ที่มา มติชน
โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข
ปรากฏการณ์เสื้อแดงมากขึ้น เสื้อเหลืองลดลงกำลังบอกอะไร ?
ถ้ารัฐบาลเป็นกิจการขายเสื้อ และตั้งเป้าจะขายเสื้อเหลืองเอาเป็นทุนขยายกิจการ หรือเลือกตั้ง ก็คงชัดแล้วว่าขาดทุน
ขณะที่โรงงานเสื้อแดง ขายดิบขายดีจนผลิตไม่ค่อยทัน
โชคยังดีที่รัฐบาลนี้มี "สายป่าน" ยาวเหยียด ขาดทุนยังไงก็ยังอยู่ได้
ฝ่ายการตลาดของรัฐบาลอย่าง "ดีเอสไอ" ที่เปิดแคมเปญตามถล่มเสื้อแดง แต่ผลกลับยิ่งส่งเสริมให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเติบโต
ตัวอย่างปืนอาก้ายิงนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างล่าสุดที่เห็นกันชัดๆ
เรื่องอย่างนี้ที่จริงไม่อยากไปว่ากล่าวดีเอสไอ เพราะเบื้องลึกแล้ว ก็เป็นเรื่องของการสนองนโยบายของฝ่ายบริหาร
ถูกต้องตามหลักของอำนาจอธิปไตย
แต่ก็ฝากเตือนกันว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย รัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 3 ระบุไว้อย่างนั้น รัฐธรรมนูญกี่ฉบับๆ ก็บอกเหมือนกัน
อะไรก็ตาม ถ้าไม่ได้เริ่มต้นจากผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง สุดท้ายจะพากันพังไปหมด แม้แต่รัฐธรรมนูญก็อาจจะไปด้วย แต่โปรดสังเกตว่า มาตรา 3 ยังยืนยงอยู่
หรืออย่างการติดตามเช็คบิลเสื้อแดงบางสาย
จนมีข้อสังเกตจากเสื้อแดงเขาบอกว่า ในทางหนึ่งดูเหมือนรัฐบาลพยายามประนีประนอมกับเสื้อแดง แต่อีกทางหนึ่งก็ตาม "กวาดล้าง" เสื้อแดงบางกลุ่มบางสาย
หักลบกันแล้ว อาจจะขาดทุนอีกก็ได้
กลับมาที่เรื่องเสื้ออีกครั้ง
ตัวเลขขายเสื้อนั่นก็เรื่องหนึ่ง
ที่จริงยังมีผลสะเทือนอื่นๆ อีกมาก
ปรากฏการณ์ชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวของผู้คุมอำนาจในปัจจุบันนี้ ยังได้แก่ ความแพร่หลายของ "แนวคิด" เกี่ยวกับสังคมและความยุติธรรม ที่เป็นแนวคิดคนละชุดกับที่รัฐบาลยึดถืออยู่
เว็บไซต์ เว็บบอร์ด ซีดี วีซีดี สิ่งพิมพ์ และสื่ออื่นๆ ทำหน้าที่รองรับแนวคิดอย่างนี้อย่างคึกคัก
แนวคิดหลายๆ อย่างถูกเยาะเย้ย และกลายเป็นเรื่องตลก
บางคนนึกย้อนกลับไปคิดถึงการเมืองช่วงเดือนตุลา 2516 และหลังตุลาฯ 2519
จะอธิบายเรื่องนี้ยังไงดี อาจจะเป็นเพราะไทยแลนด์ได้กลายเป็นห้องเรียนการเมืองที่สาธิตให้ประชาชนได้เรียนการเมืองจากการเมือง
จนได้เห็นสัจธรรมชัดๆ อย่างถึงเลือดถึงเนื้อว่า อะไรคือความเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม "สองมาตรฐาน" หน้าตาเป็นอย่างไร
ภาษาฝรั่งมังค่า อย่างดับเบิลสแตนดาร์ด เป็นเรื่องที่ชาวบ้านในท้องถิ่นห่างไกลเข้าใจดี
ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า "คนละเรื่องเดียวกัน"
ขณะนี้เดือนมีนาคม กลไกของระบบคงทำงานต่อไป หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โหวตกันพรึบพรับ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรครัฐบาลอาจจะชนะก็ได้
แต่จะจัดการอย่างไรกับศรัทธาและความคิดของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป
ใครขาดทุนกันแน่ เมื่อรัฐกับประชาชนกลายเป็น "คนแปลกหน้า" ระหว่างกันอย่างสมบูรณ์
โดยไม่ต้องใส่เสื้อสีอะไรด้วยซ้ำไป