WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, September 8, 2010

เมื่อ “สถาบันนิยม” สะท้อน “ชาตินิยม”: กรณี “หัวโจก” กับ “รัฐมาเฟีย”

ที่มา ประชาไท


บทความโดย "วันรัก สุวรรณรัตนา" ตั้งคำถามต่อสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่า "มาตราการเชิงรุก" หลังกรณีนักเรียนตีกัน " โดยชี้ว่า รูปแบบการเมืองของ “หัวโจก” ที่ทั้งรัฐบาลและสังคมยอมรับไม่ได้ เป็นเพียงโมเดลขนาดเล็กของการเมืองแบบ “รัฐมาเฟีย” ผิดกันที่สังคมยอมรับอำนาจนิยมรูปแบบนี้ได้

ในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องเยาวชนตีกันกลับเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ในหน้าหนึ่งของสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์ไทยแทบทุกสำนัก การเสียชีวิตของเด็กชายวัย 9 ขวบซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทะเลาะวิวาทเพียงแต่เผอิญไปอยู่ผิดที่ในเวลาที่ผิดพลาดนำมาซึ่งความรู้สึกสลดโศกเศร้าของผู้คนในสังคมที่เห็นพ้องต้องกันว่าเด็กเหลือขอเหล่านี้ควรต้องถูกจัดการโดยมาตรการที่เด็ดขาด

ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและออกมาตรการต่างๆใน “เชิงรุก” เพื่อสนองตอบอารมณ์สาธารณะที่ต้องการให้มีการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง จนถึงกับมีการเสนอให้ “เด็กหัวโจกทั้งระดับมัธยมศึกษาและอาชีวะไปบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่ที่ท้าทาย เช่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” และยังเรียกร้องให้ “ครม.ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ออกมาขานรับกับการมาตรการแก้ปัญหาเชิง ”บูรณาการ” นี้ ด้วยข้อเสนอเรื่องการพัฒนาและเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว ควบคู่กับการพัฒนาเรื่องไอคิว (ดูเพิ่มเติมที่http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1283776766)

ท่ามกลางความพยายามที่ดูจริงใจและจริงจังเพื่อร่วมกันแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม ข้อเสนอต่างๆที่ทยอยกันออกมากลับไม่ต่างไปจากข้อเสนอที่รัฐบาลและสังคมไทยได้เคย “คลอด” ออกมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา หนำซ้ำกลับจะทวีความรุนแรงทั้งในเชิงการจัดการและในเชิงมาตรการทางกฎหมาย เสมือนว่ากำลังพยายามก้าวกระโดดตามให้ทันความรุนแรงของปัญหาที่เพิ่มขึ้น ด้วยการลอกเลียนแบบความรุนแรงนั้น

คำถามก็คือ มาตราการเชิงรุกต่างๆ เหล่านี้ แท้จริงแล้วจะแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหมู่ "เยาวชน” ที่รมว.ศธ.และ “ผู้ใหญ่” ทั้งหลายในสังคมไทยแปะป้ายชื่อให้พวกเขาไปแล้วว่าเป็น “หัวโจก” ได้จริงหรือ?

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมานี้แล้วนั้น จะเห็นได้ว่ามีสองประเด็นที่สังคมไทยจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

ประเด็นแรกคือ เรื่องกรอบคิดของการมองปัญหา ซึ่งนำไปสู่การให้คำนิยามกับปัญหาและวิธีในการจะเข้าไปจัดการกับปัญหา

จากคำสัมภาษณ์และแถลงการณ์ต่างๆของ “ทุกภาคส่วน” ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะของรมว.ศธ. เราจะเห็นได้ว่ากรอบวิธีคิดคือ การมองว่านี่คือปัญหาในระดับปัจเจก หมายถึงว่าเยาวชนทุกคนไม่ได้เป็นอย่างนี้ มีเพียงเยาวชนในบางสถาบัน เยาวชนบางกลุ่มและเยาวชนบางคนเท่านั้น ปัจเจกในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงตัวบุคคลเพียงคนเดียว (ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องของกรณียกเว้นไป) แต่หมายถึง “บางกลุ่มบางบุคคล” (ซึ่งเป็นเรื่องของกรณีพิเศษที่กินพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางมนุษยวิทยาจำกัดอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นปัญหาของพื้นที่โดยรวมทั้งหมดของสังคม)

