WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, September 10, 2010

บันทึกของวิสา คัญทัพ (ฉบับที่ 5):ว่าด้วยประวัติศาสตร์มายาคติแห่งการปรองดอง

ที่มา Thai E-News



รัฐอำมาตย์ศักดินาเคยยอมยุติความขัดแย้งโดยให้การยอมรับว่า พคท.ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย หากแต่เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยมาแล้ว อันถือเป็นจุดสูงสุดของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธระหว่างกันซึ่งเป็นความรุนแรงสูงสุด หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีความพยายามเช่นนั้น การปรองดองยังเป็นคำพูดลอยๆ


โดย วิสา คัญทัพ
ที่มา face book

การปรองดองวันนี้เป็นการปรองดองเพื่อสร้างภาพ ไม่ได้จริงใจที่จะปรองดอง รัฐบาลแสดงละครภายใต้การกำกับของกองทัพ เหนือกองทัพขึ้นไปมีกองบัญชาการของอำมาตย์และคนชั้นสูง ควบคุมบงการอยู่อีกชั้นหนึ่ง

รัฐธรรมนูญปี 50 คือรัฐธรรมนูญที่พวกเขาสร้างขึ้นมา เพื่ออำพรางให้เกิดภาพประชาธิปไตย ความจริงดังกล่าวในอดีตอาจไม่แจ่มชัด แต่วันนี้แจ่มชัดเป็นอย่างยิ่ง

นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประชาธิปไตยไม่ได้ตกอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่เป็น “ประชาธิปไตยภายใต้การกำกับ” เมื่อใดก็ตามที่มีสัญญาณว่า ความขัดแย้งทางชนชั้นเริ่มแหลมคมอำนาจอันแท้จริงจะเปลี่ยนไปอยู่ในมือของ “ข้าราษฏร” มิใช่ “ข้าราชการ” การจัดการให้อยู่ในร่องในรอยก็จะเกิดขึ้น

พูดอย่างนี้ มิได้หมายความว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรองดอง แต่หมายถึง การปรองดองมิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะปากพูด แต่การกระทำยังติดตามไล่ล่า จับกุมคุมขัง สังหารคนเสื้อแดง ปรากฎความไม่เป็นธรรมในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ทั้งระดับโครงสร้างประชาธิปไตย และรูปธรรมหลายประการทางการปฏิบัติ สูงสุดคือ อิสระภาพ เสรีภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนที่คิดต่างต้องได้รับการคุ้มครอง

ในวาระครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร (19 กันยายน 2549) ผู้เขียนขอร่วมรำลึกเหตุการณ์ ด้วยการนำเสนอบันทึกฉบับที่ 5 วิเคราะห์การปรองดองจอมปลอมว่าไม่สามารถยุติความแตกแยกในสังคมได้

โดยจะชี้ให้เห็นว่า เราเคยผ่านความขัดแย้งแตกแยกที่รุนแรงเช่นนี้มาแล้ว แต่ละระยะ มีเนื้อหาเดียวกัน โดยตัวละครฝ่ายประชาธิปไตยผลัดเปลี่ยนเวียนกันเข้ามารุ่นแล้วรุ่นเล่า เหมือนนักมวยมั่นหมายชิงแชมป์ ทว่าแชมป์ยังเป็นคนเดิมที่แข็งแกร่งประดุจศิลากลางน้ำเชี่ยว เริ่มต้นจาก

หนึ่ง / ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีตัวละครสำคัญคือ “คณะราษฏร”ที่ทำการปฏิวัติยึดอำนาจ มีบุคคลสำคัญซึ่งท้ายสุดไม่มีแผ่นดินอยู่ แม้เวลาสิ้นชีวิตก็นำกลับมาได้เพียงเถ้าอัฐิเท่านั้น คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์

