ที่มา บางกอกทูเดย์
‘ปรองดอง’จะสำเร็จ!
ณ วินาทีนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเลือกสีเสื้ออะไรก็ตาม หากเอาประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
จะต้องยอมรับว่า ปัญหาการเมืองขั้วอำนาจที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่กระทบโดยตรงกับพัฒนาการของประเทศ
แม้ว่าซีกการเมือง รัฐบาลขัดตาทัพ อย่างรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ซึ่งเข้ามาด้วยกระบวนการที่เกินเลยไปจากการเลือกตั้งที่แท้จริง
จะพยายามสร้างภาพและประโคมเพื่อให้เกิดความมั่นใจ
ว่าจะสร้างความปรองดองได้ในเร็ววัน
ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดีวันดีคืน โดยอาศัยตัวเลข อาศัยกลไกของตลาดหุ้นที่
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
จนแทบจะเรียกได้ว่ารู้กลไกกดปุ่มชนิดที่สั่งได้
แต่ในความเป็นจริงของภาคธุรกิจผู้ประกอบการ ล้วนยังคงยืนยันว่า... ยังเหนื่อย!!!
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ภาวการณ์ส่งออกชะลอตัวลง 13%
แถมค่าเงินบาทยังคงถูกปล่อยให้แข็งค่า ทำลายการส่งออก
โดยรัฐบาลไม่กล้าที่จะเข้าไปแทรกแซงแบบนี้ทำให้ยิ่งเหนื่อยกันมากขึ้น
ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า ปัญหาความรู้สึกในเรื่อง 2 มาตรฐานจนวันนี้ก็ยังคงไม่จบสิ้น
ยังคงมีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมระหว่าง 2 สี ระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ
จนถึงขั้นระแวงสงสัยว่า ฝ่ายหนึ่งมีการไล่ล่าทำลายล้าง
ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็จ้องป่วนไม่เลิกรา... เป็นการมอง 2 มุมที่มองไม่เห็นโอกาสปรองดอง
ที่สำคัญท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง
และความอ่อนแอขององค์กรตรวจสอบต่างๆ ที่ติดเชื้อพลอยแย่งชิงอำนาจไปด้วย อย่างเช่น
สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ที่วันนี้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ยังยืนกรานตะแบงเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ไม่ยอมเกษียณอายุที่ 65 ปี แต่ประกาศเป็นตายก็จะขออยู่ให้ถึงอายุ 70 ปีให้ได้
ทำราวกับเมืองไทย และ สตง.ปราศจากคนที่เหมาะสมกว่าคุณหญิงเป็ดแล้วกระนั้น!!!
ความวุ่นวาย จนแหลกยับเยินของ สตง.
จึงกลายเป็นจังหวะให้กลิ่นไอของการทุจริตคละคลุ้งไปหมด...
ไม่ต้องอื่นไกล ขนาดรถลากจากเม็ดเงินของโครงการไทยเข้มแข็ง
ยังเกือบลากพาเอาคณะโฆษกรัฐบาลตกเหวกันมาแล้ว
คุณภาพของโครงการไทยเข้มแข็งจึงไม่ต้องพูดถึง ว่าจะมีสินค้าใด
ที่จะพอมีคุณภาพที่แท้จริงเหลือให้เห็นบ้าง?
ดังนั้นนี่คือสภาพที่น่าเป็นห่วงของประเทศชาติบ้านเมือง
และทำให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเกมโยนหินถามทางไปตรงๆ ว่า
สมควรที่จะต้องหาทางปรองดองที่แท้จริงกันได้เสียทีหรือยัง???
