WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, December 10, 2011

เรื่องของอากง: Freedom of Speech และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม

ที่มา ประชาไท

บทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดีอากง sms แต่อยากเชิญชวนผู้อ่านวิเคราะห์สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของอากงผ่านข้อ สมมติฐานที่เป็นไปได้สองประการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าในสองการกระทำที่แตกต่างกันสุดขั้ว อย่างน้อยที่สุด ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง อากงได้ครอบครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอันสมควรจะได้รับการคุ้มครองประการ ใดบ้าง

บทความนี้จงใจตัดความน่าสงสารทุกๆ ประการของอากงออก ไม่ว่าจะเป็นอายุ สังขาร ภาระครอบครัว ฐานะ โรคภัย รวมถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหลีกเลี่ยงอคติทุกประการอันอาจเกิดขึ้นและส่งผลต่อวิจารณญาณ โดยบทความนี้จะมองอากงในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ บรรลุนิติภาวะแล้ว และมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ กล่าวคือ ไม่เป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถที่ควรต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิใน ด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษในสายตาของกฎหมาย

อนึ่ง บทความนี้ไม่อาจละเว้นว่าผลกระทบที่เกิดต่ออากงทั้งหมด เกิดจากการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย

สมมติฐานประการที่หนึ่ง: อากงไม่ได้เป็นคนส่ง sms
สมมติว่าในวันที่ 9, 11, 12, 22 พฤษภาคม 2553 ชายชราอายุ 61 ปี กำลังทำกิจกรรมอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์และส่ง sms อาจกำลังปลูกต้นไม้ ทำกับข้าว เลี้ยงหลาน รำมวยจีน เข้าห้องน้ำ หรือนอนดูโทรทัศน์แล้วเผลอหลับ ฯลฯ

วันหนึ่งในเดือนสิงหาคมตำรวจได้นำหมายจับมาถึงบ้าน โดยบอกว่าชายผู้นี้ต้องถูกจับกุมในข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 14 (2), (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข (คปค.) ฉบับที่ 41 โดยกระทำการส่งข้อความ ABCDEFG อันมีลักษณะหยาบคาย เข้าข่ายจาบจ้วง ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ[1] เข้าโทรศัพท์มือถือของเลขาฯ อดีตนายกอภิสิทธิ์ (เหตุที่ต้องสมมติเป็น ABCDEFG เนื่องจากว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดทราบว่าข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาว่า อย่างไร นอกจากบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี)

ชายผู้นี้ถูกคุมขังในเรือนจำเป็นระยะเวลา 63 วัน ได้รับการประกันตัวครั้งแรกในชั้นสอบสวน แต่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างการพิจารณา[2]

กรณีตามสมมติฐานนี้ การอ้างหลักการคุ้มครองเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก (Freedom of Speech) ไม่อาจใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของอากงได้ เพราะตัวอากงเองไม่ได้แม้แต่จะเป็นผู้คิด พิมพ์ และกดส่ง sms ที่ว่านี้เสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ในข้อ 10 และ 11(1) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR)[3] ได้บัญญัติหลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับอากง ในฐานะผู้ต้องหาในคดีนี้ไว้ว่า “บุคคลชอบที่จะเท่าเทียมกันอย่างบริบูรณ์ ในการที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยศาลที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ในการวินิจฉัยชี้ขาดทั้งสิทธิและภาระผูกพัน ตลอดจนข้อกล่าวหาใดๆ ที่มีต่อบุคคลนั้นในทางอาญา” และ “บุคคลที่ถูกกล่าวหาด้วยความผิดทางอาญามีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่า บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้มีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาที่กระทำโดยเปิดเผย และซึ่งได้รับหลักประกันทุกอย่างที่จำเป็นในการต่อสู้คดี”

ยิ่งไปกว่านั้น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550[4] มาตรา 39 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิในเรื่องนี้ไว้ว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และในมาตรา 40 (2) และ (7) ก็ได้รับรองสิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา และสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม และโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ ให้กับผู้ต้องหาในคดีอาญาด้วย

สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้ ได้รับการยืนยันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 ที่บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

