ที่มา มติชน
โดย สรกล อดุลยานนท์
ถึงวันนี้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" คงเริ่มนึกเสียใจที่ไม่ยอมยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2553
ย้อนเวลากลับไปเดือนพฤษภาคม 2553
ตอนนั้น "ม็อบเสื้อแดง" ได้เปรียบ จน "อภิสิทธิ์" ต้องยื่นข้อเสนอยุบสภาในเดือนกันยายน และเลือกตั้งใหม่ไม่เกิน 14 พฤศจิกายน 2553
แต่ "ม็อบเสื้อแดง" ไม่ยอม
และในที่สุดก็นำไปสู่การสลายการชุมนุมมีคนเสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บเกือบ 2,000 ราย
หลังวันที่ 19 พฤษภาคม หลายคนในกลุ่ม "คนเสื้อแดง" บอกว่าน่าเสียดายที่แกนนำ นปช.ไม่ยอมตามข้อเสนอของ "อภิสิทธิ์"
ไม่เช่นนั้นเดือนพฤศจิกายนก็ได้เลือกตั้งใหม่ไปแล้ว
ในขณะที่ "อภิสิทธิ์" ก็รู้สึกว่าตนเองได้เปรียบ เขาจึงเตะเรื่อง "ยุบสภา" ออกไปไกล ด้วยการสร้างเงื่อนไข 3 ข้อขึ้นมา
คิดว่ายิ่งอยู่นานจะยิ่งได้เปรียบ
"อภิสิทธิ์" นึกไม่ถึงว่ากระแส "คนเสื้อแดง" จะกลับมาอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่รัฐบาลต้องเผชิญกับมรสุมใหญ่ 3 ลูก
ลูกแรก คือ เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
การออกมาแถลงข่าวของ 4 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อัด "ผู้บัญชาการทหารบก" อย่างหนัก คือ บทสรุปที่ชัดเจนว่าสถานการณ์เลวร้ายจริงๆ
ลูกที่สอง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา
ตั้งแต่ "อภิสิทธิ์" เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าใช้สำนวนล้อเลียนนิยายดังในอดีตก็ต้องบอกว่าแนวรบด้านตะวันออก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง
คือ เลวร้ายเหมือนเดิม และมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการปะทะใหญ่กันระหว่างทหารไทย-กัมพูชา
มีคนไทยที่อยู่ชายแดนไทย-กัมพูชาต้องอพยพทิ้งบ้านเรือนกว่า 30,000 คน
ลูกที่สาม ปัญหาข้าวยากหมากแพง
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "ของแพง" ไม่น่ากลัวเท่ากับ "ของขาด"
ความพยายามควบคุมราคาจนกลไกตลาดผิดเพี้ยน ผนวกกับปรากฏการณ์ "สวาปาล์ม" ทำให้เกิดเหตุการณ์ "น้ำมันปาล์ม" ขาดแคลนและราคาแพง
จนถึงวันนี้สถานการณ์ก็ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
มรสุม 3 ลูกนี้ทำให้ "ภาพจำ" ของ "อภิสิทธิ์" ในใจประชาชนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ "อภิสิทธิ์" คงอยากยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2553
เพราะวันนั้น "ความรู้สึก" ของประชาชนกับ "อภิสิทธิ์" น่าจะเป็น "บวก" มากกว่าวันนี้
วันที่คำว่า "ข้าวยากหมากแพง" เริ่มมีคนใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ใช่ "นักข่าว" แต่เป็น "ชาวบ้าน"
นักข่าวคนไหนไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ถ้าไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ทุกคนจะตอบเหมือนกันหมด
ไม่มีใครพูดถึงรัฐบาลในทางบวกเลย
"ภาพประทับ" ในใจจากกรณี "น้ำมันปาล์ม" ทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าทุกสินค้ามีโอกาสที่จะแพงขึ้นและขาดตลาด
"ความเชื่อ" แบบนี้น่ากลัวมาก
เพราะจะทำให้เกิด "ดีมานด์เทียม" คือ ผู้บริโภคซื้อของไปสต๊อคเกินความจำเป็นที่ต้องใช้
ส่วนพ่อค้านั้นคาดการณ์ว่าของจะต้องขึ้นราคาแน่ๆ เขาก็จะกักตุนไว้
จาก "น้ำมันปาล์ม" ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มเชื่อว่า "น้ำตาลทราย" จะเป็นสินค้าตัวต่อไป
และยิ่งรัฐบาลอุ้ม "น้ำมันดีเซล" ไม่ไหว ต้องยอมปรับราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดในอีกไม่ช้า
เคราะห์ซ้ำ กรรมซัดอย่างแน่นอน
เพราะ "น้ำมัน" คือต้นทุนหลักของทุกสินค้า
ราคาสินค้าทุกตัวต้องขยับขึ้นทันที
อย่าลืมว่าศิลปะหนึ่งของการเมือง คือ การบริหารความรู้สึกของประชาชน
ณ วันนี้ ความรู้สึกของประชาชนกับรัฐบาล "อภิสิทธิ์" อยู่ในช่วงขาลง
และถ้าปล่อยไหลลงไปเรื่อยๆ จนถึงวันเลือกตั้ง
น่ากลัวครับ น่ากลัว
ความรู้สึกของประชาชนเมื่อวันหย่อนบัตรลงคะแนนเป็นอย่างไร
ผลการเลือกตั้งก็เป็นเช่นนั้น