ที่มา ประชาไท
Darragh Paradiso โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฝ่ายเอเชียตะวันออก เผย รัฐบาลสหรัฐรู้สึก “หนักใจ” ต่อการตัดสินคดีของ ‘อำพล’ ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ในขณะที่องค์กรสิทธิ ‘ฮิวแมนไรท์ วอทช์’ เสนอให้ไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมเปิดเผยบุคคลที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นฯ- พ.ร.บ. คอมพ์อย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ
วันนี้ (6 ธ.ค. 54) โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฝ่ายเอเชียตะวันออก Darragh Paradiso ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า สหรัฐรู้สึก “หนักใจ” กับการตัดสินของศาลในคดีของนายอำพล หรือ ‘อากง’ ที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและละเมิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
พาราดิโซให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า รัฐบาลสหรัฐมีความเคารพยำเกรงต่อสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างที่สุด อย่างไรก็ตามเธอกล่าวว่า สหรัฐอเมริการู้สึก “หนักใจ” (troubled) กับการตัดสินคดีของศาลไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ในคดีของนายอำพล ซึ่งไม่สอดคล้อง (inconsistent) กับหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้านเสรีภาพในการแสดงออก
ทั้งนี้ อำพล ชายไทย-จีน อายุ 61 ปี ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากศาลตัดสินให้มีความผิดจริงจากการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือจำนวน 4 ข้อความซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง ไปยังสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขาฯ ของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในเดือนพฤษภาคม ปี 2553
ในขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ‘ฮิวแมนไรท์ วอทช์’ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อคดีของนายอำพล โดยเรียกร้องรัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับพันธะผูกพันของรัฐบาลไทยด้านสิทธิมนุษยชนที่มีต่อสหประชาชาติ และจำกัดการยื่นฟ้องไม่ให้ใครก็ได้สามารถกล่าวหาได้ เนื่องจากฮิวแมนไรท์ วอทช์มองว่ากฎหมายหมิ่นฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ศาล และเจ้าหน้าที่เองก็ไม่กล้าปฏิเสธการรับฟ้อง เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี
นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ถูกดำเนินคดีและจับกุมด้วย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ทั้งหมด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการยื่นฟ้องในคดีหมิ่นฯ ทั้งที่ยื่นฟ้องโดยปัจเจกบุคคลและเจ้าหน้ารัฐ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนต่อสาธารณะเกี่ยวกับคดี ดังกล่าว
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์ วอทช์ ฝ่ายเอเชียกล่าวว่า การมัดคอประชาชนด้านเสรีภาพในการแสดงออก ถูกกระทำในนามของการพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์
“การบังคับใช้ที่รุนแรงของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลต้องเปิดการพูดคุยเรื่องนี้อย่างกว้างขวางเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และทำให้แน่ใจว่ากฎหมายหมิ่นฯ จะสอดคล้องกับพันธะผูกพันของไทยที่มีต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล”