ที่มา thaifreenews
โดย bozo
เจาะใจ"ณัฐวุฒิ" อนาคต"พท."กับระเบิดเวลาลูกใหญ่
เราไม่สนับสนุนหากรบ.แก้ปัญหาน้ำท่วมโดยไม่สนใจการเมือง
รับชมข่าว VDO
http://www.matichon.co.th/mtc-flv-window.php?newsid=1318761472
หลังจากที่ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ได้พูดถึงบทบาทของตนเอง
ในการทำหน้าที่ส.ส.กับแกนนำคนเสื้อแดงไปแล้วนั้น
"ณัฐวุฒิ" ยังยืนหยัดคำเดิมว่า "เมื่อถึงทางแยก ก็ยังจะเป็นคนเสื้อแดงตลอดชีวิต"
แต่ต้องไม่ลืมว่า การที่เสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยเป็นเนื้อเดียวกัน
เพราะมีจุดยืนในเรื่องของ "ประชาธิปไตย"
และจะกอดคอกันต่อไปตราบที่ยังมีจุดยืนและอุดมการณ์เดียวกัน
นั่นก็หมายความว่า เมื่อจุดยืนเปลี่ยน ความสัมพันธ์ก็อาจจะต้องเปลี่ยนตาม
โดยมี "เวลา" เป็นเครื่องพิสูจน์ "ความจริงใจ" ระหว่าง "เสื้อแดง" กับ "เพื่อไทย"
ในอนาคต
ตามสุภาษิตที่ว่า "ระยะทางพิสูจน์ม้า เวลาพิสูจน์คน"
ในวันเดียวกันนั้น "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ในฐานะแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ยังให้สัมภาษณ์กับ "มติชนออนไลน์"
ถึงทิศทางและแนวโน้มของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ต่อคำถามที่ว่า การเปิดความจริงกรณี 91 ศพนั้น เป็นตัวเร่ง
ทำให้รัฐบาลอายุสั้นหรือไม่นั้น
ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ถ้าเชื่อว่าประชาธิปไตยมีชีวิตเป็นนิรันด์
การที่การที่รัฐบาลจะมีอายุสั้นลงหรือยาว คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
ถ้าเราแน่ใจว่า ทุกก้าวที่เราทำอยู่นั้นเพื่อประชาชน
หรือทำให้ประชาชนแข็งแรง อีกทั้งทำให้ประชาธิปไตยมีอนาคตและยืนต่อไปได้
นี่ต่างหากเป็นสิ่งที่ต้องคิด
"ถ้ารัฐบาลทำเพื่อประชาชนจริงๆ ก็ไม่ใช่ปัญหา
ถ้ารัฐบาลอายุสั้นเพื่อเกิดใหม่เรื่อยๆ โดยผ่านการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่ถ้ารัฐบาลบอกว่าจะอยู่ให้ครบ 4 ปี โดยทอดทอดทิ้งประชาชน
หรือต่อสู้แล้วละทิ้งประชาธิปไตย ท่านก็จะมี 4 ปีสุดท้ายเท่านั้นเอง
และจะไม่เป็นปัญหากับคนเสื้อแดงด้วย
เพียงแต่ว่า โดยสถานการณ์แล้ว ถ้าหากว่ารัฐบาลยังมีจุดยืนเดียวกัน
รัฐบาลยังพูดเรื่องประชาธิปไตยเป็นเสียงเดียวกันกับประชาชน
เราต้องพยายามประคับประคองรัฐบาลให้อยู่ในอำนาจรัฐให้ได้นานที่สุด
ไม่ได้หมายความว่าอายุรัฐบาลสั้นหรือยาวแล้วจะไม่สำคัญกับคนเสื้อแดง
แล้วเราละปล่อย ไม่ใช่ ถ้ารัฐบาลนี้ยังมีจุดยืนเดียวกัน ก็ต้องประคองดันไป"
ยิ่งทุกวันนี้รัฐบาลยังไม่รอดปากเหยี่ยวปากกาเลย
ยังมีการเตรียมการ หรือเคลื่อนไหวที่ยังไม่น่าไว้วางใจอยู่
ซึ่งเราก็เตรียมการเป็นการภายในอยู่เหมือนกัน
เพื่อให้รัฐบาลได้ทำงานตามที่ประกาศไว้กับประชาชน
