WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, September 8, 2010

ประชาธรรม: มองการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา (1)

ที่มา ประชาไท


สำนักข่าวประชาธรรม รายงานจากการประชุมเวทีสังคมวิทยาภาคเหนือ เมื่อ 28 ส.ค. ในช่วงอภิปรายหัวข้อ "โครงสร้างทางการเมืองและความขัดแย้งในสังคมภาคเหนือ" โดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อรัญญา ศิริผล และนพพล อาชามาส

หมายเหตุ: สำนักข่าวประชาธรรม ได้กรุณาเผยแพร่รายงานเรื่อง มองการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา (1) ซึ่งเป็นการรายงานจากการประชุม "แผ่นดินเดียวกัน แต่อยู่คนละโลก" หรือเวทีสังคมวิทยาภาคเหนือ ซึ่งจัดที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยประชาไทขอเผยแพร่ต่อโดยมีรายละเอียดดังนี้

มองการเมืองเหลือง-แดงในมุมสังคมวิทยา (1)

อานนท์ ตันติวิวัฒน์/สำนักข่าวประชาธรรม เรียบเรียง

เผยแพร่ครั้งแรกใน เว็บไซต์สำนักข่าวประชาธรรม 7 ก.ย. 53

กระแสการเมืองเหลืองแดง ยังคงเป็นประเด็นเด่นที่แวดวงนักวิชาการให้ความสนใจที่จะทำความเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องเพราะกรอบ(Concept) การอธิบายทางสังคมศาสตร์ ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างชัดเจนและครอบคลุมอีกต่อไป จนก่อให้เกิดการถกเถียงในเชิงคำถามและทฤษฎีหรือแนวคิดใหม่ในการอธิบายอย่างกว้างขวาง คำถามยอดฮิตที่นักวิชาการมักจะตั้งเป็นคำถามแรก คือ "แดง เหลือง เป็นใคร" จากนั้นก็มีการการอธิบายตามกรอบคิดและแนวทฤษฎีที่ตัวเองจัดวางไว้ เช่น เป็นคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในภาคชนบท หรือเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง หรือเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ถูกดึงเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มชนชั้นนำ เป็นต้น จนนำมาสู่การอธิบายในระดับโครงสร้างทั้งหมดของสังคม

เร็วๆ นี้ คณะกรรมการวิจัยสภาแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาคีภาคเหนือ อันได้แก่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ,คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ,คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร,คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ เชียงใหม่,โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง ม.แม่ฟ้าหลวง,สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวที"แผ่นดินเดียวกัน แต่อยู่คนละโลก" (เวทีสังคมวิทยาภาคเหนือ) เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนมุมมองด้านสังคมวิทยากับความขัดแย้งทางการเมือง

ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายตั้งคำถามในประเด็นเรื่อง "โครงสร้างทางการเมืองและความขัดแย้งในสังคมภาคเหนือ" ซึ่งมีการนำเสนอให้เห็นภาพว่ากลุ่มคนเสื้อแดง และเสื้อเหลืองในภาคเหนือเป็นใคร มาจากไหน และมีฐานความคิดในการมองการเมือง สังคมอย่างไร จึงนำมาสู่การสวมใส่อัตลักษณ์ที่มีชื่อว่า "เสื้อเหลือง" กับ "เสื้อแดง"

000

4 แนวคิดกระแสหลักในวงวิชาการ ไม่พออธิบายเสื้อแดง

อ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า งานชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่เริ่มทำเมื่อเดือนกรกฎาคมโดยทีมวิจัยทั้ง 4 คนจะนำเสนอในเวทีนี้ และเป็นงานที่ยังไม่เสร็จ การนำเสนอในครั้งนี้จึงยังเป็นเพียงบทสำรวจเบื้องต้น โดยตนอยากจะเริ่มอย่างนี้ว่า งานวิจัยนี้เริ่มจากความข้องใจกับวิธีการอธิบายความขัดแย้งในสังคมไทย ซึ่งตนเสนอว่าปัจจุบันมี 4 กระแสคิดหลักว่าด้วยเรื่องปรากฏการณ์แผ่นดินเดียวกันแต่อยู่คนละโลก โดยเวทีวันนี้ ทีมวิจัยทั้งสี่คนจะพยายามสนทนากับสี่กระแสคิดหลักว่ามันมีปัญหายังไงบ้าง กระแสคิดหลักนี้ จนกระทั่งเมื่อเช้าวันนี้เราก็ยังได้ยินอยู่ อันแรกคือ "ความขัดแย้งมาจากความต่าง" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินเรื่องความต่างในฐานะสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างมาก กระแสคิดหลักอันนี้มองความต่างเป็นสองระนาบ ระนาบแรกมองว่าเป็นความต่างของชนชั้นนำสองฝ่าย ขอใช้คำพูดของอาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นตัวแทนของความคิดดังกล่าว อาจารย์เสกสรรพูดว่า "มันเริ่มต้นจากความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครอง หมู่ชนชั้นนำ ชนชั้นนำเก่าและชนชั้นนำใหม่ พวกเขาสร้างพื้นที่ทางอำนาจ ตกลงกันไม่ได้ แล้วไปชวนมวลชนฝ่ายที่ไม่ชอบคู่ต่อสู้ของตนมาเป็นพวก มันก็เลยบานปลายขยายตัวกลายเป็นความคิดแบบเสื้อสองสี ขอเน้นตรงนี้ "แล้วชวนมวลชนมาเป็นพวก"

อาจารย์ผาสุกก็เขียนบทความหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งลงในมติชน พูดว่า "ในระดับหนึ่งมันเป็นความขัดแย้งในบรรดาชนชั้นนำ ในระนาบที่สอง มันก็มีความพยายามอธิบายเหมือนกันว่า มันไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำ แต่ว่ามันมีปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากโครงสร้าง ทั้งเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงเป็นที่มาของประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราอยู่ในโมเดลของการพยายามอธิบายความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ผ่านแต่เรื่องความต่าง ไม่ว่าจะเป็นความต่างอันเนื่องมาจากชนชั้นนำก็ดี หรือว่าความต่างอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำก็ดี นี่เป็นกระแสคิดที่หนึ่ง

