ที่มา Thai E-News
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ “ 6 ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” ที่กองทัพบก โดย พล.อ.ประยุทธ มั่นใจนักมั่นใจหนาว่า อาจจะมาถูกทางในการแก้ปัญหาไฟใต้ได้
โดย ปาแด งา มูกอ
5 มีนาคม 2554
ผบ.ทบ.วาง 6 ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ แฉ 90% มียาเสพติดเอี่ยวพวกก่อเหตุ...
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ในภาคใต้ ว่า กองทัพบก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้วางกรอบยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาไว้ 6 ยุทธศาสตร์
ทั้งงานด้านมวลชน การสร้างความเข้าใจต่อประชาชน ดูแลงานมวลชนและผู้นำศาสนา ให้เข้าใจถึงกรอบการทำงานของเจ้าหน้าที่และนำไปขยายผลต่อยังชุมชนที่เป็นชาวมุสลิม และดูแลปัญหาแทรกซ้อนด้านยาเสพติด
โดยในชุมนุมเหล่านั้นมีความต้องการให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปช่วยอย่างไร เนื่องจากพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในการก่อเหตุ มีปัญหาเรื่องยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง
รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของครูในพื้นที่ภาคใต้ การสร้างความเข้าใจกับมวลชนโดยในปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ได้ให้ความสำคัญ กับการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำงานในหลายมิติ
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้มีการเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลพื้นที่ฝั่งภูเขา รวมถึงพื้นที่ต้องสงสัยได้มีการปิดล้อมและตรวจค้น ที่ผ่านมา สามารถเข้าควบคุมพื้นที่และทำลายฐานที่มั่นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ และได้ยึดของกลาง ได้แก่ ปืนเล็กยาว เอ็ม 16 จำนวน 8 กระบอก ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 47 คน
พร้อมกับดำเนินการจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัดในเขตเมือง จำนวนกว่า 300 แห่ง ทำให้ขยายผลในการจับกุมและยึดยาเสพติดได้กว่า 2 แสนเม็ด ยึดน้ำมันเถื่อนได้กว่า 1 แสนลิตร รวมถึงยังเน้นให้การดูแลการก่อเหตุด้วยวิธีการวางระเบิด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านการข่าวเป็นสิ่งที่ต้องมีการปรับให้เกิดความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกับฝั่งประเทศของมาเลเซีย
นี่คืออีกสาเหตุหนึ่ง ในอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิด “ไฟใต้นอกระบบ” ที่ส่งผลให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ต่างคิดค้น “ยุทธศาสตร์ใหม่” ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ในเหตุการณ์รุนแรงประจำวันทุกวันนี้
แล้วอะไรคือ “ไฟใต้นอกระบบ”
อธิบายง่ายๆอย่างนี้ครับ “ไฟใต้นอกระบบ” หมายถึงเหตุการณ์รุนแรงประจำวัน ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบว่า ใคร?กลุ่มใด? เป็นผู้กระทำหรือลงมือปฏิบัติการ ที่นึกอยากจะลงมือที่ไหน เมื่อใด กับใคร ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวก ความสบายใจของบรรดาสารพัดท่านผู้ก่อเหตุร้าย ในการลงมือ
ปัญหา “ไฟใต้นอกระบบ” พูดไปพูดมาก็ต้องโทษรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคงของรัฐล่ะครับ ที่มัวแต่เล่นของเล่นชิ้นเดียวเหมือนเด็กปัญญาอ่อน หรือหายใจเข้า หายใจออก ที่หมกหมุ่นอยู่แต่เรื่องกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบอย่างเดียว ไม่ว่า พูโลเอย บีอาร์เอ็นเอย อาร์เคเค เอย
จนถึงวันนี้ความปัญญาอ่อนเริ่มผ่อนคลายลง ดวงตาและสมองเริ่มมองเห็นความจริงปรากฏขึ้นเป็นลางๆว่า เอ.....!!!!!ไอ้ที่พวกเรามัวไปบ้ากับ “กลุ่มผี”น่าจะถูกผีหลอกเสียแล้วกระมัง เห็นทีต้องลองเปลี่ยน “ยุทศาสตร์” ใหม่ๆมาปรับใช้ซ่ะหน่อย เผื่อจะได้ผลและได้งบประมาณเพิ่มเป็นของแถม
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ “ 6 ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” ที่กองทัพบก โดย พล.อ.ประยุทธ มั่นใจนักมั่นใจหนาว่า อาจจะมาถูกทางในการแก้ปัญหาไฟใต้ได้
ก่อนที่จะไปถึง “6 ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” ผมใคร่ขอคำชี้แนะจากท่านผู้อ่านที่มีความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ 6 ยุทธศาสตร์ ” หน่อยครับว่า คำๆนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมจึงต้องกำหนดเพียง 6 ข้อเท่านั้น
มากกว่า 6 หรือน้อยกว่า 6 ได้ไหม ..? และก็ หมายเลข 6 มีเคล็ดหรือมีอาถรรพ์ อะไร??? เรื่องนี้ผมจนปัญญาจริงๆครับ ช่วยเป็นวิทยาทานให้ผมด้วยน่ะครับ