หลัง 2475 อำนาจเวียวนอยู่ในมือของขุนศึกอำมาตย์ แต่การเมืองโดยภาพประชาธิปไตยก็ทำให้เกิดพืชพันธุ์ของ “นักสู้เพื่อสังคมธรรม” ขึ้นได้ ส่วนใหญ่ของนักสู้ดังว่ามักจะมาจากสามัญชนคนชั้นล่างที่มีโอกาสได้เรียนสูงแล้วมีทัศนะที่ก้าวหน้า ส่วนหนึ่งมีผลกระทบมาจากกระแสการต่อสู้ทางชนชั้นในสากลยุคเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่เสรีภาพแห่งประชาธิปไตยและสังคมนิยม

สอง / เชื่อมต่อจากการต่อสู้ยุค ดร.ปรีดี พนมยงค์ รุ่นถัดมาจึงมาถึง “นักสู้ยุค พ.ศ.2500” นำขบวนด้วยนักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง นักเคลื่อนไหวคนสำคัญๆ มากมาย เช่น เตียง ศิริขันธ์,รวม วงศ์พันธุ์,ครอง จันดาวงศ์,เลียง ไชยกาล,ถวิล อุดล,จำลอง ดาวเรือง, กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา),อัศนี พลจันทร์,อุดม สีสุวรรณ,เปลื้อง วรรณศรี,จิตร ภูมิศักดิ์,สุวัฒน์ วรดิลก,ไขแสง สุกใส, และ ฯลฯ

ชื่อดังกล่าวไม่มีให้ศึกษาด้านถูกต้องในประวัติศาสตร์ประเทศไทย นักสู่เหล่านี้ บางคนถูกประหารชีวิต บางคนถูกฆ่าถูกไล่ล่า ถูกจับกุมคุมขัง ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยถูกปราบปราม ถูกบีบบังคับ จากการเขียนการพูดการวิพากษ์วิจารณ์ตามแนวทางสันติวิธีไม่สามารถดำเนินไปได้ หนทางสุดท้ายคือการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ จัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างเป็นทางการ ใครที่อยู่ในเมืองแล้วถูกฆ่าถูกขังก็เข้าป่าไปจับปืนต่อสู้ กำแพงคุกในยุคนั้นจึงปรากฎบทกวีของนักสู้นิรนามจารึกไว้ว่า

“เมืองสยามใหญ่กว้าง สุดสายตา

จักเสาะยุติธรรมหา ยากแท้

คนดีถูกตีตรา นักโทษ

คนชั่วกลับอิ่มแปร้ นั่งยิ้มครองเมือง”



ช่างสอดคล้องกับวันเวลาอันมืดมนในยุคนี้ยิ่งนัก ขณะที่ผู้รักชาติรักประชาธิปไตยทุ่มโถมโหมชีวิตต่อสู้อย่างกล้าหาญ พวกเขากลับถูกใส่ร้ายป้ายสี สร้างภาพว่าคอมมิวนิสต์เป็นภูติผีปีศาจทำลายชาติ ทำลายสถาบัน ให้การศึกษาเยาวชนโดยบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง เนือหาตำรับตำราวิชาการก็กลับดำเป็นขาวกลับขาวเป็นดำ ดีว่าชั่ว ชั่วว่าดี โฆษณาชวนเชื่อ ครองพื้นที่สื่อวิทยุโทรทัศน์สร้างคุณงามความดีให้ตนเอง

สาม / ยุคเยาวชนเดือนตุลา อธิบายควบคุมสองเหตุการณ์คือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ต้องบอกว่า สองเหตุการณ์นี้คือขบวนการเดียวกัน เยาวชนนักเรียนนักศึกษาตื่นตัวขึ้นจากความรู้สึกว่าตนคือปัญญาชนผู้ได้เปรียบในสังคม พบว่าความรู้ไม่ใช่แค่เพียงปริญญาบัตร ไม่ใช่คำขวัญเรียนไปเพื่อเป็น “เจ้าคนนายคน” เมื่อสืบค้นลึกลงไปก็พบประวัติศาสตร์บิดเบือนมากมาย พบว่า ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฏรแท้จริงเป็นฝ่ายธรรม พบว่าคอมมิวนิสต์คือพรรคการเมืองที่กำเนิดขึ้นจากทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์-เลนิน เป็นกระแสสากลแห่งโลกยุคสงครามเย็น พบว่าสังคมมีชนชั้น และประชาธิปไตยยังไม่เต็มใบอย่างแท้จริง

