ที่มา ประชาไท
ปีใหม่กำลังใกล้เข้ามาเรื่อยๆ หลายคนคงถือโอกาสนี้ลืมเรื่องเลวร้ายที่ผ่านมา มีการจัดงานเฉลิมฉลอง จุดพลุ นับถอยหลัง ตามด้วยเสียงโห่ร้องดังกึกก้อง ของขวัญนับไม่ถ้วนถูกส่งต่อเปลี่ยนมือ การ์ดอวยพร รวมถึงการส่งข้อความทั้งทางมือถือ และบนอินเตอร์เน็ต ประกาศให้โลกรู้ว่าเรากำลังก้าวผ่านเข้าสู่ปีใหม่ เพื่อเริ่มต้นชีวีตใหม่ในปีหน้าที่กำลังจะมาถึง
เรื่องบางเรื่อง ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น มีชีวิตชีวา สนุกสนาน และอยากมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะได้รับรู้เรื่องราวต่างๆเหล่านั้น จนอาจทำให้หลงลืมไปว่า เราได้สูญเสียอะไรไปบ้างเพื่อแลกกับการมีความสุขแบบชั่วครั้งชั่วคราว เราปล่อยให้ตัวเองถูกปิดหู ปิดตา ปิดปาก ต้องอยู่อย่างเงียบๆ ทำได้เพียงแค่ยิ้ม หัวเราะและร้องไห้กี่ปีมาแล้วที่เราทุกคนพยายามลืมอดีต การทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กลายเป็นทางออกที่ดูจะเรียบง่าย และสามารถใช้ได้กับเรื่องแทบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณี 91 ศพ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงคดีจำคุก “อากง” ที่ในวันนี้ดูเหมือนว่าจะค่อยๆเลือนหายออกไปจากความทรงจำของทุกคนอย่างง่าย ดาย
คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะสามารถลืมเรื่องไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับเพื่อน ร่วมชาติ ตราบใดที่เพื่อนคนนั้นไม่ได้เป็นคนใกล้ตัว หรือเป็นคนในครอบครัว มันก็ไม่ต่างจากการอ่านข่าวอาชญากรรมอื่นๆที่ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ ทุกเช้า การที่จะออกมาเรียกร้อง หรือทวงความยุติธรรมให้กับคนแปลกหน้านั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินตัวไปหน่อย เพราะแม้แต่การจะหยิบยกเรื่องแบบนี้มาคุยกันในโต๊ะอาหาร ก็ยังทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจอยู่ไม่น้อย
วันที่มีการรัฐประหาร 19 กันยายนนั้น มีคนหลายกลุ่มออกมาต่อต้าน เพราะถือเป็นการทำลายประชาธิปไตย ยึดอำนาจประชาชน ในขณะที่คนอีกกลุ่มกลับออกไปมอบดอกไม้ให้กับเหล่าทหาร พร้อมกับถ่ายรูปคู่กับรถถังเป็นที่ระลึกด้วยความภาคภูมิใจ ไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่คนกลุ่มนี้ไม่รู้สึกรู้สากับการทำรัฐประหาร นักศึกษาในยุคนี้น้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงคำว่าประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ และยิ่งน้อยลงไปอีกที่จะรู้สึกซาบซึ้งถึงเสรีภาพและอิสรภาพของการปกครองใน ระบอบประชาธิปไตย
จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร หากชายแก่อายุ 61 ปี จะถูกจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ด้วยข้อหาที่ยังไม่แน่ชัดว่าเขาเป็นผู้ก่อขึ้นหรือไม่ เพราะในขณะที่ อากง ต้องสูญเสียอิสรภาพอย่างไม่เป็นธรรม เราก็ยังคงสามารถแชร์รูปอาหารในหน้าเฟสบุค หรือเดินเที่ยวช๊อปปิ้งในพารากอนได้อย่างไม่เดือดร้อน เราอาจรู้สึกอะไรอยู่บ้างในช่วงแรก แต่มันก็เป็นความสงสารเพียงชั่ววูบเท่านั้น แล้วหลังจากวันนั้นก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้อีก ราวกับว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ในขณะที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเราถูกกระชับวงล้อมเข้ามาเรื่อยๆไม่ ต่างจากตอนที่มวลน้ำก้อนใหญ่กำลังปิดล้อมเมืองหลวง ชนชั้นกลางซึ่งอาศัยอยู่กรุงเทพชั้นในกลับยังสามารถนิ่งนอนใจอยู่ได้ นั่นเป็นเพราะพวกเรามั่นใจว่า พื้นที่ของตนเองนั้นเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจซึ่งจะต้องได้รับการปกป้องคุ้ม ครองให้แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง โดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นในปริมณฑลรอบข้าง เราไม่แคร์ว่าเขาจะต้องจมอยู่ในน้ำนานแค่ไหน เราก้มหน้าก้มตาแพคถุงยังชีพ โดยหวังว่ามันอาจจะช่วยทำให้เรารู้สึกผิดน้อยลง
ไม่ต่างอะไรกับความคิดของชนชั้นกลางส่วนใหญ่ ที่วนเวียนอยู่กับเรื่องความรักชาติและสามัคคี ความคิดที่คับแคบทำให้เราไม่เคยรู้สึกว่าถูกปิดกั้น ความเข้าใจในความหมายของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ผิวเผินทำให้เราไม่ เคยรู้ซึ้งถึงการมีเสรีภาพทางความคิด ระบบการศึกษาที่สอนให้ท่องจำแต่ความหมายของอำนาจอธิปไตย ไม่ได้ทำให้เข้าใจในความสำคัญของการมีอยู่หรือการสูญเสียอำนาจนั้นไป เราจึงหันไปเสียน้ำตาให้กับซากปรักหักพังของห้างสรรพสินค้า มากกว่าจะรู้สึกหดหู่กับการตายของคน 91 ศพ
ขณะที่ประชาธิปไตยในพม่ากำลังคืบหน้าไปเรื่อยๆ รัฐบาลกลับออกแถลงการอย่างภาคภูมิใจในการปิดเวบไซต์กว่าหกหมื่นยูอาร์แอล (http://prachatai.com/journal/2011/12/38121) แข่งขันกันทำผลงานคู่กับรองโฆษกพรรคเก่า(แก่) ที่เสนอให้ปิดเฟสบุคและยูทูป ช่วยกันส่งประเทศไทยให้ถูกลดอันดับลงมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่เสรีในช่วง เวลาอันรวดเร็ว (http://prachatai3.info/journal/2011/05/34348)
อากง จะไม่ใช่กรณีสุดท้ายที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบ ประชาธิปไตยในประเทศไทย และจนกว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว เราก็คงจะยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเราจะยังภาคภูมิใจในความเป็นประชาธิปไตยในแบบของเรา
เชื่อว่าทุกคนได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ และเชื่อว่าหลายคนเลือกที่จะทำเป็นไม่สนใจ และลืมๆมันไป เพียงเพราะคิดว่า สิ่งเลวร้ายต่างๆจะผ่านพ้นไปเมื่อปีใหม่มาถึง