ที่มา ประชาไท
เสวนาเรื่องวาทกรรม “สลิ่ม” ที่ร้าน 9 บรรทัด นักวิจัยหมูหลุมเสนอคนเสื้อแดงเลิกถือตัวเป็นคนจน ไม่เช่นนั้นจะถูกแช่แข็งในวาทกรรมจน-โง่-ซื้อเสียง ชี้วาทกรรม “อยู่ข้างคนจน” เป็นของตกค้างจากวรรณกรรมเดือนตุลาแต่สมัยนี้เริ่มนิยามความจนไม่ได้ เพราะคนมีรายได้เกินเส้นยากจนหมดแล้ว พร้อมเสนอให้เลิกใช้คำว่า “สลิ่ม” เลิกตีขลุม-เหมารวม และอย่าผลักคนกลางๆ ไปเป็นศัตรู
บรรยากาศการเสวนาที่ร้าน 9 บรรทัด เมื่อ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: ประชาไท)
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ร้าน 9 บรรทัด จ.เชียงใหม่ มีการจัดเสวนา: น้ำตาสลิ่ม: ชนชั้นกลางเป็นภัยต่อความก้าวหน้าของประชาธิปไตยจริงหรือ? วิทยากรประกอบด้วย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ จากกลุ่มประกายไฟ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากกลุ่มทุนนิยาม และวิทยากร บุญเรือง นักวิจัยจากศูนย์วิจัยหมูหลุม (Mooloom Intelligence Unit - MIU) ดำเนินรายการโดย น.ส.ยุภาวดี ทีฆะ กลุ่มนักศึกษาไร้สังกัด
โดยเริ่มแรกนักวิจัยจากศูนย์วิจัยหมูหลุม (Mooloom Intelligence Unit - MIU) ได้อภิปรายในหัวข้อ “ทำไม “คนชั้นกลาง-คนกรุงเทพ-สลิ่ม” จึงเป็น “แพะ” อันโอชะ เมนูยอดฮิตแห่งยุคสมัยสำหรับปัญญาชนทวนกระแส” โดยมีรายละเอียดดังนี้
000
การประณาม ใครต่อใครที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามว่า "สลิ่ม" ศูนย์วิจัยหมูหลุมขอเสนอให้ยกเลิกคำนี้ไป และมาอธิบายว่าคนที่คุณกำลังเถียงคือใคร คุณกำลังเถียงกับมวลชนพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องนิยามแบบนั้น คุณกำลังเถียงกับพันธมิตรฯ ก็ต้องเถียงแบบนั้น คุณอย่ามาตีขลุมว่าคนชั้นกลาง คนเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นฝ่ายตรงข้ามคุณ ประโยชน์ไม่เกิด … ประโยชน์ที่จะเกิดจริงๆ คือ เราอย่าไปผลักคนที่อยู่กลางๆ คนที่ไม่แสดงทัศนคติทางการเมือง เราอย่าผลักเขาเป็นศัตรู เราทำให้เขามาเป็นพวกก็ได้
วิทยากร บุญเรือง
ชี้การที่เสื้อแดงถือว่าตัวเป็นคนจน จะถูกแช่แข็งในวาทกรรมจน-โง่-ซื้อเสียง
สิ่งที่จะนำเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยที่ทำอยู่คือ “แผนธุรกิจ: เราจะหากินกับกลุ่มคนที่มีทัศนคติทางการเมืองต่างๆ ในสังคมไทยได้อย่างไร” (อ่านบทสรุปของงานวิจัยได้ที่ล้อมกรอบ)
ขอออกตัวก่อนว่าในสังคมไทยมีปัญหาอย่างหนึ่งโดยเฉพาะฝั่งประชาธิปไตย ฝั่งคนเสื้อแดง คือมีคำอธิบายอย่างหนึ่งที่กีดกันคนส่วนหนึ่งออกจากขบวนการ ซึ่งคนกลุ่มนี้เราจะเรียกว่าชนชั้นกลาง