การมองปัญหาแบบนี้ไม่ได้มีอะไรผิดในตัวเอง เพราะในความเป็นจริง เมื่อเราพิจารณาสถานะทางการเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของเยาวชนกลุ่มนี้ เราจะเห็นได้ว่าพวกเขามีพื้นเพบางอย่างร่วมกัน คือพวกเขามาจากครอบครัวซึ่งเป็นกลุ่มคน “รากหญ้า” หรือฐานล่างที่ต้องรองรับน้ำหนักของยอดด้านบนที่กดทับลงมา หากแต่ผลที่เกิดขึ้นจากการมองปัญหาแบบนี้ในสังคมไทยต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะนำไปสู่ข้อสรุปที่เต็มไปด้วยอคติของการสร้างความเป็นอื่นและการแบ่งแยก ดังจะเห็นจากการนิยามว่าเยาวชนเหล่านี้เป็น “หัวโจก” และเป็นภัยคุกคามสังคม

ดังนั้น เราต้องเข้าไป “จัดการ” หรือถ้าจะให้สุภาพเข้ากับ “จริต” ทางการเมืองของคนไทยหัวใจรักกัน เรามักจะใช้คำว่า “ช่วยเหลือ ขัดเกลาและเยียวยา” แต่ก็ด้วยวิธีการที่ฉาบไปด้วยอคติของการมองปัญหาแบบปัจเจก นั่นก็คือ “สอดส่อง ควบคุมและเซ็นเซอร์” ดังจะเห็นได้จากมาตรการควบคุมทั้งหลายที่ออกมาจากการประชุมของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีลักษณะสำคัญคือการ “เฝ้าระวัง” โดยมีองค์กรทางอำนาจ (ตำรวจ สารวัตรนักเรียนและตัวสถานศึกษาเอง) เป็นศูนย์กลางของเครือข่าย “ล้มหัวโจก” ในขณะเดียวกัน “มาตรการระยะยาว” นั้นก็เน้นไปที่การตั้ง “คณะกรรมการ” ต่างๆขึ้นมาในรูปแบบของ “ภาคีเครือข่าย” ซึ่งในทางหลักการก็ดูเข้าที แต่ในกระบวนการและขั้นตอนของการได้มาซึ่งข้อสรุปนี้ เราจะเห็นว่า “ทุกภาคส่วน” นั้นมิได้มี “ส่วนของเยาวชนหัวโจก” ร่วมด้วยแต่อย่างใด

มาตรการเชิงรุกและระยะยาวนี้ล้วนกลั่นคั้นออกมาจากความคิดและความเห็นของ “ผู้ใหญ่ผู้หวังดี” แต่เพียงถ่ายเดียว โดยกีดกันผู้ที่เป็น “ตัวปัญหา” ออกไปจากการมีส่วนร่วม เพราะตัวปัญหาจะไม่สามารถคิด ทำและตัดสินใจอย่างสร้างสรรค์ได้แน่ๆ

ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามเสนออย่างกว้างขวางว่า ปัญหาเยาวชนตีกันนั้นเป็นปัญหาสังคม แต่วาทกรรมนี้ดูจะเป็นวาทกรรมที่มีแต่รูปแบบ ไร้เนื้อหาใดๆ มีไว้ใช้เพียงเพื่อประดับคำให้สัมภาษณ์ของผู้พูดเท่านั้นและเพื่อสร้างความอุ่นใจชั่วคราวให้กับสังคมเพราะตอบสนองกับสิ่งที่ความเห็นสาธารณะต้องการได้ยิน เข้าข่ายสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า political correctness (ความถูกต้องดีงามทางการเมือง)

