ที่มา Thai E-News
โดยทีมงานไทยอีนิวส์
6 เมษายน 2552
การอภิวัฒน์ 2475 มีนักเรียนนอกและนักการทหารหัวก้าวหน้าเป็นพลังขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่ประชาชนทั่วไปเป็นเพียงส่วนประกอบ ส่วนนักศึกษายังระดับมหาวิทยาลัยยังไม่มี (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเกิดขึ้นหลังการอภิวัฒน์) ภายใต้ระบบการสื่อสารด้วยวิทยุ AM วิทยุคลื่นสั้น และหนังสือพิมพ์ที่แพร่กระจายในเมืองหลวงเท่านั้น ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้ทุกคนในประเทศนี้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดขึ้นหลังการอภิวัฒ์ 2475 นานถึง 41 ปี มีปัญญาชน นักเรียน นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นพลังขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่ประชาชนทั่วไปให้การสนับสนุน ภายใต้ระบบการสื่อสารที่มีวิทยุ AM/FM โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่แพร่กระจายไปยังหัวเมืองหลักได้ทั่วถึง ประเด็นหลักคือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
เหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 เกิดหลังการอภิวัฒ์ 2475 นานถึง 60 ปี มีชนชั้นกลางและนักศึกษาปัญญาชนในมหาวิทยาลัย เป็นพลังขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่ประชาชนทั่วไปให้การสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ภายใต้ระบบการสื่อสารที่มีวิทยุ AM/FM โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์รับข้อความ ประเด็นหลักคือการเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองและนายกต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยได้รับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด
การเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2552 ที่กำลังเกิดขึ้น ห่างจากการอภิวัฒน์ 2475 นานถึง 77 ปี ภายใต้ระบบการสื่อสารที่หลากหลาย ไม่ว่าหนังสือพิมพ์ วิทยุ AM/FM ของรัฐ วิทยุชุมชน ฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี โทรศัพท์มือถือในระบบ digitalกว่า 30 ล้านเลขหมายในระบบ 3G Wi-Fi SMS MMS อีเมล์ และอินเตอร์เน็ตตลอดจนการเชื่อมโยงระบบการสื่อสารระหว่างประเทศที่สะดวกรวดเร็ว
สังคมไทยมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกออกเป็น 2 ขั้ว และต่อสู้ขับเคี่ยวกันมานานถึง 3 ปี จวบจนปัจจุบันเครือข่ายเสื้อเหลืองแห่งระบอบมาตยาธิปไตยอันมีองคมนตรีและแก๊ง 7 คน เป็นผู้ชักใย กำกับชี้นำ ได้ใช้สรรพกำลังออกมาต่อสู้ขับเคี่ยวจนหมดหน้าตักและเปลือยธาตุแท้ออกมาให้สังคมเห็นอย่างล่อนจ้อน ท่ามกลางการพังทลายของนิติรัฐ กระบวนการยุติธรรม ความน่าเชื่อถือของศาล และระบอบประชาธิปไตยอย่างทั่วด้าน
ผู้คนจำนวนหนึ่ง ที่เคยคิดว่าพลังขับเคลื่อนของระบอบประชาธิปไตยคือปัญญาชน ชนชั้นกลาง ตลอดจนเครือข่ายคนเดือนตุลา NGO และสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชน ต่างหมดหวังเพราะพลังเหล่านี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอมาตยาธิปไตยอันมีองคมนตรีและแก๊ง 7 คน เป็นผู้กำกับ ชี้นำ
