ที่มา ข่าวสด
รายงานพิเศษ
ปรากฏการณ์นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกชาวบ้านตะโกนโห่ไล่ขณะลง พื้นที่ปฏิบัติภารกิจ เริ่มกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยซาๆ ไปแล้วพักหนึ่ง
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ต่างๆ นานา ว่าการเคลื่อนไหวในช่วงนี้เป็นเพราะชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจริง หรือเพียงเพื่อสร้างสถานการณ์การเมือง มุ่งสกัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
นักวิชาการและคนในแวดวงการเมืองมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
ชุมพล ศิลปอาชา
หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
ความขัดแย้งในสังคมไทยที่กำลังเผชิญขณะนี้มี 2 ประเด็น คือ 1.ประเทศไทยกับเพื่อนบ้านคือกัมพูชา และ 2.ภายในประเทศเองซึ่งหมายถึงกลุ่มพันธมิตรและนปช.
ประเด็นไทย-กัมพูชาไม่น่าเป็นห่วง ไม่คิดว่าจะมีใครฉวยโอกาสเป็นเหตุให้ปฏิวัติในขณะนี้ สามารถแก้ปัญหากันไปได้จนเรียบร้อย ส่วนประเด็นปัญหาภายในประเทศที่มีการเคลื่อน ไหวของพันธมิตรและนปช.นั้น ขณะนี้ค่อนข้างเบาบางลงแล้ว ทุกฝ่ายเตรียมตัวเข้าสู่สนามเลือกตั้งกันหมด
โดยมีเหตุผลที่เห็นชัดอย่างหนึ่ง คือ ศาลใช้ระบบของศาลที่ทำให้เกิดความปรองดองขึ้นในชาติ โดยลดความเข้มของฝ่ายหนึ่งลงไป คือการให้ประกันตัวแกนนำทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก
ต้องขอชื่นชมศาลที่ช่วยให้บรรยากาศความขัดแย้งลดระดับลงไปอย่างมาก
กลุ่มพันธมิตรก็เช่นกัน ตัวหลักเสื้อเหลืองอยู่ที่กลุ่มสันติ อโศก ซึ่งมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และสมณโพธิรักษ์ เป็นแกนนำ ส่วนนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแนวร่วมเท่านั้น ดูจากสภาพปัจจุบันนี้ความร่วมมือเจือจางลงมาก
อีกทั้งการชูประเด็นปัญหาไทย-กัมพูชาขึ้นมาถือว่าไม่ได้รับการยอมรับ เพราะไม่ใช่เรื่องปากท้องประชาชน ดังนั้นประเด็นที่พันธมิตรนำมาเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นที่ยอมรับ
การเคลื่อนไหวของเสื้อเหลืองที่จะก่อให้เกิดปัญหาจนส่งผลต่อการเลือกตั้งนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นมากมายนัก
สิริพรรณ นกสวน
ชุมพล ศิลปอาชา
ดิเรก ถึงฝั่ง
รวมทั้งกรณีที่ดูเหมือนว่าพันธมิตรจะชูนายสนธิเป็นนายกฯ กลายเป็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของพรรค การเมืองใหม่ไปเสียแล้ว
แต่ประเด็นที่น่าจับตาคือการที่มีความเคลื่อนไหวที่ไปข้องแวะทหารมากเกินไปนั้น น่าเป็นห่วง อย่าไปหาเรื่องทหารเขามากเกินไป ประวัติ ศาสตร์เมืองไทยที่มีปฏิวัติครั้งใดเพราะมีการไปแขวะทหาร ทุกครั้ง
แต่เชื่อว่าสมัยนี้ทหารคงไม่ทำอะไร เพราะการยอมรับจากประชาชนเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก
ตอนนี้จุดที่น่าเป็นห่วงคือ กกต. เพราะโครงสร้างของกกต. และความขัดแย้งภายใน 5 เสือกกต.ยังมีอยู่สูง ระบบการทำงานก็มีปัญหา
ยังมีสองมาตรฐาน จึงน่าเป็นห่วงมากกว่า
ส่วนกรณีนายกฯ ถูกเสื้อแดงตะโกนขับไล่ขณะเดินสายลงพื้นที่นั้น อันนี้อย่าไปถือสา เป็นสีสัน ในสายตาของผมไม่ได้ถือว่าเรื่องนี้เป็นจุดวิกฤต เป็นเรื่องส่วนตัว เพียงเพราะความไม่ชอบในตัวนายกฯ เท่านั้น
การที่เสื้อแดงเสื้อเหลืองต้องการล้มรัฐบาลชุดนี้ มันอาจทำให้พรรคชาติไทยพัฒนาดีขึ้นก็ได้ (หัวเราะ)
ดังนั้นเสื้อทุกสีที่ออกมาเคลื่อนไหว จึงไม่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่กลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนในอดีตอีก ไม่ถึงขั้นนั้น เสื้อแดงที่ไปตามไล่ก็มีไม่มากนัก เป็นธรรมดา เพราะคนในสังคมย่อมมีบ้างที่ประหลาดๆ
เหมือนกรณีที่นายอุทัย พิมพ์ใจชน จู่ๆ ก็มีคนเอาขี้ไปปาท่านสมัยเป็นรมว.พาณิชย์
การที่มีคนประหลาดๆ อย่างนี้ จะถือเป็นเรื่องใหญ่โตไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่นายกฯอภิสิทธิ์ถูกล้อมกรอบจนออกจากกระทรวงมหาดไทยไม่ได้ และถูกทุบรถ อย่างนั้นถือเป็นเรื่องที่รุนแรงจริงๆ
แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ระดับสูงของเสื้อแดงนั้นนิ่งพอสมควร ส่วนระดับล่างก็อาจมีบ้าง แต่จะไปนับเป็นวิกฤตไม่ได้ เพราะอาจมีคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงแต่ไม่ชอบใจนายกฯ พรวดขึ้นมาก็ เป็นได้
ตอนนี้กระแสไปในเชิงนำไปสู่การเลือกตั้งมากกว่าจะเป็นวิกฤตการเมือง หรือวิกฤตการเผชิญหน้า เพราะล่าสุดเสื้อเหลืองก็เชียร์เสื้อแดง ให้พรรคเพื่อไทยอภิปรายรัฐบาลกับนายกฯ เรื่องนั้นเรื่องนี้
ผมจึงย้ำว่านี่คือกระแสของการนำไปสู่การหาเสียงเลือกตั้ง แต่ยังไม่โยงไปไกลถึงเรื่องการนำคุณทักษิณกลับบ้าน โยงไปไกลขนาดนั้นไม่ได้
ดิเรก ถึงฝั่ง
ส.ว.นนทบุรี
อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
สาเหตุเกิดจากอะไรคงเดายาก การที่ชาวบ้านออกมาขับไล่หรือต่อว่านายกฯ มีสาเหตุมาจากหลายประการ
ยกตัวอย่างช่วงนี้เกิดปัญหาน้ำมันปาล์มขาดตลาด ชาวบ้านเดือดร้อน ก่อนที่นายกฯ จะลงพื้นที่ได้ประกาศกับประชาชนว่าน้ำมันปาล์มจะไม่ขาดตลาด แต่เมื่อลงพื้นที่กลับพบว่าร้านค้าที่ไปดูไม่มีน้ำมันปาล์มขาย
นายกฯ ก็เสียหน้า ถูกชาวบ้านออกมาขับไล่อีก
อยากให้นายกฯ ยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจบ้านเราไม่ดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประเทศไทยประสบปัญหามากมาย
ชาวบ้านต้องออกมาขับไล่นายกฯ คงรู้สึกอึดอัด และเกิดจากการสั่งสมมานาน ไม่น่าเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง เพราะถ้าเป็นม็อบที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อป่วนเมือง ต้องมีการจัดการที่เป็นระบบ จำนวนคนต้องมากกว่านี้
แต่จำนวนคนที่ออกมาแค่นิดเดียว และเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่จัดเตรียมไว้ก่อน
นอกจากนี้เวลาที่นายกฯ เดินทางไปไหน ชาวบ้านทั่วไปไม่ทราบโปรแกรมล่วงหน้าหรอก ดังนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่มีเจตนาจะขับไล่นายกฯ ที่จะเตรียมการได้ทัน
สะท้อนให้เห็นว่าการออกมาขับไล่ครั้งนี้ เป็นความรู้สึกเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นจริงๆ
อย่างไรก็ตาม เป็นการดีที่นายกฯ ลงพื้นที่แล้วไม่มีใครทราบกำหนดการล่วงหน้า เพราะยิ่งทำให้นายกฯ ได้เห็นสภาพปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริง ได้เห็นของจริงว่าชาวบ้านเขาอยู่กันอย่างไร
ขณะที่นายกฯ เองก็ต้อง เตรียมรับฟังเสียงของชาวบ้านที่ออกมาขับไล่ด้วย จะดูรายงานเพียงอย่างเดียวไม่ได้
สิริพรรณ นกสวน
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เป็นเรื่องการเมืองมากกว่า ต้องถามคนไล่ว่ามีวัตถุประสงค์อะไร คนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงจะออกมาในลักษณะยื่นข้อเสนอมากกว่า เพราะวัฒนธรรมคนไทย ผู้ที่เดือดร้อนมักให้ผู้ที่อยู่เหนือกว่าคอยช่วยเหลือ ไม่ใช่การขับไล่
การไล่คือการไม่ปรารถนา ไม่พอใจ ไม่ยอมรับ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องการเมือง
กรณีนี้เชื่อว่าคงเป็นไประยะหนึ่ง ที่สุดแล้วต้องมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่คงยากเพราะสังคมไทยยังไม่มีการยอมรับกติกา หลักประชา ธิปไตยที่แท้จริง แม้แต่รัฐบาลยังไม่รู้ว่าเข้าใจกติกาหรือไม่ โดยเฉพาะเสียงมากสุดมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลก่อน
เมื่อไม่เคารพกติกา มาเตะฟุตบอลร่วมกันก็มีการชกต่อยกันขึ้น เพราะกติกาไม่เป็นที่ยอมรับ ยกตัวอย่างกรณีการดำเนินการต่างๆ ภายในรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ พูดอย่าง แต่นายกฯ พูดอีกอย่าง
แม้การไล่นายกฯ จะเป็นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็มีกัน แต่ในเมืองไทยจะมีลักษณะพิเศษตรงที่มีโอกาสเกิดความรุนแรงขึ้นด้วย เพราะสังคมในวงกว้างยังไม่เคารพกติกาในหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง
ยิ่งตอนนี้มีสารพัดม็อบเกิดขึ้น ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง ม็อบเขื่อนปากมูน หรือม็อบที่ดินทำกิน จากนี้จึงเป็นการสุ่มเสี่ยงของรัฐบาลในการจัดการม็อบต่างๆ
รัฐบาลต้องมีสติ พึงระวังการฉวยโอกาส ต้องดูดีๆ ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มไหนเป็นความเดือดร้อนที่แท้จริง ไม่ใช่เพราะผลประโยชน์แอบแฝง โดยเฉพาะเรื่องการเมือง