ที่ผ่านมานั้น สังคมไทยย่อมรู้ดีว่าเป็นการปรองดองแต่เพียงลมปาก
ที่หวังแค่สร้างภาพลักษณ์ไม่ให้ย่ำแย่ไปกว่านี้
โดยเฉพาะในสายตาของสังคมโลก ที่จับตามองความขัดแย้งในไทยครั้งนี้เขม็ง
ยิ่งรัฐบาล ปล่อยให้ ศอฉ. ลากยาว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้เนิ่นนานเท่าไหร่
ภาพประเทศไทยในสายตาต่างชาติก็ยิ่งแย่ลงเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อพรรคเพื่อไทยเปิดเกมในเรื่องการหาทางเจรจาสร้างความปรองดองที่แท้จริง
โดยออกมาเป็นแถลงการณ์ 5 ข้อ เพื่อเจรจากับรัฐบาลในการยุติความขัดแย้ง
หวังให้เป็นการเปิดโต๊ะคุยแบบผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่เพื่อให้ได้ข้อยุติแบบมีวุฒิภาวะ
และจุดหมายเพื่อประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลึกๆ ก็อยู่ในสภาพที่กลืนเลือดนั่งบนหลังเสือ ย่อมเห็นเป็นจังหวะที่น่าสนใจ…
นายอภิสิทธิ์จึงขานรับท่าทีดังกล่าวทันที
โดยแสดงความพร้อมที่จะพบปะเพื่อหารือกับแกนนำพรรคเพื่อไทยทันที
หลังเดินทางกลับจากการปฏิบัติภารกิจที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ขอเพียงพรรคเพื่อไทยติดต่อประสานมาเท่านั้น
ฉะนั้นไม่แปลกที่ท่าทีในครั้งนี้ จะได้รับการขานรับ
ได้รับความสนใจจากหลายๆฝ่ายที่เอือมระอากับเกมขั้วอำนาจในปัจจุบันเต็มทีแล้ว
อย่างนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ระบุชัดเลยว่า
ถือเป็นเรื่องดีที่พรรคเพื่อไทยเสนอแนวทางปรองดองกับทุกกลุ่ม
ถ้าทำอย่างนั้นได้จริงก็เกิดความปรองดองแน่
“ต้องอย่าไปตั้งแง่ใส่กัน เพราะคงไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะปรองดอง
เราไม่สามารถทำให้เกิดการปรองดองกันได้หมด
แต่ก็เห็นด้วยกับแนวทางที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ขนาดองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ
ยังสนับสนุนให้เกิดการปรองดองในบ้านเรา”
เช่นเดียวกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
ที่มองว่าแนวทางปรองดอง 5 ข้อ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง
เพราะการปรองดองต้องมาจากทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง ซึ่งท่าทีของนายกรัฐมนตรี ก็ดูตอบรับมากขึ้น
“อย่างไรก็ตามการปรองดองจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความจริงใจของทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญ”
และจะให้ดีทั้งสองฝ่ายควรลดการพูดใส่ร้ายป้ายสีโดยไม่อยู่บนพื้นความเป็นจริง
และรัฐบาลต้องไม่ทำให้อยู่ในสภาพแพ้ชนะให้ได้ ผู้ผิดไม่ต้องติดคุก
แต่ผู้แพ้ต้องติดคุก ไม่สนใจว่าจะเกิดความยุติธรรมหรือไม่
แต่ต้องทำให้แพ้ไปข้างหนึ่ง รัฐบาลปล่อยให้เสื้อแดงเป็นฝ่ายถูกไม่ได้
เพราะถ้าเสื้อแดงถูกจะมีคนในรัฐบาลหลายคนต้องติดคุก
“ถ้าเดิมพันด้วยชีวิตกันอย่างนี้ จะไม่เกิดการปรองดอง
แต่ต้องทำให้เกิดความยุติธรรม ให้อภัยบนพื้นฐานความถูกต้อง”
ซึ่งนายจาตุรนต์ ย้ำด้วยว่า ถ้ายังขืนมุ่งให้ตายกันไปข้างหนึ่ง สังคมก็ไปไม่รอด
รัฐบาลต้องฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายด้วย
ส่วนกรณีเรื่องสถาบัน ที่ผ่านมาเป็นเพียงการใส่ร้าย ปลุกระดมให้คนเกลียดชัง
แต่ไม่มีการดำเนินคดี ควรเลิกใช้สถาบันเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง
เพราะทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบัน รัฐบาลควรมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างเหมาะสม
ควรมีตั้งโต๊ะพูดคุยภายใน โดยมีคนกลางมาร่วมหารือ
ไม่ควรพุ่งเป้าไปที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว
เพราะจะกลายเป็นความขัดแย้งบานปลายไม่สิ้นสุด
ถือเป็นการเสนอความคิดอย่างสร้างสรรค์ ที่รัฐบาลควรจะต้องเปิดใจกว้างรับฟัง
โดยเลิกใส่ใจกับเสียงของผู้ที่เสียผลประโยชน์ หรือผู้ที่จะหมดบทบาท หากการปรองดองเกิดขึ้นได้จริง
เพราะคนเหล่านั้นนึกถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ
บางกอก ทูเดย์ ขอย้ำว่า มาจนถึงขณะนี้
