WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, October 18, 2011

จ้องมองน้ำ จะหลากท่วมทุ่งเมืองไทย

ที่มา ประชาไท

“ภาพฝนตกพร่ำๆ ช่วงปลายฝนต้นหนาว ตุลาคม 2554 สลับกับภาพน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ผ่านแนวกระสอบทรายที่กั้นไว้ พร้อมคำสัมภาษณ์ถึงความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมบ้านเรือน ขณะเดียวกันก็มีการเสนอภาพการอพยพหนีน้ำท่วม และความช่วยเหลือต่างๆ ที่เข้ามายังพื้นที่น้ำท่วม เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน”

การถ่ายทอดภาพเสมือนความจริงผ่านเครื่องโทรทัศน์ที่รับรู้และจ้อง มองอย่างไม่กระพริบตาในช่วงเวลานี้ เรื่องน้ำหลากท่วมพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนมากที่สุด เนื่องด้วยปริมาณน้ำที่มากมายมหาศาลไหลลงสู่พื้นที่ราบลุ่มของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนน้ำทั้งหมดจะไหลหลากมายังกรุงเทพในท้ายที่สุด ซึ่งปริมาณน้ำ หรือเรียกกันจนติดปากว่า มวลน้ำ ได้ส่งผลกระทบมากมายกับชีวิตผู้คน ทั้งในพื้นที่ที่มวลน้ำไหลผ่านและไม่ไหลผ่าน เพราะทุกคนได้จับจ้อง เฝ้ามอง และวิตกกังวลกับความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเอง ญาติพี่น้อง และคนอื่นๆ ก็ตามที และมักจะได้คำทักทายใหม่ๆ ว่า “น้ำท่วมหรือยัง?” นอกจากนี้ ยังมีคำใหม่ๆ ผ่านสื่อ เช่น น้ำเข้าโจมตี การต่อสู้กับมวลน้ำ การอพยพหนีน้ำ ฯลฯ

ประเด็นสำคัญ คือ ทำไมเรื่องน้ำท่วมจึงสร้างความเครียด และความหวาดกลัวให้กับผู้คนได้อย่างมากมาย ซึ่งสะท้อนผ่านวิธีคิดในการอธิบายเรื่องน้ำพุทธศักราช 2554 นี้ พบว่าความคิดเรื่องน้ำในบริบทปัจจุบัน ได้เปลี่ยนสถานภาพจาก “มิตร” ทรัพยากรผู้หล่อเลี้ยงวิถีชีวิต เป็น “ศัตรู” ภัยธรรมชาติผู้บ่อนทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ดังคำกล่าวว่า “…การป้องกันน้ำท่วมก็เหมือนการป้องกันเมืองจากการโจมตีของข้าศึก ซึ่งเราอาจจะป้องกันเอาไว้ได้หรือป้องกันไม่ไหวก็ได้ หากถึงที่สุดแล้ว เราไม่มีทางต่อสู้ได้แน่ๆ พ่ายแพ้แล้ว...” (ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์.2554) หรืออาจกล่าวว่า น้ำที่เราจ้องมองนี้ ไม่ใช่น้ำที่เชื่อง แบบว่านอนสอนง่าย แต่เป็นมวลน้ำที่ดุดันและน่าสะพรึงกลัว ไม่เหมือนกับสายน้ำเมื่อวันวานที่ผ่านมา

โจทย์คำถามนี้ ทำให้ต้องทบทวนว่า เมื่อ 20-30 ปีก่อนหน้านี้ เราไม่มีความคิดว่า น้ำที่ไหลผ่านบ้านจะเป็นศัตรูที่ต้องป้องกันหรือกีดกั้นให้ออกจากบ้าน แต่กลับคิดว่า เราจะอาศัยอยู่ในบ้านที่มีน้ำร่วมอยู่ด้วยอย่างไร เพราะเชื่อว่า น้ำที่ไหลเข้ามานั้น เป็นเรื่องของฤดูกาลที่เกิดขึ้นเกือบทุกปี จึงเรียนรู้และเตรียมพร้อมว่า ช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว จะมีวิถีชีวิตที่อาจมีน้ำ(ท่วม) เข้ามาอยู่กับเราในบ้านหรือรอบบ้าน โดยชาวบ้านจะซ่อมแซมเรือ เตรียมเครื่องมือหาปลา เก็บเกี่ยวข้าวนาปีให้เสร็จสิ้นก่อน และเตรียมจัดแจงพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ หรือพิธีกรรมที่แสดงถึงความเคารพทรัพยากรท้องถิ่น ดังนั้น ความคิดเรื่องน้ำ จึงไม่ได้เป็นศัตรูที่ต้องกีดกั้นให้ออกไป ตรงกันข้าม น้ำท่วมเป็นเรื่องวัฎจักรหมุนเวียนรอบปีที่ผู้คนต้องปรับตัว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและชุมชน

