ที่มา ประชาไท
กรณีการตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือนของโจ กอร์ดอน เป็นที่กล่าวขานอีกครั้งหลังกระแส “อากง” เกินขึ้นไม่นาน โดยวานนี้ (8 ธ.ค.) มีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศมาเฝ้าทำข่าวและถ่ายรูปโจระหว่างเดินลง จากรถควบคุมผู้ต้องขังไปยังห้องขังรวมใต้ถุนศาลอาญา โดยโจ ในชุดนักโทษและใส่ตรวนที่ขาได้กล่าวทักทายกองทัพผู้สื่อข่าวสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า “Thank you for coming”
บรรยายกาศภายในห้องพิจารณาคดี 812 มีผู้คนล้นจนไม่มีที่นั่ง ทั้งผู้สนใจติดตามคดี เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกา นักข่าว รวมถึงเพื่อนสนิทของโจที่ใครๆ เรียกว่า “พี่นุช” ซึ่งเป็นบุคคลที่คอยดูแลโจตลอดเวลา 199 วันที่ถูกคุมขัง (นับถึงวันพิพากษา) โดยเธอขับรถจากนครราชสีมาเข้ากรุงเทพฯ เกือบทุกวัน สำหรับคนในครอบครัวของเขา ไม่มีใครเข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาในครั้งนี้
เมื่อผู้พิพากษานั่งบัลลังก์ หนึ่งในนั้นได้สอบถามโจเกี่ยวกับคำให้การต่อพนักงานที่ทำการสืบเสาะ พฤติการณ์ตามคำสั่งศาลไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากเขาให้การไว้ว่า 1.ไม่เคยสนใจการเมืองไทยมาก่อน 2.ไม่เคยรู้จักกับใครทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง 3.ไม่ใช่นายสิน แซ่จิ้ว [เจ้าของบล็อกที่ถูกฟ้อง] และ 4.ไม่เคยโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาอธิบายว่า การให้การเช่นนี้ขัดกับการรับสารภาพของเขา ทำให้ทนายความส่วนตัวรีบออกมาแจ้งต่อศาลว่า คำให้การนี้หมายถึงในกรณีอื่น นอกเหนือจากกรณีที่ถูกฟ้องนี้ จากนั้นโจจึงได้ยืนยันต่อศาลว่า เป็นดังที่ทนายความชี้แจง
เมื่อเป็นที่ เข้าใจตรงกัน ผู้พิพากษาจึงอ่านคำตัดสินระบุว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 , มาตรา 116 (2),(3) และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3),(5) ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษหนักที่สุด จำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
สภาพลักลั่นในช่วงแรกเกิดขึ้นนี้ อาจเป็นดังที่โจ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศนับสิบคนที่ (นั่งยองๆ) ล้อมวงสัมภาษณ์เขากันสดๆ ทันทีหลังฟังคำพิพากษา ว่า เขาไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการยุติธรรมเท่าไรนัก และในการมาฟังคำพิพากษาในวันนี้เขาก็ไม่ได้คาดหวังอะไรเป็นพิเศษกับประเทศ นี้ (เหตุการณ์ล้อมวงสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าผู้พิพากษาที่นั่งอยู่บน บัลลังก์ระหว่างรอเจ้าหน้าที่พิมพ์รายงาน ซึ่งผู้พิพากษาก็ไม่ได้ว่ากล่าวแต่อย่างใด)
“มันทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ช่วงหนึ่งที่เขาตอบคำถามนักข่าว
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการในห้องพิจารณาคดี นักข่าวพากันรุมซักถาม อานนท์ นำภา ทนายความ โดยมีนักข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศบางคนถามว่าข้อความที่หมิ่นคืออะไร ซึ่งทำให้นักข่าวอาวุโสพากันหัวเราะและแซวทนายความ ว่าหากทนายตอบคำถามนี้ อาจต้องเป็นจำเลยเสียเอง อย่างไรก็ตาม อานนท์ ระบุว่าข้อความในบล็อกนั้นเป็นข้อความทางวิชาการ และแปลเนื้อหาในหนังสือ The King Never Smiles บางบท
