ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ปี"54 ถือว่าเป็นปีแห่งความท้าทายภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องรับแจ๊กพอต 2 เด้ง ทั้งเหตุการณ์ สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา กับปัญหาอุทกภัยกลืนประเทศไทยที่รุนแรงต่อทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งทรัพย์สิน ชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ใน ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำจากทางภาคเหนือ-กลางตอนบนไหลบ่าท่วมนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางของ ประเทศไม่ต่ำกว่า 3 นิคมอุตสาห กรรม ซึ่งประกอบไปด้วยโรงงานที่ขับ เคลื่อนจากทุนไทยและทุนต่างชาตินับแสนล้านบาท
เช่น นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ มีโรงงาน 236 แห่ง มูลค่าการลงทุนรวม 70,000 ล้านบาท นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร มีโรงงาน 49 แห่ง มูลค่าการลงทุนรวม 9,472 ล้านบาท นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) มีโรงงาน 143 แห่ง มูลค่าการลงทุนรวม 65,312 ล้านบาท
และที่ต้องเฝ้าระวังคือ นิคมอุตสาห กรรมบางปะอิน มีโรงงาน 90 แห่ง มูลค่าการลงทุนรวม 60,000 ล้านบาท นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีโรงงาน 225 แห่ง มูลค่าลงทุนรวม 85,000 ล้านบาท
ขณะนี้ยังประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งในแง่การลงทุนและเครื่องจักรไม่ได้
นํ้า ท่วมไม่ได้ส่งผลเฉพาะแค่การลงทุนที่ผ่านมาต้องหายไป แต่หมายถึงการลงทุนต่อไปในอนาคต รวมถึงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะจากต่างชาติ ที่ต้องตั้งข้อสังเกตกันให้ดีว่า ความเชื่อมั่นการลงทุนจะไหลไปตามกระแสน้ำด้วยหรือไม่
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่า ในแง่ของความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ ว่าจะลดลงหรือ นักลงทุนต่างชาติจะมีการย้ายฐานการลงทุนหนีหรือไม่ เพราะตอนนี้ยังมีความไม่ชัดเจนหลายเรื่อง ทุกอย่างอยู่ในช่วงฉุกละหุก ประเด็นสำคัญคือผู้ประกอบการไทยไม่รู้ว่ารัฐบาลกำลังคิดอะไร ทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าต่างชาติจะคิดอย่างไรด้วย
"คง ต้องรอติดตามสถานการณ์กันแบบวันต่อวันกันสักระยะ รอดูว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ได้รวดเร็วมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าปัญหาจะคลี่คลายได้อย่างไร ทำให้การประเมินผลกระทบ หรือประเมินความเชื่อมั่นยังไม่สามารถทำได้" นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ประเด็นความมั่นใจและข้อได้เปรียบในการลงทุนในไทยยังมีอยู่มากเมื่อเทียบกับ ประเทศอื่น ที่ผ่านมาไทยมีสัดส่วนการผลิต ประกอบรถยนต์เพื่อการส่งออก มีสัดส่วนมากกว่า 50% ในภูมิภาคอาเซียน ยอดขายรถยนต์ ผลิตชิ้นส่วนก็ขยายตัวทุกปี ประเทศที่เป็นผู้ลงทุน เช่น ญี่ปุ่น ก็หันมาลงทุนในประเทศไทยกันหมดแล้ว ซึ่งเรื่องนี้มองว่าต่างชาติคงเข้าใจว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครประเมินสถานการณ์ได้ จึงต้องรออย่างเดียวว่าสถานการณ์จะจบอย่างไร
ด้าน นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาห กรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาพรวมการผลิตรถยนต์ปี"54 มองว่าจะต่ำกว่าที่คาดไว้ 1.8 ล้านคัน โดยก่อนหน้านี้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ประสบปัญหาอย่างหนักมาตั้งแต่เหตุการณ์สึ นามิ ในญี่ปุ่น ทำให้ยอดกำลังการผลิตหายไปกว่า 9 หมื่นคัน เสียหายกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท และยังมาเจอเหตุการณ์น้ำท่วมอีก ซึ่งกระทบภาคการผลิตชิ้นส่วน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนต่อเนื่อง (ซัพพลายเชน) จำนวนมาก ซึ่งยังประเมินความเสียหายไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมอีกนานแค่ไหน
เป้าหมายการผลิตรถยนต์ 1.8 ล้านคันในปีนี้ จึงอาจไม่ถึงเป้า
ใน ส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องถือว่าได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่าภาคยานยนต์ เพราะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์สึนามิเช่นเดียวกัน
