ที่มา ประชาไท
หลังจากรัฐบาลประกาศกระชับพื้นที่ราชประสงค์ ทหารพร้อมอาวุธครบมือเข้าปิดล้อมสถานที่ชุมนุม ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 บ่อนไก่-พระราม 4 จึงเป็นพื้นที่สำคัญของการต่อสู้ เริ่มด้วยในตอนสาย ทหารเข้ายึดพื้นที่แยกวิทยุและบริเวณใกล้เคียง และปิดการจราจร ต่อจากนั้น ราวเที่ยงวัน สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น เมื่อทหารติดอาวุธเข้าผลักดันและปะทะกับผู้ชุมนุม บนถนนพระราม 4 มาทางบ่อนไก่ พร้อมส่งหน่วยสไนเปอร์ไปอยู่ตามอาคารต่างๆ
ทหารเคลื่อนกำลังตามแนวถนนพระราม 4 มุ่งหน้าบ่อนไก่
ทั้งกระสุนจริงและกระสุนยาง ขณะเข้า “กระชับพื้นที่” (Photo by Paula Bronstein/Getty Images)
ประชาชนที่ถูกจับบริเวณสนามมวยลุมพินี (Photo by Athit Perawongmetha/Getty Images)
ประชาชนรวมตัวกันต่อต้านปฏิบัติการของทหาร (Photo by Andy Nelson /Getty Images)
การต่อสู้กับทหารของประชาชน (Photo by Andy Nelson /Getty Images)
ขณะที่ทหารได้ตั้งกำลังไว้ตามจุดต่างๆ และสาดกระสุนใส่ประชาชนเป็นระยะ คนเสื้อแดงก็พยายามสร้างเครื่องกีดขวาง เผายาง เพื่อป้องกันตัว และรบกวนปฏิบัติการของทหาร
นับจากเที่ยงวันของวันที่ 14 -19 พฤษภาคม 2553 บ่อนไก่-พระราม 4 กลายเป็น “ทุ่งสังหาร” คนเสื้อแดงและประชาชนทั่วไป
เรื่องราวของชาวบ่อนไก่
เมื่อราชประสงค์ถูกปิดล้อม ตัดน้ำตัดไฟ “บ่อนไก่” กลายเป็นเส้นทางส่ง “ท่อน้ำเลี้ยง” ทั้งคนเข้า-ออก และอาหาร-น้ำ ไปสนับสนุน จนกระทั่งถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2553
“มีคนไปแจ้ง ศอฉ. ว่าที่นี่เป็นทางผ่าน ทางน้ำเลี้ยง ลำเลียงเสบียงไปราชประสงค์ จากนั้นเราก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปได้อีก มีทหารเข้ามาปิดซอยร่วมฤดี ใครก็เข้าไม่ได้ เราไม่มีโอกาสที่จะไปช่วยพี่น้องที่ราชประสงค์แล้ว บางส่วนก็รู้สึกว่าตายเป็นตาย คิดจะไปฝ่าด่าน” นายวีรชัย ลื่นผกา เล่าสถานการณ์ให้ฟัง
ในภาวะวิกฤต “เสื้อแดงบ่อนไก่” ต้องทำหน้าที่ใน 2 ฐานะ คือ “คนบ่อนไก่” และ “คนเสื้อแดง”
คนในชุมชนออกมาดูสถานการณ์หน้าถนนพระราม 4
เตรียมท่อน้ำไว้สำหรับดับเพลิงกรณีฉุกเฉิน
ในฐานะ “คนบ่อนไก่”
พวกเขารวมตัวกันจัดเวรยามตลอดถนนภายในชุมชนและหน้าถนนพระราม 4 เพื่อตรวจตราคนเข้า-ออก คอยระวังภัยให้กับคนในชุมชน เนื่องจากมี “กระแส” ว่าจะมีการเผาชุมชนทุกวัน
