WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, March 6, 2011

จับกระแสสังคม "ธาริต-อัมพร"พรุน ทฤษฎี"ปืนอาก้า" ฆ่าช่างภาพญี่ปุ่น

ที่มา ข่าวสด

คอลัมน์ แฟ้มคดี




บานปลายไปกันใหญ่แล้ว และทำท่าว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีเอสไอ พร้อมด้วย พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผบช. สำนักนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ(สนว.ตร.) จะรับบทหนัก หลังออกมาแถลงข่าวพลิกคดีฆ่า "นาย ฮิโรยูกิ มูราโมโตะ" ช่างภาพรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างทำข่าวม็อบเสื้อแดงปะทะกับทหาร เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

ก่อนหน้านี้นายธาริต ซึ่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดใหญ่ ทีมชันสูตรประกอบด้วยคณะแพทย์ร.พ.ใหญ่ๆ มากถึง 12 คน ใช้เวลาทำงานหลายเดือน แถลงผลการสอบสวนคดี 91 ศพ หรือ 89 ศพ ที่เสียชีวิตจากการกระชับพื้นที่ของทหาร โดยระบุว่านายฮิโรยูกิ และอีก 12 ศพ เชื่อว่าเสียชีวิตเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่!??

แต่ผ่านไปแค่เดือนเดียว นายธาริต กลับออกมาแจ้งข้อมูลใหม่ อาศัยเพียงการวิเคราะห์ภาพถ่ายและอ่านรายงานชันสูตร ของพล.ต.ท. อัมพร ว่านายฮิโรยูกิ เสียชีวิตเพราะกระสุนปืน "อาก้า"

ก่อนสรุปดื้อๆ ว่าจึงไม่ใช่ฝีมือทหารไทย เพราะทหารไทยไม่ได้ใช้ปืนอาก้า แต่ใช้เอ็ม 16!??

ผลที่ตามมาทั้งนายธาริต และพล.ต.ท.อัมพร โดนถล่มยับ เพราะทั้งสังคมไทยและสังคมนานาชาติ ไม่มีใครเชื่อถือคำแถลงครั้งที่ 2

แถมเหน็บให้เจ็บๆ คันๆ อีกว่าดีเอสไอน่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น "กรมผงซักฟอก" หรือยังดีที่ดีเอสไอไม่บอกว่านายฮิโรยูกิ ยิงตัวตายเอง!??

"ธาริต-อัมพร"แถลงข้อมูลใหม่

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คดีฆ่านาย ฮิโรยูกิ และคนเสื้อแดงรวม 13 ศพ ซึ่งดีเอสไอแถลงไปเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยส่งสำนวนให้ตำรวจรับผิดชอบ กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อจู่ๆ นายธาริต ออกมาระบุว่าพบหลักฐานใหม่นายมูราโมโตะ ถูกยิงตายด้วยกระสุนปืนอาก้า ซึ่งเป็นปืนที่ไม่มีใช้ในราชการทหาร เนื่องจากทหารไทยจะใช้ปืนเอ็ม 16

จึงเชื่อว่านายมูราโมโตะ น่าจะเสียชีวิตเพราะบุคคล อื่นไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหาร

นายธาริต อ้างอีกว่าระหว่างการเผชิญหน้าของทหารกับม็อบเสื้อแดงบริเวณแยกคอกวัว จุดที่นายฮิโรยูกิ ถูกยิงนั้น หลังแนวทหารมีเสื้อแดงอีกกลุ่มล้อมเอาไว้ด้วย!??

"พล.ต.ท.อัมพร วิเคราะห์ภาพถ่ายรวมทั้งผลชันสูตรจากแพทย์มาประกอบ ก่อนจะสรุปผลออกมาว่าเป็นอาก้า ดังนั้นจึงทำให้ข้อสงสัยเดิมที่ระบุว่าอาจจะเกิดจากเจ้าหน้าที่ก็เปลี่ยนแปลงไป"!??

