ที่มา ประชาไท
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยข้ออ้างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ “ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตความแตกแยกของคนในชาติ นำสังคมกลับสู่ความสงบสมานฉันท์”
เหตุผลที่เขาย้ำอยู่เสมอว่าเขามีความชอบธรรมที่จะมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำสังคมกลับคืนสู่ความสงบสมานฉันท์ คือ “ผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง ไม่ได้ทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่ทำเพื่อชาติเพื่อปกป้องสถาบัน”
จะเห็นได้ว่า วิธีอ้างเหตุผลของอภิสิทธิ์เป็นการอ้าง “คุณธรรมส่วนตัว” (เช่น ความซื่อสัตย์) เหนือ “หลักการ” ด้วยความดีส่วนตัวทำให้เขาเห็นว่า เขามีความชอบธรรมที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะก้าวขึ้นมาด้วยวิธีการผิดหลักการประชาธิปไตยก็ตาม เช่น ใช้ “เส้นสนกลใน” ไปฉก ส.ส.จากพรรคคู่แข่งมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ไปฟอร์มรัฐบาลในค่ายทหาร หรือยอมเป็นรัฐบาลอำมาตย์อุ้ม กระทั่งยอมเป็น “เบี้ย” ให้กับอำนาจเผด็จการจารีต
วิธีคิดที่ว่า ถ้าเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว (เช่น “สุรยุทธ์เป็นคนดีที่สุด” ฯลฯ) ย่อมมีความชอบธรรมที่จะขึ้นมามีอำนาจรัฐ แม้ว่าการขึ้นมามีอำนาจนั้นจะผิดหลักการประชาธิปไตยก็ตาม ก็คือวิธีคิดเดียวกันกับถ้าเป็นคนเลวหรือไม่มีคุณธรรมแล้วก็สมควรถูกขจัดออกไปจากอำนาจรัฐแม้ด้วยวิธีรัฐประหารก็ตาม
วิธีคิดเช่นนี้คือวิธีคิดที่ยืนยันความชอบธรรมของรัฐประหารขจัดคนเลว และจัดหาคนดีมาปกครองประเทศ ทว่าคนทำรัฐประหารและมีอำนาจจัดหาคนดีคือกลุ่มชนชั้นนำที่อยู่ในเครือข่ายของโครงสร้างหรือที่สนับสนุนโครงสร้างอำนาจเผด็จการจารีตเท่านั้น !
และยิ่งวันเวลาผ่านไปกลุ่มชนชั้นนำดังกล่าวยิ่งแสดงอำนาจเหิมเกริมไม่เห็นหัวประชาชน ยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านและเรียกร้องประชาธิปไตยที่ยืนยัน “ระบบที่เป็นประชาธิปไตย” ที่ประชาชนมีเสรีภาพในการปกครองตนเองอย่างแท้จริง ความสงบสมานฉันท์ยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้
เมื่อมันเป็นความขัดแย้งในเชิงหลักการและอุดมการณ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นเรื่องความความโกรธกัน เกลียดกัน การที่ใครก็ตามเอาแต่อบรมประชาชนว่า เราเป็นคนไทยด้วยกันต้องรักกัน ต้องสามัคคีกัน ต้องเห็นแก่ชาติบ้านเมือง ฯลฯ ย่อมเป็นการอบรมที่เพ้อเจ้อ
เพราะการสร้างความสงบสมานฉันท์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมทั้งระบบ คือโครงสร้างอำนาจจารีตจะต้องไม่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย กฎหมายหมิ่นฯ หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราใดๆ ที่ขัดกับหลักความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคตามกฎหมาย และเสรีภาพที่เท่าเทียมของประชาชน จำเป็นต้องถูกแก้ไขปรับปรุง
แต่ในเบื้องต้นต้องเริ่มการเปลี่ยนผ่านโดยการเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยก่อนคือการเลือกตั้ง
