ที่มา Thai E-News
โดย สุรนันทน์ เวชชาชีวะ
ที่มา Bangkok voice
ก่อน การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1972 ซึ่งมี นายริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) เป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันที่ลงแข่งขันสมัยที่สอง ได้มีจับกุมผู้บุกรุกเข้าไปในสำนักงานพรรคเดโมแครตในอาคารวอเตอร์เกต (Watergate)
และติดตั้งเครื่องดักฟัง โดยเบื้องต้นนั้นฝ่าย นายนิสัน ปฏิเสธการรับรู้ แต่ในที่สุดก็สาวกลับมาถึงผู้ที่เป็นทีมงานใกล้ชิดในทำเนียบขาว
นาย นิกสัน ยังยืนกรานว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เป็นผู้สั่งการ จนมีการตั้งคำถามจากสื่อมวลชนและนักการเมืองในซีกเดโมเครต ว่าตัวประธานาธิบดี “รู้อะไร” และ “รู้เมื่อไหร่” เพราะหากรู้แล้วช่วยปกปิด ย่อมมีส่วนร่วมในการกระทำผิด การกลับกลายเป็นสถานการณ์ที่วิกฤตขึ้นเมื่อค้นพบว่า นอกจาก นายนิกสัน จะรู้แล้ว ยังเป็นผู้ “สั่งการ” ด้วย จนในที่สุดก็ต้องรับผิดชอบและลาออกไป
ถือ เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักการเมืองทั่วโลก ว่าควรและไม่ควรทำอะไรเพื่อรักษาอำนาจ เพราะผลสุดท้ายนั้น ไม่เพียงเสียหายต่ออนาคตของตนเอง แต่ถึงประเทศชาติโดยรวมด้วย
จริง อยู่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปัจจุบัน มีความแตกต่างทั้งในสาระและสภาพแวดล้อม แต่การดำเนินนโยบายต่างๆ ตลอดจนเกมการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้ต้องนำคำถามชุดที่ นายนิกสัน ถูกถามกลับมาตั้งเป็นปุจฉากับ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผู้ที่ทำงานรายล้อมได้
เรื่องแรกที่ต้องถาม คือเหตุการณ์การประท้วงชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงเดือนมีนาคมถึง พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์ “ขอคืนพื้นที่” เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่สี่แยกคอกวัว ซึ่งมีการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คน และเหตุการณ์ “กระชับพื้นที่” ช่วงวันที่ 10-19 พฤษภาคม ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ไม่นับผู้บาดเจ็บและสูญหาย
จน บัดนี้ยังไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นผู้สั่งการ ใครตัดสินใจให้ทหารนำกำลังเข้า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับพื้นที่” นายกรัฐมนตรีได้กำชับหรือไม่ว่าต้องไม่ให้มีการสูญเสีย หรือให้ท้ายขยิบตา หรือสั่งการด้วยตนเอง ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมากว่า 3เดือนแล้วยังไม่มีความชัดเจน
มีใครประเมินให้นายกฯรับรู้ หรือไม่ว่า ในแต่ละกรณีแต่ละทางเลือก จะมีผู้บาดเจ็บล้มตายเท่าไหร่ ฝ่ายทหารได้บอกถึงมาตรการที่จะ รักษาชีวิต” หรือไม่ และเมื่อมีข่าวการตายของประชาชน นายกฯมีปฏิกิริยาอย่างไร ทำไมไม่มีการประเมินใหม่ หรือเพราะได้ตัดสินใจไปแล้ว?
นายกฯรู้อะไร รู้เมื่อไหร่ และตัดสินใจอะไร เป็นสิทธิที่ประชาชนพึงถามผู้นำที่อ้างว่ามาโดยวิถีประชาธิปไตยได้เสมอ และเขาควรจะได้คำตอบด้วย
อีกเรื่องที่กำลังเป็นข่าวอึกทึกครึกโครม คือการเข้าพบนักโทษชื่อดัง นายวิคเตอร์ บูธ ของ นายศิริโชค โสภา ฉายา “วอลเปเปอร์” ของ นายกฯนายอภิสิทธิ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งในแง่รูปคดี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้นำพาเข้าไปอยู่ระหว่างเขาควายของสองมหาอำนาจ รัสเซีย และ สหรัฐอเมริกา
หลายคน รวมทั้งตัว นายศิริโชค พยายามแก้ตัวว่า ความเป็น ส.ส. ทำให้ นายศิริโชค มีสิทธิเข้าพบ นายบูธ ซึ่งก็อาจจะจริง หาก นายศิริโชค ไม่ได้เข้าไปโดยอ้างและใช้อำนาจฝ่ายบริหารแทนนายกฯ เพราะหากเป็นเช่นนั้น นายศิริโชค ไม่มีอำนาจหน้าที่แน่นอน
แต่ที่ เหนือกว่าข้อกฎหมายคือ ความเหมาะสม และผลกระทบที่ตามมา เพราะ นายศิริโชค ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความใกล้ชิดกับนายกฯ คำถามจึงมีว่า นายศิริโชค คุยอะไร และต่อรองแลกเปลี่ยนอะไรกัน โดยที่ทำไปนั้น ตัดสินใจด้วยตนเอง หรือใครสั่งไป
ยิ่งหากเรื่องที่พูดคุยเป็นไปดังที่ นายบูธ ให้ภรรยามาอ่านคำแถลงนั้น ถือเป็นการใช้อำนาจก้าวก่ายฝ่ายบริหารและกระบวนการยุติธรรมแน่นอน ซึ่งสะท้อนทั้ง “ทัศนคติ” และ “นโยบาย” ของรัฐบาลชุดนี้ ที่วิ่งไปเหมือนวิ่งอยู่ในลู่แข่ง ทำนองไปข้างหน้าเพื่อไล่ล่าอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เพียงถ่ายเดียว
ภาษาอังกฤษเรียกว่า “One Track Mind” ที่น่าเป็นห่วงคือสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้พร้อมจะ “แลก” เพื่อให้ได้ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่รู้ว่า ไปยื่นหมูยื่นแมวอะไรไว้อีก ใครเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนต่อไปคงปวดหัวน่าดู
และหากปรากฏว่า นายกฯรับรู้ก่อน และวันนี้รู้แล้ว ยัง “อุ้ม” นายศิริโชค ไว้ ระวังจะเจอ “วอลเปเปอร์เกต” (Wallpapergate) นะครับ!!