ที่สุดนิสิตนักศึกษาจึงกลายมาเป็นพลังนำในการเปลี่ยนแปลงสังคม สู่รูปธรรมเป็นการเคลื่อนไหว “เรียกร้องรัฐธรรมนูญ” จนถูกจับกุมคุมขัง เกิดกรณีเดินขบวนคัดค้านครั้งใหญ่ให้ปล่อย 13 กบฎรัฐธรรมนูญ นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลถนอม-ประภาส พ่ายแพ้ยอมออกนอกประเทศ

สถานการณ์บีบบังคับให้รัฐอำมาตย์ต้อง “ยินยอมชั่วคราว” แต่หลังจากนั้น พวกเขาก็ปรับขบวนจากรับมาเป็นรุก สร้างโมเดล 6 ตุลาคม 2519 ด้วยข้อหาอมตะ นักศึกษาถูกแทรกแซงจากคอมมิวนิสต์ ไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน ปั้นน้ำเป็นตัว สร้างเรื่องป้ายสีป่าวร้องผ่านสื่อของรัฐและสิ่งพิมพ์ในกำกับ จากนั้นก็ส่งหน่วยสร้างความรุนแรงเข้าปะปนกับนักศึกษา จุดชนวนเข้าล้อมปราบสังหารอย่างเหี้ยมโหด

จนถึงวันนี้ใครฆ่าและใครสั่งฆ่านักศึกษาประชาชนก็ยังไม่มีใครรู้ ไม่มีใครรู้เสมอมา

โดยที่เวลานั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยึดแนวทาง “ชนบทล้อมเมือง” ไม่ยอมรับแนวทาง “ลุกขึ้นสู้ในเมือง” การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในเวลานั้นจึงปราศจากการแทรกแซงชี้นำของ พคท.อย่างแท้จริง เป็นการต่อสู้ตามลำพังโดยบริสุทธิ์ แต่เพราะมีกองกำลัง พคท.ในชนบท นักศึกษาประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยจึงมีที่ทางที่ได้อาศัยหลบหนีไปสู้ต่อได้ ที่เรียกว่า หนีตายไม่สู้ต่อ

ต้องถือว่า การต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยขึ้นสู่จุดสูงสุดของความรุนแรง เข้มข้น และดุเดือดที่สุดในยุค 6 ตุลาคม 2519 สังคมแตกแยกหนักหน่วง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปัจจุบันต้องถือว่ายังแตกแยกน้อยกว่าและห่างไกลกันมากนัก

ทว่าจุดต่างก็คือวันนี้ไม่มีการต่อสู้ด้วยกองกำลังอาวุธที่มารองรับ แต่วันนั้นมี กองกำลังในป่าขยายตัวเติบใหญ่ ได้ภาพความชอบธรรมที่จะสู้กับการปราบอย่างโหดร้ายหกตุลา และกองกำลังอาวุธฝ่ายประชาชนสามารถสู้รบทางการทหารอย่างรุกคืบหน้ามากขึ้นในยุทธการต่างๆ สามารถตีระดับตำบลจนถึงระดับอำเภอแตก เป็นผลให้รัฐอำมาตย์ศักดินาต้องปรับขบวน รัฐประหารยึดอำนาจกันเองเพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดภาพประชาธิปไตย เอารัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียรออก เอา พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เข้า และที่สุดก็เข้าสู่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งตนเองไม่เคยผ่านการลงสมัครรับเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว

ถึงตรงนี้มีข้อน่าสังเกตุคือ ความพยายามยุติการใช้การทหารนำการเมืองลงอย่างสิ้นเชิง โดยความคิดของข้าราชการทหารสายพิราบได้ชัยชนะเหนือทหารสายเหยี่ยว ในการดำเนินงานเพื่อหยุดยั้งการสู้รบด้วยความรุนแรง ผลักดันให้เกิดนโยบาย 66/23 ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ภายในขบวนการสู้รบในป่ามีปัญหาความขัดแย้งภายใน เรื่องแนวทางการต่อสู้อย่างดุเดือดถึงขั้นต้องแตกแยกกัน

ความจริงก็คือ รัฐอำมาตย์ศักดินาเคยยอมยุติความขัดแย้งโดยให้การยอมรับว่า พคท.ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย หากแต่เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยมาแล้ว อันถือเป็นจุดสูงสุดของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธระหว่างกันซึ่งเป็นความรุนแรงสูงสุด หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่มีความพยายามเช่นนั้น การปรองดองยังเป็นคำพูดลอยๆ

คำถามคือ ทำไมรัฐศักดินายอมทำข้อตกลงยุติการสู้รบในเวลานั้น ตอบว่า เพราะได้มากกว่าเสีย การทำให้ไม่มีกองกำลังอาวุธคือการทำลายรากแก้วแห่งการต่อสู้ เป็นยุทธวิธี ปลดอาวุธศัตรูเพื่อให้หมดสภาพการต่อรอง เพียงแต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมิได้มาจากรัฐศักดินาเป็นด้านหลัก หากแต่เป็นเพราะขบวนการประชาชนประสบปัญหาความแตกแยกขัดแย้งกันเองเป็นด้านหลัก

สี่ / หลังการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเขตป่าเขา (สงครามประชาชน) ซึ่งก็คือ หลังนโยบาย 66/23การต่อสู้ที่ไร้แนวหลังอันแข็งแกร่ง ทำให้รัฐศักดินาเข้มแข็งขึ้นอย่างมาก ประชาธิปไตยภายใต้การกำกับเกรียงไกรอย่างต่อเนื่อง 8 ปี ในยุคพลเอก.เปรม ติณสูลานนท์ และหลังจากนั้นกองทัพก็ยังกุมสถานการณ์กำกับทุกรัฐบาลอยู่ได้

แน่นอน ที่สำคัญเพราะรัฐธรรมนูญที่ร่างอย่างเอื้อต่อระบอบโดยคนของพวกเขา จนกระทั่งกระแสเรียกร้องเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยเข้มข้นขึ้น ประเด็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งก็ดี ประเด็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภาก็ดี ที่สุดจากกระแสการเคลื่อนไหวของประชาชนก็สามารถผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 ออกมาได้

ส่งผลให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างมาก ส่งผลให้รัฐบาลใหม่อยู่ครบเทอม ส่งผลให้มีรัฐบาลพรรคเดียวขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดขบวนการต่อต้าน ประดิษฐ์วาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” ขึ้น ตามมาด้วยแผนทำลายทั้งรัฐบาล ทั้งพรรคการเมือง และทั้งต่อตัว “ทักษิณ ชินวัตร” โดยตรง ปิดฉากด้วยการรัฐประหารล้ม “รัฐธรรมนูญปี 40” อันเป็นต้นตอปัญหาที่ทำให้ “ประชาธิปไตย” หลุดไปจากการกำกับ ใช้ปืนและรถถังออกมายึดอำนาจเอาดื้อๆ และให้คนของพวกเขาร่างรัฐธรรมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง คือ “รัฐธรรมนูญปี 50”

กลายเป็นรัฐ กอ.รมน. รัฐกองทัพ รัฐข้าราชการทหาร มี ศอฉ.เป็นใหญ่ ดีเอสไอ เป็นเครื่องมือ และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นหุ่นเชิด