เพราะเราอยากให้รัฐบาลได้ใช้อำนาจรัฐในการให้ความยุติธรรมกับประชาชน
อยากให้อำนาจรัฐที่ได้จากการต่อสู้ ได้เดินหน้าได้สักก้าวใหญ่ๆ
ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงให้ได้ ทั้งหมดนี้รัฐบาลจึงต้องอยู่
บอกได้หรือไม่ ว่าการเตรียมการเป็นไปในลักษณะไหน
ณัฐวุฒิ ยิ้มรับอย่างเดียว ก่อนจะบอกว่า ในการเคลื่อนไหวนั้น
ส่วนสิ่งที่ทำในนามพรรคก็ต้องตรงไปตรงมาอยู่แล้ว
ผมไม่มีวาระซ่อนเร้นในการเคลื่อนไหวในนามพรรค
โดยที่พรรคไม่มีส่วนในการรู้เห็น หรือรับทราบ
เพราะการต่อสู้เรื่องใหญ่ต้องทำด้วยกัน
เราต้องตรงไปตรงมา ถ้าทำในนามนปช. ก็มีการบอกกล่าวบ้าง
ถ้าเราบอกว่าทำก็คือต้องทำ
ไม่ได้หมายความว่านปช. ทำทุกก้าวและต้องรอสัญญาณจากพรรคเพื่อไทย
ที่คอยบอกว่าให้ทำหรือไม่ให้ทำ
พวกผมเอาการต่อสู้ของประชาชนไปอยู่ในสถานะนั้นไม่ได้
สิ่งที่เราจะต้องเดินในนามนปช.ก็ต้องเดินหน้าต่อไป
แต่ในนามสมาชิกพรรคก็ต้องเคารพกระบวนการนั้น
มั่นใจกรณี 91 ศพในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ความจริงจะกระจ่าง
ตรงนี้ผมมั่นใจว่า ผมจะเป็นแรงผลักดันสำคัญคนหนึ่ง
ร่วมกับพี่น้องที่เข้ามาทำหน้าที่ ในการำนำเรื่องนี้ปรากฎ
ผมไม่สามารถจะเข้ามาอยู่ในรัฐบาล แล้วภาวนาให้รัฐบาลอยู่รอดได้
โดยละทิ้งเรื่องราวการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนไปได้
ไม่ว่าจะเป็น คดี 91 ศพ รวมถึงคดีต่างๆ
การเยียวยาผู้เสียหาย การช่วยเหลือผู้ต้องหาในเรือนจำ
ตรงนี้ทำมาตลอด และตอนนี้ก็เหลือที่จ.มหาสารคาม 9 คน ในกรุงเทพฯอีก 17 คน
และคดีที่ตัดสินแล้วอีกจำนวนหนึ่ง ก็ทำอยู่ต่อเนื่อง
ชวนส.ส.พรรคเพื่อไทย ใช้ตำแหน่งและหลักทรัพย์ไปประกันตัว
จนถึงเวลานี้ก็ได้เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว เพียงแต่บางขั้นตอน
บางจังหวะที่ทำอยู่อาจจะช่วยพี่น้องของเราออกมาได้ไม่หมด
นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พี่น้องเสื้อแดงต่างวิจารณ์ถึงการทำงานตรงนี้ แต่ไม่เป็นไร
เพราะเขาห่วงคนที่กำลังประสบชะตากรรม และสิ่งที่ทำก็ขออนุญาตทำหน้าที่ต่อไป
ยังไม่ใช่เวลาที่จะนั่งอธิบายว่าทำอะไรอยู่ แม้จะช้าแต่ก็พยายามทำให้ดีที่สุด
โดยเฉพาะ ตั้งแต่ช่วอยออกจากเรือนจำ หาส.ส.ไปประกันตัว ก็ช่วยได้มาก มากกว่านั้น
นี่ไม่ใช่เรื่องต้องมาอ้างว่าเป็นผลงานของใคร
ใครก็ตามที่อยู่ในฐานะแกนนำเหมือนผม ก็ต้องทำสิ่งนี้ และเมื่อผมอยู่ในจุดนี้ ก็ต้องทำ
เมื่อถามว่าจุดจบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
เหมือนรัฐบาลของคุณสมัคร สุนทรเวช
หรือรัฐบาลของคุณสมชาย วงค์สวัสดิ์ หรือไม่นั้น
คนอาจจะวิเคราะห์อย่างนั้นได้ แต่ถ้าเป็นแบบนั้น
ท่านจะวิเคราะห์จุดจบของสถานการณ์รวมได้หรือไม่
เวลานี้คนอาจจะวิเคราะห์ว่า เดี๋ยวก็ปฏิวัติ เดี๋ยวก็มีองค์กรอิสระ
