ที่มา ประชาไท
ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทยและภูมิใจไทยโชว์วิสัยทัศน์ นโยบายกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ระบุ ประชาชนพร้อมดูแลตัวเอง ขณะตัวแทน ปชป. ขอโอกาสบริหารประเทศต่อเนื่อง ด้านศุภชัย ใจสมุทร วิพากษ์ไทยถูกออกแบบมาให้รวมศูนย์
3 มี.ค. 2554 ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค น.ส. ผ่องศรี ธาราภูมิ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย และ นายศุภชัย ใจสมุทร ตัวแทนพรรคูมิใจไทย ร่วมเสวนาเรื่อง นโยบายพรรคการเมืองต่อการคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น ดำเนินรายการโดยนายเฉลียว คงสุข
น.ส.ผ่องศรีกล่าวถึงแนวทางการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้ประชาชนมีบทบาทในการบริหารจัดการตัวเองของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ปชป.เป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองและเป็นพรรคที่มีอายุยืนยาวก้าวสู่ปีที่ 65 โดยอุดมการณ์ที่ชัดเจนข้อหนึ่งคือ การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ประกาศตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค และเชื่อมั่นว่าชุมชนท้องถิ่นจะเป็นคำตอบในการทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งและก้าวไปสู่เป้าหมายร่วมกันเพราะประเทศไทยใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าจะให้ส่วนกลางหรือคนใดคนหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้ และที่ผ่านมา พรรคได้ผลักดันการตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ ท้องถิ่นมีพลังอยู่ในตัว แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาหรือการบริหารประเทศไม่ได้จุดประกายให้ท้องถิ่นได้จัดการดูแลตนเองอย่างเต็มที่ โดยอนาคตต้องประสานความร่วมมือในการสร้างเครือข่าย บางเรื่องท้องถิ่นถนัดก็ต้องให้ท้องถิ่นเป็นผู้ผลักดัน แต่บางประเด็นชุมชนอาจจะเข้มแข็งกว่า ก็ควรผลักดันให้ทำงานร่วมกัน
ส่วนนโยบายที่พรรคสนับสนุนให้ท้องถิ่นดูแลจัดการตัวเอง มีรูปธรรมที่เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อนของประเทศ คือ ที่ดินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และอมตะของประเทศ เช่น ปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน มีการประกาศพื้นที่ราชการทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน รวมถึงที่ดินที่มีอยู่จำกัดทำให้เกิดการขยายตัวเป็นชุมชนในเขตหวงห้าม หรือการกระจายการถือครองที่ดิน ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ ปชป. มีนโยบายชัดเจน เพื่อแก้ปัญหา เช่น โฉนดชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับชุมชนที่เข้มแข็ง ขณะนี้มีการจัดตั้งสำนักงานโฉนดชุมชนที่สำนักนายกรัฐมนตรี
ส่วนเรื่องที่ดินรกร้างว่างเปล่าในมือนายทุนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขณะที่คนที่ต้องการทำการเกษตรเข้าไม่ถึงที่ดิน โดยนโยบายการจัดตั้งธนาคารที่ดินจะช่วยจัดสรรและกระจายการถือครองที่ดิน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น
สำหรับการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนนั้น พรรคประชาธิปัตย์เคยเริ่มกองทุนเพื่อการจัดการทางสังคม หรือกองทุนซิป ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายกองทุนหมู่บ้าน นอกจากนี้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนตั้งแต่ระดับฐานราก