กระแสคิดที่สองเราจะคุ้นหู ตนขอเรียกว่า "สามลักษณะของเสื้อแดง" คือเป็นพวกคนจน เป็นพวกรุนแรง ทั้งหัวรุนแรงและพฤติกรรมรุนแรง และเป็นสาวกทักษิณ ขอใช้คำพูดของอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ให้สัมภาษณ์ BBC ว่า"ในการดำเนินการกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งนี้ผมคิดว่าเราได้ระงับพฤติกรรมความรุนแรง ที่กลุ่มเสื้อแดงได้เคยทำมาอย่างต่อเนื่องจนแทบจะกลายเป็นเรื่องถาวรแล้ว" หรือ "ความสมานฉันท์พวกนี้ที่รัฐพยายามจะทำ มันไปได้อย่างช้าๆ แม้ว่าพวกเสื้อแดงจะเป็นพวกภักดีต่อทักษิณ เป็นพวกสังคมหัวรุนแรง เป็นสังคมนิยม เป็นพวกนิยมสาธารณรัฐ นักวิชาการฝ่ายซ้ายซึ่งล้วนแล้วแต่เข้าถึงได้ยากก็ตามที" ในรัฐก็ดี ในกลุ่มคนจำนวนมาก หรือกระทั่งนักวิชาการเอง ภาพลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของคนเสื้อแดง เป็นพวกที่นิยมความรุนแรง กลายเป็นความคิดที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

กระแสคิดหลักที่สามที่เรามักจะได้ยินบ่อยมากคือ "วิทยุชุมชนเสี้ยมความขัดแย้ง" ตนขอนิยามสื่อที่โดนปิดโดยรัฐ โดยเฉพาะ ศอฉ. และสื่อที่โดนวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็น "สื่อนอกรีต" เป็นภัยต่อประเทศ ไกรศักดิ์ก็พูดอีกว่า "นโยบายการเซ็นเซอร์ช่วยให้การปลุกปั่นยั่วยุอันนำไปสู่ความรุนแรงนั้นเงียบสงบลงได้" พูดง่ายๆคือ ความรุนแรงอันเป็นอัตลักษณ์ของเสื้อแดง ก่อรูปขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะสื่อของพวกเขาเองทำการยุยง

กระแสคิดที่สี่ เป็นแนวคิดเกี่ยวกับทางออกจากความขัดแย้ง ปัจจุบัน วิธีการมองทางออกของความขัดแย้งมีอยู่สองกระแสใหญ่ๆ กระแสแรกคือว่า เอาคนดี เอาความดีมา แล้วสังคมมันจะดี ขออนุญาตอัญเชิญคำพูดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไม่ทราบว่าพูดที่ไหน ซึ่งกล่าวทำนองว่า คนที่ทำความดี จะทำให้สังคมดีขึ้น หรือกระทั่งอาจารย์ประเวศก็เป็นตัวแทนความคิดนี้ กับอีกความคิดหนึ่ง คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความยากจนในชนบท เป็นทางออกของปัญหาทางการเมืองปัจจุบัน ขอใช้คำพูดของอ.เสกสรร ซึ่งเป็นกรรมการปฏิรูป สะท้อนให้เห็นความเชื่อของคณะกรรมการปฏิรูปว่า มันมีโครงสร้างความไม่เท่าเทียมอยู่ และจะต้องปลดล็อคความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจออก แต่ไม่แตะเรื่องการเมือง "ผมขอยกตัวอย่างกลุ่มชาวนาภาคเหนือที่ผมคุ้นเคย ส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดงทั้งนั้น แต่พอถอดเสื้อออกแล้ว เขาก็เป็นชาวนาที่มีปัญหาที่ดินทำกิน เพราะฉะนั้นถ้าเราชวนเขามาปฏิรูปที่ดิน ผมไม่คิดว่าเขาปฏิเสธ" เสกสรรก็เชื่อเหมือนนักคิดนักวิชาการทั่วไปว่า หนึ่งความขัดแย้งเป็นความต่าง ชนชั้นนำตีกัน แล้วลากมวลชนเข้าไป สองปัญหาของชาวบ้านเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับวัตถุ เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ถ้าปลดล็อคปัญหาทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ชนบทไทยหมดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทางการเมืองไทยก็จะยุติ

หรือถ้าเราทำสมการใหม่คือว่า ปัญหาทางการเมืองตอนนี้เป็นปัญหาของชนชั้นนำ ไม่ใช่ปัญหาของชาวบ้าน ปัญหาของชาวบ้านคือปัญหาทางเศรษฐกิจ แยกกัน ตนคิดว่ากระแสคิดสี่กระแสมีปัญหา แม้ว่าความเชื่อพื้นฐานของแนวคิดกระแสหลักที่ว่ามาทั้งสี่ ไม่ได้ผิด เพราะปัจจุบันนี้ความเชื่ออะไรก็ไม่ผิดทั้งนั้น เราอยู่ในยุคที่หาหลักเกณฑ์มาวัดความถูกผิดยากขึ้นทุกที แต่มันเป็นความเชื่อที่มีปัญหา เพราะว่ามันยึดติดกับพล็อตละครการเมืองไทยมากเกินไป คิดอย่างนี้การเมืองไทยมันไม่เปลี่ยนเลยตั้งแต่ 2475 การอยู่ในกรอบคิดอย่างนี้แล้วมันอึดอัดมาก เพราะว่าหากมุ่งแต่อธิบายความขัดแย้งทางการเมืองผ่านกรอบที่ใหญ่ และแข็งทื่อเช่นนี้ ระบบการเมืองไทยก็คงไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย structure อันนี้มันแสนจะยิ่งใหญ่ แล้วก็เราไม่มีทางออก ดังนั้นตนคิดว่านักคิดนักวิชาการที่ใช้พล็อตแบบนี้อธิบายความขัดแย้งการเมืองไทย มันไม่มีทางออกให้สังคม หรือหากมีก็ไปออกในทางที่ผิด

"ความเสื่อม" ความคิดทางการเมืองของชาวเสื้อแดงในภาคเหนือ

อ.ดร.ปิ่นแก้ว อภิปรายต่อว่า งานวิจัยชิ้นนี้มองการเมืองไทยที่มีฐานมาจากจิตสำนึก ประสบการณ์ทางการเมืองของประชาชน เพราะหากคิดแบบพล็อตใหญ่ ประชาชน ถ้าไม่เป็นเหยื่อ ก็เป็นเด็กทารก ที่คิดไม่เป็น โดนลากไป โดนจูงไป ทำให้ยากที่จะมองเห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลง การคลี่คลาย หรือกระทั่งพหุลักษณะของความเป็นตัวตนทางการเมืองคนหลายกลุ่ม คำถามที่สำคัญคือ จริงหรือไม่ที่ว่า ปัญหาการเมืองตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาของชาวบ้าน เป็นปัญหาของชนชั้นนำตีกัน แล้วการปฏิรูปสังคมโดยไม่แตะการเมืองระดับชนบทจะปลดล็อกปัญหาการเมืองไทยได้จริงหรือ