อะไรก็ไม่รู้มาปลดนายกฯ ยุบพรรคเพื่อไทย
แล้ววิเคราะห์ได้หรือไม่ว่า "จุดจบจะเป็นแบบไหน"
รัฐบาลเพื่อไทย 1 เดือนกว่า กระชับอำนาจเก่าไม่ได้
เป็นธรรมดา ... การที่คุณยิ่งลักษณ์ มาเป็นนายกฯนั้น เป็นที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง คือ
เธอเข้ามาในสถานการณ์ที่ล่อแหลม และอยู่ในสถานการณ์ที่มีทุ่นระเบิดมากมาย
ขณะที่กำลังในการใช้อำนาจ ใช้กลไกในการบริหาร ก็มีสถานการณ์อุทกภัยที่ใหญ่มากๆ
ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เข้ามาอีก ก็ยากที่รัฐบาลชุดนี้จะนิ่ง ก่อนจะกลายเป็นแรงบวกหลายเท่า
ที่จะพารัฐบาลเดินไปได้ไม่ดีนัก แต่ผมก็พร้อมที่จะเป็นกำลังใจให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้
โดยต้นปีหน้าจะนิ่งกว่านี้ นโยบายต่างๆ จะเริ่มออก น้ำท่วมจะคลี่คลาย คาดหวังเช่นนั้นนะ
"ในทางการเมืองแล้ว ถ้ารัฐบาลเดินถูกจุด ถูกที่ ถูกเวลา น่าจะเดินได้ยาว
เราคงไม่ต้องบอกหรือมีหน้าที่ประกาศว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ได้กี่ปี
เป็นเรื่องที่ประชาชนใช้ดุลพินิจได้ ยิ่งเมื่อนโยบายออกดอกออกผล
ประชาชนก็จะให้การตอบรับนโยบายมากขึ้น"
ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมนั้น โพลบอกคะแนนยิ่งลักษณ์หล่นน้ำ
ณัฐวุฒิ ตอบทันทีว่า ในท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชน
ในการเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติ ความคาดหวังก็ต่างกัน
แล้วความคาดหวังนั้นก็พุ่งเป้ามาที่รัฐบาล
แต่เชื่อว่าในที่สุดคุณยิ่งลักษณ์ จะประคองให้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านไปได้
และทำได้ดีกว่าคุณอภิสิทธิ์แน่ๆ
และในสถานการณ์นี้ เปลี่ยนจากคุณยิ่งลักษณ์มาเป็นคุณอภิสิทธิ์
คะแนนที่ว่าหล่นน้ำ คุณอภิสิทธิ์จะหล่นมากกว่าเสียอีก (หัวเราะ)
ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ในความไม่สบายใจของประชาชน
ผมก็เข้าใจเหมือนกัน รัฐบาลก็เต็มที่
พายุก็มาเยอะเกิน เดี๋ยวก็ไอ่นั่น เดี๋ยวก็ไอ่นี่ จนจำชื่อไม่ได้ และไม่เคยเจอมาก่อน
ทุกวันนี้ คนเสื้อแดงก็ระดมของบริจาคแทบทุกวัน
เมื่อถามว่าทั่วถึงหรือไม่นั้น ก็คงตกหล่นอยู่บ้าง
แต่ก็ห่วงใย เพราะสถานการณ์อุทกภัยมันมีพัฒนาการทุกวัน
ระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ นี่ยังไม่รวมที่ใหม่ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนิดหนึ่ง
แค่ระยะสั้นก็หนักพอสมควรแล้ว ยิ่งในระยะยาวก็ยิ่งมองไม่ออก
ย้อนบรรยากาศในสภาฯแล้ว ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ปะทะกันรุนแรง
ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญ หรือหนทางประชาธิปไตยไม่ราบรื่น
ผมก็เห็นด้วยว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งมาก