นางผ่องศรี กล่าวในฐานะคณะกรรมการติดตามนโยบายและคณะทำงานสมัชชาประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ที่ผ่านมา ปชป. รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อพัฒนานโยบายอย่างมีส่วนร่วม
ตัวอย่างสุดท้ายคือการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นการเอาบทเรียนจากภาคประชาชนจริงๆ มาผลักดันนโยบาย โดยชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม ต่อมาเมื่อชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลก็จะเข้าร่วมสนับสนุนด้วย เป็นการประสาน 3 ส่วน คือ ชุมชน ท้องถิ่น และรัฐบาล และผลักดันร่าง พ.ร.บ. กองทุนสวัสดิการแห่งชาติ เพื่อให้เกิดบำเหน็จชาวบ้าน บำนาญประชาชน
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ก่อตั้งมาไม่นาน แต่รากเหง้ามาจากพรรคไทยรักไทย และพลังประชาชน ซึ่งสิ่งที่พรรคดำเนินการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างได้ผลคือการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แม้จะไม่มีรูปแบบที่สมบูรณ์และเป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่นอย่างเต็มที่ และพยายามสืบทอดและเดินตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 ก็ตาม การถ่ายโอนอำนาจเป็นนโยบายพื้นฐานของรัฐอยู่แล้ว ใครที่ขึ้นมาบริหารก็ต้องทำให้การถ่ายโอนอำนาจสมบูรณ์เป็นรูปธรรมและคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง
หลักการและจุดยืนของพรรคเพื่อไทยคือ การถ่ายโอนอำนาจไม่ใช่การถ่ายโอนจากส่วนกลางไปสู่ผู้บริหารท้องถิ่นจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องกำหนดหลักการและกฎหมายให้ย้อนคืนกลับไปให้ถึงเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยซึ่งก็คือประชาชน
หลักการแบบนี้ ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นปรากฏอยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั้งสิ้น และหากดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องมุ่งไปสู่ความสำเร็จในการกระจายอำนาจและคืนอำนาจให้กับท้องถิ่นได้อย่างแน่นอน
แต่ปัญหาคือระหว่างทางของการถ่ายโอนอำนาจเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีอุปสรรค ซึ่งได้มองจากผู้บริหารพื้นที่ 5 กรอบด้วยกัน ได้แก่
หนึ่ง กำหนดการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปอย่างครบถ้วน
สอง ต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นกับประชาชน เพราะแม้แต่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการปกครองพิเศษ และมีรูปธรรมความสำเร็จในการกระจายอำนาจ งบประมาณกรุงเทพฯ จัดเก็บงบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพียง 10,000 กว่าล้าน แต่ก็ยังมีจุดอ่อนคือ ยังติดยึดกับระบบเลือกตั้งการได้มาและการตอบแทนจากภาครัฐ ยังมีผู้นำชุมชนยึดโยงกับนักการเมืองท้องถิ่นและแยกแยะจากกันไม่ได้เลย และเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเงินที่นักการเมืองท้องถิ่นนำมาสร้างความสมบูรณ์ให้กับชุมชนเป็นเรื่องของบุญคุณ ถ้านักการเมืองท้องถิ่นมาทำถนนให้ เอาของมาแจก พี่น้องประชาชนต้องเข้าใจว่าการเมืองเป็นภาคอาสา สิ่งที่ทำคือการตอบแทนกับชุมชน