ความเป็นคนเสื้อแดง ภาพที่โดนฉาย ภาพติดคือเป็นพวกรากหญ้า เป็นพวกคนจน แต่ผมขออธิบายว่าก็ถูกที่ว่าในขบวนการมีคนจน มีรากหญ้า แต่อยากถามว่ามากกว่านั้นคือคนที่ร่วมขบวนการมีลักษณะทางฐานะที่มากกว่าคนจน ไหม ถามเลยว่าที่มาฟังเสวนานี้ส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนเสื้อแดง ถามจริงๆ เถอะว่าเป็นคนจน (มีคนตอบ: จนไม่จริง) คือถ้าบอกว่าเราเป็นคนจนปุ๊บ จะเข้าทางคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นคนจน คนโง่ คนที่ซื้อเสียง คือจะเข้าทางคนที่ Stuff ให้เราเป็นคนจน คนที่อยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง
แต่สิ่งที่อยู่ในงานวิจัยของผมคือ คน เสื้อแดงไม่ได้เกี่ยวว่าเราจนหรือไม่ แต่มีจุดร่วมกันคือความคิดประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เรื่องฐานะทางสังคมแล้ว แต่คนที่ออกมาเคลื่อนในขบวนมีจุดร่วมกันด้านความคิดประชาธิปไตย ซึ่งไม่สามารถอธิบายว่ามีแต่คนจนเท่านั้นที่มีความคิดเรื่องประชาธิปไตย ชนชั้นกลางนะครับ เอารถมาฟังเสวนากันทั้งนั้น
ชี้การนิยามคำว่า “สลิ่ม” มีปัญหา ผลักคนกลางๆ ออกจากกลุ่ม
นักวิจัยหมูหลุม อภิปรายที่มาของคำว่า “สลิ่ม” ว่า มีคนส่วนหนึ่งที่มาเห็นใจคนเสื้อแดงหลังการล้อมปราบเดือนพฤษภาคมปี 2553 พวกเราได้แนวร่วมที่มากกว่าคนที่เคยเป็นฐานเสียงไทยรักไทย คนที่ชอบทักษิณมาก่อน คนพวกนี้เมื่อก่อนเขาอาจเป็นเสื้อเหลืองเหลือง บางทีเขาไม่ยอมรับว่าเขาเป็นเหลือง เขายอมรับว่าเขาเป็นกลางหน่อย แต่ตอนนี้เราได้คนแบบนี้มามาก ที่เห็นใจเพราะพวกเสื้อแดงโดนฆ่า เพราะเรื่องมนุษยธรรม
พวกนี้จะแบ่งเฉดเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเขาคิดว่าเป็นปัญญาชน ที่พยายามบอกอะไรกับสังคมว่าคนนั้นคนนี้เป็นอย่างไร และพยายามผลักคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่แสดงทัศนคติออกไป ผู้ร่วมเสวนาเคยได้ยินคำว่า "สลิ่ม" ไหมครับ
คำนี้โคตรมีปัญหามากที่สุด ซึ่งผมจะพยายามอธิบายในวันนี้ คือเราได้ยินคำว่าสลิ่ม เราโคตรเกลียดเลยนะ สลิ่มที่ผมจะอธิบายวันนี้ ถูกนิยามแบบ 3 อย่างด้วยกัน หนึ่ง พยายามบอกว่า คนที่ไม่ยอมแสดงทัศนคติทางการเมืองว่าเป็นเหลืองหรือเป็นแดง จะถูกปัญญาชนทวนกระแสประณามว่าเป็นสลิ่ม อีกกลุ่มคือคนที่เกลียดเสื้อแดงจริงๆ ที่แสดงออกมาว่าเกลียดคนเสื้อแดง ก็ถูกถือว่าเป็นสลิ่ม อีกกลุ่มคือคนที่กั๊กๆ เหลืองก็ได้ แดงก็ได้ ก็ถูกหาว่าเป็นสลิ่ม
แต่ผมแคร์คนกลุ่มแรกมากที่ สุด คือคนที่ไม่ได้แสดงออกทางการเมืองว่าเขาเป็นคนกลุ่มไหน ถ้าเป็นเมืองนอกจะเรียกว่าเป็นกลุ่มสวิงโหวต ที่สามารถไปทางเหลืองก็ได้แดงก็ได้ แต่ต้องทำอะไรสักอย่างให้เขาเป็นพวก จู่ๆ เราไปผลักให้คนพวกนี้ออกไป ก็จะไปเข้าทางสนธิ ลิ้มทองกุล เขาก็ไม่มาร่วมกับเรา กระแสที่มีปัญหาตอนนี้คือเราประณามสลิ่ม และเราละเลยที่จะทำงานการเมือง พวกปัญญาชนทวนกระแสพยายามชูตัวเอง และผลักคนกลุ่มหนึ่งออกไป นี่เป็นปัญหาสำคัญอันหนึ่ง
วาทกรรม “อยู่ข้างคนจน” เป็นของตกค้างจากเดือนตุลา
แต่สมัยนี้เริ่มนิยาม “คนจน” ไม่ค่อยได้ เพราะรายได้เกินมาตรฐานยูเอ็นแล้ว