แล้วเราควรสนับสนุนให้เขาเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งต่อไปเรื่อยๆ
ส่วนเพื่อไทยก็ควรเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน ผมว่าความสัมพันธ์นี้น่าจะลงตัวอยู่
การเดินหน้าของเสื้อแดง เป็นตัวเร่งอำนาจเก่าหรือไม่ เช่น
มีคนบอกว่าสิ้นปีนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะจบลง
ผมถึงบอกว่าเราต้องเคลื่อนไหวด้วยความละเอียดรอบคอบ รัดกุม
แต่ว่าไม่ใช่ว่ารัดกุมจนไม่แตะอะไรเลย สิ่งที่บอกว่าเร็วหรือช้านั้น
ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วบางเรื่องที่ไม่ทำนั้น มันก็จะเกิดปัญหาหนักต่อไป
เราต้องคุยกัน เราปฏิเสธและไม่สนับสนุนอย่างยิ่ง
ที่จะให้รัฐบาลใช้เวลากับการก้ปัญหาน้ำท่วม กับการเยียวยาผู้ประสบอุทักภัย
หรือผลักดันนโยบาย แต่ละเลยปัญหาทางการเมือง น้ำท่วมก็ลดได้
นโยบายก็ยังมีวันที่จะต้องประเมินผล แต่ถ้าแก้น้ำท่วม นโยบายสำเร็จ
แล้วไม่สนใจปัญหาการเมือง สักวันเหตุการณ์หนึ่งมันก็จะย้อนกลับมาอีก
รัฐบาลทักษิณไม่เคยแพ้ในสนามนโยบาย
เมื่อปี 44, 48 ประสบชัยชนะในสนามนโยบายมาตลอด ผู้คนสนับสนุนเต็มบ้านเต็มเมือง
สุดท้ายเมื่อเจอโจทย์ทางการเมืองที่รับมือไม่ทันขณะนั้น แก้ไม่ตก ไปไม่ได้
ฉะนั้น ถ้าไม่แก้ปัญหาทางการเมือง สุดท้ายก็กลับมาสู่วงจรเดิม
รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ในวันนี้ ไม่ได้แข็งแรงเท่ารัฐบาลคุณทักษิณ
ถ้าไม่พยายามจัดการกับระเบิดเวลา วันหนึ่งเมื่อยืนอยู่กลางสนามระเบิด มันจะแก้ไขไม่ทัน
ผมถึงบอกว่า ผมยินดีที่จะเล่นเกมเสี่ยง ถ้าจำเป็นและเกิดผลดีกับขบวน ก็ต้องทำ
คนเบื่อการเมือง เพราะภาพที่ออกมาโต้กันไปมา มีแต่ความขัดแย้ง
ตรงนี้ ณัฐวุฒิ กล่าวว่า มันต้องดูว่าสู้กันเรื่องอะไร ถ้าสู้เรื่องเก้าอี้ที่นั่ง ก็น่าเบื่อ
แต่ถ้าสู่เรื่องการเมือง จุดยืนในเรื่องของประชาธิปไตย อันนี้ไม่น่าเบื่อ
มันให้ปัญญากับสังคม มันท้าทายสังคมไทยมากกว่า
ซึ่งจะต้องอภิปรายกันในเรื่องนี้
เพราะการต่อสู้ จึงทำให้กระบวนการประชาธิปไตยมันเติบโตและแข็งแรงขึ้น
ผมไม่ได้บอกว่าเป็นบทบาทของนปช. แต่ยังมีนักวิชาการ ประชาชนธรรมดา
ที่ต่อสู้จนทำให้สถานการณ์มันแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าย้อนหลังไปก่อนปี 49 ประเด็นที่อาจารย์ในคณะราษฎ์เปิดออกมา
มันอาจจะไม่เป็นประเด็นสาธารณะขนาดนี้
ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์เป็นการพูดคุยของกลุ่มคนในวงจำกัดของสังคม
หรือแค่นักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่ง แต่วันนี้ ประเด็นนี้ ได้กลายเป็นการสนทนาในห้อง
จนถึงร้านขายข้าวแกง ตลาดสด วินมอเตอร์ไซค์
เราจะเห็นว่า สิ่งที่ผมต่อสู้ที่สนามหลวง ต้นปี 2550 ท่ามกลางการ
ถูกเหยียดย่ำ เสียดสี ดูแคลน วันนี้กลายเป็นสิ่งที่เป็นสถานการณ์ใหญ่ของประเทศ