ทว่าทั้งที่อภิสิทธิ์เป็นเงื่อนไขสำคัญของความขัดแย้ง เพราะเขายอมตัวเป็น “เบี้ย” ของเครือข่ายอำนาจจารีตที่ทำรัฐประหารซึ่งถูกต่อต้านโดยประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย ฉะนั้น การคิดจะขึ้นมาเป็นนายกฯ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตความขัดแย้งถ้าไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหลอกตัวเองสุดๆ ก็เป็นเรื่องของการแสดงละครน้ำเน่าสุดๆ
ยิ่งพูดเป็น “แผ่นเสียงตกร่อง” ว่า “พร้อมจะยุบสภาเมื่อบรรยากาศของบ้านเมืองสงบ ปรองดอง” ยิ่งเป็นการพูดที่ไร้สาระ เพราะตัวผู้พูดนั่นเองคือเงื่อนไขของความแตกแยก
อภิสิทธิ์ลงจากอำนาจเมื่อใดเท่ากับเงื่อนไขของความขัดแย้งแตกแยกถูกแก้ไปเปราะหนึ่ง
การอยู่ในอำนาจของอภิสิทธิ์ไม่ว่าที่ผ่านมาหรือต่อไปไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าบ้านเมืองจะสงบสุข เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 คือข้อพิสูจน์ เพื่อรักษาอำนาจของคนที่บอกว่า “ผมไม่มีผลประโยชน์อะไรจากการเป็นนายกฯ” ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
จะว่าไปแล้วอภิสิทธิ์ก็แทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นนายกฯ เลยจริงๆ เพราะการก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ดูเหมือนจะง่ายกว่าการลงจากอำนาจ แค่เล่นเกมไม่กี่เกม เช่น ไม่ยอมลงเลือกตั้ง เสนอมาตรา 7 ส่งคนมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตร ยอมตัวเป็น “เบี้ย” ของโครงสร้างอำนาจจารีต ก็ได้เป็นนายกแล้ว
แต่การลงจากตำแหน่ง “นายกฯ 91 ศพ” จะลงอย่างไรถึงจะมีชีวิตอย่างปกติสุขในวันข้างหน้า และที่สำคัญกว่านั้นคือจะทำอย่างไรที่จะให้ตัวเองไม่ตกอยู่ในสถานะกลายเป็น “เบี้ยที่ไร้คุณค่า”
แน่นอนว่าอภิสิทธิ์คือ “เบี้ยที่ไร้คุณค่า” มานานแล้ว ในสายตาของประชาชนที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยหรือต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย
แต่ก็น่าฉงนว่า เขาเป็นเบี้ยที่มีคุณค่าจริงๆ ในสายตาของ “ผู้ใช้เบี้ย” หรือเปล่า?
รูปธรรมที่เห็นคือ ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ทำให้กองทัพมีอำนาจสุดๆ ตั้งเพิ่มสองกองพลในภาคเหนือและอีสานอย่างง่ายดาย ไม่ต้องพูดถึงอำนาจจัดการความมั่นคงภายใน การได้งบประมาณมหาศาล ปัญหาทุจริตโดยไม่มีการตรวจสอบและเอาผิดอย่างจริงจัง ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ทำให้อภิสิทธิ์เป็น “เบี้ยที่มีคุณค่า” ในสายตาของ “พวกเขา” จริงหรือ?
เกรงแต่ว่า การยืดเวลายุบสภาออกไปเรื่อยๆ โดยข้ออ้างทื่อๆ เดิมๆ จนเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมีขึ้น ยิ่งมีโอกาสสูงที่จะทำให้อภิสิทธิ์กลายเป็น “เบี้ยสะบักสะบอม” และอาจกลายเป็น “เบี้ยที่ไร้คุณค่า” ในที่สุด
“เบี้ยอภิสิทธิ์” จึงเป็นบทเรียนของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่สอนให้รู้ว่า การยอมตัวเป็น “เบี้ย” ของโครงสร้างอำนาจเผด็จการจารีต โดยอ้างความดีของตนเองอย่างฉาบฉวย ไร้มโนสำนึกรับผิดชอบอย่างจริงจังต่อการปกป้องหลักการประชาธิปไตย และไม่เห็นหัวประชาชนนั้น
สุดท้ายแล้ว ไม่ happy ending อย่างที่คิด !