เมื่อประชาชนไม่ยินยอม และเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยสันติวิธีต่อเนื่องยาวนานเกือบสี่ปีหลังรัฐประหาร ในนาม”คนเสื้อแดง” พวกเขาก็ดำเนินการสังหารประชาชนอย่างเหี้ยมโหดเมื่อ 10 เมษา และ 19 พฤษภาที่ผ่านมา โดยใช้โมเดลเดียวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 “ปลอมปน สอดแทรก แบ่งแยก ทำลาย”

พวกเขาพยายามดิ้นหนีจากโจทย์ “ใครฆ่าประชาชน” ให้พ้นด้วยการใช้สื่อสารมวลชนที่ตนควบคุมโหมป่าวร้องให้ความสำคัญกับการเผาอาคารมากกว่าชีวิตคน ใช้ศิลปินแต่งเพลงร้องเพลงทำร้ายหัวใจคนเสื้อแดงตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆเผยโฉมหน้านักวิชาการบริกร เรียกร้องความปรองดองขณะจับกุมคุมขัง ไล่ล่าฆ่าสังหารคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่องทั้งในทางลับและเปิดเผย

คำถามก็คือ เมื่อการปรองดองเป็นมายาคติ ทับซ้อนอยู่ในความจริงอันเหี้ยมโหดแห่งการเข่นฆ่าประชาชนตลอดมาในประวัติศาสตร์ ภูเขาไฟลูกนี้จึงเป็นได้แค่ “ภูเขาไฟที่ดับชั่วคราว” สังคมไทยจะเข้าสู่สันติสงบและประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร

ดูแต่การปรองดองของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในอดีต ภาพรวมของพวกเขาเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นอดีตสมาชิก พคท.หรือแนวร่วมที่ออกจากป่ามาพร้อมกัน ปัจจุบัน พวกเขาล้วนยืนอยู่ทั้งสองฟากของความขัดแย้ง ด้วยความคิด ความเชื่อ ผลประโยชน์ และอุดมการณ์ที่ไม่เหมือนกัน

น่าคิดว่าในวันที่มีอาวุธอยู่ในมือ พวกเขายอมวางอาวุธ ไม่ใช่เพราะเชื่อในไมตรี ”พัฒนาชาติไทย” ที่รัฐศักดินาหยิบยื่นให้ แต่หากเพราะไม่มั่นใจแนวทางที่จะสู้ต่อไปของตนเองต่างหาก

เช่นเดียวกับวันนี้ แม้ไม่เชื่อในไมตรีที่จะ “ปรองดอง” พวกเขายังจะมีทางเลือกใดๆอีกหรือ เมื่อวันนี้ไม่มีอาวุธในมือ อย่าลืมว่าไม่มีอาวุธในมือ ไม่มีป่ารองรับ เสียหายง่าย เสียหายมาก ดังที่เห็นๆกันอยู่ แนวทางการปรองดองท่ามกลางการต่อสู้ด้วยสันติวิธีจึงเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดอย่างรอบคอบ

คำว่า “สู้ต่อไป”วันนี้ จะขับเคลื่อนโดยใช้อารมณ์อย่างขาดสติมิได้เป็นอันขาด คำ “ปรองดอง” จึงเป็นเอกภาพของความขัดแย้งกับ “สู้ต่อไป” ปรองดองก็เอา สู้ต่อไปก็สู้ ปรองดองในท่ามกลางการต่อสู้ หรือ ต่อสู้ขณะปรองดอง ก็ว่ากันไป เฉกเช่นเดียวกับ ขณะทำสงครามก็มีการเจรจา ขณะเจรจาการสู้รบยังดำเนินต่อไป จนกว่าจะตกลงกันได้ เพียงแต่ว่าจะโดย “เงื่อนไข” อันใดเท่านั้น.

บันทึกเขียนเสร็จ 6 กันยายน 2553

***********
หมายเหตุ:อ่านบันทึกของวิสา คัญทัพ ฉบับที่ 1-4 คลิ้กที่นี่