หากใครเคยเข้าไปอ่านบล็อกดังกล่าวก่อนจะถูกทางการปิดกั้นก็จะเห็นว่า มีการเขียนบรรยายว่า เป็นไปเพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในอีกด้านหนึ่งของประเทศไทย พร้อมทั้งกำชับให้ผู้อ่านให้อ่านเชิงอรรถเพื่อพิจารณาว่าข้อสรุปของผู้เขียน Paul M. Handley เชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด
นอกจากนี้ทนายความยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กรณีนี้นับว่าได้รับโทษน้อยที่สุดเพียง 2 ปีครึ่งจากโทษเต็ม 5 ปี เพราะโดยปกติคดีหมิ่นที่ผ่านๆ มามีฐานของโทษต่อหนึ่งกรรมอยู่ที่ 6 ปี และ 10 ปี
ขณะที่นางอลิซาเบธ แพรตต์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาที่มาร่วมฟังคำพิพากษาตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเรื่องโทษ ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรมันก็ยังเป็นโทษที่หนักมากสำหรับเสรีภาพในการแสดงความคิด เห็น
000000
ไม่กี่ชั่วโมงถัดจากนั้น เฟซบุ๊คก็เริ่มเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีนี้ หลายคำถามก่อเกิด เนื่องจากรายงานข่าวก็ไม่ได้ระบุที่มาที่ไปของความผิด ทั้งนี้ก็เนื่องจากศาลมิได้อ่านทวนคำฟ้องของโจทก์ให้นักข่าวได้รายงาน
คำถามหลักอันหนึ่งของเรื่องนี้ อาจดูได้จากข้อความในเฟซบุ๊คของสาวตรี สุขศรี แห่งกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นข้อสังเกตได้รับการ share อย่างกว้างขวาง
“กรณีโจ กอร์ดอน มีเรื่องน่าสนใจอีกดังนี้ 1) ตกลงหนังสือกษัตริย์ไม่เคยยิ้มมีเนื้อหาผิด 112 หรือไม่ ถ้าผิด ส่วนไหนผิด ? 2) การประกาศหนังสือต้องห้าม เป็นอำนาจของ ผบ.ตร โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ซึ่งต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย แต่เล่มนี้ไม่มีการประกาศตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีแต่คำสั่งตำรวจลอย ๆ ว่าห้าม มีผลทางกฎหมายหรือไม่ ? 3) ตาม พรบ.จดแจ้งฯ ถ้าฝ่าฝืน คือ สั่งหรือนำเข้ามาเพื่อเผยแพร่ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ.. แต่ครั้งนี้ศาลจำคุก 5 ปี (สารภาพเลยลดเหลือ 2 ปีครึ่ง) หมายความว่าอะไร ตกลงผิด 112 ? ถ้าใช่ ย้อนกลับไปดูคำถามข้อ 1) ใหม่”
อย่างไรก็ตาม ในคำฟ้องของโจทก์ระบุการฟ้องร้องอยู่หลายประเด็น แต่ยังคงให้น้ำหนักกับหนังสือต้องห้ามดังกล่าว ทำให้คำถามต่อหนังสือ The King Never Smiles ยังเป็นคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีความชัดเจน
คำฟ้องลงวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ1 สำนักงานอัยการสูงสุด กับนายเลอพงษ์ (สงวนนามสกุล) หรือ สิน แซ่จิ้ว หรือ นายโจ กอร์ดอน
โดยระบุว่า ราชอาณาจักรไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระภัทรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และทรงอยู่เหนือคำติชมใดๆ ทั้งปวง เมื่อระหว่างวันที่ 2 พ.ย.50 ถึงวันที่ 24 พ.