ที่มา Thai E-News
แถลงการณ์ข้อเสนอด้านเศรษฐกิจต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เนื่องจากในปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจของชาติอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง การบริหารประเทศเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ - ประชาชนควรจะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. และองค์กรแนวร่วม จึงได้จัดเวทีปราศรัยให้ข้อมูลและเรียกร้องข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ ต่อรัฐบาลปัจจุบัน บริเวณอนุสาวรีย์วงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี เวลา 16.00 น. ของวันที่ 5 มีนาคม ศกนี้ ขอเชิญพี่น้องประชาชน ร่วมฟังการอภิปรายนอกสภาโดยพร้อมเพรียงกัน
ทั้งนี้ สนนท. และองค์กรแนวร่วม จะอภิปรายและมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
1. แม้ว่าการเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันของรัฐ จะทำให้มีงบประมาณในการนำไปกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ แต่ผลงานของรัฐบาลภายใต้การบริหารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐบาล ไม่มีความสามารถในการนำเงินภาษีไปใช้บริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคอรัปชั่นอย่างขนานใหญ่ ในกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดี และในขณะนี้ยังไม่มีท่าทีว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาใด เราจึงเชื่อว่าคงไม่มีทางที่กระบวนการสืบสวนสอบสวนจะเสร็จสิ้น ภายในสมัยของรัฐบาลนี้
ดังนั้น เพื่อลดภาระของประชาชนและเอกชน ในการแบกรับภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตที่สำคัญของเศรษฐกิจภาคประชาชน และเอกชน คณะรัฐมนตรีจะต้องลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จาก 7 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมในภาคประชาชน โดยเร็ว
2. ผลของการสูญเสียรายได้ของรัฐ ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี จากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน นั้น รัฐบาลควรหันไปเพิ่มภาระให้กับกลุ่มนายทุน และชนชั้นสูง แทนที่จะเป็นประชาชนทั่วไป นั่นคือ รัฐบาลจะต้องมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดก อย่างที่นายกรณ์ จาติกวาณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยใช้ในการหาเสียงกับประชาชนก่อนที่จะได้เป็นรัฐบาล การชดเชยจากภาษีในส่วนดังกล่าว จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ต้องแบกรับภาระภาษี ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ อีกต่อไป และส่วนต่างของภาษี รัฐบาลสามารถนำไปพัฒนาเป็นสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนได้อีกหลายประการ
3. รัฐบาลต้องมองว่าการศึกษาคือการลงทุน และรัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับโอกาสทางการศึกษามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในปัจจุบันกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ไม่สามารถสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาได้อย่างเต็มที่ ประสบปัญหาจากการไม่ชำระหนี้ของผู้กู้รุ่นก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่ผู้กู้รุ่นก่อนหน้า ไม่สามารถประกอบอาชีพที่เพียงพอต่อการชดใช้หนี้ได้ รัฐบาลต้องรื้อฟื้น กองทุน กรอ. หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืม ที่ผูกพันรายได้ในอนาคต - ซึ่งมีมุมมองว่าการศึกษาคือการลงทุนแบบให้เปล่า ไม่ใช่ประชาชนเป็นลูกหนี้ของรัฐบาล และ กองทุน กรอ. ยังยืดหยุ่นให้ชำระคืนได้ก็ต่อเมื่อมีรายได้เหมาะสมต่ออัตราเงินเฟ้อในขณะนั้น
สำหรับกรณีผู้กู้ที่ไม่มีรายได้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องแบกรับภาระชดใช้คืน และสามารถยกเลิกภาระหนี้ได้ในที่สุด