หากในความเป็นจริงนั้น ไม่ได้มีความพยายามใดๆที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของวิธีการจัดการกับปัญหาให้สมกับที่อ้างว่าเป็นปัญหาสังคม เพราะเรายังคงมองเยาวชนเหล่านี้ว่าเป็นตัวก่อกวน มองว่าเป็นคนอื่น ที่ไม่ใช่พวกเรา ที่อยู่นอกเหนือไปจากพวกเรา และมองว่าเป็น “เชื้อร้าย” ของสังคม เราไม่ได้เอาตัวเราเองหรือสังคมทั้งหมดเข้าไป engage หรือมีส่วนร่วมจริงๆ ไม่ได้ตั้งตนว่า เรา ในฐานะคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน ก็ย่อมต้อง “มีส่วนต่อการเกิดขึ้น” ของปัญหาและ ดังนั้น จึงต้อง “มีส่วนรับผิดดชอบ” ต่อปัญหานี้เท่าๆกับเยาวชนผู้ก่อปัญหาโดยตรง

ในงานวิจัยของกรมสุขภาพจิตที่รมว.สธ.อ้างถึงนั้น สรุปไว้ว่า “กลไกก่อให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น 30 คน จาก 3 สถาบัน พบว่ามีปัจจัยหลักจากทัศนคติ ความคิด ค่านิยมความรุนแรง และศักดิ์ศรี ร้อยละ 60-80” ดังนั้นจึง “ต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรมเรื่องการใช้ความรุนแรง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ของเด็กและเยาวชนเหล่านี้

ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่จะหยุดแช่แข็งปัญญาของความคิดเห็นสาธารณะไว้เพียงแค่ข้อสรุปง่ายๆตื้นเขินว่า ต้องเปลี่ยนทัศนคติของเยาวชนเหล่านี้? ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่ เราทุกคนต้องตั้งโจทย์ใหม่ ต้องพลิกกลับกระบวนทัศน์ใหม่ ว่าอาจไม่ใช่ทัศนคติของเยาวชนที่มีปัญหา แต่เป็นทัศนคติที่ผู้มีอำนาจในการปกครองและสังคมไทยมีต่อเยาวชนต่างหากที่เป็นปัญหา?

แท้จริงแล้ว ปัญหาเยาวขนตีกันนั้นจึงไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาของปัจเจก และก็ไม่ได้เป็นปัญหาทางสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาทางวัฒนธรรม ดังนั้น จึงเป็นปัญหาทางการเมืองด้วยในเวลาเดียวกัน

ข้อสรุปชั่วคราวนี้จึงนำเรามาสู่ประเด็นที่สองคือ ประเด็นเรื่อง ภาพของสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ (ดังนั้นก็คือภาพของสังคมที่เราต้องการให้เป็นในอนาคตด้วยในเวลาเดียวกัน) ซี่งจะไปเกี่ยวเนื่องกับนโยบายปรองดองและปฏิรูปแห่งชาติที่รัฐบาลกำลังพยายามทำผ่านกลไกทางอำนาจทั้งหลายที่รัฐมีอยู่ในมือ

หลังจากเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่จบลงด้วยการตาย 91 ศพ รัฐบาลต้องการให้สังคมไทยก้าวกระโดดไปข้างหน้าด้วยการเสนอ “มาตรการระยะยาว” ภายใต้กรอบคิดเรื่อง “การปรองดอง” และ “การปฏิรูป” โดยมีวีธีการหลักๆคือ การสร้างเสริมจิตสำนึกของการรักชาติ ควบคู่ไปกับการดึงเอา “คนดี” มาเป็นธงชัยนำกองทัพปฎิรูป

“สถาบัน” ต่างๆ ทั้งทางการเมืองและทางสังคมถูกยกให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่แตะต้องไม่ได้

“ความดี” (และชุดคำที่มีนัยเดียวกัน “จริยธรรม” “ศีลธรรม” ฯลฯ) ถูกสถาปนาให้เป็นคุณค่าสูงสุดที่ต้องยึดมั่นถือมั่น

