ที่มา ประชาไท
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ออกแถลงการณ์ ต่อคำตัดสินของศาลฎีกาไทย คดี “จินตนา แก้วขาว” ชี้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังคงถูกมองว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย ต่อต้านประโยชน์ของรัฐ
เมื่อวันที่ 13 ต.ค.54 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) ออกแถลงการณ์ ต่อกรณีศาลฎีกาพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ชี้เป็นการยืนยันว่าการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนนั้นผิดกฎหมาย
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า รู้สึกสลดใจกับคำตัดสินของศาลฎีกาไทย ที่สั่งให้ลงโทษนางจินตนา ซึ่งได้พยายามใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตนเอง โดยได้ร่วมกับสมาชิกกลุ่มรักษ์ท้องถิ่น บ่อนอก – หินกรูด ต่อสู้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในพื้นที่หินกรูดและบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์มากว่า 10 ปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จ สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชนได้
“แต่ในตอนนี้เธอถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลาสี่เดือน ในข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทที่พยายามสร้างโรงไฟฟ้า หลังจากผ่านไปแปดปี ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีของเธอ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า สิทธิของประชาชนชาวไทย ในการประท้วงและปกป้องชุมชนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ชี้แจงด้วยว่า AHRC ต้องการเน้นย้ำในประเด็นนี้ เนื่องจากภายหลังรัฐประหารปี 2549 AHRC ได้ทำนายว่า จะเกิดการฟื้นคืนของอำนาจทหาร และลัทธิธรรมนูญนิยมจอมปลอม ซึ่งย่อมจะนำไปสู่แนวคิดและแนวนิติศาสตร์ที่ต่อต้านสิทธิมนุษยชน ดังที่เห็นได้ในคดีนี้ คำพิพากษาที่ออกมาเช่นนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ศาลไม่เชื่อมโยงกับความ เป็นจริง หรืออาจเป็นเพราะศาลเพิกเฉยต่อความเป็นจริงก็ได้
ความเห็นที่ว่า โจทก์ในคดีนี้อาจมีความหวาดกลัวต่อ “อิทธิพล” ของจำเลย ไม่เพียงเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิง แต่ยังเป็นความเห็นที่น่าขัดเคืองใจ ในประเทศไทยการอ้างถึงบุคคล “ที่มีอิทธิพล” ทำให้เกิดภาพของบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจ ซึ่งมักจะหมายถึงอิทธิพลของบุคคลและหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพ และไม่หวั่นเกรงที่จะต้องใช้วิธีการนอกกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
“การที่ศาลอุทธรณ์เอ่ยถึงนางจินตนาด้วยการใช้ถ้อยความเช่นนี้ และศาลฎีกาเองก็ไม่คัดค้านความเห็นดังกล่าว ไม่เพียงเป็นเรื่องที่ผิด แต่เป็นเรื่องที่ชั่วร้าย และเป็นตัวชี้วัดว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังคงถูกมองว่า เป็นผู้ก่อความวุ่นวาย และเป็นคนทำความชั่ว ต่อต้านประโยชน์ของรัฐ” แถลงการณ์ระบุความเห็น
นอกจากนั้น แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า นางจินตนาและเพื่อนสมาชิกที่ประจวบคีรีขันธ์ ต้องเผชิญกับการข่มขู่ และคุกคาม จากนายทุนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นเดียวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ โดยยกตัวอย่างการใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผย กรณี นายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ต.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกสังหารระหว่างลงจากรถทัวร์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2547 หลังจากไปให้การต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ที่กรุงเทพฯ และเมื่อต้นปีนี้ ในวันที่ 31 ม.ค.2554 นายเผชิญ เกตุแก้ว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านเกิด ต.อ่าวน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกลอบสังหาร แต่รอดมาได้
“แม้จะมีวิธีการแตกต่างกัน ตั้งแต่การลงโทษตามกฎหมาย ไปจนถึงการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย คดีของ นางจินตนา แก้วขาว นายเจริญ วัดอักษร และ นายเผชิญ เกตุแก้ว สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงที่ยังดำรงอยู่ของคนไทยที่พยายามต่อสู้เพื่อคุ้ม ครองชุมชนและสุขภาพของตนเอง ซึ่งเป็นการต่อต้านความพยายามที่ทำลายธรรมชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตน” แถลงการณ์ระบุ
