ที่มา ประชาไท
“จริงอยู่ที่ว่าไม่มีการปฏิวัติ คอมมิวนิสต์ ในประเทศไทย
แต่ถ้าการ “ปฏิวัติ” [ของไทย] ในศตวรรษที่ 20 แยกออกต่างหากจาก คอมมิวนิสต์ ล่ะ?”
“ช่วงก่อนหน้า 6 ตุลาฯ 2519
มีการลอบสังหารชาวนาผู้นำสหพันธ์ [ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย] เป็นจำนวนมาก
และทำให้การรวมตัวขึ้นเป็นองค์กรครั้งนั้นเป็นเพียงระยะสั้น และจบลงอย่างโหดร้าย
หนังสือเล่มนี้ได้บันทึกประวัติศาสตร์ของความรุนแรงนี้เอาไว้”
0 0 0
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม (Department of Political & Social Change) วิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก (College of Asia & the Pacific) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือใหม่ของไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์ประจำภาควิชา โดยงานชิ้นนี้ปรับปรุงขึ้นจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล งานนี้จัดอย่างเป็นกันเอง บรรยากาศสบายๆระหว่างอาจารย์ นักเรียน และผู้ที่สนใจ
“Revolution Interrupted” (2011)
ใน Revolution Interrupted: Farmers, Students, Law, and Violence in Northern Thailand อาจารย์ย้อนไปดูการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิที่ดินของชาวนาในภาคเหนือช่วง พ.ศ.2517-18 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีบรรยากาศทางการเมืองอันเปิดกว้าง โดยเน้นศึกษาที่การเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และตั้งคำถามสำคัญกับคำจำกัดความของคำว่า “ปฏิวัติ” ว่า
....การที่เหล่าผู้ต่อต้าน คอมมิวนิสต์ประกาศชัยชนะในการที่สามารถปกป้องประเทศไทยจากการปฏิวัติของ คอมมิวนิสต์ [ในช่วงทศวรรษที่ 1970] ได้นั้นก็ไม่ผิด หากแต่ไม่ถูกทั้งหมด จริงอยู่ที่ว่าไม่มีการปฏิวัติ คอมมิวนิสต์ ในประเทศไทย แต่ถ้าการ “ปฏิวัติ” [ของไทย] ในศตวรรษที่ 20 แยกออกต่างหากจาก คอมมิวนิสต์ ล่ะ?... (น.4)
หลังจากมีการแนะนำหนังสือเล็กน้อยอาจารย์เครก เรย์โนล์ดส์ก็ได้กล่าวนำถึงความสำคัญของหนังสือ โดยเริ่มต้นว่า หนังสือเล่มนี้ได้เล่า “เรื่องที่อยู่ในเรื่องอีกทีหนึ่ง” เหมือนกับว่าเป็น “ละครที่อยู่ในบทละคร” ของเชคสเปียร์ – หากแต่ในบรรณานุกรมไม่ได้มีหนังสือของเชคสเปียร์อยู่ในนั้น มีแต่ชื่อของเลนิน ลุงคาร์ล [มาร์กซ์] กรัมชี่ อัลทูแซร์ มีงานศึกษาการเมืองร่วมสมัยและสังคมวิทยาของละตินอเมริกาและอาฟริกาใต้ มีงานสตรีนิยมอย่างซินเธีย เอ็นโล กริปสัน-เกรแฮม จูดิธ บัทเลอร์ มีงานเกี่ยวกับเทววิทยาเกี่ยวกับการปลดปล่อย ฯลฯ
เหตุการณ์เดือนตุลาฯ (พ.ศ.2516-2519) เป็น “เรื่อง” ที่คนที่รู้จักประเทศไทยค่อนข้างคุ้นเคยกัน แต่หนังสือเล่มนี้ได้เล่า “เรื่อง” ที่อยู่ระหว่างนั้นอีกทีหนึ่ง โดยอาจารย์เครกบอกถึงลักษณะความเป็น “กระแสทวน” (revisionist) อันสำคัญของมันสามอย่าง
อย่างแรก หนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นประเด็นที่หายไปในประวัติศาสตร์ไทย เพราะการควบคุม “คน” เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการควบคุม “ที่ดิน” หากแต่ในภาคเหนือดูจะต่างออกไปจากบริเวณอื่นของประเทศ กฏหมายที่ดินที่ออกมาในปี 2517 เปิดโอกาสให้เกิดการร่วมมือระหว่างนักศึกษาและชาวนาภายใต้ชื่อ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามเติมเข้าไปในภาพประวัติศาสตร์ใหญ่