พวกเราไปพูดคุยกับชาวบ้านเสื้อแดงกันหลายหมู่บ้าน ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ทั้งอ.แม่ออน ดอยสะเก็ด สันกำแพง สัมภาษณ์แกนนำ นปช.หลายคน เราใช้แบบสอบถามในงานสองงาน ทั้งงานบุญวันเกิดทักษิณที่สันกำแพง แล้วก็งานปราศรัยของพรรคเพื่อไทยที่ลำพูน ตนขอเสนอแบบนี้ว่า ข้อเสนอต่อไปนี้ ไม่ใช่เป็นข้อสรุปทางทฤษฎี แนวคิดอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นข้อเสนอเพื่อที่จะถกเถียง ที่อยากจะไปพ้นจากการมองเรื่องความขัดแย้ง ว่ามันมีที่มาจากความต่าง ไม่ใช่เพราะว่าเป็นความเชื่อที่ผิด แต่คิดว่าสมมุติฐานแบบนี้มันหาทางออกไม่ค่อยได้ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่ได้ยินจากชาวบ้านในหลายที่ Narrative ที่ชาวบ้านมักพูดถึง ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องความต่าง ชาวบ้านอาจจะพูดเรื่องความต่าง ในแง่ที่เป็นการประชดประชัน เสียดสี การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม แต่สิ่งที่มันเป็นภาพสะท้อนของปัญหา ที่ชาวบ้านพูดถึงบ่อย สะท้อนถึงภาวการณ์ที่เป็นที่มาของความขัดแย้ง คือเรื่อง "ความเสื่อม" ซึ่งเป็นประเด็นนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ตนคิดว่าสำหรับชาวบ้านแล้ว ความขัดแย้งที่สะสมมาหลายปีที่ผ่านมาของพวกเสื้อแดง ซึ่งไม่เฉพาะในชนบท มันมาจากความเสื่อมของสถาบันในสังคมที่ล้มเหลวในการทำหน้าที่ ซึ่งเราอาจประมวลได้อย่างน้อยในสามประการด้วยกัน

ประการแรก เราได้ยินชาวบ้านพูดถึงเรื่องความเสื่อมของยุครุ่งโรจน์ของเศรษฐกิจประชาชน หลังจากที่มีรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมที่มาจากเผด็จการทหาร ประการที่สอง เราได้ยินชาวบ้านพูดเรื่องความเสื่อมของสถาบันที่ทำหน้าที่กำกับประชาธิปไตย และสร้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมในสังคม สถาบันที่กำกับอันนี้มันไม่ทำหน้าที่ มันจึงเกิดปัญหาสองมาตรฐาน มันจึงเกิดปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมขึ้น และอันที่สามซึ่งสำคัญมาก คือ ความเสื่อมของศรัทธา ที่มีต่อสถาบันจารีตนิยมตามประเพณีที่เคยคุ้มครองราษฎร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ไปที่ไหนใครก็พูด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะนำมาเปิดเผย แต่ว่าความเสื่อมประการที่สาม มันเป็น Narrative หลักของชาวเสื้อแดงในทุกที่ที่ไป ดังนั้นตนขอเสนอว่า วิกฤติของความขัดแย้ง ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่วิกฤติระหว่างเหลืองแดง แต่เป็นวิกฤติในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ สถาบัน และพลเมือง นี่เป็นข้อเสนอ เมื่อดูในรายละเอียดจากแบบสอบถาม ชาวบ้านพูดถึง อดีตอันรุ่งโรจน์ อาทิ ในยุคทักษิณนั้น คนที่ไม่เคยกำเงินก็ได้กำเงิน สามารถปลดหนี้ได้ ฯลฯ ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าที่ไหนก็ตอบเช่นเดียวกัน คือ ไม่เคยเกิดในยุคไหนที่ไข่แพงขนาดนี้ สินค้าราคาแพง ไม่มีลูกค้า ไม่มีอะไรต่ออะไรมากมาย รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจไม่เป็น มันแย่จริงๆ ตกต่ำ ฯลฯ

ชาวบ้านพูดถึงความเสื่อมด้วยวลีหลายอัน ที่จริงมีโน้ตบทสัมภาษณ์ชาวบ้านเยอะมาก แต่ไม่มีเวลาเอามาลงในที่นี้ ถามว่า ทำไมสองมาตรฐานแต่ก่อนไม่เป็นปัญหา แต่ตอนนี้ถึงเป็น ชาวบ้านทุกที่ก็พูดเหมือนกันว่า แต่ก่อนเราไม่รู้ เดี๋ยวนี้เรารู้ เราจึงเห็นว่ามันเสื่อม ความไม่เป็นธรรมต่างๆ เรารู้ถึงที่มาและต้นตอแล้ว เราไม่ได้โง่เหมือนรุ่นปู่รุ่นย่า ต่างๆ มากมาย ถามว่าประชาธิปไตยคืออะไร ประชาธิปไตยคือความเป็นธรรม ประชาธิปไตยมาจากประชาชน แต่ปัจจุบันประชาธิปไตยคือประชาธิปัตย์ "เดี๋ยวนี้เรารู้แล้ว" เป็นวลีสำคัญของชาวเสื้อแดงที่มักใช้เสมอๆ

ประการที่สองคือ ความเสื่อมของความยุติธรรมในสังคมไทย คือไม่ใช่เหลืองกับแดง แต่ว่าสถาบันซึ่งทำหน้าที่กำกับว่าเราได้รับสิทธิ และสามารถที่จะมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน มันเสื่อมและมันล้มเหลว และมันแสดงออกตำตา รัฐบาลที่เสื้อแดงเลือก ถูกไล่อย่างไม่เป็นธรรม เสื้อแดงทำผิด ติดคุก เสื้อเหลืองไม่เคยถูกลงโทษ จำลองออกมาประท้วง ไม่โดนจับ นักศึกษาเชียงรายไปชูป้ายก็โดนจับไป ตรวจจับเรื่องความบ้า ฯลฯ จะให้อธิบายเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร

ประการที่สามคือ ความเสื่อมศรัทธาในสถาบันฯ มีรายละเอียดมากมายที่ยังหาวิธีจะนำเสนอในทางวิชาการอยู่