เพราะเท่าที่ผมลองค้นคว้าดูไอ้คำว่า “6 ยุทธศาสตร์” ซึ่งมีมากพอสมควร อาทิ ทำ 6 ยุทธศาสตร์ แก้ปัญหาเด็กตั้งครรภ์ / กรมอนามัย ขับเคลื่อน 6 ยุทธศาสตร์ผลักดันนโยบาย เพิ่มไอโอดีน / 6 ยุทธศาสตร์ นโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ปี 2554 / พาณิชย์ปรับ 6 ยุทธศาสตร์ค้าเสรีดึงประโยชน์จาก AEC-FTA / 6 ยุทธศาสตร์ในการอ่านใจคน แบบพุทธศาสตร์ / พม.ชง 6 ยุทธศาสตร์ แก้ปัญหาท้องไม่พร้อม
ผมไม่ทราบว่า “6 ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” ของท่าน ผบ.ทบ.ที่ออกใหม่ กับ “6 ยุทธศาสตร์รอง” ของแม่ทัพภาค 4 ของผมทางภาคใต้ มันเป็นยุทธศาสตร์เดียวกันหรือไม่? แต่น่าจะไม่ใช่ เพราะมันมีคำว่า “รอง” พ่วงท้ายอยู่ ไม่ทราบว่า “รอง” จากใครหรือ “รอง” รับอะไร งงๆจริง
นี่รวมแล้วก็ปาเข้าไป “ 12 ยุทธศาสตร์” เข้าไปแล้ว ผมหนักใจแทนเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์จริงๆไม่รู้จะจำกันได้หรือเปล่า
นี่ถ้าเกิด กระทรวงมหาดไทยคิดบ้าๆขึ้นมาเพิ่มอีก “6 ยุทธศาสตร์” ขึ้นมาอีก มันส์ล่ะครับทีนี้ หรือหาก ศอ,บต. , กองทัพเรือ , กองทัพอากาศ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยากจะมันส์กับเขาด้วย ต่างเพิ่ม “6 ยุทธศาสตร์” เข้าไปอีก มันก็ปาเข้าไปเป็น “ 42 ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้”
ทีนี้และครับ กรมสุขภาพจิต ก็จะได้มีโอกาสประกาศ “6 ยุทธศาสตร์พิชิตโรคจิต” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดชายแดนใต้ได้นำไปปฏิบัติใช้กันบ้าง
ทีนี้มาดู “6 ยุทธศาสตร์รอง” ของแม่ทัพภาค 4 ของผมทางภาคใต้ กันบ้างว่า มีดีอะไรบ้าง
(27 ต.ค.53 ) พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้แถลงนโยบายการปฏิบัติงาน “สานใจสู่สันติ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบนโยบายของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดย พล.ท.อุดมชัยกล่าวว่า นับตั้งแต่รับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ตนเองได้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายกองทัพบก โดยผู้บัญชาการทหารบกได้มอบให้ในปี 2554 ซึ่งได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นยุทธศาสตร์หลักในการปฏิบัติงาน และในยุทธศาสตร์รอง ได้มีการกำหนดเพิ่มอีก 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ คือ
1.อำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเดินทางกลับมาอยู่อาศัยในภูมิลำเนาเดิมอย่างปกติสุข
2.เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็นต่างกับรัฐ ได้มีช่องทางสามารถแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
3.ขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง อันส่งผลให้เกิดความไม่สงบในสังคม ให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม
4.ฟื้นฟู และส่งเสริมวิถีชีวิตตามหลักคุณธรรมที่ดีงามของสังคม อันหลากหลายบนพื้นฐานการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมซึ่งกัน และกันให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
5.สนับสนุนประชาชน และภาคประชาสังคมอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วด้าน
6.รณรงค์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
เจ๋งไหมครับ “6 ยุทธศาสตร์รอง” ของแม่ทัพภาค 4 แต่เชื่อเถอะครับชาติหน้าบ่ายๆ อาจจะสำเร็จครับ
"ชวน"แนะทุกฝ่ายร่วมมือดับไฟใต้วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขอเอาใจช่วยเจ้าหน้าที่เพราะต้องเสี่ยงตลอดเวลา โดยก่อนหน้านี้ตนได้ขอร้องนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ให้ไปอยู่ประจำในพื้นที่เป็นหลัก แต่ได้รับการชี้แจงว่าไม่มีอำนาจ ซึ่งตนคิดว่าอย่างน้อยหากมีคนประสานบ้างก็จะดี เพราะการเป็นหนึ่งเดียวกันในการทำงาน หรือการร่วมมือของแต่ละฝ่ายเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะโยนความรับผิดชอบไปให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่ผู้เดียวเป็นเรื่องยาก ซึ่งมีทั้งเรื่องการป้องกัน การพัฒนา ผสมผสานกันไป เพราะเขามองยาวไปข้างหน้า ต้องพัฒนาพื้นที่ ต้องมีอาชีพ ขณะเดียวกันต้องปราบปรามป้องกันไปด้วย
นายชวนกล่าวอีกว่า ส่วนการปรับโครงสร้างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขณะนี้เพิ่งเริ่มต้นยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ต้องให้เวลา เรื่องนี้เพราะกฎหมายเพิ่งออกมา ส่วนจะใช้ได้หรือไม่ต้องดูกันต่อไป