ที่มา ประชาไท
17 ต.ค.54 ที่ศาลอาญา ห้องพิจารณาคดี 801 ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ทำคำโต้แย้งว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ พิจารณาคดีลับอาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย (คำวินิจฉัยที่ 30/2554) เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ธ.ค.54 เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา โดยทนายจำเลยระบุว่า จำเลยเตรียมจะทำการขออภัยโทษต่อไป ซึ่งหากศาลนัดพิพากษากลางเดือนธันวาคม ก็จะไม่ทันวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.ปีนี้ตามที่จำเลยคาดหวัง
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ และพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 18 ปีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งคำโต้แย้งของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็น ผู้วินิจฉัยว่า คำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตามมาตรา 177 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และ 40 (2) หรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลอาญาจะนัดฟังคำวินิจฉัยในวันนี้ (17 ต.ค.) แต่เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยดังกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลาหลาย เดือนแล้ว โดยคำวินิจฉัยที่ 30/2554 นี้ลงวันที่ 11 พ.ค.54 ระบุเหตุผลตอนหนึ่งว่า การพิจารณาคดีลับ มิได้หมายความว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไมได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการ ยุติธรรม และมิได้จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญาแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178 กำหนดให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณามีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ อาทิเช่น โจทก์และทนายความโจทก์ จำเลยและทนายความของจำเลย ผู้ควบคุมตัวจำเลย พยานผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เป็นบทบัญญัติที่อูยู่ในขอบเขตแห่งการให้สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณาแก่ บุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ถึงแม้จะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพียงเท่าที่จำเป็น มิได้กระทบเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็น การเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2)