ประเทศไทยบอบช้ำมากพอแล้ว กับการกล่าวหาเพื่อทำลายล้าง
เพราะแม้แต่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการ
อิสระตรวจสอบความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยังยอมรับว่า
ปัญหาสังคมไทยมาจากกฎหมายและนักกฎหมายค่อนข้างรุนแรง
“การรัฐประหารทุกครั้งมักอ้างถึงการทุจริต คอร์รัปชั่นของฝ่ายบริหาร
แม้แต่การรัฐประหารครั้งสุดท้ายก็อ้างถึงการทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิ
แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการตีแผ่ว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่”นายคณิตกล่าว
สอดคล้องกับที่
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า
ถ้าต้องการให้ประชาชนเคารพกฎหมาย และอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน
ประเด็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย จะต้องเสมอภาคเท่าเทียมกัน
จะเห็นว่าทุกวันนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในเรื่องนี้ค่อนข้างมากอาทิ
ความล่าช้าในการดำเนินคดี ที่ฝ่ายหนึ่งช้า ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเร็ว
“เราไม่เคยได้ยินคำตอบที่เป็นทางการผ่านจากองค์กรหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเลยว่า
ทำไมเรื่องนั้นถึงทำได้เร็ว ขณะที่อีกฝ่ายทำไมถึงไม่คืบหน้าหรือช้ามาก
ฝ่ายหนึ่งเลื่อนนัดเป็นสิบๆ ครั้งขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว
การให้ข้อมูลกับประชาชน คิดว่า อย่างน้อยที่สุดเรื่องสองมาตรฐาน
เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐานอาจจะคลี่คลายไปได้บ้าง” ศ.ดร.นันทวัฒน์ พูดชัด
เช่นกัน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มองว่า การบังคับใช้กฎหมายนั้นต้องเสมอกันไม่มีสองมาตรฐาน
ทั้งหมดเป็นมุมมองที่รัฐบาล โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ ไม่ควรที่จะมองข้ามเป็นอันขาด
เพราะวินาทีนี้ แม้แต่เด็กรุ่นใหม่ ยังทนเห็นบรรยากาศเช่นนี้ไม่ได้แล้ว
อย่างเช่นที่ น.ส.สุญญาตา เมี้ยนละม้าย โฆษก สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท. )
แถลงการณ์ว่า
1. สนนท.จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับคณะปฏิรูป เพราะเห็นความไม่ชอบธรรม
ที่คณะกรรมการเหล่านี้จะมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
เพราะตั้งโดยรัฐบาลที่สลายการชุมนุม ไม่ได้มาจากภาคประชาชน
และไม่มีการกล่าวถึงการใช้ความรุนแรงของทหาร
2. ขอประณามการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐบาลกับคนที่เห็นต่างกับรัฐบาล
3. ยืนยันที่จะร่วมต่อสู้กับภาคประชาชน เพื่อให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา
4. ยืนยันว่า พลังนักศึกษาไม่ได้หายไปไหน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราลุกจากการนั่งหน้าจอทีวี
ที่สอนให้เราคิดข้างเดียว ลุกจากการเป็นนักล่าปริญญามารับใช้ประชาชน
ดังนั้นในวันที่ 10 กันยายนนี้ ที่นายอภิสิทธิ์
จะจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนนักศึกษา
น่าจะเป็นโอกาสที่นายอภิสิทธิ์นอกจากจะรับฟังมุมมองของเด็กๆ แล้ว
ยังควรถือเป็นโอกาสในการบอกข่าวดีให้กับเด็กๆ ด้วย จะดีหรือไม่
และสำคัญที่สุด นักศึกษาเองก็ต้องตื่นขึ้นมาทำหน้าที่เพื่อบ้านเพื่อเมือง
เหมือนกับที่นักศึกษารุ่นพี่ได้เคยกระทำกันเอาไว้ จนเป็นตำนานอมตะ 14 ตุลาคม 2516
เพราะนักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ ที่ไม่มีนัยยะแฝงเร้น
หรือ Hidden Agenda ใดเหมือนกับที่เสื้อสีต่างๆ มี
ถ้านักศึกษาตื่นตัวอย่างแท้จริง พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาจะยิ่งใหญ่มาก
ชนิดที่ผู้ใหญ่คนใดก็ยากจะต้านทานได้
วันนี้สังคมไทยจึงอยากเห็นเด็กรุ่นใหม่ เป็นเหมือนรุ่นพี่ๆอย่าง
เสกสรร ประเสริฐกุล อย่างจิระนันท์ พิตรปรีชา หรืออย่าง เสาวนีย์ ลิมมานนท์
ถึงวันนี้จะมีนักศึกษาอย่าง เสกสรร จิระนันท์ หรือเสาวนีย์ รุ่นใหม่ได้เสียทีหรือยัง!!!