ที่มา มติชน
นาย แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นักวิชาการสาขามานุษยวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้ทดลองจัดทำกราฟงบประมาณค่าใช้จ่ายทางด้านการทหารของรัฐบาลไทย โดยมีหน่วยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และนำเผยแพร่ลงในเว็บล็อกนิว มันดาลา (นวมณฑล)
ในกราฟแรกที่วอล์คเกอร์จัดทำได้แสดงให้เห็นว่า ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ.2535 งบประมาณทางด้านการทหารของไทยได้มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยมากกว่า 2.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ก็ค่อยๆ ลดต่ำลงจนเหลือจำนวนน้อยกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี พ.ศ.2549
แต่หลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา งบประมาณทางด้านการทหารของไทยก็หวนกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่ง โดยจากสถิติของธนาคารโลก งบประมาณของกองทัพไทยได้แตะถึงหลัก 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี พ.ศ.2551 และมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จากการประมาณการตัวเลขโดยอ้างอิงพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี พ.ศ.2553 ของวอล์คเกอร์ (เส้นกราฟสีน้ำเงินเข้ม)
ในกราฟที่สองวอล์คเกอร์ได้เปรียบเทียบตัวเลขงบประมาณทางด้านการทหารของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยเวียดนามเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณทางด้านการทหารมากที่สุด ขณะที่ไทยสามารถแซงอินโดนีเซียขึ้นมาเป็นอันดับสองในปี พ.ศ.2550 (หลังจากช่วงปี พ.ศ.2546-2549 กองทัพอินโดนีเซียใช้จ่ายงบประมาณมากกว่ากองทัพไทย) ส่วนฟิลิปปินส์ใช้จ่ายงบประมาณทางด้านนี้น้อยที่สุด
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียแสดงความเห็นว่าตัว เลขค่าใช้จ่ายของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี พ.ศ.2554 ได้ชี้ให้เห็นว่า งบประมาณการใช้จ่ายของกองทัพไทยกำลังมีแนวโน้มเขยิบเข้าใกล้กองทัพเวียดนาม มากยิ่งขึ้นทุกขณะ
แอนดรูว์ วอล์คเกอร์