ด้านพล.ต.ท.อัมพร กล่าวว่าการตรวจสอบบาดแผลของนายฮิโรยูกิ เป็นไปตามหลักวิชาการทุกอย่าง ซึ่งตามหลักฐานที่นำมาจากผลการชันสูตรพลิกศพ ก็เพียงพอที่จะทำให้ระบุได้ว่าผู้ตายนั้นไม่ได้เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนชนิดเอ็ม 16 ที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อย่างแน่นอน"



พร้อมกันนี้นายธาริต กับพล.ต.ท.อัมพร ก็ร่วมแถลงข่าวยืนยันผลการวิเคราะห์ดังกล่าว ท่ามกลางนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมาก

นายธาริต เปิดฉากด้วยการอ้างว่าวันเกิดเหตุนายฮิโรยูกิ อยู่ในกลุ่มนปช.ที่เผชิญหน้ากับทหาร แต่หลังแนวทหารก็มีนปช.อีกกลุ่มล้อมอยู่ด้วย!??

"ก่อนหน้านี้ผลการชันสูตรไม่ได้ระบุอาวุธที่ทำให้เสียชีวิต เพียงแต่ระบุว่าเป็นกระสุนปืนที่มีความเร็วสูง การตรวจสอบของ พล.ต.ท.อัมพร จึงถือเป็นการสอบเพิ่มเติม เพื่อให้คดีมีความรอบคอบมากขึ้น"

นายธาริต ระบุว่าการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ นั้น ก่อนหน้านี้มีพยานบุคคลเพียงปากเดียว เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าร่วมชุมนุมกับนปช. ได้ให้ข้อมูลว่ายืนอยู่ใกล้นายฮิโรยูกิขณะถูกยิง แต่ไม่รู้ว่ายิงมาจากทิศทางใด แต่เชื่อว่ามาจากทหาร เนื่องจากขณะนายฮิโรยูกิ ถูกยิงหันหน้าไปถ่ายภาพแนวทหาร

ส่วนพล.ต.ท.อัมพร กล่าวว่า ได้วิเคราะห์จากรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ในทุกๆ คดี คดีไหนที่ยืนยันได้ว่าควรจะโดนยิงด้วยอาวุธปืนขนาดอะไร ก็จะยืนยันให้ ก็มีหลายอันที่ยืน ยันไม่ได้ สำหรับรายนี้ค่อนข้างชัดเจน

"ผมไม่ได้เห็นหัวกระสุน ทุกอย่างก็ได้แค่สรุปจากบาดแผลกระสุนปืนเท่านั้น" อดีตผบช. สพฐ.ตร.กล่าว

พล.ต.ท.อัมพร ระบุด้วยว่าศพลักษณะนี้ดูแค่ชั่วโมงเดียวก็สรุปได้แล้วว่าถูกยิงด้วยปืนอะไร

เผยเคยสรุปคดีน้องโบว์

การแถลงครั้งนี้ขัดแย้งอย่างมากกับการแถลงครั้งแรกว่านายฮิโรยูกิ ถูกฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐยิงเสียชีวิต แล้วจู่ๆ ก็มากลับคำแถลง ทำให้ผู้สื่อข่าวจำนวนมากโดยเฉพาะต่างชาติ จี้ถามประเด็นข้อสงสัย จนทั้งนายธาริต และพล.ต.ท.อัมพร ถึงกับไปไม่เป็น

อาทิ การถามถึงศพอื่นๆ ที่เหลือ ว่าระบุได้หรือไม่ถูกยิงด้วยกระสุนชนิดใด พล.ต.ท.อัมพร อ้างว่าไม่ทราบเพราะไม่ได้ดู

เช่นเดียวกับนายธาริต ก็ตอบไม่ได้เพราะไม่ได้ดูผลศพอื่นๆ เช่นกัน

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างกระสุนเอ็ม 16 กับอาก้า ก็พยายามตอบเลี่ยงๆ ไป

รวมทั้งการใช้ตรรกะง่ายๆ มาสรุปว่า เมื่อไม่ได้ถูกยิงด้วยเอ็ม 16 จึงไม่ใช่ฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ และหากใช้ตรรกะเดียวกันสรุปว่าทุกศพที่ถูกยิงด้วย 16 เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐใช่หรือไม่ ก็ไม่มีคำตอบออกมาเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อพล.ต.ท.อัมพร ถูกจี้ถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการตายของนายฮิโรยูกิ เทียบกับศพอื่นๆ ก็พยายามเลี่ยงตอบก่อนยุติแถลงข่าวทันที

