ที่มา ประชาไท
ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ผมตระหนักดีว่าการเขียนบทความเชิงตั้งคำถามต่อแนวคิด หรืออุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในบริบทสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่อง ที่ “เสี่ยง” พอสมควร แต่ในฐานะนักวิชาการด้านพุทธศาสนาที่ “กระจอก” คนหนึ่ง ผมถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อเป็นส่วนเล็กๆ ของการร่วมต่อสู้ทางความคิดเพื่อให้สังคมเรามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
คำว่า “อุดมการณ์ธรรมราชา” ในบทความนี้ ผมใช้ในความหมายตามทัศนะของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (early Buddhism) ที่ถือว่า กษัตริย์เป็น “สมมติราช” ไม่ใช่ “เทวราช” สมมติราชได้อำนาจมาจากฉันทานุมัติของประชาชน ไม่ใช่ได้อำนาจมาจากพระเจ้าเหมือนเทวราช นี่คือแนวคิดของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม แต่กระนั้นก็ตาม กษัตริย์ที่นับถือพุทธศาสนาในอดีตล้วนแต่เป็นกษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อุดมการณ์สมมติราชหรือธรรมราชาแบบพุทธจึงแทบจะไม่ได้ถูกทำให้เป็นจริง
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบระบอบราชาธิปไตย สมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามอุดมการณ์ ประชาธิปไตย 2475 ต้องถือว่า ระบอบหลังมีส่วนเอื้อต่ออุดมการณ์ธรรมราชาแบบกษัตริย์เป็นสมมติราชมากกว่า เพราะสถานะของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือสถานะที่ได้มาจากฉันทานุมัติของประชาชน
อุดมการณ์ธรรมราชานั้น ถือว่าพระราชาต้องมีทศพิธราชธรรม จึงจะเป็นพระราชาที่ดี หรือพระราชาผู้ทำหน้าที่ให้ราษฎรมีความยินดี (“ราชา” แปลว่า “ผู้ยังราษฎรให้มีความยินดี”) จะเห็นว่า เงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างพระราชากับราษฎรไม่ใช่ “สถานะศักดิ์สิทธิ์-ความรัก” แต่เป็น “หน้าที่-ความยินดี” หรือ ความพึงพอใจ
ความยินดี (หรือนิยมยินดี) หรือความพึงพอใจกับ “ความรัก” มีระดับความสัมพันธ์กับ “ความมีเหตุผล” ต่างกันอยู่ กล่าวคือ ความมีเหตุผลของราษฎรที่มีความยินดี หรือความพึงพอใจต่อพระราชาย่อมขึ้นอยู่กับการพอใจใน “การทำหน้าที่” ของพระราชาที่ราษฎรสามารถตรวจสอบได้ สามารถที่จะไม่ยินดีหรือไม่พึงพอใจก็ได้ แต่ “ความรัก” ที่สัมพันธ์กับ “สถานะศักดิ์สิทธิ์” มีระดับความเข้มข้นของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า อาจมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลก็ได้ แม้กระทั้งว่าภายใต้รูปแบบความสัมพันธ์ในนามของ “ความรัก” ระหว่างราษฎรกับพระมหากษัตริย์ ราษฎรอาจไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่า “ไม่รัก” เป็นต้น
หัวใจสำคัญของอุดมการณ์ธรรมราชาอยู่ที่ “ทศพิธราชธรรม” แปลว่า ธรรมของราชา หรือหน้าที่ทางศีลธรรมที่พระราชาพึงยึดถือปฏิบัติ ได้แก่
- ทาน (ทานํ) หมายถึงการให้ การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้ว ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่นด้วย
- ศีล (สีลํ) คือความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมาย และนิติราชประเพณี และในทางศาสนา
- บริจาค (ปริจาคํ) คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม
- ความซื่อตรง (อาชชวํ) คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต
- ความอ่อนโยน (มทฺทวํ) คือ การมีความอ่อนโยน มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า
- ความเพียร (ตปํ) คือ มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน
- ความไม่โกรธ (อกฺโกธํ) คือ ความไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏเห็นเช่นทำร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล
- ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) คือ การไม่เบียดเบียน หรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น
- ความอดทน (ขันติ) คือ การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย
- ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนํ) คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใด
บางคนอาจมองว่าทศพิราชธรรมคือคุณธรรมที่ทำให้คนเป็นคน ดีพร้อม บริสุทธิ์ สูงส่งเหนือมนุษย์ หรือเป็นคุณธรรมเกินกว่าคนธรรมดาทั่วไปจะทำตามได้ แต่ที่จริงคือคุณธรรมพื้นฐานของผู้ปกครอง หรือผู้ขันอาสามารับใช้ประชาชนจำเป็นต้องมี หากต้องการเป็นผู้ปกครองที่ประชาชนพึงพอใจหรือให้ความนิยมยินดี ซึ่งคุณสมบัติที่จำเป็นตามทศพิธราชธรรม ก็คือคุณสมบัติพื้นๆ ธรรมดาๆ นี่เอง เช่น มีความเสียสละ ปฏิบัติตามกฎหมาย (อาจตีคความได้ว่า ตามทศพิธราชธรรมข้อ “สีลํ” พระราชาต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย) ซื่อสัตย์ อ่อนน้อม ขยัน ไม่ใช้อารมณ์โกรธในการตัดสินใจ ไม่ใช้อำนาจเบียดเบียนกดขี่ มีความอดทนและมี “ความเที่ยงธรรม” (fairness) เป็นนิสัยจึงจะสามารถอำนวย “ความยุติธรรม” (justice) ตามกฎหมายแก่ราษฎรได้ ซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ปกครอง หรือผู้ขันอาสามารับใช้ประชาชน ไม่ว่าจะเรียกตำแหน่งของผู้ปกครองหรือผู้นำนั้นๆ ว่า ราชา นายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี เป็นต้นก็ตาม