ข้อเสนอที่สองของงานวิจัยที่โต้แย้งกระแสคิดหลัก คือเสื้อแดงเป็นมากกว่าคนจนชนบทผู้นิยมทักษิณ จากการสัมภาษณ์ชาวเสื้อแดงจำนวนมากมาย ว่าเขาคือใคร ไม่มีสักที่ที่เห็นด้วยว่าเสื้อแดงเป็น "เพียง"คนชนบท จริงๆชาวบ้านแย้งเราด้วยซ้ำไปว่า อาจารย์ไปที่กรุงเทพฯ มีแต่เสื้อแดงนะ มาร่วมชุมนุมทุกเย็น เมื่อถามต่อว่า แล้วตกลงเสื้อแดงคืออะไร สิ่งที่เขาตอบก็จะเป็นอย่างนี้ จะตอบว่าเป็นความถูกต้อง การถูกเอารัดเอาเปรียบ และการถูกรังแก เป็นผู้ซึ่งมาทำความจริงให้ปรากฏ เป็นเม็ดเลือดขาว กำจัดเชื้อโรครัฐบาล จริงๆในหมู่คนเสื้อแดงเองก็พยายามคัดกรอง สิ่งที่เรียกว่ารุนแรงกับไม่รุนแรงออกจากกัน อย่างกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ทุกคนทราบดีว่าเป็นฮาร์ดคอร์ พวก นปช.เชียงใหม่เขาก็ไม่ไปร่วมด้วย

นอกจากนี้สถานะทางเศรษฐกิจอาจใช้วัดความเป็นเสื้อแดงไม่ได้ ข้อมูลจากแบบสอบถามแม้ว่าจะไม่สะท้อนประชากรของเสื้อแดงทั้งหมด เพราะเราไปเก็บข้อมูลในที่ชุมนุม ซึ่งอาจจะมีชนชั้นกลางไปกันเยอะ มันขึ้นอยู่กับว่าไปที่ไหน ถ้าไปที่หมู่บ้าน แน่นอนว่าเป็นชนบท ชาวบ้านร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จากที่ชุมนุม เราพบว่าเกินครึ่งเป็นชนชั้นกลาง เป็นนายจ้าง ข้าราชการ เป็นครู ในขณะที่สัดส่วนอาชีพอื่นคละกันไป ดังนั้นการที่บอกว่าคนชนบทเป็นเสื้อแดงหมด สมมติฐานนี้ ตนคิดว่าใช้ไม่ได้ ตนจึงขอเสนอว่า ชาวเสื้อแดงนั้นอยู่ในทุกกลุ่ม ทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจ หรือพูดให้ชัด ข้ามชนชั้น ความเชื่อที่ว่าพวกเสื้อแดงมักเป็นชาวบ้านไร้การศึกษา จากแบบสอบถามก็พบว่า คนไปร่วมนั้นเข้าโรงเรียน สูงกว่าปริญญาตรีรวมกันเกินครึ่ง นอกจากนี้สิ่งที่เรียกว่า "แดง" นั้นยังมีหลายเฉดสี ทั้งแดงเก่า แดงใหม่ แดงหลัง 19 พฤษภา ที่มีเหตุผลที่จะเป็นแดงมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เราสำรวจมา เหตุผลที่คนไปร่วมชุมนุม ได้ขยายออกจากปัญหาสองมาตรฐานและความอยุติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงได้บอกว่าความเสื่อมของสถาบันประชาธิปไตยไทย เป็นตัวผลักให้คนเหล่านี้ออกมาเดินบนถนน มากกว่าเหตุผลที่คนมักจะบอกว่าสนับสนุนพรรคไทยรักไทยหรือทักษิณ

โดยสรุปขอบอกว่าเสื้อแดงจริงๆ ประกอบด้วยชนทุกชั้น ต่างสถานะและประสบการณ์ เติบโตทั้งจากยุคเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองสมัยทักษิณ และจากการเข้าร่วมทางการเมืองในการต่อต้านรัฐประหาร ขบวนการมีความหลากหลาย อาจจะสัมพันธ์กับพรรคการเมือง บางสายก็เป็นหัวคะแนน แต่ว่ากลุ่มเสื้อแดงมีความเป็นเอกเทศ ขยายตัวตามแนวราบตามธรรมชาติซึ่งน่าสนใจมาก ขยายตัวผ่านเครือข่ายในและนอกชุมชนหลายประเทศ เช่นกลุ่มในตลาด วิทยุชุมชน เวทีปราศรัย งานผ้าป่า โต๊ะจีนต่างๆมากมาย แต่ที่น่าสนใจคือเรื่อง Becoming Red หลังพฤษภา เราพบว่า การเกิดขึ้นของแดง นอกสังกัด นอกเครือข่ายของกลุ่มการเมือง เกิดขึ้นมากมาย ไม่มีใครจ้างให้คนไปยกป้ายค้าน พรก.ฉุกเฉิน กลุ่มเหล่านี้เขาทำกันเอง

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือสิ่งที่รัฐเรียกว่าสื่อนอกรีต หรือเป็นสื่อนอกรัฐ จริงๆ แล้วมันคือยุคเบ่งบานของขบวนการสื่อประชาชน ซึ่งทำให้ชาวบ้านสามารถเห็นและรู้แจ้งถึงความเสื่อมได้มาก ได้กว้าง และได้ลึก อย่างน่าสนใจ เดี๋ยวนี้ชาวชนบทรับสื่อหลายทางมาก บางบ้านมีทีวีสองเครื่อง 3 5 7 9 เขาไม่ดู บางคนดู ASTV เปรียบเทียบกับสื่อเสื้อแดง และวิเคราะห์ว่าอันไหนมันจริงไม่จริง

สุดท้าย ขอเสนอว่าหากไม่ปลดล็อคทางการเมือง การปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้จริง ชาวบ้านทุกที่ที่ไปไม่มีใครเอาปฏิรูป ชาวบ้านเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่เอาปฏิรูป ในบางพื้นที่ ทหารยกหูโทรศัพท์ถึง อบต.บอกว่าแผนปรองดองมาแล้ว สั่งให้ทำนั่นนี่ เอาฝายน้ำมาให้ ชาวบ้านเสนออย่างอื่นก็ตอบว่าไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ก่อให้เกิดการปรองดอง นี่คือภาคปฏิบัติของการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งยังคงผ่านระบบการสั่งการทางการเมือง แบบนี้แล้วการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมมันจะส่งผลทางการเมืองได้อย่างไร

สื่อกับคนเสื้อแดง

อ.ดร.อรัญญา ศิริผล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงภาพมายาคติเกี่ยวกับเรื่องสื่อต่อคนเสื้อแดง จากปรากฏการณ์ทั่วไปที่เราเห็นกัน โดยเฉพาะชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มักมองคนเสื้อแดงเกี่ยวกับเรื่องสื่ออย่างไร มองว่า ดูข่าวไม่เป็นบ้าง เป็นพวกหลงผิดบ้าง คิดไม่ทันและพร้อมที่จะถูกชักจูงได้ง่าย อันนี้เป็นภาพปรากฏที่เรามักได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับคนเสื้อแดงตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องวิทยุชุมชน ที่ถูกมองว่า เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการยุยง ปุกปั่น โน้มน้าวให้ล้มรัฐบาล ล้มเจ้า ปลุกเร้าอารมณ์และเสี้ยมให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม และสุดท้ายนำไปสู่ความรุนแรง