ความคิดที่เกลียดสลิ่ม เกลียดชนชั้นกลาง เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากวรรณกรรมเพื่อชีวิตสมัยเดือนตุลา เมื่อ 30 ปีก่อน ที่มีคำเรียกว่า "แนวร่วมนักศึกษา ชาวนา กรรมกร" พยายามอธิบายว่าตัวเองอยู่ข้างคนจน แต่ในสังคมไทยอีก 30 ปีต่อมา คำว่าคนจน เริ่มนิยามไม่ค่อยได้ว่าคืออะไร ถ้าจะเอามาตรฐานสหประชาชาติคือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,200 บาทต่อเดือน ตอนนี้พวกเราที่มาฟังมีใครรายได้ต่ำกว่า 1,200 บาทต่อเดือนไหม ก็ไม่มีนะ
ผมอยากอธิบายว่ามีคนกลุ่ม หนึ่งที่ผมเรียกว่า ปัญญาชนทวนกระแส เกิดมาจากหลังการล้อมปราบ อยากมาเข้าข้างคนเสื้อแดง แต่อยากมีจุดร่วมอย่างหนึ่งว่าเขารักและเอ็นดูคนจน แต่เขาได้สร้างศัตรูขึ้นมาอีกกลุ่มคือ ชนชั้นกลาง
ยันเหมารวมไม่ได้ว่าคนกรุงเทพฯ ไม่เอาเสื้อแดง
อีกการอธิบายหนึ่งที่ว่าคนกรุงเทพฯ แม่งเหี้ย แม่งเลว ไม่ใช่คนเสื้อแดง ซึ่งเอาอะไรมาวัดก็ไม่รู้ก็ แต่มีตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เราพยายามประณามว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่ฝั่งคนเสื้อแดง อันนี้ผมไม่รู้ว่าถูกหรือผิดนะ แต่มีตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าตอนที่คนเสื้อแดงรณรงค์ล้อมกรุงเทพฯ (การเคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ ของ นปช. เมื่อเดือนมีนาคมปี 2553) ก็คนกรุงเทพฯ ออกมาต้อนรับจำนวนมาก
และอีกอันหนึ่งคือ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทยได้ 10 คนจาก 33 เขต และในแต่ละเขตไม่ได้แพ้การเลือกตั้งขาดแบบภาคใต้ และคะแนนบัญชีรายชื่อใน กทม. ประชาธิปัตย์ 1,277,669 คน เพื่อไทยได้ 1,209,508 คน คือแพ้แค่ 60,000 คะแนน คือเราจะตีขลุมว่าคนกรุงเทพฯ ไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยไม่ได้
อีกด้านหนึ่งคือ ประเด็นเรื่องน้ำท่วม ตอนแรกการพูดถึงเรื่องน้ำท่วมคือมีการพยายามบล็อก มีการพยายามบิวด์ที่มาจากฝั่งเสื้อแดงเราไม่ยอมสูญเสียพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งก็ถูกในเรื่องการจัดการของผู้ว่าฯ กทม. และรัฐบาล แต่เราถามว่า เราจะเอาเรื่องของความเป็นกรุงเทพ กับความเป็นคนกรุงเทพฯ มาชี้วัดตรงนี้ไม่ได้ เราพยายามบอกว่าคนกรุงเทพฯ เห็นแก่ตัว แต่พอน้ำเข้าดอนเมืองปุ๊บ ดอนเมืองกลุ่มฮาร์ดคอร์จะไปรื้อบิ๊กแบ๊ก ดอนเมืองเป็นคนกรุงเทพฯ นะครับ คือเป็นเรื่องปัญหาเฉพาะหน้า เอย่าไปประณามว่าคนกรุงเทพฯ เห็นแก่ตัว มันเป็นเรื่องระบบการเมืองตรงนั้น และเขาไปอยู่ในพื้นที่ๆ มีความสำคัญ จึงไม่ใช่ว่าเสียงส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ จะไม่ทุกข์ร้อนกับน้ำท่วม ถ้าเจอเข้าจริงก็เดือดร้อน