หากพิจารณาข้อเท็จจริงจากบันทึกสังเกตการณ์การสืบพยานในคดีนี้ http://ilaw.or.th/node/1229 และ ‘สิบคำถามต่อหลักความชอบธรรม คำพิพากษา ‘คดีอากง sms’’ http://thaipublica.org/2011/11/ten-questions-ah-kong/ คำถามเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นสำหรับสมมติฐานประการแรกนี้ คือ

“หากอากงไม่ได้เป็นผู้ส่ง sms และด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในความคิดเห็นและการ แสดงออก (Freedom of Speech) แต่จากกระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้น ชายผู้บริสุทธิ์คนนี้ได้รับความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในกระบวนการ ยุติธรรมอย่างเพียงพอแล้วหรือยัง?”

สมมติฐานประการที่สอง: อากงเป็นคนส่ง sms จริง
สมมติว่าในวันและเวลาเดียวกัน ชายชราอายุ 61 ปี ซึ่งมีความเชียวชาญในการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างคล่องมือ สามารถใช้ความสามารถเฉพาะตัวค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ของเลขาฯ อดีตนายกอภิสิทธิ์มาไว้ในครอบครองได้ หรืออาจได้หมายเลขดังกล่าวมาอยู่ในความครอบครองด้วยความบังเอิญ หรือมีผู้หวังดีหรือไม่หวังดีจัดหามาให้ หรือได้มาไว้ในความครอบครองด้วยประการใดๆ ก็ตาม

ในวินาทีใดวินาทีหนึ่ง ชายผู้นี้เกิดความคิดบางอย่าง จึงได้ลงมือพิมพ์ sms ทีละตัวอักษร เกิดเป็นข้อความซึ่งมีเนื้อหาว่า ABCDEFG ส่งไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของเลขาฯ อดีตนายกอภิสิทธิ์ดังกล่าว

เบื้องต้น การกระทำดังกล่าว ‘อาจ’ เข้าข่ายได้รับความคุ้มครอง ตามที่ปรากฏในตอนต้นของคำปรารภและข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับรองไว้ว่า การดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก (Freedom of Speech) คือปณิธานสูงสุดของสามัญชน และ “บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก สิทธิดังกล่าวนี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรก แซง ไปจนถึงการแสวงหา รับเอา ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นผ่านสื่อใดๆ โดยปราศจากพรมแดน”

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ยังได้บัญญัติรับรองสิทธิในลักษณะเดียวกันนี้ไว้ในมาตรา 45 วรรคหนึ่งด้วยว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งข้อความที่มีเนื้อหาว่า ABCDEFG ของอากง ‘อาจ’ เข้าข่ายได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก (Freedom of Speech) ดังกล่าวข้างต้น แต่เสรีภาพในข้อนี้ก็หาใช่ว่าจะได้รับการคุ้มครองครอบจักรวาลโดยไร้ข้อจำกัด ไม่

ข้อยกเว้นการคุ้มครอง Freedom of Speech เช่น ข้อ 29 (2) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “ในการใช้สิทธิและเสรีภาพ บุคคลพึงใช้เพียงเท่าที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ต้องเป็นไปโดยเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการ ดำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติที่เป็นธรรม และการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เพื่อบรรลุถึงพันธะอันเที่ยงธรรมแห่งศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการส่วนรวมในสังคมประชาธิปไตย”

นอกจากนี้ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (The European Convention on Human Rights – ECHR)[5] ยังได้รับรองข้อยกเว้นการคุ้มครอง Freedom of Speech ไว้ในข้อ 10 (2) ด้วยว่า “เนื่องจากการใช้เสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกย่อมนำมาซึ่งหน้าที่และ ความรับผิดชอบ ดังนั้นการใช้เสรีภาพในเรื่องนี้ย่อมอาจถูกกำหนดโดยหลักการ เงื่อนไข ข้อจำกัด หรือบทลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามความจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือความปลอดภัยของประชาชน เพื่อป้องกันสภาวะไร้ระเบียบหรืออาชญากรรม เพื่อคุ้มครองสุขภาวะหรือศีลธรรม เพื่อคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อป้องกันการเปิดเผยข้อมูลซึ่งถูกปกปิดเป็นความลับ หรือเพื่อรักษาอำนาจและความเป็นกลางของฝ่ายตุลาการ”

ทั้งนี้ รวมถึงมาตรา 45 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น...”