อย่างที่สอง ความเป็น “กระแสทวน” ของหนังสือเล่มนี้คือการชี้ชวนให้เห็นว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 นั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดๆ แต่เป็นการสะสมรวมตัวของหลายๆเหตุการณ์ ช่วงก่อนหน้า 6 ตุลาฯ มีการลอบสังหารชาวนาผู้นำสหพันธ์ฯเป็นจำนวนมาก และทำให้การรวมตัวขึ้นเป็นองค์กรครั้งนั้นเป็นเพียงระยะสั้น และจบลงอย่างโหดร้าย หนังสือเล่มนี้ได้บันทึกประวัติศาสตร์ของความรุนแรงนี้เอาไว้
อย่างสุดท้าย การที่หนังสือเล่มนี้ตั้งชื่อว่าการปฏิวัติ “ถูกขัดขวาง” (interrupted) ก็หมายถึงการปฏิวัติ “ถูกตีความใหม่” (re-interpreted) นั่นเอง โดยมันได้ตั้งคำถามกับคำจำกัดความของคำว่า “ปฏิวัติ” และตีความใหม่เพื่อนำเรื่องราวของเสียงเล็กๆ เข้าไปอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ไทย ว่าพวกเขาได้ “ปฏิวัติ” ด้วยการต่อสู้ผ่านกฏหมายอย่างไร
อาจารย์เครกทิ้งท้ายเอาไว้ว่า น่าประหลาดใจที่เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยได้ถูกบรรจุเข้าไปในงานศึกษาประวัติ ศาสตร์ไทย ถึงจะมีบ้างก็มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย หนังสือเล่มนี้อาจเรียกได้ว่าทำการบันทึกเรื่องราวของชาวนาภาคเหนือในช่วง เวลาดังกล่าวได้ใกล้เคียงความสมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้เพราะหลักฐานและบุคคลที่เกี่ยวข้องก็แก่ตัวลงและเสียชีวิตไป พลวัตรของการต่อสู้ในชนบทได้เปลี่ยนแปลงไป และการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่มีผู้บันทึก ”เรื่อง” เหล่านี้เอาไว้อย่างละเอียดและลงลึก
“อาจารย์เครก” กล่าวนำ
อ.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น
อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เขียนในคำนิยมว่า
[ไทเรล] ได้เขียนงานเพื่อปกป้องเรื่องราวของชีวิตอันเลือนรางลงเรื่อยๆ เพื่อกู้เอาชีวิตที่กำลังจะถูกลืมให้กลับมาอีกครั้ง...หนทางที่ดีที่สุดที่ จะทำเช่นนี้ได้ คือผ่านการศึกษาวิจัยอย่างระมัดระวังและตีความอย่างรอบด้านเพื่ออธิบายว่า ได้เกิดอะไรขึ้นบ้างกับชีวิต กับวิญญาณ และกับเรื่องราวของพวกเขาอย่างที่หนังสือเล่มนี้ได้ทำเท่านั้น มันไม่ใช่การประกาศข่าวมรณกรรม (obituary) แต่คือการมองเข้าไปในสังคมไทย อย่างซื่อสัตย์ อย่างเปิดเผย เพื่อจะเข้าใจอีกด้านหนึ่งของรอยยิ้มสยามเหล่านั้น [ไทเรล] ฮาเบอร์คอร์น ได้แสดงให้เห็นว่า เหตุใดชาวนาและนักเรียนลุกขึ้นต่อสู้ ทำไมพวกเขาถูกปิดปาก ทำไมพวกเขาถูกสังหารและถูกคุมขังโดยพลการ หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่ให้เสียงกับผู้ที่ถูกทำให้เงียบงัน แต่มันได้ตั้งคำถามอันสำคัญต่อสังคมและประวัติศาสตร์ของไทยด้วย...(น.IX – X)
นี่เป็นอีกงานคุณภาพหนึ่งที่ควรมีผู้อ่านอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวงวิชาการหรือไม่ เพราะคำถามที่หนังสือเล่มนี้ตั้งเอาไว้นั้นคือคำถามสากล – เป็นคำถามที่สังคมไทยยังหาคำตอบให้แก่มันไม่ได้แม้ในปัจจุบันก็ตาม
อ.เครก เรย์โนล์ดส์ (ซ้าย) อ.แอนโทนี รีด (ขวา)
บรรยากาศของงาน
ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ : http://uwpress.wisc.edu/books/4798.htm