เป็นสถานการณ์ใหญ่ที่ทั่วโลกจับตามมองด้วยความสนใจ
ว่าจะไปเจาะในจุดใดของสถานการณ์
เพราะเราต่อสู่เรื่องความคิด เราต้อสู้เรื่องเนื้อหา และในเรื่องของหลักการ
แต่ก็แน่นอนว่า เวลาที่ตะลุมบอน มันมีเหตุการณ์ที่ประเมินดูแล้วไม่ใช่สาระหลัก
หรืออะไรกันอยู่บ้าง เพราะเวลาสู้กัน ก็ไม่มีใครยอมใคร ไม่ต้องถึงขั้นผลักอก
แค่เหยียบเงากันก็ไม่ได้ มันเลยมีความรู้สึกนี้เจือปนอยู่
แต่ผมว่ามันทำให้เราโตขึ้น และต้องต่อสู้เรื่องนี้ต่อไป
เพราะยังมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่ยังสนับสนุนให้มีการรัฐประหาร
มีหลายคนยังปกป้องอำนาจที่มาจากเผด็จการหรือปกป้องอำนาจนอกระบบ เราก็ต้องต่อสู้กันต่อ
ผมคิดว่าสิ่งที่จะมีผลสะเทือนที่สุด
สำหรับคนที่บอกว่าชั้นสูง มีความสามารถ คิดอ่าน ศึกษามากกว่าใคร
ถ้าพวกผมไปวิจารณ์เขาอาจจะไม่สนใจ
เพราะเขาคิดว่าพวกผมนั้นสมุนทักษิณต่างๆ นาๆ ว่ากันไป
แต่ถ้าประชาชนที่ไม่ใช่นักการเมือง เป็นประชาชนจริงๆ
จะเป็นชาวนา ชาวไร่ แรงงาน ออกมาวิจารณ์เรื่องนี้
ผมว่ามีพลัง และคนเหล่านั้นได้เริ่มขึ้นแล้ว
มีการวิจารณ์เรื่องการเมืองอย่างเผ็ดร้อน นี่ต่างหากที่เป็นพลัง
ไปเขมรคุยคุยอะไรกับฮุนเซนบ้าง
ก็คุยกันหลายเรื่องนะ เพราะเราก็ได้ติดตามข้อมูลของท่านอยู่หลายเรื่อง
ก็ทราบว่า ท่านผ่านการต่อสู้อย่างหนัก เจอสถานการณ์ที่รุนแรงกว่าเราอีกหลายเท่าตัว
เพราะกัมพูชาไม่ต้องนับผู้เสียชีวิต เพราะเกินกว่าที่จะประมาณการได้
แต่สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เราคาดหวังที่จะได้แง่มุมจากการต่อสู้ของท่าน
ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของท่านมาเป็นข้อคิดของเรา ในการเดินไปข้างหน้าของเรา
เพราะผมไม่มีประสบการณ์ในการต่อสู้ใดๆ มาก่อน
เกิดไม่ทัน 14 ตุลา และเมื่อ 16 พฤษภา ปี 35 อายุแค่ 17 ปีเอง
ก็เป็นเยาวชนที่ไปร่วมชุมนุมคนหนึ่ง ไม่เคยไปยืนชิดเวทีด้วยซ้ำ
เมื่อครั้งที่มีการชุมนุมที่สนามหน้าอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
ฉะนั้นเมื่อ เข้ามาอยู่ศูนย์กลางในการต่อสู้ครั้งนี้
จึงต้องพยายามศึกษา เรียนรู้ ทั้งจากเหตุการณ์จริง จากการค้นคว้า อ่าน ฟัง ถาม สังเกตุ
เมื่อได้สนทนากับคนที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างน่าสนใจ
ผมก็จะถือโอกาสเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นจากเขา ไม่เฉพาะจากสมเด็จฮุนเซนเท่านั้น
ใครก็ตามที่เห็นว่าเรื่องราวของเขามีมิติน่าสนใจ แล้วสามารถประยุกต์ใช้กับเราได้ ก็ชอบที่จะเรียนรู้
ประวัติศาสตร์ไทย คนถืออาวุธชนะเสมอ
แล้วสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ท่านเคยเห็นอยู่ในการเมืองไทยหรือไม่