ภายหลังจากที่น้ำท่วมลุกลามนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร โรจนะ และไฮเทค ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตสำคัญ จมดิ่งอยู่ใต้น้ำ
นาย ศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส.อ.ท. ระบุว่า มีความเป็นห่วงว่านักลงทุนต่างชาติจะถอนทุนหนี ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นเป็นอย่างมาก หากรัฐบาลไม่สามารถเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นหลังจากนี้ เพราะผู้ประกอบการโรงงานจมน้ำทั้งหมด ก็เหมือนเหลือศูนย์ ต้องมาเริ่มลงทุนกันใหม่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในไทยก็ได้ หากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ดีกว่านี้ เพราะถ้าลงทุนไปใหม่ก็มีความเสี่ยงเหมือนเดิม
ขณะเดียวกัน นโยบายรัฐบาลหลายเรื่องยังเป็นตัวซ้ำเติมให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการลงทุนหนี ได้ง่ายขึ้น เช่น นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มาตรการห้ามแรงงานต่างด้าวทำงานของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดังนั้นการลงทุนที่ผ่านมาจึงเหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย แต่เมื่อฟางเส้นสุดท้ายขาดจากน้ำท่วมจมโรงงานไปหมดแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ต่อ
"ต้องดูว่ารัฐบาลจะมีข้อเสนออะไร ให้ผู้ประกอบการบ้าง ไม่ต้องคิดถึงว่าจะไปดึงรายใหม่เข้ามา แต่ให้มองรายเก่าไม่ให้หนีออกไปก็พอแล้ว ซึ่งมีอยู่ไม่กี่เรื่องที่ควรทำ ทั้งเรื่องค่าแรง แรงงานต่างด้าว รวมถึงความชัดเจนในการป้องกันน้ำท่วม ปีต่อๆ ไป เพราะสถานการณ์น้ำคงรุนแรงมากขึ้นทุกปีแน่นอน" นายศุภชัย กล่าว
ด้าน นายเซ็ตซีโอะ อิอุจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายจากอุทกภัยในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ในส่วนที่เป็นการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นได้ จึงอยากขอให้รัฐบาลไทยเร่งควบคุมสถานการณ์เพื่อลดความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย
ส่วนนักลงทุน ญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตจากไทยหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล แต่เท่าที่ประเมินยังเชื่อว่ารัฐบาล โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น เพราะในแง่ของความเชื่อมั่นนั้น นักลงทุนไม่ได้มองแค่ปัจจัยเดียว แต่มองหลายๆ ปัจจัย ซึ่งเรื่องภัยธรรมชาติก็เป็นปัจจัยหนึ่ง หากมีความเสียหาย ก็ควรเข้าไปเร่งเยียวยา ดูแลรวดเร็วซึ่งจะทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาไม่มาก
"ไม่สามารถตอบ ได้ว่าจะย้ายฐานการลงทุนไปที่ประเทศอื่นแทนไทยหรือไม่ เพราะยังเชื่อว่ารัฐบาลไทยจะมีมาตรการเยียวยาปัญหาออกมา ขณะเดียวกันประเทศไทยเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ถือว่ายังมีจุดดึงดูดในการลงทุนค่อนข้างเยอะ ก็หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นโดยเร็ว" นายเซ็ตซีโอะ กล่าว
นายเซ็ตซี โอะ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการป้องกันและเยียวยา ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการหลายเรื่อง เช่น การเร่งให้ข้อมูลอย่างเร่งด่วนแม่นยำ การสนับสนุนจากไทยในการฟื้นฟูเครื่องจักรที่เสียหาย การช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ให้ความช่วยเหลืออุดหนุนให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงขั้นตอนการทำธุรกิจที่ควรมีการปรับลดเงื่อนไขให้มีความยืดหยุ่นมาก ขึ้นเป็นกรณีพิเศษช่วงเวลาหนึ่ง
นายเคียวอิจิ ทานาดะ ประธานหอการค้าไทย-ญี่ปุ่น (เจซีซี) กล่าวว่า เจซีซีเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะเป็นภัยธรรมชาติ แต่ต้องการให้ไทยมีแผนป้องกันและฟื้นฟู ควรระดมสรรพกำลังเพื่อดำเนินการอย่างเต็มที่
จากหลายเสียงของผู้ ประกอบการ ยังยิ้มสู้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากนี้คงขึ้นอยู่กับฝีมือรัฐบาลในการบริหารจัดการปัญหาให้ดีขึ้นได้อย่างที่ หวังกันหรือไม่
เพราะหากไร้ฝีมือ ก็ย่อมหมายถึงการไร้ความเชื่อมั่น ซึ่งนั่นคือจุดจบเศรษฐกิจไทยแน่นอน