จากเนื้อหาของทศพิธราชธรรมดังกล่าว จะเห็นว่าขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญกับกฎหมายหมิ่นฯ ม.112 โดยเฉพาะ ม.112 ขัดต่อทศพิธราชธรรมข้อ 7-10 กล่าวคือ
ข้อ 7 “อกฺโกธํ” พระราชาไม่โกรธ แต่ ม.112 ได้สถาปนา “ความโกรธเชิงโครงสร้าง” ทั้งทางกฎหมายและทางวัฒนธรรมขึ้นมา ในทางกฎหมายกำหนดโทษอย่างหนักต่อการกระทำความผิดด้วย “คำพูด” หรือ “ข้อความ” ที่อาจจำคุกตั้ง 10-20 ปี การลงโทษหนักแบบนี้โดยสามัญสำนึกปกติเราจะเรียกว่า “ความยุติธรรม” ไม่ได้ มันคือการลงโทษเพื่อสร้างความกลัวซึ่งมาจากความโกรธ ที่สำคัญแม้พระราชชาอาจไม่ทราบการหมิ่นเอง ไม่ได้โกรธเอง แต่โดยกฎหมายนี้กำหนดให้ใครๆ ก็แจ้งความเอาผิดได้ มันจึงสร้าง “วัฒนธรรมการโกรธแทน” ขึ้นมา จนเกิดปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” และเมื่อลงโทษอย่างหนักแล้วก็ต้องขอพระราชทานอภัยโทษซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อน แย้งในตัวเอง (เพราะโทษที่หนักอย่างมากแต่อภัยได้ ฉะนั้น การลงโทษและการอภัยจึงไม่มีความสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับ “เหตุผลเรื่องความยุติธรรม”)
ข้อ 8 “อวิหิงสา” ข้อนี้ยิ่งชัดว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเบียนเบียนกันในทางการเมือง เป็นข้ออ้างที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร การไล่ล่าคนที่คิดต่างเห็นต่างเกี่ยวกับการปกป้องสถาบัน การละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ เบียดเบียนแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชนนั้นพื้นฐาน เช่นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ “บุคคลสาธารณะ” ด้วยเหตุผล เบียดเบียนสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวของผู้ต้องหา การตั้งค่าประกันตัวสูง การที่ใครจะแจ้งความก็ได้ แจ้งที่ไหนก็ได้ ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้ง่ายๆ ฉะนั้น ม.112 จึงเป็นเครื่องมือสร้างการเบียดเบียน สร้างความหวาดกลัว ปิดกั้นการใช้เหตุผลของประชาชน ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับทศพิธราชธรรมข้อ “อวิหิงสา”
ข้อ 9 “ขันติ” ม.112 กำหนดโทษจำคุก 3-15 ปี โทษดังกล่าวเป็นโทษที่ได้รับการกำหนดขึ้นโดยขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครอง แผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2519 (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19) การกำหนดโทษที่หนักมากต่อการกระทำความผิดด้วยคำพูดหรือข้อความเช่นนี้ ย่อมขัดแย้งกับความมีขันติธรรมของพระราชา และเป็นการไม่ส่งเสริม “วัฒนธรรมการมีขันติธรรม” ระหว่างประชาชนด้วยกัน เนื่องจาก ม.112 อาจถูกคนที่เห็นต่าง คิดต่างกันในทางการเมืองใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพของฝ่ายตรงข้ามได้ อย่างง่ายดาย
ข้อ 10 “อวิโรธนํ” ถ้าสามารถใช้เหตุผล ใช้มโนธรรม ใช้ความมีมนุษยธรรมอธิบายได้ในกรณีตัดสินจำคุก “อากง” 20 ปี เพราะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินี ด้วยการส่งข้อความ 4 ข้อความ ทาง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของเลขานายอภิสิทธิ์ว่า “มีความยุติธรรมอย่างไร” จึงสรุปได้ว่า ม.112 ไม่ขัดกับหลัก “ความเที่ยงธรรม” ข้อนี้
เราต้องตระหนักตามเป็นจริงว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” เมื่อเป็นเช่นนี้ อุดมการณ์หลักของสถาบันกษัตริย์ต้องเป็นอุดมการณ์ “ธรรมราชา” ที่สถานะของพระมหากษัตริย์เป็น “สมมติราช” ไม่ใช่ “เทวราช” สังคมเราจะยอมให้มีกฎหมายที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับหลักทศพิธราชธรรมอัน เป็นหัวใจของอุดมการณ์ธรรมราชาได้อย่างไร หากเราต้องการ “ปกป้องสถาบัน” อย่างจริงใจ เราควรแก้ไขกฎหมาย หรือสร้างกติกาที่สนับสนุนทศพิธราชธรรมของพระมหากษัตริย์มิใช่หรือ
ฉะนั้น ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่อุดมการณ์ธรรมราชาของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็น พุทธมามกะ หรือพิจารณาในแง่หลักเสรีภาพ และความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย ม.112 สมควรต้องถูกยกเลิก หรือควรปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องอุดมการณ์ธรรมราชาและอุดมการณ์สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามเจตนารมณ์แห่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2475 ให้เป็นจริง!