ค.54 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำลยได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมาย โดยบังอาจนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เกี่ยกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ลงในเว็บบล็อกไทยทีเคเอ็นเอสยูเอสเอ (ตามคำฟ้องระบุเป็น url – หมายหตุโดยประชาไท) และจำเลยยังทำจุดเชื่อมโยงให้บุคคลที่เข้าเว็บบอร์ดคนเหมือนกันทำการดาวน์ โหลด โดยจำเลยใช้นามแฝงว่า นายสิน แซ่จิ้ว และมีคำนิยามเกี่ยวกับตัวเองว่า “กูไม่ใช่ฝุ่น....” (เซ็นเซอร์โดยประชาไท) และจำเลยอ้างตัวเป็นผู้แปลหนังสือต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรชื่อ “The King Never Smiles” (กษัตริย์ผู้ไม่เคยยิ้ม) จากฉบับภาษาอังกฤษเป็นฉบับภาษาไทย และจำเลยนำข้อความซึ่งเป็นคำแปลดังกล่าวลงเผยแพร่ในเว็บบอร์ดดังกล่าว ทำการเผยแพร่บทความที่มีลักษณะกล่าวพาดพิงวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์
ต่อมาจำเลยได้ทำความเชื่อมโยงเพื่อเผยแพร่หรือส่งต่อข้อความซึ่งเป็น ข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับความ มั่นคงในราชอาณาจักรลงในเว็บไซต์ชุมชนฟ้าเดียวกัน หรือเว็บไซต์ชุมชนคนเหมือนกัน เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าไปอ่านคำแปลในเว็บบล็อกดังกล่าว
จำเลยได้นำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจำเลยเขียนบทความลงในเว็บบล็อกบาทเดียว (ในคำฟ้องระบุเป็น url – หมายเหตุประชาไท) ซึ่งมีข้อความ...... (เนื่องจากไม่สามารถเผยแพร่ข้อความซ้ำได้ จึงต้องสรุปความ– ประชาไท) เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ การปฏิวัติวัฒนธรรมโบราณ และสถานการณ์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยในช่วงผลัดเปลี่ยนรัชกาล
คำฟ้องระบุว่า การกระทำของจำเลยยังเป็นการทำให้ข้อมูลดังกล่าวปรากฏแก่ประชาชนอันมิใช่เป็น การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต และเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
สำหรับต้นเรื่องของคดีความ ในคำร้องขอฝากขังครั้งที่หนึ่ง ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษยื่นต่อศาลนั้นได้ระบุไว้ว่า คดีพิเศษดังกล่าวเป็นกรณีเหตุเกิดนอกราชอาณาจักร สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือที่ อส 0025 (กต3)/9060 ลงวันที่ 28 ก.ค.53 มอบหมายให้พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ และพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมาย
คำร้องยังระบุถึงผู้กล่าวหาด้วยว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยพันเอก วิจารณ์ จดแตง เป็นผู้กล่าวหาที่ 1 ร่วมกับนายเกริกไชย ศรีศุกร์เจริญ จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร้องทุกข์กล่าวหาต่อพนักงานสอบวนคดีพิเศษ
ในคำบรรยายการกระทำความผิดของผู้ต้องหาในเอกสารดังกล่าวได้กล่าวถึงบล็อก บาทเดียวและเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน โดยระบุว่านายสิน แซ่จิ้ว เป็นเจ้าของบล็อกบาทเดียวที่เผยแพร่เนื้อหาการแปลหนังสือเล่มนี้ และนำไปลิงก์ไปเผยแพร่ในเว็บบอร์ด
0000000
ก่อนหน้าที่จะถึงวันตัดสิน เราเข้าไปเยี่ยมเขาหลายครั้งในเรือนจำ เขาเป็นคนบุคลิกสุขุม และไม่ค่อยพูด ในช่วงแรกที่ถูกคุมขัง เขาป่วยหนักจากโรคเก๊าต์ และมีสภาพที่ย่ำแย่ทั้งจิตใจและร่างกาย จนต้องมีนักโทษพยุงปีกซ้ายขวามาพบญาติเนื่องจากเก๊าต์กำเริบหนัก ช่วงแรกโจไม่สามารถปรับตัวกับสภาพในเรือนจำได้ และไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำที่จัดให้ได้เลย กระทั่ง “พี่นุช” คอยขับรถระยะทางกว่า 200 กม. มาซื้อของกินของใช้ให้โดยตลอด จนเขาค่อยๆ ปรับตัวได้ในที่สุด