ในนามของ “ชาติไทย” และการรวมใจเป็นหนึ่งเดียว คนไทย “ที่ดี” นั้นจะต้องประพฤกติตัวบนเส้นทางนี้ที่รัฐบาลพยายามปูไว้ให้เท่านั้น หากเราเผลอก้าวออกนอกพรมแดงนี้เมื่อใด เราจะกลายเป็น คนไม่รักชาติ ผู้ก่อกวน ผู้ก่อการร้าย หัวโจก ฯลฯ ไปในทันที

ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่ายุคสมัยที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่นี้คือยุคของการกลับไปสู่การสร้างลัทธิ “ชาตินิยม” ในนามของการพัฒนาประเทศ และรัฐก็ใช้ความรุนแรงในหลากหลายวิธีเพื่อที่การสถาปนาลัทธินี้ เพราะในขณะที่รัฐบอกเราว่าเราควรจะรักกัน (ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาวและเชิงบูรณาการ) รัฐก็ใช้ “มาตรการเชิงรุก” ภายใต้กรอบคิด “ควบคุม สอดส่องและเซ็นเซอร์” (รวมไปถึงปราบปราม) กลุ่มคนที่คิดเห็นต่าง ทั้งทางการเมืองและทางสังคม ด้วยการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้

ดังนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว “สถาบันนิยม” ของเหล่าเยาวชนผู้รักการตีกัน จึงอาจเป็นผลผลิต (ในเชิงย้อนกลับ) ของลัทธิ “ชาตินิยม” ของบรรดาคนไทยหัวใจ (รักชาติ) เดียวกัน เพราะท้ายที่สุด ทั้งสองกลุ่มก็รักและเทิดทูน “คุณค่าสูงสุด” ในแบบเดียวกัน กลุ่มหนึ่งเทิดทูนสถาบันการศึกษา ส่วนอีกกลุ่มเทิดทูนแนวคิดเรื่องรัฐชาติหนึ่งดียว และทั้งสองกลุ่มตัดสินใจหรือกระทำการใดๆ ภายใต้ “ความเชื่อ” เรื่องคุณค่าสูงสุด

รูปแบบการเมืองของ “หัวโจก” จึงเป็นโมเดลขนาดเล็กของรูปแบบการเมืองของ “รัฐมาเฟีย” !

แต่ในขณะที่สังคมยอมรับ “อำนาจนิยม” แห่งรัฐได้ (สังคมยอมให้รัฐใช้ความรุนแรงได้ โดยมีข้ออ้างคือ “ความชอบธรรม”) เหล่านักศึกษาอาชีว “หัวโจก” กลับไม่สามารถอ้างความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้นที่จะใช้ความรุนแรงได้เลย นอกเสียจาก ความชอบธรรมหนึ่งเดียวที่บุคคลอื่นๆ ในสังคมยัดเยียดให้กับพวกเขาด้วยสายตาที่สังเวชระคนความโกรธเกรี้ยว

นั่นก็คือการมองว่าพวกเขาเป็นผู้ด้วยโอกาสทางสังคมอันเนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่บูดเบี้ยว

หากแต่เรามักจะลืมว่าโครงสร้างที่บูดเบี้ยวนี้ แท้จริงแล้ว ตั้งอยู่บนฐานของโครงสร้างทางอำนาจและทางคุณค่าที่เห็นแก่ตัว ใจแคบและเบ็ดเสร็จ !

กระบวนทัศน์ที่รัฐและสังคมใช้มองและจัดการกับปัญหาเรื่องเยาวชนก่อความรุนแรงจึงต้องได้รับการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้ติดอยู่ในกับดักเรื่อง “การสร้างคนดี” แต่เพียงถ่ายเดียว เพราะปัญหาของเยาวขนตีกันนั้นสะท้อนปัญหาที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าเรื่องของทัศนคติและค่านิยมของเยาวชน และยิ่งใหญ่ไปกว่าวาทกรรมกว้างๆ ว่าด้วยปัญหาสังคม เพราะมันคือปัญหาของระบบการให้คุณค่าและระบบการใช้อำนาจของสังคมไทยทั้งระบบ