ที่มา Thai E-News
โดย ประเวศ ประภานุกูล
6 มีนาคม 2554
ประเวศ ประภานุกูล คือทนายความอาวุโสที่ดูแลคดี "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" โดยเฉพาะคดีของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถือได้ว่าเป็นทนายที่ศึกษาและเข้าใจเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างลึกซึ้งมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทำลายล้างผู้มีความคิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ
ที่สำคัญได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชนผู้มีความเห็นต่างจากผู้กุมอำนาจรัฐไม่ให้แสดงความคิดเห็น
การใช้ถ้อยคำที่กำกวม คลุมเคลือ อย่างเช่น "ดูหมิ่น" ทำให้ง่ายต่อการขยายความกฎหมาย เป็นการขยายความกฎหมายทั้งๆที่หลักกฎหมายอาญาต้อง "ตีความโดยเคร่งครัด"
หลักกฎหมายอาญาได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงจากการขยายความกฎหมายมาตรานี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดของการขยายความ คือ การไม่ลุกขึ้นยืนขณะมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นความผิดตามมาตรานี้เป็นการยืนยันความผิดโดยคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลซึ่งได้ชื่อว่า ทำงานในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
การขยายความให้การ ไม่ลุกขึ้นยืนขณะมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นความผิดตามมาตรานี้ เท่ากับการขยายความมาตรานี้ให้มีความหมายว่า การไม่แสดงความเคารพ เท่ากับ ดูหมิ่น จะตีความหมายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องแสดงความเคารพให้กับ "เพลงสรรเสริญพระบารมี" โดยการฝ่าฝืนไม่แสดงความเคารพมีโทษสูงถึงจำคุก 15 ปี
สิ่งที่ตามมาและน่าสนใจกว่าในความเห็นของผม คือ ทำไมถึงต้องเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ในโรงภาพยนต์ ทำไมต้องเปิดเพลงนี้พร้อมกับฉายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนทำการฉายภาพยนต์
โรงภาพยนต์ คือ สถานที่ที่คนเข้าไปพักผ่อน หาความสำราญ หาความบันเทิง การเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วบังคับทุกคนที่เข้าไปชมภาพยนต์ให้ต้องลุกขึ้นยืน ไม่ใช่การละเมิดสิทธิ์ของผู้ที่ต้องการชมภาพยนต์??
เคยมีการถามความความเห็นประชาชนก่อนมั้ยว่า เขาต้องการให้เปิดเพลงก่อนดูภาพยนต์หรือไม่
นี่คือสิ่งที่สมควรมีและเกิดขึ้นในประเทศที่ประกาศตนว่า มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย??
*************
รายละเอียดเพิ่มเติม
กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล LM Watch
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
นิติธรรมร่ำไห้ แม้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดไม่มีโทษติดตัว แต่ไม่ให้ประกัน ไม่ปรานี คดีประหลาดดา ตอร์ปิโด
ทนายดา ตอร์ปิโด:คำพิพากษาที่สร้างความประหลาดใจ และคาดไม่ถึง
กาหลิบ:เหตุประหลาดในคดีดา ตอร์ปิโด