ที่มา ไทยรัฐ
หอการค้าฯ จี้รัฐบาลเร่งสกัดเงินบาทแข็งค่า ทั้งชะลอขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
ใช้มาตรการภาษี- ตั้งสำรองสกัดเก็งกำไร หวั่นหลุดกรอบ 30 บาท
ในไตรมาส 4 ทำเศรษฐกิจไทยเจ๊ง 1 แสนล้านบาท จีดีพีลด 1% โตไม่ถึง 7%...
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึง
การแข็งค่าของค่าเงินบาทว่า ในเดือน ส.ค.เพียงเดือนเดียว ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 1.8%
และตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าแล้ว 6.5% จึงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โดยเฉพาะผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
โดยไม่ให้มีเงินต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินในประเทศ
และไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีหลังอีก
หลังจากที่ได้ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว 0.25%
เพราะหากนิ่งเฉยจะทำให้ความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยลดลง
กระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าไทย
"ล่าสุดค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว ยิ่งแข็งค่ามาก
การส่งออกของไทยก็จะได้รับผลกระทบมาก
ที่ ธปท.บอกว่าไม่กระทบต่อการส่งออก ไม่จริงเลย
ที่สำคัญรัฐบาลไทยไม่ทำอะไรเลย ต่างจากรัฐบาลญี่ปุ่น
ที่ตอนนี้ค่าเงินเยนก็แข็งมาก
แต่รัฐบาลเขารีบบอกเลยว่า จะทำอะไรบ้างเพื่อแก้ปัญหา" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ธปท. ควรประกาศใช้มาตรการทางภาษี เช่น
หากเงินทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนระยะสั้น 3-6 เดือน แล้วนำเงินออกไป
จะต้องถูกเรียกเก็บภาษี 5-10% ออกมาตรการกันเงินสำรอง
เพื่อป้องกันการเก็งกำไร แต่อาจไม่สูงถึง 30% เหมือนที่เคยดำเนินการ
ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ส่วนในระยะยาวต้องส่งเสริมให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ
เพื่อนำเงินดอลลาร์ฯออกนอกประเทศ ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการค่าเงินบาทในอนาคต
นายธนวรรธน์ ชี้ว่าหากไม่มีการดูแล
และปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว หลุดกรอบ 30 บาท
ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 4 นี้ จะทำให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจ
ประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกหายไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท
และรายได้จากการท่องเที่ยวหายไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ขยายตัวเหลือ 3-4%
หรือปีนี้อาจขยายตัวลดลงเหลือ 6% ต่ำกว่าเป้าที่คาดโต 7.5%
หากยังแข็งค่าต่อเนื่องถึงปีหน้า
อาจทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 4% จากเป้าหมายปีหน้าโต 4-5%.