ผมว่าสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ผมศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดตั้งแต่สมัย รศ 130, แนวคิด 2475,
การหักล้างระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ขณะนั้น ฯลฯ
เหตุการณ์เหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้น ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ โดยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เราจะไปสรุปว่า จุดจบมันจะจบเหมือนเดิมไม่ได้
นี่เป็นเรื่องใหม่ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเดาจุดจบได้ แล้วเป็นสถานการณ์ที่แหลมคมที่สุด
ในสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่มีประเทศไทยมา
มีสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนเป็นการเฉพาะในสังคมไทย
และเท่าที่ศึกษาสถานการณ์ทางการเมืองของหลายประเทศ ผ่านการอ่าน ค้นคว้า
ก็เห็นลักษณะพิเศษของสถานการณ์การเมืองบ้านเราว่ามีลักษณะเฉพาะ ที่ไม่เหมือนที่ไหน
ที่อื่นอธิบายความซับซ้อนได้ แต่ไทยไม่เป็นเช่นนั้น
ฉะนั้นจุดจบเรื่องนี้ จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในตำราเล่มใหม่
ของสถานการณ์ทางการเมืองในเวทีโลก
แต่ก็ไม่อยากให้เหตุการณ์นั้นบันทึกด้วยน้ำหมึกที่เป็นเลือดของประชาชน
อยากให้ประวัติศาสตร์บันทึกด้วยน้ำใจของทุกฝ่าย ไม่มีใครคิดทำลายกัน
แต่อยากให้เข้าใจกัน แล้วให้พื้นที่การเข้าใจแคบที่สุด จนไม่เหลือพื้นที่การเข่นฆ่า
แต่ทุกคนต่างเรียนรู้การรัฐประหารไม่เหมือนเดิม อาจจะใช้ตุลาการภิวัฒ์ที่เงียบและเนียนกว่า
แล้วท่านคิดว่าสถานการณ์แบบนั้น ท่านจะทำให้เงียบและเนียบตบตาประชาชนได้หรือไม่
ผมไม่เชื่ออย่างนั้น แต่เชื่อว่าเวลานี้ถ้าใครขยับตัว ต่างก็มีต้ทุนทางการเมืองทั้งนั้น
ต้องแลกหรือทำอะไรไม่เหมือนหลายเหตุการณ์ในอดีต
เวลานี้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เข้าใจสถานการณ์อย่างลึกซึ้ง
"ผมก็อยากจะเห็นเหมือนกันว่าวิธีการไหน
ในการล้มรัฐบาลที่แนบเนียนแล้วมันแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต"
เมื่อประชาธิปัตย์มองว่า "นิติราษฎร์" เป็นพวกเดียวกันกับเสื้อแดง
ผมไม่เคยพบปะ สนทนา ไม่เคยคุย
หรือมีสัมพันธภาพส่วนตัวกับอาจารย์ท่านใดเลยในกลุ่มนิติราษฎร์
แต่ชื่นชมการแสดงออก รวมถึงการขับเคลื่อนของกลุ่มนี้
ผมดีใจอย่างยิ่งที่มีการเปิดตัวของกลุ่มนิติราษฎร์ เมื่อ 19 ก.ย. ปีที่แล้ว
ซึ่งขณะนั้นผมอยู่ในเรือนจำ อยู่ในเรือนจำได้ยินเรื่องนี้
ก็มีกำลังใจว่าการต่อสู้ของพี่น้องยังอยู่
เพราะมีคนที่มีขีดความสามารถหลายวงการ
โดยเฉพาะวงวิชาการ ได้ร่วมต่อสู้ ต้องยอมรับว่า
การแสดงออกของนิติราษฎร์ ไม่ใช่ต้องมีความรู้อย่างเดียว
ต้องกล้าหาญ และมีความเสียสละบวกเข้าไปด้วย
ฉะนั้น ในทางส่วนตัวแล้ว ไม่เคยเกี่ยวข้องกัน และไม่เกี่ยวกับคนอื่นในนปช.