สาม การพัฒนาบุคลากร ซึ่งไม่ใช่พัฒนาแต่ส่วนกลางเท่านั้น แต่ต้องติดอาวุธทางปัญญาหรือใส่องค์ความรู้ให้กับประชาชนในชุมชน นั่นคือพัฒนาทั้ง ‘ผู้ใช้’ คือประชาชน และ ‘ผู้รับใช้’ คือนักการเมือง มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการบิดเบือนในการถ่ายโอนอำนาจ คืองบประมาณ ถ้าหากยังไม่มีการถ่ายโอนที่ชัดเจน ยังยึดโยงกับส่วนกลางของรัฐแล้วปล่อยให้ชุมชนบริหารเอง จะเกิดลักษณะของการเชื่อมโยงผลประโยชน์ แล้วประชาชนจะเสียประโยชน์ นโยบายดีๆ หลายอย่างไม่สำเร็จเพราะการใช้งบประมาณที่ยังติดและยึดโยงกับระเบียบที่ส่วนกลางเป็นผู้กำหนด
สี่ การได้มาของผู้บริหาร การจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้งส่วนกลางยังเข้าไปควบคุม ควรปลีกตัวออกมาเป็นพี่เลี้ยงได้แล้ว ผู้บริหารชุมชนควรมาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมโดยชุมชนของตนเอง จะทำให้ผู้นำท้องถิ่นมีประสิทธิภาพและไม่ยึดโยงกับการเมืองส่วนกลาง
ห้า ต้องมีพี่เลี้ยง ซึ่งพี่เลี้ยงที่ยังติดยึดกับโครงสร้างราชการโดยตรง จะลำบากโดยเฉพาะส่วนที่ห่างไกลโครงสร้างอำนาจ เช่น จังหวัดที่ผู้แทนเป็นฝ่ายค้าน ผลักดันให้ท้องถิ่นเข้าถึงงบประมาณได้ลำบากกว่าทำให้ต้องใช้วิธีการส่วนตัว ไม่เกิดความเท่าเทียม ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ให้เกิดองค์กรอิสระที่สามารถเชื่อมโยงทุกเรื่องให้ผู้บริหารชุมชน
การขับเคลื่อนการกระจายอำนาจทั้งห้าเรื่อง พรรคเพื่อไทยพยายามปรับปรุงและพัฒนาแนวทางมาตลอด เช่น โครงการเอสเอ็มแอล เป็นหลักการหรือหลักคิดในการมองหาความสำเร็จในการกระจายอำนาจ เพราะส่วนกลางมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงอนุมัติงบประมาณตามโครงการที่ชุมชนคิดเองทำเอง มีการทำประชาคมคิดโครงการที่เหมาะสมกับตนเอง และบริหารจัดการเอง ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชน ใช้ทรัพยากรในชุมชน จ้างบุคคลในชุมชน ซึ่งสะท้อนความสำเร็จมาระดับหนึ่ง
นายศุภชัย กล่าวว่าดูเหมือนว่าขณะที่รัฐบาลทุกรัฐบาลกำลังพูดถึงการกระจายอำนาจ คือ รัฐคิดว่าตนเองมีอำนาจ แต่ชุมชนคิดว่าอำนาจเป็นของตนเอง สำหรับความเห็นส่วนตัวคิดว่า อำนาจคือสิทธิอันชอบธรรม เมื่อถามว่าสิทธินี้เริ่มจากรัฐธรรมนุญ 2540 แต่ก็พบว่าบรรทัดสุดท้ายของรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ซึ่งจะพบว่าสิทธิชอบธรรมก็อยู่ที่รัฐกำหนด และความจริงที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยถูกออกแบบให้รวมศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ มานานพอสมควร และเป็นคนกำหนดว่าท้องถิ่นควรมีสิทธิมากน้อยเพียงใด แล้วจึงมาออกแบบกัน
การกระจายอำนาจเป็นคำที่เลื่อนลอย การรวบอำนาจที่ส่วนกลางยังคงต้องดำรงอยู่และต้องดำเนินต่อไป เพราะประเทศไทยออกแบบไว้เช่นนี้ นายศุภชัยกล่าวว่าประเทศที่ปกครองโดยชุมชนมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการปกครองนั้นเป็นการออกแบบมาตั้งแต่ต้น แต่เรื่องการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นของไทยยังเป็นปัญหาที่ยังต้องถกเถียง และยังต้องตั้งคำถามว่าท้องถิ่นมีความพร้อมแค่ไหนในการดำเนินการ เช่น การโอนเรื่องการศึกษาให้ท้องถิ่นทำ จะทำได้ทุกที่จริงหรือ กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ยอม
เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นต้องมาร่วมกันออกแบบประเทศใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ให้ส่วนกลางมีอำนาจน้อยลง เช่นญี่ปุ่นไม่มีกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ความเป็นชุมชนท้องถิ่นก็กำลังถุกรุกล้ำ ซึ่งเป็นปัญหา เช่น กรณี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งรัฐกำลังสำรวจทรัพยากรน้ำมันในพื้นที่ โดยนายศุภชัยกล่าวว่า ต่อไปปัญหาจะสลับซับซ้อนขึ้นในแง่การแย่งชิงทรัพยากรซึ่เงป็นปัญหาพื้นฐานของมนุษย์และจะรุนแรงขึ้น
ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยมี ส.ส. ประมาณ 58 คน สะท้อนปัญหาชุมชนท้องถิ่นมาก และประเทศไทยต้องกล้าหาญชาญชัยในการออกแบบประเทศใหม่ ความเป็นรัฐชาติที่เป็นอยู่แล้วบอกว่านี่คือนิติรัฐ ถ้าจะออกแบบประเทศไทยใหม่ เรื่องการเลือกตั้งเขตเล็กเขตใหญ่ควรแก้ไขใหม่ หรืออาจจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ในความเป็นจริง เมื่อถึงเวลาก็อาจจะมีหัวคะแนนพรรรคใหญ่ หรือประชาชนเลือกตามนโยบายพรรคการเมืองใหญ่
ทั้งนี้พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคเล็ก ต่อให้คิดก็ไม่อาจจะทำให้เป็นจริงได้ แต่ทำได้ในแง่การผลักดันให้กับพรรคการเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามพรรคฯ มีแนวคิดเรื่องการคืนอำนาจให้ประชาชน พร้อมเสนอแนวคิดทดลองจากท้องถิ่นที่พร้อมในการบริหารจัดการตนเอง เช่น พัทยา ภูเก็ต
การกระจายให้เงินหรือให้งาน อาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ท้องถิ่นอยากได้ ท้องถิ่นอาจเรียกร้องเรื่องการดูแลตัวเอง แต่ก็ต้องถามตัวเองให้ดีว่าสามารถต่อยอดได้จริงหรือไม่ ปกครองตัวเองโดยมีอำนาจในการบริหารจัดการจริงหรือไม่ สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือการให้การศึกษากับประชาชนอย่างเพียงพอ กฎหมายที่เอื้อต่อการใช้สิทธิของชุมชน
ผู้ดำเนินรายการถามถึงโครงสร้างในการกระจายอำนาจ ว่าแต่ละพรรคมีแนวคิดอย่างไร นางผ่องศรีตอบว่า ปชป. ไม่เคยเปลี่ยนจุดยืน โดยเน้นเรื่องการให้ท้องถิ่นมีการจัดการตัวเองในรูปแบบต่างๆ แต่ในโบกความเป็นจริง ปชป. มักบริหารประเทศในช่วงวิกฤตและขาดความต่อเนื่องในการบริหาร แต่วันนี้มีโอกาสอีกครั้งและท้องถิ่นมีการตื่นตัว และมีพัฒนาการ โดยพรรคประชาธิปัตย์อยากให้มีเขตปกครอง เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะเมืองชายแดน ต้องมีรูปแบบการปกครองที่ท้องถิ่นสามรถดูแลแก้ปัญหาของท้องถิ่นตัวเองได้ แต่ก็ต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาได้ลงมือปฏิบีติแล้วมีการสรุปบทเรียน ในส่วนของท้องถิ่นนั้นซึ่งยังไม่มีอิสระในการบริหาร ก็ได้รับฟังว่าอยากให้มีสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นางผ่องศรีกล่าวว่า ท้องถิ่นต้องเป็นตัวของตัวเองและเชื่อมโยงกันซึ่งจะทำให้ประเทศมีความมั่นคงเข้มแข็งด้วย แต่ท้องถิ่นจะเข้มแข็ง คนของท้องถิ่นก็ต้องมีคุณภาพ โดยท้องถิ่น หน่วยงานราชการต้องร่วมมือกัน โรงเรียนในชุมชนก็ต้องเป็นที่พึ่งของชุมชนได้ ทำให้เกิดความรักถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน และอยากเรียกร้องให้ท้องถิ่นดูแลคนในท้องถิ่นมีคุณภาพ และเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการด้วย โดยพรรคสามารถหนุนเสริมในแง่นโยบาย เพราะหากประชาชนเข้มแข็ง ก็จะรู้เท่าทันทางการเมือง พร้อมสรุปว่าถ้าท้องถิ่นไม่เข้มแข็งก็อย่าหวังว่าการเมืองระดับชาติจะเข้มแข็ง แล้วนโยบายที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยกจะกลับคืนสู่ท้องถิ่น ส่วนเรื่องงบประมาณนั้นรัฐบาลกำลังจัดทำงบประมาณ และได้รับทราบปัญหา และคิดว่าภารกิจหลายเรื่องที่ถ่ายโอนให้ท้องถิ่น ก็พยายามจัดสรรให้ปิดปีงบประมาณให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งของท้องถิ่นอย่างชัดเจน โดยส่วนตัวอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดด้วยซ้ำ แต่คงไม่สามารถทำได้ทันที แต่อาจทำได้ในพื้นที่ที่มีความพร้อม รวมถึงความพร้อมในแง่รายได้และงบประมาณที่สามารถดูแลตนเองได้