งานวิจัยนี้จึงกลับไปตั้งคำถามเบื้องต้นว่า จริงหรือที่คนเสื้อแดงเหล่านั้นจะถูกถูกครอบงำจากสื่อได้ง่ายเช่นนั้น จากภาพปรากฏดังกล่าวจึงไปตั้งคำถามที่ต้องการค้นหา 2 คำถามหลักคือ หนึ่ง ถามว่า การบริโภคสื่อต่างๆ ของคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร คือสนใจว่า เขาอยู่กับข่าวสารอย่างไร และสอง บทบาทสื่อของคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร การไหลเวียนของข่าวสารเป็นไปอย่างที่สื่อวิทยุชุมชนถูกเข้าใจดังที่กล่าวกันหรือไม่

เนื่องจากเรามีเวลาในการทำงานวิจัยสั้นมาก เราจึงออกแบบวิธีการศึกษา 2 ทางคือ ทำการสำรวจด้วยแบบสอบถาม กับการทำ focus group สนทนากลุ่มร่วมกันประมาณ 3-4 ที่ แลกเปลี่ยนกับคนเสื้อแดง

สำหรับผลการศึกษา ได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่ว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่กลุ่มคนที่ดูข่าวไม่เป็น หรือหลงผิดถูกชักจูงไป แต่คนเสื้อแดงกลับเป็นผู้ที่ใช้สื่ออย่างกระตือรือร้น จากการที่รับสื่อหลากหลายประเภท หลากหลายแหล่งที่มา และยังมีการจำแนกแยกแยะข้อมูลข่าวสารที่รับมาจากหลากหลายแหล่งดังกล่าว เพื่อใช้เปรียบเทียบข้อมูลข่าวสาร สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า คนเสื้อแดงมีการพิจารณาไตร่ตรอง ไม่ใช่ว่า เดินตามใคร ใครว่าอย่างไร ก็ไปอย่างนั้น ส่วนประเด็นเรื่องวิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือที่เสี้ยมความขัดแย้งจริงหรือไม่ เราพบว่า วิทยุชุมชนไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป แต่ในทางกลับกัน วิทยุชุมชนกลับทำหน้าที่ที่ไม่ใช่เพียงการเผยแพร่ข่าวสารและยกระดับการวิเคราะห์สถานการณ์ให้กับคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่วิทยุชุมชนยังทำให้เกิดรูปแบบของการกระจายอำนาจในแนวราบ ช่วยสร้างและขยายเครือข่ายในระดับแนวราบ ไม่ว่า ตัวดีเจที่เกิดขึ้นในระดับของชุมชนแล้วกระจายข่าวสารในระดับชุมชน

ในแบบสอบถาม เราถามว่า คนเสื้อแดงรับฟังข้อมูลข่าวสารจากสื่อใดบ้าง คำตอบค่อนข้างชัดเจนที่เราจะความหลากหลายในการรับสื่อ คือ กลุ่มคนเสื้อแดงดูทั้งฟรีทีวี หนังสือพิมพ์สื่อรายวัน สื่อส่วนกลาง การสนทนาภายในกลุ่ม แลกเปลี่ยนกันระหว่างกลุ่มเครือญาติ ในตลาด ร้านค้าต่างๆ อย่างทั่วไปเต็มไปหมด ข้อสอง ถามว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้คนเสื้อแดงตัดสินใจเลือกรับสื่อหรือติดตามข่าวสารจากสื่อดังกล่าว ส่วนใหญ่ตอบว่า ใช้เปรียบเทียบข้อมูลข่าวสารกับสื่ออื่นๆ รองลงมาคือ ใช้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ และสื่อต่างๆ ที่เลือกมีความน่าเชื่อถือ

ส่วนที่ถามเกี่ยวกับวิทยุชุมชน ถามว่า คิดอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า วิทยุชุมชนมีส่วนชักนำให้เกิดการแตกแยกและขัดแย้ง คำตอบส่วนใหญ่พบว่า ไม่เห็นด้วย เพราะว่า ประชาชนคิดเองได้ และก็ไม่เห็นด้วยเพราะว่า ประชาชนเลือกฟังจากหลายสื่อ

ทีนี้มีตัวอย่างจากคนเสื้อแดง คนใช้สื่ออย่างกระตือรือร้น สิ่งที่คนเสื้อแดงทำคือ การมองหาสื่อที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถรับรู้ข่าวสารที่มันกว้างขวางขึ้น ในยุคสังคมโลกาภิวัฒน์เราไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสารได้อีกต่อไป ลองดูตัวอย่างนี้ "ดูสื่อกระแสหลักเอาไว้เปรียบเทียบ ติดตามข่าวสาร และวิพากษ์วิจารณ์" เช่น โครงการยืนเคารพธงชาติ 6 โมงเย็น ดูแล้ว รู้สึกอย่างไร "โอ้ย มันผลาญงบ" นี่คือสิ่งที่เสียงสะท้อนจากคนเสื้อแดง จะได้ดูเพื่อจะได้รู้ว่าเอาเงินไปทิ้งอย่างไรบ้าง หรือดูว่า วิธีการที่สืบแสวงหาสื่อต่างๆ เหล่านี้ การที่ลูกหลานเรียนหนังสือในเมืองพยายามค้นข้อมูลข่าวสารมาเล่าสู่กันฟังให้กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เครือญาติต่างๆ ในยุคโลกาภิวัฒน์มากับสื่ออินเตอร์เน็ต

ส่วนบทบาทของสื่อต่างๆ ในกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร พบว่า ส่วนใหญ่คนเสื้อแดงใช้สื่อกระแสหลักเพื่อตามกระแสสถานการณ์และจับโกหกรัฐ และการนำเสนอข่าวสารของสื่อกระแสหลัก ส่วนสื่อในกลุ่มสิ่งพิมพ์ วีซีดี ใต้ดินมีการกระจายไหลเวียนในกลุ่มของคนเสื้อแดง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่เปิดเผยในที่สาธารณะ และมีลักษณะเป็นเรื่องเล่า (Narrative) ที่นำมาเล่าต่อๆ กัน ซึ่งหลักๆ มี 2 เรื่องที่เราจับความได้ คือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับสถาบันและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ เรื่องที่ 2 เป็นเรื่อง ความรุนแรงในช่วงการปราบปรามประชาชนที่ราชประสงค์ ข้อมูลข่าวสารถูกกระจายและส่งต่อภายในกลุ่มเสื้อแดง ส่วนวิธีการกระจายจะเห็นชัดว่า เนื่องจากไม่สามารถเปิดเผยในที่สาธารณะได้ วีซีดี หนังสือเอกสารเหล่านี้จะถูกส่งต่อแบบ person to person จากเพื่อนสู่เพื่อน จากเพื่อนบ้านสู่คนที่รู้จักและไว้ใจได้ แล้วไปกระจายต่อกันเอง มีทั้งมาจากต่างประเทศ และส่งต่อจากข้างใน ลองดูความรู้สึกบางส่วนของชาวบ้าน