เพราะผมต้องรู้ว่าในกลุ่มนปช.ใครเคลื่อนไหวหรือทำอะไร
การที่จะมารับลูกกันเป็นขบวน คิดอ่านร่วมกันไม่มี
ก่อนหน้านี้ยอมรับว่า อ.วรเจตน์ ฝากหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองให้อ่าน
แต่นั่นก็ถือเป็นมิตรภาพ และยังอีกหลายท่านที่นำมาให้อ่าน (ไม่ขอเอ่ยชื่อ) มากกว่านั้น
อ.วรเจตน์ ก็ไม่เคยขึ้นเวทีของกลุ่มคนเสื้อแดง
ตามที่คุณถาวร เสนเนียม อ้างถึงด้วย
ก็อาจจะมีเวทีเสวนาแล้วไปต้องกับแนวทางของคนเสื้อแดงอยู่บ้าง
ตรงนั้น ก็เป็นเสรีภาพ ทั้งนี้ ผมชื่นชมท่านเหล่านี้
แล้วอีกหลายๆท่าน ที่ไม่อาจเอ่ยได้หมด ที่ออกมาต่อสู้
"ผมเป็นนักรบในสนาม และจะไม่ถอนตัวออกจากสนามรบเด็ดขาด
แต่สนามรบนี้ไม่ใช่ของผมคนเดียว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องหวงแหนบทบาท
หรือต้องรักษาสถานภาพแกนนำเอาไว้ ส่วนตัวไม่เคยคิดแบบนั้น
เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกัน ชนะเหมือนกัน
ฉะนั้น ทุกครั้งที่ใครแสดงท่าทีนั้นออกมา ผมดีใจ แต่ไม่เคยมีความคิดที่จะยุ่มย่ามกับเขา
เพราะนี่คือความงามของการต่อสู้ และก็สนับสนุนแนวคิดของกลุ่มนิติราษฎร์ด้วย
ขณะเดียวกัน การที่ใครจะตามแนวคิดของกลุ่มนิติราษฎร์ก็ไม่เห็นมีปัญหา
เพราะนี่ไม่ใช่สนามรบของใคร ไม่ใช่พื้นที่ประกาศศักดาของใคร" ณัฐวุฒิ ย้ำ
การแก้รัฐธรรมนูญจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้
และจะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกฎหมายสูงสุดแล้วบังคับใช้ต่อไป
ผมยอมรับไม่ได้ แต่การที่จะแก้นั้น ต้องมีกระบวนการ
ความเห็นผมก็คือว่า เมื่อตกลงใจว่าจะแก้ ฝ่ายสภาฯต้องลงมือแก้ มาตรา 291
แล้วให้มี สสร. และกระการนั้นประชาชนต้องมีส่วนร่วม
เมื่อกรรมาธิการยกร่างให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็จะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา
ผมไม่ได้ขีดเส้นว่าจะต้องเอาปี 50 ออกไป แล้วเอาปี 40 คืนมา
แบบนั้นก็ไม่ใช่ ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น แต่รัฐบธรรมนูญปี 50 อยู่ไม่ได้
ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีรากฐานมาจากปี 40 ซึ่งเป็นฉบับที่มาจากประชาชนก็ไม่ขัดข้อง
แต่ก็ต้องว่ากันใหม่ ยกร่างกันใหม่ และไม่ได้หมายความว่า
ต้องเป็นฉบับที่คนเสื้อแดงเป็นคนร่าง ตรงนี้ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขอีก
ซึ่งครั้งหนึ่งที่คปพร. เป็นคนร่างก็ไม่เคยถูกเรียก แต่เรียกว่า "ฉบับหมอเหวง" แทน