พวกเราที่มาฟังเสวนาก็มาเพราะเฟซบุคใช่ไหมครับ ประเด็นที่สามที่ผมจะพูดคือ ความเดือดดาลของปัญญาชนที่เล่นเฟซบุคและสร้างคำว่า "สลิ่ม" ขึ้นมา จะมีปัญหาก็คือ หนึ่ง พวกเราไปเห็นความคิดของคนเล่นเฟซบุคที่เขาอยู่ฝั่งพันธมิตรฯ หรือฝั่งต่อต้านเสื้อแดง แล้วเราไปอธิบายว่านี่คือความเห็นของคนเล่นอินเตอร์เน็ตทั้งหมด ซึ่งใช่ ไม่ใช่ ไม่รู้ แต่ตัวเลขที่ผมนำมาแสดงคือ คนเล่นเฟซบุคชอบประชาธิปัตย์มากกว่าเพื่อไทยจริง แต่จำนวนแพ้กันไม่เยอะ แฟนเพจอภิสิทธิ์มีประมาณ 8 แสนคน ยิ่งลักษณ์ก็มีแฟนเพจ 5 แสนคนทั้งซึ่งเขาเพิ่งมีบทบาทมาไม่ถึงปี ได้ 5 แสนเสียง ขณะที่อภิสิทธิ์กุมมาสองปีก่อนหน้านั้น
ในส่วนของแฟนเพจนักกิจกรรม แฟนเพจหนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอน) อาจน้อยกว่าหมอตุลย์ (นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กลุ่มเสื้อหลากสี) แต่กิจกรรมที่ทำในทางรูปธรรมก็มีคนมาร่วมมากกว่าหมอตุลย์
เสนอเลิกคำว่า “สลิ่ม” เลิกตีขลุม-เหมารวม
อย่าผลักคนกลางๆ ไปเป็นศัตรู
ข้อสรุปที่ผมจะเสนอคือ สิ่งหนึ่ง การประณามใครต่อใครที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามว่า "สลิ่ม" ศูนย์วิจัยหมูหลุมขอเสนอให้ยกเลิกคำนี้ไป และมาอธิบายว่าคนที่คุณกำลังเถียงคือใคร คุณ กำลังเถียงกับมวลชนพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องนิยามแบบนั้น คุณกำลังเถียงกับพันธมิตรฯ ก็ต้องเถียงแบบนั้น คุณอย่ามาตีขลุมว่าคนชั้นกลาง คนเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นฝ่ายตรงข้ามคุณ ประโยชน์ไม่เกิด
ประโยชน์ที่จะเกิดจริงๆ คือ เราอย่าไปผลักคนที่อยู่กลางๆ คนที่ไม่แสดงทัศนคติทางการเมือง เราอย่าผลักเขาเป็นศัตรู เราทำให้เขามาเป็นพวกก็ได้
ในวงการวิชาการ อย่านำเสนอเรื่องที่เป็นเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ เชิงโพสต์โมเดิร์น หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจอันซับซ้อน แล้วเอามาอธิบายคนกลุ่มหนึ่ง คือเราต้องทำโพลล์สำรวจที่หลากหลาย เพื่ออธิบายคนกลุ่มหนึ่งๆ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยจะชอบเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง คนภาคอีสานจะชอบเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง คือต้องมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมากกว่านี้ มากกว่าที่บอกว่าชนชั้นกลางทั้งหมดเลว คนกรุงเทพฯ เห็นแก่ตัว ในวงการวิชาการน่าจะพอแล้ว และไปลงรายละเอียดมากกว่านี้
000
เอกสารประกอบการนำเสนอโดยศูนย์วิจัยหมูหลุม
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ทำไม “คนชั้นกลาง-คนกรุงเทพ-สลิ่ม” จึงเป็น “แพะ” อันโอชะ เมนูยอดฮิตแห่งยุคสมัยสำหรับปัญญาชนทวนกระแส
หมายเหตุ: บทสรุปสำหรับผู้บริหารประกอบการนำเสนอนี้ตัดทอนและดัดแปลงมาจากส่วนหนึ่งของ “แผนธุรกิจ: เราจะหากินกับกลุ่มคนที่มีทัศนคติทางการเมืองต่างๆ ในสังคมไทยได้อย่างไร” จึงยังไม่ใช่ฉบับที่สมบูรณ์
ศูนย์วิจัยหมูหลุม (Mooloom Intelligence Unit - MIU)
พฤศจิกายน 2554