" แต่ก่อนเราไม่ค่อยได้ดูอะไร เทียบสมัย 6 ตุลา 2519 โลกก็เป็นโลกอีกแบบที่สังคมข้อมูลข่าวสารของเราไม่ได้ถึงกันขนาดนี้ แต่ว่าในยุคนี้ เรากำลังพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว ก้าวหน้า มันหมายความว่า เรามีสิ่งต่างๆ ที่น่าจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงในที่ต่างๆ ได้ที่มาคานกับสื่อกระแสหลัก"

ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์บนดิน คือ กลุ่มนี้สามารถกระจายได้ทั่วไป ทั้งคนเสื้อแดงและคนอื่นๆ ที่สนใจจะรับรู้ข่าวสาร ขณะที่สื่อทีวี จากจานดาวเทียม ที่เรียกว่า "จานดำ" แต่ก่อนเรารู้ว่า พรรคการเมืองเป็นคนจัดหามาให้ในราคาทุน เพื่อให้สามารถเข้าถึงชาวบ้าน ต่อมาระยะหลังก็สามารถซื้อได้ในราคาถูกลงเรื่อยๆ เพราะความต้องการของคนเสื้อแดงที่ต้องการรับสื่อนี้มากขึ้น อยากดูข้อมูลข่าวสารของช่องPeople Channel ที่อยู่ในนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงมีการขยายการติดตั้งจานดำในกลุ่มคนเสื้อชนบท จานดำมีความสำคัญอย่างไร ไม่ใช่เพราะว่ามีเพียงรายการจาก People Channel ซึ่งเป็น highlight หลัก แต่จริงๆ แล้วมีรายการอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบ รายงานอื่นๆ ที่ช่วย update ข่าว แหล่งข้อมูลจากสื่อเหล่านี้ช่วย balance การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ที่ไม่ใช่มาจากสื่อกระแสหลักเพียงที่เดียว ที่คนมักจะอึดอัดคับข้องใจเสมอ

ส่วนวิทยุชุมชน เราพูดถึงคลื่นหลายๆ คลื่น แน่นอน เชียงใหม่เราพูดถึงคลื่น 92.5 MHZ มีประวัติศาสตร์ ของพัฒนาการการก่อตั้งที่สัมพันธ์กับพรรคการเมือง แต่สำหรับคนเสื้อแดงแล้ว เราจะพบว่า วิทยุชุมชนกับดีเจกลุ่มนี้โยงกับกลุ่ม hard core ของการเคลื่อนไหว ซึ่งคนเสื้อแดงมีความหลากหลายมากไปกว่า กลุ่ม hard core เท่านั้น ดังนั้นเองคลื่น 92.5 MHZ คือกลุ่มแดง 51 ที่มักจะใช้ความรุนแรงมาตลอด ทำให้เกิดการแตกตัวของคนเสื้อแดงในยุคหลัง เริ่มมีความพยายามจะแยกตัวเองออกมาจากกลุ่ม hard core ทั้งหลาย เช่น "เขาเรียกเพื่อใช้การระดมพล แต่ไม่ยอมบอกว่าจะให้ไปทำอะไร สุดท้ายถ้าไม่ยอมบอกว่าให้ไปทำอะไร ก็ไม่ไป" ดังนั้น มันสิทธิและเสรีภาพที่ผู้บริโภคที่คนเสื้อแดงเลือกหรือไม่เลือกว่าจะทำอะไร ไมใช่ว่าต้องวิ่งตามวิทยุชุมชนอย่างที่กล่าวมาตลอด

เราควรจะมองคนเสื้อแดงอย่างไร

นายนพพล อาชามาส สาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เราควรจะมองคนเสื้อแดงอย่างไร คือเราควรที่จะให้ความสำคัญกับความหลากหลายภายในกลุ่มของคนที่เข้าร่วม คือขบวนการมีความหลากหลายในตัวเอง อย่างที่พูดถึงว่า ชาวบ้านก็มีการแยกว่ากลุ่มไหนฮาร์ดคอร์ไม่ฮาร์ดคอร์ หรือว่าประเด็นแต่ละช่วง ที่เสื้อแดงเคลื่อนไป มันมีความเปลี่ยนแปลง อย่างคำว่าพวกสองมาตรฐาน ถ้าจำกันได้มันเพิ่งเกิดขึ้นตอนเดือนมีนา แต่ก่อนหน้านั้นยังไม่มีคำพวกนี้ และก็คนเสื้อแดงแต่ละคนเองก็มีการคัดกรอง จำแนกเลือกสังกัดกลุ่ม และก็เลือกวิธีการที่เหมาะกับตัวเองในการเข้าร่วมขบวนการ ตัวอย่างที่ชัดคือ ในเชียงใหม่มันจะมีสองกลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งจะแยกกันทำงาน คือกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และกลุ่มศูนย์ประสานงานกลางนปช.เชียงใหม่ โดยมีกลุ่มเสื้อแดงตามอำเภอต่างๆในเชียงใหม่เข้าร่วมอย่างหลวมๆ โดยในตอนแรกเกิดกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ก่อน แล้วจึงมีการแยกออกมาเป็นกลุ่มศูนย์ประสานงานกลาง เนื่องจากเค้าไม่เห็นด้วยกับบางแนวทางเคลื่อนไหว และในกลุ่มที่แยกออกมาเอง เค้าก็มีการวางกำหนดกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ที่ต่างออกไปจากแนวทางที่เค้าไม่เห็นด้วย อย่างแกนนำบางคนก็บอกว่า เราก็ห้ามตลอดว่าไม่ให้มีการทำอันตราย วางระเบิด หรือทำร้ายผู้คน เราสู้กันด้วยความคิด ถ้าไปทำลาย มันก็เป็นเงินภาษีของเรา เป็นข้าวของของเรา ก็คือมันมีการจำแนกและเลือกวิธีการของตนเอง หรือว่าการระดมทุน ก็มีการจัดผ้าป่า ตั้งกองทุน ฮอมเงินร่วมกัน