ซึ่งมันแตกต่างกันมาก อยากให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
แม้คนเสื้อแดงจะเป็นขบวนหลักก็ตาม
แต่การต่อสู้นี้ก็ไม่ใช่แค่คนเสื้อแดงจะได้ประโยชน์เท่านั้น
การต่อสู้นี้เพื่อคนไทย ถ้าบ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย
เราจะยึดเอาไว้เป็นของคนเสื้อแดงได้อย่างไร
โดยเชื่อว่าปีหน้าจะได้เห็นกระบวนการ และเสร็จแน่นอน
เวลานี้ ทุกอย่างดูเป็นปัญหาหมด แต่ผมไม่มองอย่างนั้น
ถ้าบอกว่าแตะรัฐธรรมนูญเป็นปัญหา แตะพ.ร.บ.กลาโหมจะเป็นปัญหา
แตะ 91 ศพ หรืออื่นๆ แล้วจะเป็นปัญหา ทั้งหมดนี้เป็นข้ออ้างมากกว่า
ผมมองว่าหัวใจของปัญหานี้อยู่ที่ ทักษิณ
เพราะหลายฝ่านต่างระแวงว่า อะไรบ้างที่ทักษิณจะได้ประโยชน์
ไอ้ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ แก้ แก้ ถ้าแก้แล้วทักษิณไม่ได้ประโยชน์จริงๆ
หรือเขาเชื่อว่าทักษิณไม่ได้ประโยชน์ เผลอๆ เขาก็จะร่วมแก้ด้วย
เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.กลาโหม ถ้าเขาเชื่อว่าทักษิณไม่ได้อะไร
หรือไม่เข้ามายุ่งกับกองทัพ เขาก็อาจจะร่วมแก้ด้วย
ในทางกลับกันถ้าคิดว่าทักษิณได้อย่างนั้นได้อย่างนี้ ก็เลยกลายเป็นปัญหา
หรือถ้าบอกว่านิรโทษกรรมทุกคนยกเว้นทักษิณ ก็อาจจะผ่านโดยเร็วก็ได้ (หัวเราะ)
ถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วมาตราหนึ่งบอกว่า
ห้ามทักษิณเข้าประเทศหรือห้ามเล่นการเมืองเด็ดขาด แบบนี้เชื่อว่าได้
สรุปแล้วเราจะอธิบายได้อย่างไรว่า ปัญหาเกิดจากอะไร
ถ้าอธิบายแล้วบอกว่าเกิดจากทักษิณ ผมรับไม่ได้
มิเช่นนั้นต้องให้กลไกของประชาธิปไตยเป็นคนจัดการกับคุณทักษิณ
ไม่ใช่ลากทั้งประเทศไปเป็นเหยื่อในการจัดการคุณทักษิณ
ที่ทำจึงผิดเพราะจัดการสิ่งที่ผิดด้วยข้ออ้างที่ไม่ถูก ผลลัพท์จึงไม่ถูกจนถึงวันนี้
แล้วคุณทักษิณเป็นใครที่จะไม่ได้รับความยุติธรรม เกิดบนดวงจันทร์หรือยังไง
ไม่ใช่กระต่ายที่จะต้องแบกรับความอยุติธรรม ถึงจะต้องต่างจากคนอื่น
ข้ออ้างตรงนี้ไม่ใช่เพื่อให้ประเทศเดินหน้า
แต่เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งพอใจ ผมรับไม่ได้จริงๆ ซึ่งไม่ใช่แค่คุณทักษิณเท่านั้น
ใครก็ตามต้องไม่ตกอยู่ในสถานการณ์นั้น ประเทศทั้งประเทศ
ท่านจะเอาการจัดการคนคนเดียวไปเป็นเงื่อนไขในการเดินหน้าหรือถอยหลังได้อย่างไรกัน ...
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1318761472&grpid=01&catid=01&subcatid=0000