เพื่อการเผยแพร่ทันที 13 ตุลาคม 2554 แถลงการณ์คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) รู้สึกสลดใจกับคำตัดสินของศาลฎีกาไทย ที่สั่งให้ลงโทษ นางจินตนา แก้วขาว จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้พยายามใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตนเอง เป็นเวลากว่าทศวรรษที่นางจินตนา ได้ต่อสู้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการพัฒนา ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่บริเวณหินกรูดและบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เธอและเพื่อนสมาชิกกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก – หินกรูด ประสบความสำเร็จ สามารถป้องกัน ไม่ให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชนของตน และพยายามทำงานเพื่อพัฒนารูปแบบพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในตอนนี้เธอถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลาสี่เดือน ในข้อหาบุกรุกที่ดินของบริษัทที่พยายามสร้างโรงไฟฟ้า หลังจากผ่านไปแปดปี ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีของเธอ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า สิทธิของประชาชนชาวไทย ในการประท้วงและปกป้องชุมชนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในชั้นต้น ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้สืบพยานในคดีของ นางจินตนา (คดีหมายเลขดำที่ 1480/2545; คดีหมายเลขแดงที่ 3283/2546) โดยพนักงานอัยการอ้างว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้บริหาร บริษัท ยูเนียนเพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในตอนบ่ายของวันที่ 13 มกราคม 2547 ระหว่างจัดเตรียมโต๊ะอาหารและจัดเตรียมห้อง กลุ่มประชาชนได้บุกเข้ามาในห้องและเทน้ำปฏิกูลบนโต๊ะและในถังน้ำแข็ง นางจินตนาให้การว่า เธอได้ไปที่สำนักงานของบริษัทในตอนบ่ายนั้นจริง แต่ไปที่นั่นพร้อมกับนักรณรงค์คนอื่น ๆ เพื่อยื่นจดหมายประท้วงบริษัท เมื่อไปถึงก็ต้องเจอกับชายฉกรรจ์กว่า 50 คน ที่รออยู่ พวกเธอจึงตัดสินใจกลับบ้าน คำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์ กับคำเบิกความของนางจินตนา มีลักษณะขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่พยานโจทก์บางคนอ้างว่า นางจินตนาเป็นผู้นำฝูงชนที่บุกเข้ามาในห้องรับประทานอาหาร พยานคนอื่น ๆ กลับไม่ระบุว่าเห็นเธอเป็นส่วนหนึ่งของผู้บุกรุกเข้ามา ด้วยเหตุของการเบิกความที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ศาลจังหวัดพิพากษายกฟ้อง นอกจากนั้น ศาลยังได้อ้างถึงบริบทที่นำไปสู่การต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และได้หยิบยกเหตุผลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และอาชีพของประชาชน เพื่ออธิบายว่า เหตุใดนางจินตนาและชาวบ้านคนอื่น ๆ รวมทั้งนักเคลื่อนไหวที่บ่อนอกและหินกรูด ต้องรวมตัวเพื่อต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้า (รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดดู: http://www.article2.org/mainfile.php/0603/282/) ฝ่ายอัยการโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษา และในวันที่ 1 สิงหาคม 2548 ศาลอุทธรณ์ ภาค 7 ได้กลับคำพิพากษายกฟ้อง และมีคำสั่งให้ลงโทษนางจินตนา ตามมาตรา 362 และ 365 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหาบุกรุกร่วมกับบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป (คดีหมายเลขดำที่ 3533/2546; คดีหมายเลขแดงที่ 2355/2548) ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาจากศาลชั้นต้น โดยอ้างว่า มีพยานหลักฐานที่ชี้ว่า นางจินตนาอยู่ที่สำนักงานของบริษัท ยูเนียน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในวันที่มีการก่อกวนงานเลี้ยง แม้ศาลยอมรับว่า มีการเบิกความของพยานโจทก์ที่ไม่สอดคล้องกัน แต่ก็ยืนยันว่า ทางฝ่ายจำเลยไม่แสดงพยานหลักฐานมากเพียงพอ ที่จะพิสูจน์ว่า ไม่มีความผิดฐานบุกรุก และเป็นผู้นำคนอื่นให้เทสิ่งปฏิกูลใส่โต๊ะอาหาร ศาลยังมีความเห็นต่อไปว่า การเบิกความที่ไม่สอดคล้องกันของโจทก์ อาจเป็นเพราะ “เกรงกลัวต่ออิทธิพลของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหิน กรูด” เป็นเหตุให้ศาลลงโทษจำคุกนางจินตนาเป็นเวลาหกเดือน ฝ่ายจำเลยจึงได้ยื่นฎีกา และศาลฎีกาได้พิพากษายืน มีคำสั่งให้จำคุกนางจินตนาเป็นเวลาสี่เดือน ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 (ศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ 13005/2553) ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาดังกล่าว ที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ศาลฎีกามีความเห็นว่า ประเด็นของคดีว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มคัดค้านได้บุกรุกและเทสิ่งปฏิกูลลงบนโต๊ะอาหารของ บริษัท ยูเนียนเพาเวอร์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือไม่ ศาลเห็นว่า การเบิกความที่ไม่สอดคล้องกันของโจทก์ และการที่พยานฝ่ายโจทก์ไม่สามารถระบุตัวนางจินตนา ไม่ได้ลดทอนน้ำหนักของคำเบิกความ ศาลยังมีความเห็นต่อไปว่า เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานที่ชี้ว่า โจทก์มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุผลเชื่อได้ว่า การกล่าวโทษเกิดจากเจตนาร้าย เนื่องจากฝ่ายจำเลยไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานที่ชัดเจนได้ว่า นางจินตนาไม่ได้เป็นผู้นำกลุ่มบุคคลที่บุกรุกเข้าไปในงานเลี้ยงตอนกลางวัน ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน แต่มีเหตุให้บรรเทาโทษ เนื่องจากจำเลยให้ความร่วมมือในระหว่างการพิจารณาคดี นางจินตนาต้องเข้าเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อใช้โทษทันที หลังจากมีการอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ตีพิมพ์บทความเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 (ที่นี่) ซึ่งผู้เขียน คือ ผ.ศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้หยิบยกประเด็นที่สำคัญหลายประการเกี่ยวกับคดีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของคดีนี้ต่อขบวนการด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวด ล้อมในประเทศไทย ทั้งยังเชื่อมโยงคดีนี้เข้ากับคำถามเกี่ยวกับสิทธิในรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ เนื่องจากการกล่าวโทษนางจินตนาเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ยังคงมีผลบังคับใช้ แต่ต่อมา ก็ถูกทดแทนด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียประสงค์ที่จะเน้น ย้ำในประเด็นนี้ เนื่องจากภายหลังรัฐประหารปี 2549 เราได้ทำนายว่า จะเกิดการฟื้นคืนของอำนาจทหาร และลัทธิธรรมนูญนิยมจอมปลอม ซึ่งย่อมจะนำไปสู่แนวคิดและแนวนิติศาสตร์ที่ต่อต้านสิทธิมนุษยชน ดังที่เห็นได้ในคดีนี้ คำพิพากษาที่ออกมาเช่นนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ศาลไม่เชื่อมโยงกับความ เป็นจริง หรืออาจเป็นเพราะศาลเพิกเฉยต่อความเป็นจริงก็ได้ ความเห็นที่ว่า โจทก์ในคดีนี้อาจมีความหวาดกลัวต่อ “อิทธิพล” ของจำเลย ไม่เพียงเป็นความคิดที่ผิดโดยสิ้นเชิง แต่ยังเป็นความเห็นที่น่าขัดเคืองใจ ในประเทศไทยการอ้างถึงบุคคล “ที่มีอิทธิพล” ทำให้เกิดภาพของบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจ ซึ่งมักจะหมายถึงอิทธิพลของบุคคลและหน่วยงานของรัฐที่มีศักยภาพ และไม่หวั่นเกรงที่จะต้องใช้วิธีการนอกกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน การที่ศาลอุทธรณ์เอ่ยถึงนางจินตนาด้วยการใช้ถ้อยความเช่นนี้ และศาลฎีกาเองก็ไม่คัดค้านความเห็นดังกล่าว ไม่เพียงเป็นเรื่องที่ผิด แต่เป็นเรื่องที่ชั่วร้าย และเป็นตัวชี้วัดว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังคงถูกมองว่า เป็นผู้ก่อความวุ่นวาย และเป็นคนทำความชั่ว ต่อต้านประโยชน์ของรัฐ เช่นเดียวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ นางจินตนาและเพื่อนสมาชิกที่ประจวบคีรีขันธ์ ต้องเผชิญกับการข่มขู่ และคุกคาม ของนายทุนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมมือด้วยมาเป็นเวลานาน ผู้ที่ต่อต้านนักปกป้องสิทธิฯต่างหากที่จะมุ่งหน้าใช้ความรุนแรงอย่างเปิด เผย ไม่ใช่ตัวผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเลย อย่าลืมว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 นายเจริญ วัดอักษร ผู้นำอีกคนหนึ่งที่ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและการทำลายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ถูกสังหารจนเสียชีวิตระหว่างลงจากรถทัวร์ หลังจากไปให้การต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ที่กรุงเทพฯ (โปรดดู AHRC-UA-76-2004 สำหรับ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลอบสังหาร) เมื่อต้นปีนี้ ในวันที่ 31 มกราคม 2554 นายเผชิญ เกตุแก้ว ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มนางจินตนาก็รอดตายจากการลอบสังหาร นายเผชิญทำงานต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าที่ประจวบคีรีขันธ์ แต่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลไม่ใช้ถ่านหิน แม้จะมีวิธีการแตกต่างกัน ตั้งแต่การลงโทษตามกฎหมาย ไปจนถึงการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย คดีของ นางจินตนา แก้วขาว นายเจริญ วัดอักษร และ นายเผชิญ เกตุแก้ว สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงที่ยังดำรงอยู่ของคนไทยที่พยายามต่อสู้เพื่อคุ้ม ครองชุมชนและสุขภาพของตนเอง ซึ่งเป็นการต่อต้านความพยายามที่ทำลายธรรมชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตน # # # เอเอชอาร์ซี: คณะกรรมาธิการสิทธิ มนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในเอเชีย ออกเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และ สนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสถาบันยุติธรรม เพื่อให้แน่ใจว่า สิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองและส่งเสริม สำนักงานตั้งอยู่ที่ฮ่องกง โดยก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2527 |