สิ่งที่กลัวไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่เพราะ “ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ส่วนใหญ่ อย่างไรก็เลือกพรรคเพื่อไทย เป็นคนเสื้อแดง คนที่เขาไม่ชอบคนเสื้อแดง เขาก็เล็งว่า ถ้าเผาก็จะได้ไม่มีคนเสื้อแดงอีก”
“มีวัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์มาพร้อมกับแกลลอนน้ำมัน จะมาเผาธนาคารกรุงเทพ พวกเราและคนเสื้อแดงที่อยู่แถวนั้น ก็มาช่วยห้าม แต่จับไม่ได้ อยากรู้ว่าใครใช้ให้มาทำอย่างนั้น จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ เพราะเรารักสงบ เราไม่ใช้ความรุนแรง”
จนยุติการชุมนุม ตามแนวถนนพระราม 4 ด้านหน้าชุมชน ไม่มีอาคารใดถูกเผาเหมือนในที่อื่นๆ
ผู้ชุมนุมที่อยู่แนวหน้า หลังบังเกอร์ยางรถยนต์ จุดพลุรบกวนทหาร
ผู้ชุมนุมช่วยกันขนยาง ทำบังเกอร์หลบกระสุน
ในฐานะ “คนเสื้อแดง”
พวกเขาร่วมชุมนุมต่อต้านกับพี่น้องเสื้อแดง สร้างเครื่องกีดขวาง เผายางตามแนวถนนพระราม 4 เพื่อสร้างควันไฟรบกวน ขณะเดียวกันก็ต้องคอยระวังไม่ให้มีควันจนมากเกินไปเพราะจะกระทบกับคนที่ยังอยู่ในชุมนุม และคอยขอหาน้ำ อาหาร สนับสนุนพี่น้องที่อยู่แถวหน้า
ผู้ชุมนุมขี่รถจักรยานยนต์มาส่งน้ำให้กับเพื่อนที่อยู่แนวหน้า
นายขวัญชัย ภูมิโคกรักษ์ เด็กหนุ่มในชุมชนอธิบายเหตุผลที่ไป “แถวหน้า” ว่า “เราเป็นเหมือนพี่น้องกัน ทำไมคนอื่นมาได้ รักในสิ่งเดียวกัน แล้วทำไมเราอยู่ตรงนี้จึงออกไปไม่ได้ ไม่ใช่เก่งอยู่แต่ในบ้าน เวลาทำจริงก็ไม่เห็นทำ ไม่ต้องถึงแนวหน้าก็ได้ ส่งข้าวส่งน้ำให้เขาหน่อย บางทีคนเขาก็เหนื่อย เขาอยากสู้ ทำไมเราจะไม่อยากสู้ละ”
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น นายสมพงษ์ บุญธรรม รู้สึกว่า “เสียใจมากที่รัฐบาลเฮงซวยนี้มันทำกับเสื้อแดงเหมือนเป็นผักปลา ไร้ค่า ไม่มีความหมาย เหมือนเสื้อแดงเป็นสัตว์นรกตัวหนึ่งที่มาเกิด ต้องกำจัดให้สิ้นซาก”
“เพราะพวกมันไม่อยากจะให้พวกเราเจริญขึ้นมา ทุกวันนี้ พวกเรามีการศึกษาสูงขึ้นมา ปกครองยาก มันไม่อยากให้เรามีการศึกษาสูง กดหัวเราไว้ ไม่ให้รู้มาก มึงแค่นี้นะ ถ้ารู้มากมึงตาย”
(หมายเหตุ ผู้ทำรายงานต้องขออภัยเจ้าของภาพทุกท่าน สำหรับภาพที่นำมาใช้ประกอบเรื่องราวโดยไม่ได้ขออนุญาตล่วงหน้า และขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย)
รายงานชั้นนี้เขียนขึ้นมาเพื่อส่วนหนึ่งในการรำลึกเหตุการณ์ในช่วง 14-19 พฤษภาคม 2553 ที่ชุมชนบ่อนไก่ ซึ่งชาวบ้านในชุมชนจะจัดให้มีกิจกรรมการทำบุญให้ผู้เสียชีวิตในวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค.54)