สำหรับพล.ต.ท.อัมพร ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนคนหนึ่งของเมืองไทย เคยไปศึกษาและร่วมฝึกกับเอฟบีไอ และซีไอเอ ของสหรัฐ จบปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต จุฬาฯ ปริญญาโทวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันเดียวกัน

รับราชการตำรวจครั้งแรกในปี 2515 ตำแหน่ง รองสว. แผนกอาวุธปืน และเติบโตในสายกองพิสูจน์หลักฐาน

ปี 2541 รับตำแหน่ง ผบก.สพฐ. ก่อนเกษียณในตำแหน่ง ผบช. สำนัก งานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ (สนว.ตร.) เมื่อปี 2551

ก่อนหน้านี้เคยสร้างความฮือฮาเมื่อระบุว่า น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ "น้องโบว์" พันธมิตรฯที่เสียชีวิต เมื่อ 7 ต.ค.2551 ว่าเสียชีวิตจากแก๊สน้ำตา และยืนยันว่าแก๊สน้ำตาทำให้แขนขาขาดได้ ถือว่าสวนทางกับการพิสูจน์ของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่ตั้งขึ้น และแย้งกับการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศด้วย

มาถึงคดีนายฮิโรยูกิ ก็อาศัยเพียงการดูภาพถ่ายบาดแผล และอ่านราย งานผลชันสูตร ก็สรุปออกมาเป็นเรื่องเป็นราวได้ทันที

เผยใช้แพทย์ชุดใหญ่ชันสูตร

การชันสูตรศพเหยื่อกระชับพื้นที่วันที่ 10 เม.ย. 2553 ดีเอสไอตั้งคณะกรรมการเป็นแพทย์จากร.พ.ต่างๆ รวม 12 คนร่วมชันสูตร ในจำนวนศพที่พบมี 10 ราย รวมทั้งนายฮิโรยูกิ คณะแพทย์ระบุว่าถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง กระสุนเจาะเข้าร่างกายใน 2 จุด คือศีรษะและเข้าหน้าอกตัดขั้วหัวใจ น่าเชื่อได้ว่าผู้ลงมือเป็นนักแม่นปืน ซุ่มตัวแล้วเลือกเป้ายิงได้อย่างแม่นยำ

คณะกรรมการไม่ได้ระบุว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 10 ราย ถูกยิงด้วยอาวุธปืนชนิดใด เนื่องจากการผ่าชันสูตรไม่พบหัวกระสุนปืน จึงรายงานในผลการชันสูตรเพียงว่าเป็นกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งสรุปตามหลักฐานวิชาการ

เช่นเดียวกับตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานก็ไม่กล้ายืนยันว่าศพที่พบถูกยิงด้วยกระสุนชนิดใด เนื่องจากกระสุนปืนแต่ละชนิดมีความใกล้เคียงกัน ที่สำคัญเมื่อไม่พบหลักฐานหัวกระสุน ก็ยากจะระบุได้

จึงมีจุดที่น่าสนใจว่าการดูเพียงภาพถ่ายกับอ่านผลชันสูตร น่าเชื่อถือเพียงใดเมื่อเทียบกับคณะแพทย์ชุดใหญ่ที่ร่วมผ่าศพ หรือหลักฐานและพยานอื่นๆ ที่ดีเอสไอสืบเสาะมานานหลายเดือนซึ่งต้องนำมาประกอบกัน

รวมทั้งการออกมาฟันธงเพียงดูจากบาดแผล ซึ่งปกตินักนิติวิทยาศาสตร์ หรือการชันสูตรจะไม่ระบุขนาดนั้นเพราะต้องใช้หลักฐานอื่นมาประกอบด้วย

เคยมีตัวอย่างที่ยังพูดถึงจนทุกวันนี้เกี่ยวกับการสรุปเกินหน้าที่ของตน จนทำให้เกิดปัญหาการทำงานของหน่วยอื่น คือกรณีการตายของ "2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์" นางดาราวดี และด.ช.เสรี ภรรยาและลูกของนายสันติ ศรีธนะ ขัณฑ์ ตัวละครสำคัญในคดีเพชรซาอุฯ