"ว่ากันว่านัก เศรษฐศาสตร์รุ่นเดอะคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ทำนองว่า “ความรวย (หรือคนรวย) ในประเทศที่ยากจน ยังไงก็เป็นสิ่งที่ผิด” แต่ประเทศไทยแปลกกว่านั้น เพราะดันมาคิดกันว่าการเป็น “ชนชั้นกลาง” เป็นสิ่งที่ผิด"
ศูนย์วิจัยหมูหลุม (Mooloom Intelligence Unit - MIU) พฤศจิกายน 2554
บทสรุปผู้บริหาร
นิยามสั้นๆ “สลิ่ม” ตามความเข้าใจของหมูหลุม
คำว่า “สลิ่ม” น่าจะเริ่มถูกใช้อย่างจริงจัง มาจากการชุมนุมในเดือน พ.ค. 53 ในความเข้าใจของ MIU น่าจะนำมาอธิบายกลุ่มที่ออกมาแสดงพลังสีขาวหรือแสร้งว่าตนเองเป็นกลางหรือ กลุ่มที่ออกตัวว่าไม่สนใจเรื่องก่อน จากนั้นคำนี้ถูกนำมาใช้อย่างติดปากเรียกฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามเสื้อแดงรวมถึงฝ่ายที่ไม่แสดงตัวว่าสนับสนุนเสื้อแดงเกือบทั้งหมด
หมายเหตุ: ส่วนสมัชชาคนจน กลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ เป็นข้อยกเว้นในการไม่นำคำว่าสลิ่มมาใช้ทั้งๆ ที่แนวคิดและการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มเหล่านี้อาจเข้าทางกับคำว่า “สลิ่ม” (ในเรื่องของการกั๊ก วางตัวเป็นกลางทางการเมือง) แต่ด้วยมารยาททางสังคมบางประการทำให้ปัญญาชนทวนกระแสไม่สามารถไปกล่าวถึง กลุ่มเหล่านี้ในแง่ลบได้
ทำไมสลิ่ม ชนชั้นกลาง คนกรุงเทพ จึงเป็นเหยื่ออันโอชะของปัญญาชนทวนกระแส คาดว่าเกิดจากอิทธิพลดังนี้
ปัญญาชนทวนกระแสยังติดแนวคิดวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคตุลาที่ปัญญาชนมี หน้าที่โอบอุ้มคนยากจน และผลักชนชั้นกลางออกเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่ละเลยคนจน
สำหรับการประณามคนกรุงเทพนั้น ปัญญาชนทวนกระแสได้ผนวกเอาแนวคิดที่ว่ากรุงเทพเป็นศูนย์กลางที่รุกรานและสูบ ทรัพยากรจากภูมิภาค (เช่นตัวอย่างเรื่องน้ำท่วม ในระยะแรกมีการประณามคนกรุงว่าเห็นแก่ตัว ไว้ก่อน แต่ในช่วงหลังหันมาพูดเรื่องการบริหารจัดการ) ส่วนในเรื่องการเมืองนั้นก็ผลักให้คนกรุงอันเป็นตัวแทนของคนเมือง อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายเสื้อแดงอันเป็นตัวแทนของคนชนบท
จุดพีคของการใช้คำว่า “สลิ่ม” ช่วงหลังเลือกตั้ง 2554ปัญหาสาเหตุต่อความเดือดดาลประการสำคัญประการหนึ่งก็คือ การที่ปัญญาชนทวนกระแสไปเจอทัศนะคติที่แย่ๆ ของคนเล่นเฟซบุกจำนวนหนึ่งที่เกลียดคนเสื้อแดง แล้วมีการตีขลุมว่านั่นคือความคิดของชนชั้นกลางทั้งหมด
ข้อแนะนำของ MIU
สำหรับบุคคลทั่วไปและปัญญาชนทวนกระแส ในการจะประณามใครก็ตามในสังคมไทยในเรื่องการเมือง นิยามกลุ่มทางการเมืองให้เจาะจงลักษณะให้ชัดเจนกว่าเดิม เช่น พวกอนุรักษ์นิยม พวกประชาธิปัตย์ พวกพันธมิตร เป็นต้น คนอ่านหรือคนฟังเราจะได้รู้ว่าเราด่าหรือประณามใครอย่างชัดเจน
ในวงการวิชาการ ต้องมีการพยายามหาตัวชี้วัดในมิติต่างๆ ให้มากกว่าเดิม ในการอธิบายเรื่องรสนิยมทางการเมืองของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย
พรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดงต้องนำชนชั้นกลางมาเป็นพวกให้ได้มากที่สุด แล้วแต่วิธีการใดๆ ก็ตาม แต่อย่าผลักชนชั้นกลางไปเป็นฝ่ายตรงข้าม
ข้อมูลเศษเสี้ยวว่าด้วยเรื่องนานาจิตตัง เกี่ยวกับ ชนชั้นกลาง
สมรภูมิเฟซบุก
ที่มา: http://www.checkfacebook.com/ (เข้าดูเมื่อ 22 พ.ย. 2554)
ผู้ใช้ทั้งหมด 12,881,800 คน | หญิง 6,64,9240 คน (51.9%) | ชาย 6,166,160 (48.1%) |
ช่วงอายุ 13-15 ปี 1,475,840 คน (11.5%) 16-17 ปี 1,271,500 คน (9.9%) 18-24 ปี 4,374,680 คน (34.0%) 25-34 ปี 3,687,160 คน (28.6%) 55-64 ปี 138,100 คน (1.1%) ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 146,600 คน (1.1%) |
ที่มา: http://www.checkfacebook.com/ (เข้าดูเมื่อ 22 พ.ย. 2554)
เพจ กลุ่ม และอื่นๆ เกี่ยวกับนักการเมือง, พรรคการเมือง, นักกิจกรรม และกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองที่น่าสนใจบนเฟซบุก (จากการเข้าดูเมื่อ 29 พ.ย. 54)
คนกรุงเทพฯ กับการเลือกตั้ง
คนกรุงเทพฯ เลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรคประชาธิปัตย์ 1,277,669 คน เลือกพรรคเพื่อไทย 1,209,508 คน
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,260,951 คน
มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 3,059,472 คน (71.80%)*
บัตรเสีย 59,402 (1.94%)
ไม่ประสงค์ลงคะแนน 138,099 (4.51%)
*สัดส่วนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ต่ำกว่ากรุงเทพฯ
ศรีสะเกษ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 71.62% | บึงกาฬ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 71.56% | พิจิตร ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 71.29% | บุรีรัมย์ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 71.23% | สุรินทร์ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 70.77% | ร้อยเอ็ด ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 70.28% | นครพนม ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 69.86% | สกลนคร ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 69.28% | อุดรธานี ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 69.21% | หนองบัวลำภู ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 69.07% | หนองคาย ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 68.59%
ตารางแสดงผลคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 3 กรกฎาคม 2554
หมายเลข | พรรค | กรุงเทพมหานคร |
1 | เพื่อไทย | 1,209,508 |
2 | ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน | 7,173 |
3 | ประชาธิปไตยใหม่ | 5,805 |
4 | ประชากรไทย | 1,858 |
5 | รักประเทศไทย | 214,246 |
6 | พลังชล | 2,454 |
7 | ประชาธรรม | 346 |