อยากจะเล่าถึงคนที่ได้เข้าไปพูดคุย อย่างกลุ่มป้าๆ แม่ค้าผู้หญิงในสันกำแพง แดงสันกำแพงนั้นมีแกนหลักจะอยู่ในตลาดสันกำแพง ตอนแรกเขาไปร่วมกับกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 แต่พอมีการแยกออกมา และเห็นว่าที่นี่เป็นบ้านเกิดของทักษิณ ก็น่าจะมีกลุ่มที่รวมตัวกันและเริ่มทำการเคลื่อนไหว โดยได้กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นอีกบางส่วนมาช่วย และพวกเขาก็ทำกิจกรรมกันเอง เช่น จัดเวทีปราศรัยที่ถนนคนเดินสันกำแพง ขายเสื้อ อุปกรณ์เสื้อแดงต่างๆ บางครั้งก็รับบริจาคข้าวของให้คนที่ไปชุมนุม มีเฮียร้านขายยาคนหนึ่งไม่เคยไปร่วมชุมนุมเลย แต่ก็บริจาคให้เอาเข้าไปตอนชุมนุมกรุงเทพฯ เยอะมาก

แล้วก็น่าสนใจกิจกรรมที่เค้าลงไปทำ คือเขามีการกระจายลงไปพูดคุยกับชาวบ้านรอบนอกตามหมู่บ้านต่างๆ พูดคุยเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเมืองจะเคลื่อนไหวอะไรได้บ้าง หรือทำไมต้องเป็นแดง คือมันน่าสนใจมากที่ชาวบ้านลงไปทำอย่างนี้กันเอง ป้าแกนนำยังเล่าว่าแกนนำทางกรุงเทพฯยังแปลกใจที่กลุ่มได้ทำแบบนี้กันไปก่อนแล้ว เพราะทางกรุงเทพฯก็คิดจะทำเหมือนกัน อันนี้จะเกิดก่อนชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ทำให้ได้เครือข่ายในตำบลหรือหมู่บ้านภายในอำเภอของตน

หากเจาะไปดูในแต่ละกลุ่มเสื้อแดงจริงก็จะเห็นความหลากหลายของคน อย่างบางคนก็เดินเข้ามาร่วม มาสมัครกับกลุ่มป้าๆ สันกำแพงเอง เช่นมีพี่ช่างตัดผมคนหนึ่ง ก่อนหน้านี้แค่ติดตามข่าวสารบ้างเท่านั้น แต่พอเห็นและรู้หลายๆ อย่างที่คิดว่าไม่เป็นธรรมมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งเริ่มรับไม่ได้เขาก็มาร่วมกับกลุ่มเอง แล้วได้ไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ปีนี้เป็นครั้งแรก แล้วก็อยู่ในวัดปทุมฯ ด้วย หรือมีลุงที่เป็นสหายเก่า ก็มาเข้าร่วมกับกลุ่มด้วย แต่ร่วมแบบหลวมๆ ช่วยให้ข้อมูลประสบการณ์กับคนอื่นๆ หรือมียายอีกคนอายุ 82 ปี แกก็นั่งรถไฟลงไปกรุงเทพฯเองคนเดียว แกไม่ได้ร่วมกับกลุ่มไหนเลย แต่ขอเงินลูกหลานมาบอกว่าจะเอาไปเล่นไพ่ แต่แอบหนีเข้าไปชุมนุม โดยสรุปคือในกลุ่มแต่ละอำเภอของเชียงใหม่เอง ก็มีอิสระในการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมของตน ขณะที่ปัจเจกบุคคลบางส่วนก็มีการเลือกวิธีการในการเข้าร่วมตามของตน อย่างอิสระในระดับหนึ่ง

เหลือง แดง 2 โลกคู่ขนาน : แผ่นดินเดียวกันแต่อยู่คนละกาลเวลา

นายนพพล กล่าวต่อว่า อยากอธิบายถึงปรากฏการณ์หลังความรุนแรงในเดือนพฤษภาว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ด้านหนึ่งอย่างที่รู้กันอยู่แล้วมันเกิดกระบวนการคู่ขนานของรัฐบาล คือด้านหนึ่งก็คือการข่มขู่คุกคาม ปราบปรามภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน แต่กระบวนการนี้กลับทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มเสื้อแดงหรือแนวร่วม อย่างนักศึกษาที่ออกมาชูป้าย อีกกระบวนการหนึ่ง คือกระบวนการปรองดองและปฏิรูปประเทศ แต่ปัญหาคือกระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลังความรุนแรง จึงอยากเสนอว่าความรุนแรงมันส่งผลมากมายถึงความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ สิ่งหนึ่งที่อยากเสนอคือมันได้แยกโลกออกเป็นสองใบ อันนี้แบ่งแบบหยาบๆ

โลกใบที่หนึ่ง เห็นได้ในแนวทางปรองดองกับปฏิรูป การเรียกร้องให้คนร่วมกันเดินหน้าประเทศไทยต่อ ตัวอย่างในคำพูดของหมอประเวศที่เคยพูดว่า "ปรองดองเป็นเรื่องของอดีต แต่ปฏิรูปเป็นเรื่องของอนาคต เราถึงไม่ควรหมกมุ่นกับการแก้ปัญหาจนเคลื่อนไปสู่อนาคตไม่ได้" หรือของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ พูดลงในมติชนออนไลน์ว่า "ผมกลับคิดว่าการลืมง่ายเป็นสิ่งที่ดี คนไทยจำนวนมากเป็นคนขี้ลืม ทำให้ทุกอย่างกลับมาได้ ลืมซะบ้างก็ดี" แต่อาจารย์ลืมไปว่า ตอนนี้มันไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้ง แต่มันมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว อีกกรณีคือในวงพูดคุยสัมมนาในมหาวิทยาลัยพายัพที่ผมได้ไปร่วม เชิญทั้งคนเสื้อแดงและเสื้อหลากสีมานั่งคุยกันได้ น่าสนใจมาก ที่เสื้อหลากสีเค้าบอกกับคนเสื้อแดงตอนหนึ่งว่า "ข้างหลังทิ้งมันไปเสีย เดินไปข้างหน้าดีกว่า พูดแต่อดีตกันทั้งนั้นเลย แล้วจะจบลงไปได้อย่างไร" ถ้ายังจำกันได้ ท่าทีอย่างนี้มันคล้ายๆท่าทีอย่างหนึ่งหลังการรัฐประหาร ที่ว่า "ไหนๆ มันก็เกิดขึ้นแล้ว" คือแม้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว สังคมต้องคิดถึงอนาคต ดังนั้นแก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องเข้าร่วมเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อไป"