3 ปีที่ผ่านมา พลังขับเคลื่อนของระบอบประชาธิปไตยไทยได้เคลื่อนตัวจากนักศึกษาปัญญาชน คนชั้นกลาง ไปสู่คนรากหญ้าทั้งในเมืองและชนบทอย่างรวดเร็วและกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน องค์ความรู้ทางประชาธิปไตยของพวกเขาได้พัฒนาท่ามกลางการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เขาเรียนรู้ระบอบและวิถีทางประชาธิปไตยจากการปฏิบัติ ลองผิด ลองถูก จนได้โมเดล หรือแบบฉบับที่พวกเขารู้สึกว่า “ใช่” นั่นคือประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐบาลในยุคที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะถูกระบอบอมาตย์ตีตราว่าเป็น “ระบอบทักษิณ” ก็ตาม
สถานการณ์ทางการเมืองในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ “คนรากหญ้า” สั่งสมข้อมูล ข่าวสาร ผ่านการการวิเคราะห์ กลั่นกรองจนกลายเป็น “ผลึกทางความคิด” จนสามารถ “แยกมิตร แยกศัตรู” ทางการเมืองด้วยสัญชาติญาณได้อย่างชัดเจนและทำให้เขาสามารถกำหนดท่าทีทางการเมืองได้เองว่าเขาควรสนับสนุน การเคลื่อนไหวทางการเมืองในทิศทางใด
จึงไม่แปลกที่เราไม่เคยเห็น “พลังประชาธิปไตยรากหญ้า” สนับสนุนการต่อสู้ของ กลุ่มพันธมิตรเพื่ออมาตยาธิปไตย
และไม่น่าแปลกใจเช่นกันที่ “พลังประชาธิปไตยรากหญ้า” เติบโตภายใต้สโลแกน “แดงทั้งแผ่นดิน” อย่างรวดเร็ว
แต่ที่น่าแปลใจอย่างที่สุดคือ ตำรวจ ทหารชั้นผู้น้อยและทหารตำรวจที่เกษียณได้ประกาศตัวเข้าร่วมกับคนเสื้อแดงภายใต้ข้อเรียกร้อง “พลเอก เปรม...ออกไป” อย่างไม่เกรงใจ และไม่เกรงกลัว
เมื่อคนเสื้อแดงชูธง “ขับไล่อมาตยาธิปไตยอันมีองคมนตรีและแก๊ง 7 คน เป็นผู้ ชักใย กำกับ ชี้นำ” ได้ทำให้คนเสื้อแดงพ้นจากข้อกล่าวหาว่าต่อสู้เพื่อ ทักษิณและพรรคเพื่อไทย เพราะเป้าหมายการต่อสู้คือศัตรูตัวจริงของระบอบประชาธิปไตย ที่ได้เพาะศัตรูทางประวัติศาสตร์เอาไว้เป็นจำนวนมาก
การเคลื่อนไหวเมษายน 2552 เป็นการต่อสู้ที่มีเครือข่ายระบอบอมาตยาธิปไตยอันมีองคมนตรีและแก๊ง 7 คน เป็นผู้ชักใย กำกับและชี้นำ ฝ่ายหนึ่ง
กับ
“พลังประชาธิปไตยรากหญ้า” ที่มีแนวร่วมเป็น พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ข้าราชการตำรวจ ทหาร ชั้นผู้น้อย และชนชั้นกลางอีกฝ่ายหนึ่ง
นับเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่เคยจับคู่กันมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย
ไม่ว่าจะพิจารณาโดยทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคม หรือโดยข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ ฝ่ายอมาตยาธิปไตยอยู่ในฐานะตั้งรับทางยุทธศาสตร์ แม้ว่าจะได้เปรียบในแง่ของการมีอำนาจควบคุมกลไกรัฐและองคาพยพของสังคม แต่พละกำลังของพวกเขาได้ผ่านขีดสูงสุดไปแล้ว จากนี้พละกำลังของพวกเขามีแต่จะหดตัว และอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว หากเขาใช้กลยุทธ์แบบเผชิญหน้าและไม่ยอมปรับตัว
ในด้านกลับกัน “พลังประชาธิปไตยรากหญ้า” เป็นพลังทางการเมืองที่เกิดใหม่ มีพลังและความกระตือรือร้น มีความอัดอั้นตันใจ และความเคียดแค้นที่สุมอกมาเป็นเวลานาน แม้ว่าจะเสียเปรียบในด้านที่อยู่ใต้การปกครองและถูกควบคุมด้วยกลไกรัฐ แต่มีฐานะ “รุก” ทางยุทธศาสตร์ หากไม่ไร้เดียงสา ไม่ใจร้อน ใจเร็วด่วนได้ และรู้จักประมาณแล้วจะสามารถเอาชนะการศึกครั้งนี้ได้
อย่างไรก็ตาม การโค่นอมาตย์ลงได้ เป็นเพียงการทำลายอุปสรรคของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม หากอุปสรรคที่สำคัญได้ถูกขจัดไปแล้ว การสร้างสิ่งใหม่ก็ไม่เหลือกำลังเพราะว่า...
พลังขับเคลื่อนใหม่ ของขบวนการประชาธิปไตยไทย..ก่อรูปขึ้นชัดเจนแล้ว