8 | ดำรงไทย | 164 |
9 | พลังมวลชน | 1,676 |
10 | ประชาธิปัตย์ | 1,277,669 |
11 | ไทยพอเพียง | 1,678 |
12 | รักษ์สันติ | 83,892 |
13 | ไทยเป็นสุข | 380 |
14 | กิจสังคม | 8,497 |
15 | ไทยเป็นไท | 346 |
16 | ภูมิใจไทย | 8,191 |
17 | แทนคุณแผ่นดิน | 1,008 |
18 | เพื่อฟ้าดิน | 611 |
19 | เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย | 631 |
20 | การเมืองใหม่ | 1,322 |
21 | ชาติไทยพัฒนา | 10,864 |
22 | เสรีนิยม | 347 |
23 | ชาติสามัคคี | 287 |
24 | บำรุงเมือง | 294 |
25 | กสิกรไทย | 415 |
26 | มาตุภูมิ | 12,589 |
27 | ชีวิตที่ดีกว่า | 203 |
28 | พลังสังคมไทย | 110 |
29 | เพื่อประชาชนไทย | 376 |
30 | มหาชน | 2,986 |
31 | ประชาชนชาวไทย | 188 |
32 | รักแผ่นดิน | 337 |
33 | ประชาสันติ | 2,013 |
34 | ความหวังใหม่ | 875 |
35 | อาสามาตุภูมิ | 305 |
36 | พลังคนกีฬา | 992 |
37 | พลังชาวนาไทย | 359 |
38 | ไทยสร้างสรรค์ | 96 |
39 | เพื่อนเกษตรไทย | 535 |
40 | มหารัฐพัฒนา | 345 |
รวมทั้งหมด | 2,861,971 |
จำนวนผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) ปี 2545 – 2554
2545 | 2546 | 2547 | 2548 | 2549 | 2550 | 2551 | 2552 | 2553 | 2554* |
6,900,223 | 7,434,237 | 7,831,463 | 8,225,477 | 8,537,801 | 8,781,262 | 8,779,131 | 8,680,359 | 8,955,744 | 9,057,785 |
ที่มา: สำนักงานประกันสังคม
*ข้อมูลสิ้นสุด ณ เดือนกรกฎาคม 2554
ผู้ยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่เปิดเผยในปี พ.ศ. 2553 พบว่าจำนวนผู้เสียภาษีของประเทศ โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากที่ประเทศไทยมีประชากร 64 ล้านคน แต่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเพียง 9-10 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องจ่ายเงินภาษีจริงเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น (เพราะเมื่อหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว ทำให้คนส่วนหนึ่งมีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี จึงไม่ต้องมีภาระเสียภาษี)
ปี | ผู้ยื่นเสียภาษี (คน) |
ปีภาษี 2542 | 5,352,077 |
ปีภาษี 2543 | 5,349,126 |
ปีภาษี 2544 | 6,046,823 |
ปีภาษี 2545 | 6,224,629 |
ปีภาษี 2546 | 6,652,069 |
การประมาณการที่เปิดเผยในปี 2553 | 9-10 ล้านคน |
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กับ กรมสรรพากร
จำนวนกรมจำนวนกรมธรรม์ประกันชีวิต
เมื่อสิ้นปี | จำนวนกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีผลบังคับ (ประเภทสามัญ) | ||
ตลอดชีพ | สะสมทรัพย์ | เฉพาะกาล | |
2550 | 3,678,913 | 6,383,131 | 630,664 |
2551 | 4,018,992 | 7,011,790 | 756,088 |
2552 | 4,421,405 | 7,630,975 | 861,199 |
ที่มา: สมาคมประกันชีวิตไทย
000