หลังจากพบศพ 2 แม่ลูกตายในรถเบนซ์ ปรากฏว่า ผบก.นิติเวช ในขณะนั้นออกมาเล่าเป็นฉากๆ ว่าตายเพราะอุบัติเหตุ แผลต่างๆ เกิดจากการกระแทกพวงมาลัยบ้าง คอนโซลบ้าง จนการสอบสวนของตำรวจในช่วงแรกถึงกับเป๋ไปเป๋มา

ก่อนต้องเสียผู้เสียคนเพราะข้อเท็จจริงในภายหลังออกมาว่า 2 แม่ลูกถูกฆาตกรรม และแผลต่างๆ เกิดจากถูกตีด้วยท่อนเหล็ก!??

ฆ่าช่างภาพญี่ปุ่นสะเทือนรัฐบาล

มีความน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการออกมาของนายธาริต และพล.ต.ท.อัมพร ว่าทำไปเพื่ออะไร!??

เนื่องจากคดีของนายฮิโรยูกิ ถึงตอนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจ โดยปกติหากได้พยานหลักฐานใหม่ต้องส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการหาข้อเท็จจริง นำไปประกอบสำนวน

อีกทั้งขั้นตอนการสอบสวนคดีใด คดีหนึ่ง ไม่ได้ดูตัดตอนเพียงหลักฐาน พยาน หรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หากแต่ต้องนำทุกอย่างมาประกอบกันเพื่อความสมบูรณ์ที่สุด

คดีนายฮิโรยูกิ มีพยานและหลักฐานมากมายที่ดีเอสไอใช้เวลาสอบสวนนานหลายเดือน จนถูกทูตและรัฐบาลญี่ปุ่นตามจี้หลายครั้งหลายหน เพราะเห็นว่าช้าเกินไป

จนเมื่อสามารถสรุปออกมาได้โดยนายธาริต เป็นผู้แถลงข่าวด้วยตัวเอง

และหลังจากนั้นมีคณะกรรมการหลายชุดทั้งของส.ส. หรือ ส.ว. และกรรมการพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้น เชิญดีเอสไอไปซักถามข้อมูลเรื่องผู้เสียชีวิต

ทุกครั้งตัวแทนดีเอสไอก็ยืนยันว่านายฮิโรยูกิ และเหยื่ออย่างน้อย 13 ราย น่าจะเสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่รัฐ ตามที่อธิบดีดีเอสไอแถลง

แต่จู่ๆ นายธาริต กลับนำความเห็นของพล.ต.ท.อัมพร เพียงคนเดียวที่ดูภาพและเพียงอ่านรายงาน โดยไม่ได้เป็นคณะกรรมการ หรือเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ตั้งแต่แรก มาหักล้างพยานหลักฐานทั้งหมด

สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการแถลงกรณีนายฮิโรยูกิ ในครั้งแรก ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างยิ่ง เห็นได้จากความเคลื่อน ไหวของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งส่งทูตมาจี้เพื่อให้หาตัวผู้กระทำผิด และถึงขั้นขู่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการเมือง

เช่นเดียวกับชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และสำนักข่าว รอยเตอร์ ต้นสังกัดของนายฮิโรยูกิ ก็เรียกร้องให้เร่งหาตัวผู้กระทำความผิดอย่างเข้มข้นยิ่ง

กรณีนายฮิโรยูกิ จึงเหมือนจุดสลบของรัฐบาล เพราะทั้งการจับตาของรัฐบาลญี่ปุ่น หรือสำนักข่าวทั่วโลกรายงานกรณีนี้อย่างต่อเนื่องว่านาย ฮิโรยูกิ เสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่รัฐ

การออกมากลับคำแถลงของนายธาริต และพล.ต.ท.อัมพร จึงเหมือนตัวช่วยกลายๆ

ส่วนช่วยแล้วดีขึ้น หรือแย่หนักกว่าเดิม

ถึงตอนนี้คงรู้คำตอบกันดีอยู่แล้ว!??