ในช่วงแรกเขาดูตั้งใจจะต่อสู้คดี แต่ผ่านมาระยะหนึ่ง พร้อมกับความพยายามประกันตัวนับสิบครั้ง ทำให้เขาตัดสินใจรับสารภาพ
เรื่องการไม่ได้ประกันตัวเป็นสิ่งที่โจเข้าใจไม่ได้ และมักจะพูดถึงมันเสมอ เขาว่าที่อเมริกาไม่มีทางทำแบบนี้ เพราะเขายังไม่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดแต่อย่างใด
โจป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย และไม่ค่อยไปรับยาที่โรงพยาบาลในเรือนจำ เจ้าหน้าที่จากสถานทูตอเมริกาที่คอยเข้าเยี่ยมเขาเป็นระยะบอกกับเขาว่าอย่าง ไรเสียเขาควรไปรับยาที่โรงพยาบาล คำตอบจากโจคือ การไปรับยานั้นต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันรอคิว นอกจากนี้เขายังรับไม่ได้กับการปฏิบัติต่อคนนักโทษจากบุคคลากรที่นั่น
โจ ใช้ชีวิตอยู่อเมริกานาน เกือบ 30 ปี อาจจะนานเกินไปจนทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนอเมริกันมากกว่าคนไทย เขาเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อราว 2 ปีก่อน เนื่องจากภรรยาของเขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และเขาเองต้องการกลับมารักษาตัวในประเทศบ้านเกิดซึ่งค่ารักษาพยาบาลถูกกว่า มาก
“รู้สึกยังไงกับประเทศไทย” คำถามผ่านผนังกระจกกั้นในห้องเยี่ยม
“ประเทศนี้ดีทุกอย่าง แต่คนไทยเป็นคนไม่ยอมรับความจริง” “มองจากข้างนอกบรรยากาศเหมือนจะเปิดกว้าง แต่จริงๆ แล้ว ...ไม่” คำตอบลอดผ่านผนังกระจกกลับมา
เมื่อกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดนครราชสีมา โจหารายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่ที่สนใจ และมีงานอดิเรกเป็นการถ่ายภาพ จนกระทั่งถูกจับกุม ซึ่งในวันจับกุมเขาระบุว่าบ้านพี่น้องที่อยู่นอกเหนือหมายจับก็ถูกรื้อค้น ด้วยเช่นเดียวกัน
เนื่องจากจำเลยตัดสินใจไม่ต่อสู้คดี ทำให้ผู้ที่สนใจติดตามกรณีนี้ซึ่งเกี่ยวพันกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี ไม่สามารถหาคำตอบในการเชื่อมโยงสู่การจับกุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้งหมดกระทำการในสหรัฐอเมริกา
สำหรับคำถามหลักๆ ของการสืบเสาะ โจระบุว่า เจ้าหน้าที่ถามเขาหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่มีทางที่คนจะถามกันในประเทศที่เขาอยู่ นอกจากนี้ยังถามเขาว่า รู้จักกับทักษิณใช่ไหม, รู้จักแกนนำคนใดบ้าง ฯลฯ ซึ่งมันสร้างความประหลาดใจให้เขามากพอควร
00000000
ก่อนวันพิพากษา มีคนถามถึงความคาดหวังของผู้แปลหนังสือของสำนักพิพม์ Yale เล่มนี้
เขาบอกว่าเขาอยากกลับ “บ้าน” แล้วก็เล่าถึงบรรยากาศในรัฐโคโลลาโด สถานที่ที่เขาชอบไปซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่อยู่บนภูเขาที่เงียบสงัด
“ผมอยากกลับไปให้ทันวัน Thanksgiving ผมอยากกลับไปใช้ชีวิตที่เหลืออย่างสงบ”
วันขอบคุณพระเจ้าคือวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน ..มันเลยมาแล้ว และไม่มีใครรู้ว่าเขาจะได้กลับเมื่อไร
หมายเหตุ ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก อานนท์ นำภา สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์