โลกใบที่สอง ลองดูว่าเกิดอะไรขึ้นในกลุ่มคนเสื้อแดงบ้าง วันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังเชียงใหม่ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 17 สิงหา ชาวบ้านที่สันกำแพงกับบ่อสร้าง โทรนัดกันบ่ายนั้นเลย ตอนเย็นก็มารวมกัน 20-30 คน และจัดฉายภาพเหตุการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเมษา-พฤษภา คือสองสามชั่วโมงที่นั่งดูจอโปรเจ็คเตอร์เล็กๆ ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องซีดีที่เสนอภาพเหตุการณ์ต่างๆ กระจายไปทั่ว หรือหนังสือ "ความจริงจากข่าวสด" ที่ร่วมเหตุการณ์เมษา-พฤษภา ผมสำรวจส่วนตัว ไปถามบางร้านหนังสือ สั่งมาสามสี่รอบแล้ว หมดเกลี้ยง แล้วก็ตอนคุยกับชาวบ้านที่สันกำแพง คนส่งหนังสือพิมพ์มาส่งให้ป้าๆแต่ละคนสั่งทีสามถึงสี่เล่ม คือมันขายดีมาก แล้วก็เรื่องเล่าแบบปากต่อปาก ช่วงที่ผ่านมาแต่ละคนก็จะเล่าว่าเค้าประสบอะไรมาบ้าง เรื่องเล่าแบบต่างๆ มันกระจายไปทั่ว ป้าคนหนึ่งเอากระสุนปืนที่เก็บมาได้ตอน 10 เมษา มาให้ดู แล้วบอกว่าจะไปใส่กรอบทำที่ห้อยคอ ผมคิดว่ามันสะท้อนว่าป้าอยากจะจำเหตุการณ์นั้นไว้กับตัวตลอด

อีกส่วนหนึ่งคือ มันมีหลากหลายอารมณ์ในกลุ่มคนเสื้อแดงในปัจจุบัน ที่สัมพันธ์กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น มันเป็นอารมณ์ที่อยู่ต่อเนื่องมา และอาจส่งผลถึงการกระทำต่อไป อย่างผมลองโค้ดบางประโยคที่คนเสื้อแดงพูดคือ "เราทั้งแค้น เจ็บใจ ตายเป็นร้อยศพ" "แผลนี้ลึกมาก ไม่มีการเยียวยา เยียวยาไม่ได้เลย" "ชาวบ้านเจ็บใจ เอาหนังสติ๊กใส่ลูกแก้วยิงสู้กับเอ็ม 16 กลายเป็นกบฏ กลายเป็นผู้ก่อการร้าย" "พวกผู้หญิงดูทีวีกันทั้งคืน ตอนสลาย ดูแล้วร้องไห้กัน" "มันเหมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟ ขอความเห็นใจ ยังมายิงเราอีก เราไม่มีอำนาจ ก็บ่นไปงั้นแหละ พูดแล้วเศร้า เสียใจแทนคนที่เสียชีวิต" หรือบางคนก็อัดอั้น ทำอะไรไม่ได้เลย แล้วก็เครียด รอบๆตัวมันเหมือนแย่ไปหมด คือความรู้สึกคนมันยังวนเวียนกับความเจ็บปวด โกรธแค้น ผิดหวังในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะผ่านมาหลายเดือนแล้วก็ตาม

มีส่วนที่ผมโค้ดมาจากข่าว เป็นรายงานเรื่องพ่อแม่ของผู้ที่เสียชีวิตคนหนึ่งวัย 29 ปีถูกยิงตายที่แยกคอกวัว ตอนนี้พ่อกับแม่ของเขายังวนเวียนไปร่วมในงานรำลึกที่กลุ่มต่างๆจัดขึ้น สองสามีภรรยาพากันตระเวนพร้อมกับกระเป๋าใบหนึ่งที่บรรจุเอกสาร หลักฐานการตาย รวมถึงภาพสยดสยองของศพลูกชาย และก็คอยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้ที่ถามไถ่

และอีกอย่างที่น่าสนใจ กิจกรรมของคนเสื้อแดงที่กำลังดำเนินอยู่ ถ้าใครสังเกตในเดือนสองเดือนนี้มันมีกิจกรรมรำลึกมากมาย คือแทบจะทุกวัน พอครบรอบ 19 พฤษภา 1 เดือนทีก็รำลึกกันที มิถุนา กรกฎา สิงหา มาตลอด อย่าง 19 กันยาที่จะถึงนี้ มีสี่เดือนราชประสงค์ สี่ปีรัฐประหาร หรือวันอาทิตย์สีแดง ก็มีคนไปนอนตายกันทุกอาทิตย์ ถ้าจำกันได้วันอาทิตย์สีแดง จะมีตั้งแต่หลังรัฐประหาร กลุ่มของคุณสมบัติ จัดเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ตอนนั้นเป็นประเด็นรัฐประหาร แต่ตอนนี้ประเด็นที่เน้นคือ ที่นี่มีคนตาย ประเทศนี้มีคนตาย

โดยสรุปก็คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันได้ทำอะไรกับโลกสองใบ ผมยืมมาจากอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวปาฐกถาในงาน 30 ปี 6 ตุลา เรื่องความรุนแรงกับกาลเวลา ความรุนแรงทำกับ "เวลา" สองอย่าง ด้านแรกคือ ความรุนแรงมันแช่แข็งเวลา เวลาของเหยื่อ ความรุนแรงมันไม่เคลื่อนที่ไปไหน แต่ถูกสกัดให้หยุดอยู่กับที่ จำขังผู้คนไว้ในความรุนแรงอย่างไม่มีคำตอบ ด้านที่สองคือ ความรุนแรงลบเลือนเวลาที่เกิดขึ้นนั้นเสีย สำหรับคนส่วนหนึ่ง หนทางที่อยู่ต่อไปได้คือพยายามลืมเหตุการณ์นั้น ทำราวกับว่าเหตุการณ์นั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

หลังความรุนแรงจึงเกิดสภาวะที่อยู่ "แผ่นดินเดียวกันแต่อยู่คนละกาลเวลา" ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งโลกของเขาและเธอยังวนเวียนอยู่ในอดีต ที่ไม่ได้รับการชำระสะสาง ต้องคอยย้ำเตือนให้สังคมมองเห็นอดีตและให้ความเป็นธรรมแก่อดีตเหล่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม คนอีกกลุ่มหนึ่ง โลกของเขาและเธอกลับเลยข้ามไปอยู่ในอนาคต เร่งย้ำให้ไปข้างหน้า โดยลืมเลือนอดีตอันรุนแรงเหล่านั้นเสีย ทำให้ปัจจุบันของแผ่นดินนี้แตกสลายเป็นเสี่ยงๆ