เนื้อหาที่เข้าข่ายอาจถูกยกเว้นไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ Freedom of Speech[6] เช่น เนื้อหาที่ก่อให้เกิดภยันตรายที่ชัดเจนในทันที (Clear and Present Danger) เนื้อหาที่ยุยงให้มีการใช้ความรุนแรง (Fighting Words) เนื้อหาที่มีลักษณะหมิ่นประมาท (Libel and Slander) เนื้อหาลามกอนาจาร (Obscenity) เนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ (Conflict with other Legitimate Social or Governmental Interests)

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า เนื้อหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีลักษณะเป็นการจำกัด Freedom of Speech ในตัวเอง อย่างไรก็ตาม เคยปรากฏกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามมาตรานี้ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าเนื้อหานั้นๆ ยังไม่ถึงกับเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์[7]

สำหรับกรณีนี้ เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง นั่นหมายถึงว่า พนักงานอัยการได้มีการตีความข้อความ ABCDEFG แล้วว่าอาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นของพนักงานอัยการย่อมไม่ผูกพันศาล

ดังนั้น เมื่ออากงถูกนำตัวมาขึ้นศาล ศาลจึงจำเป็นต้องมีการตีความข้อความ ABCDEFG อีกครั้ง และที่สำคัญในการดำเนินกระบวนพิจารณา ศาลยังต้องทำการพิสูจน์พยานหลักฐานจนสิ้นสงสัย ตามหลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาดังได้ที่กล่าวมาในสมมติฐาน ข้อแรกอย่างเคร่งครัด จึงจะสามารถลงโทษอากงในฐานะผู้พิมพ์และส่ง sms ได้ แม้ชายผู้นี้จะได้ลงมือกระทำผิดจริงก็ตาม

ทั้งนี้ เพราะหลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา เป็นหลักการที่ใช้คุ้มครองสิทธิของทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าผู้ต้องหาคนนั้นได้กระทำความผิดจริงหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นธรรมของอัตราส่วนโทษตามมาตรา 112 ที่จะลงแก่อากงก็นับเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากที่ต้องนำมาพิจารณาตามหลักความ ได้สัดส่วนระหว่างโทษและการกระทำความผิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักการคุ้ม ครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และเป็นพื้นฐานสำคัญของนิติรัฐ ซึ่งจะยังไม่ขอนำมากล่าว ณ ที่นี้[8]

จากสมมติฐานทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าโดยข้อเท็จจริงอากงจะเป็นผู้ส่ง sms หรือไม่ก็ตาม และแม้ว่าอากงจะไม่สามารถอ้าง Freedom of Speech เพื่อคุ้มครองตัวเองได้เลยในกรณีนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง อากงสมควรได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนพิจารณา

หากจะกล่าวจนถึงที่สุด เราคงไม่อยากเห็นการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อปกป้องคนที่เรารัก ในลักษณะที่เป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของบุคคลอื่น

การรณรงค์ ‘ฝ่ามืออากง’ จึงเป็นไปเพื่อสนับสนุนหลักการดังกล่าวข้างต้นนี้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของอากงแต่เพียงผู้เดียว แต่เพื่อประโยชน์ของเราทุกคนที่อาจตกเป็นผู้ต้องหาได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้สุดแท้แต่ผู้อ่านจะนำไปพิจารณา

--------------------
[1] http://prachatai.com/journal/2011/11/37991
[2] เรื่องเดียวกัน
[3] http://www.un.org/en/documents/udhr/index.shtml
[4] http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf
[5] http://conventions.coe.int/treaty/en/Treaties/Html/005.htm
[6] Freedom of Speech and Press: Exceptions to the First Amendment http://www.fas.org/sgp/crs/misc/95-815.pdf
[7] http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9500000041356
[8] ผู้สนใจโปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, “หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม,” เว็ปไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย - www.pub-law.net, เผยแพร่ครั้งแรก 31 มกราคม 2553; และชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, (กรุงเทพฯ: จิรรัชการพิมพ์, 2540) น. 28 - 29.