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่าเมื่อกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนจากการเป็นจังหวัดมาสู่เป็นเขตการปกครองพิเศษเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้ว่าฯ การพัฒนาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็สะท้อนเรื่องการกระจายอำนาจสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี ในเบื้องต้นการคืนอำนาจให้ประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ทำได้และจะสำเร็จด้วย เพราะว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศ
เมื่อมีการคืนอำนาจในระดับที่สมบูรณ์แล้วประชาชนจะได้สิ่งที่ตนต้องการอย่างแท้จริง กรุงเทพฯ มีทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน ที่สังกัดกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้เงินอดหนุนจากรัฐบาลมาก ใช้การเก็บภาษีและรายได้จากคนในกรุงเทพฯ มาใช้ประโยชน์ให้กับพื้นที่ แต่ทุกอย่างไม่ได้สวยหรู ก็ยังมีข้อบกพร่อง มีปัญหาบางอย่าง เช่น การทำถนนโดยใช้งบประมาณกว่าเก้าร้อยล้าน ซึ่งหากเอาไปซ่อมแซมถนนย่อย จะมีถนนเพิ่มมากขึ้น แต่กลับถูกทำบนถนนสายหลักที่ยังไม่ชำรุดแต่อย่างใด ทำให้เห็นว่าการใช้งบประมาณอาจจะยังไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์และเป็นตามความพอใจของประชาชน การกระจายอำนาจจะไม่เริ่มต้นเป็นบ้องไม้ไผ่แต่เหลาไปเป็นบ้องกัญชา แต่มันจะกลายเป็นยอดไผ่ และสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ แต่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้เข้ากับท้องถิ่น ก็ต้องดูในเรื่องข้อเท็จจริง และเห็นว่าการปรับเปลี่ยนนั้นเราอาจค่อยปรับเปลี่ยนในสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปได้และขยับตัวไปเรื่อยๆ การคืนอำนาจให้กับประชาชนจะเกิดได้จริง
อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขสองข้อ คือ หนึ่ง การพัฒนาบุคลากรของท้องถิ่นเอง ซึ่งรากเหง้าคือประชาชน ผู้ที่มาเป็นตัวแทนท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องรู้และเข้าใจงวิถีท้องถิ่นอย่างแท้จริง และสอง การใช้อำนาจ หรือมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ รวมถึงอำนาจในการใช้งบประมาณด้วย
และแม้การพูดเรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะเหมือนเป็นการพูดเชิงอุดมคติ แต่การจะพิจารณาว่าท้องถิ่นพร้อมจะรับการกระจายอำนาจหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าความพร้อมนั้นอยู่ที่ประชาชน และความพร้อมของประชาชนในวันนี้ โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าดีกว่าประชาชนในกรุงเทพฯ เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วที่ จ.กรุงเทพฯ เปลี่ยนมาสู่การเป็นกรุงเทพมหานครด้วยซ้ำไป ทุกวันนี้เป็นโลกภิวัตน์ คนสื่อสารกันได้รวดเร็ว โลกพัฒนาไปแล้ว ทุกสิ่งเข้าสู่การเป็นประชาธปไตย อำนาจมาจากประชาชน แต่ต้องปรับให้ผู้ที่มีอำนาจได้เข้าใจได้อย่างไร อำนาจอยู่ที่ประชาชน ถ้าเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจน ซึ่งอาจจะพิจารณาได้จากการทำงานในสิบหรือยี่สิบปีที่ผ่านหลักการกระจายอำนาจยึดโยงอยู่ที่ประชาชน และขอให้ประชาชนสู้ต่อไป และพรรคเพื่อไทยจะร่วมต่อสู้กับประชาชน
