตำรวจที่ตรึงกำลังเต็มพื้นที่
ผลที่ตามมาคือสังคมเกิดข้อสงสัยถึงมาตรฐานการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และทำให้ข้อครหาว่ามีคนในรัฐบาลให้การหนุนหลังการชุมนุมของคนเหล่านี้
กลายเป็นมีน้ำหนักขึ้นมาทันที
ในภาพรวมของเหตุการณ์ยิงเอ็ม 79 ถล่มย่านสีลม มีรายงานข่าวระบุถึงเหตุการณ์กรณีทหารใช้ปืนจ่อตำรวจ ไม่ให้ติดตามผู้ชุมนุมที่ปาระเบิดเพลิงใส่กลุ่มคนเสื้อแดง
รวมถึงการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ออกมาด่วนสรุปกล่าวหา "ผู้ก่อการร้าย" ในฝ่ายคนเสื้อแดงเป็นคนยิงระเบิดเอ็ม 79 และการออกข่าวจำนวนคนตายเกินกว่าความเป็นจริง
เหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล
ประเด็นเรื่องผู้ก่อการร้ายชุดดำนั้นถึงจะมี "คลิป" หลักฐานยืนยันจากฝ่ายรัฐบาล และแกนนำเสื้อแดงเองก็ยอมรับว่าเป็นกองกำลังที่มีอยู่จริง
แต่การที่ฝ่ายรัฐบาลด่วนสรุปลากโยงผู้ก่อการร้ายเข้าหากลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งที่ยังขาดหลักฐานประกอบชัดเจน
นอกจากทำให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ไม่ตรงจุดเพราะตั้งโจทย์ผิดแต่แรก
ยังทำให้สถานการณ์ในภาพรวมบานปลายออกไปไม่มีที่สิ้นสุด
เหตุการณ์วันที่ 22 เมษายน คือตัวบ่งชี้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากมีคู่ขัดแย้งบนท้องถนนเพิ่มขึ้น
ในฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็มีสายพันธุ์แตงโม-มะเขือเทศแทรกซึมอยู่เต็มไปหมดจนไม่รู้ใครเป็นใคร แม้แต่ในกองทัพและศอฉ.ก็ยังหวาดระแวงกันเอง
ในสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลพยายามผลักภาระไปตกหนักอยู่ที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้ารับผิดชอบสั่งการใช้กำลังของ ศอฉ.
ซึ่งกำลังถูกกดดันรอบด้านทั้งรัฐบาล นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ กลุ่มคนหลากสี กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดงที่ต้องการเห็นทหารใช้ความเด็ดขาดเข้าสลายการชุมนุม
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลและนายกฯ จะลอยตัวเหนือปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ภายหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 เมษายน หลายองค์กรระดับโลกเริ่มหันมาให้ความสนใจสถานการณ์ภายในประเทศไทย
ผู้นำหลายประเทศ รวมถึงสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วง พร้อมกับเสนอแนะให้คู่ขัดแย้ง 2 ฝ่ายหันหน้าเข้าเจรจากันเพื่อแก้ปัญหาโดยสันติวิธี
ถึงเนื้อหาของแถลงการณ์จะไม่เข้าใครออกใคร
แต่ก็มีผลทำให้การดำรงอยู่ของรัฐบาล และนายกฯ ต้องเจอกับแรงเสียดทานมากกว่าเดิม