ในช่วงท้ายของการเสวนา ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จาก จ.อุทัยธานี แสดงความเห็นต่อผู้ร่วมเสวนาหลักว่า ไม่อยากให้มองว่าท้องถิ่นไม่มีความพร้อม ซึ่งถือเป็นทัศนคติที่เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สามารถกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้ เช่น โรงเรียนไม่อยากอยู่ภายใต้การดูแลของท้องถิ่น และไม่ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการในบางครั้ง เพราะยึดติดกับระเบียบและงบประมาณ อีกทั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กับราชการท้องที่เช่น กำนัน ซึ่งไม่อาจทำงานประสานกันหรือขัดแย้งกัน ขณะที่กำนันมีอำนาจหน้าที่ตามระบบราชการ ขณะที่องค์กรบริหารท้องถิ่นไม่มี
นายก อบต. บางระกำ จ.นครปฐม กล่าวว่า พรรคการเมืองบางพรรคอาจจะไม่เข้าใจเรื่องชุมชนท้องถิ่น และยืนยันว่าขณะนี้ชุมชนท้องถิ่นพร้อมแล้วที่จะดูแลตนเอง ทั้งเสนอว่า นโยบาย เอส เอ็ม แอล ของพรรคพลังประชาชนนั้นดี แต่มีปัญหาที่ยังคงให้งบประมาณผ่านระบบราชการ ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินโครงการได้ตามที่ต้องการอย่างแท้จริง
ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกรายหนึ่งเสนอว่า นักการเมืองควรเปิดใจรับฟังและยอมรับว่าท้องถิ่นมีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันทั่วประเทศ ก็ต้องค่อยๆ พัฒนา ขณะเดียวกันก็ควรมีการสับสนุนงบประมาณให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ในท้องถิ่น ไม่จำกัดอยู่แค่เป็นแนวคิดของผู้นำชุมชน แต่ควรให้เกิดการปรึกษาหารือและศึกษาวิจัย และย้ำว่า ต้องพัฒนาคน และอย่ากลัวว่าประชาชนจะฉลาดขึ้น
นางผ่องศรีกล่าวว่า ได้รับฟังความเห็นแล้วจะพยายามนำไปพัฒนา และสำหรับนโยบายที่เป็นรูปธรรมนั้น ก็มีตัวอย่างรูปธรรมเช่น โฉนดชุมชนที่พูดไปแล้ว แต่ชุมชนต้องเข้มแข็งและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ร่วมฟังแต่มีการตัดสินใจมากจาระดับบนแล้ว ในส่วนงบประมาณก็พยายามจะจัดสรรให้และพยายามไม่ปรับลด ส่วนเรื่องสภาการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องน่าสนใจ และเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ โดยส่วนตัวเชื่อมั่น เชื่อมือ และเชื่อถือตัวแทนท้องถิ่น และท้องถิ่นทั่วไทยจะให้โอกาส ปชป. ทำงานต่อเนื่อง ซึ่งได้ดำเนินการวางรากฐานไปหลายเรื่อง เช่น สวัสดิการชุมชน โฉนดชุมชน
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่าการนำเสนอเชิงนโยบายนั้นไม่อาจจะเสนอได้ชัดเจนในเวลาอันสั้น แต่จุดยืนและหลักการคือการคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย และก็จะนำเสนอนโยบายหลักก่อนการเลือกตั้งอีกครั้งให้ประชาชนได้ศึกษานโยบายก่อนการตัดสินใจ โดยพรรคมีจุดเด่นคือ การกำหนดนโยบายที่ไม่ขายฝันและนำไปปฏิบัติได้ทุกเรื่อง และเชื่อว่าสำหรับนโยบายการกระจายอำนาจจะนำเสนอให้เห็นชัดเจนและจับต้องได้
นายศุภชัยกล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้สนับสนุนแนวคิดเรื่องชุมชนท้องถิ่น ก็เป็นหน้าที่ที่ชุมชนท้องถิ่นต้องทำให้รัฐและชุมชนท้องถิ่นได้รับรู้เรื่องท้องถิ่นให้กว้างขวางหลากหลายขึ้น และอาศัยรัฐธรรมนูญขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกระทันหันฉับไว ก็ทำได้ลำบาก
การเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประชุมวิชาการเวมีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. โดยคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาติแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)