หากถกเถียงว่า เรื่องน้ำท่วมในอดีตกับปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ทั้งปริมาณมวลน้ำ วิถีชีวิตผู้คน และสภาพบ้านเรือน จึงทำให้วิธีคิดในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกัน เพราะปัจจุบัน บริบทของเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ประการแรก การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทางกายภาพ โดยพบว่า มีการปรับพื้นที่ดินให้สูงขึ้น เพื่อสร้างบ้านเรือน หมู่บ้านจัดสรร และนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่น้ำหลาก หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งแต่เดิมพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ เป็นทางน้ำไหล หรือเรียกง่ายๆ คือ ทำเลน้ำท่วม

ประการสอง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ มีการผลิตสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรมทางการค้า เพื่อแข่งขันเวทีตลาดโลก ขณะเดียวกัน ประเพณีวัฒนธรรมที่เคยปฏิบัติประจำปี ถูกละเลยและไม่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมได้อีกต่อไป แต่กลับผลิตวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้าการท่องเที่ยว ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบันจึงเร่งผลิตเพื่อแสวงหากำไร และหากมีเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่ จะทำให้ประสบภาวะขาดทุน เพราะน้ำได้บ่อนทำลายผลผลิต อันหมายถึงต้นทุนและผลกำไรที่ต้องไหลไปกับน้ำท่วม

ประการสาม การปรับเปลี่ยนสถานภาพทางสังคมของผู้คน พบว่าคนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกร มีการศึกษาสูงขึ้น มีวิถีชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากสังคมเมือง และเชื่อมโยงสังคมโลก จึงอาจเรียกว่า มีสถานภาพเป็นคนชั้นกลางสมัยใหม่ ท่ามกลางบริบททรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด ปัญหามลพิษที่เพิ่มขึ้น และปัญหายาเสพติด อาชญกรรม ความขัดแย้งและอื่นๆ นับว่าเป็นความเสี่ยงที่แวดล้อมอยู่รอบตัว ซึ่งบริบทเหล่านี้ได้หล่อหล่อมวิถีคิดของคนชั้นกลางสมัยใหม่ ทั้งด้านความเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องการบริโภคพืชผักปลอดสารพิษ ความใส่ใจต่อสุขภาพอนามัย และภาพจินตนาการชุมชนเข้มแข็งพึงพาตนเอง ภาพตัวแทนเหล่านี้ เป็นการแสวงหาความบริสุทธิ์และความสะอาด ตรงกันข้าม ก็รังเกียจและกีดกั้นความไม่บริสุทธิ์และความไม่สะอาด ดังนั้น เสียงที่ดังของคนชั้นกลางสมัยใหม่ จึงให้ความหมายกับน้ำหลากท่วมนี้ว่า เป็นสิ่งสกปรกและ ไม่สะอาด หรือ Mary Douglas (1966) เรียกว่า "วัตถุ-สสารที่ไม่เหมาะกับกาละเทศะ" คือ น้ำหลากท่วมไม่ถูกต้องกับจังหวะเวลาและพื้นที่ที่ต้องการให้น้ำท่วม

น้ำที่ไหลหลากเข้าท่วมเมืองไทยขณะนี้ ล้วนผสมปนเปไปด้วยสิ่งสกปรก สิ่งปฏิกูล อุจจาระ ซากเน่าเปื่อย และมลพิษต่างๆ จากทุกทิศทางที่น้ำไหลผ่าน ผนวกกับรากเหง้าความเชื่อที่ว่า น้ำเป็นเครื่องมือส่งผ่านความชั่วร้ายหรือเคราะห์กรรมออกจากครอบครัวและ ชุมชน แต่ขณะนี้ น้ำได้นำพาความชั่วร้ายหรือเคราะห์กรรมเข้ามาสู่บ้านเรือน วิธีการป้องกัน คือ กีดกั้นน้ำให้ออกจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่ง “น้ำ”ในความหมายนี้ ไม่แตกต่างจาก “ขยะ” ที่ต้องการทิ้งลงถังให้เร็วที่สุด แต่อย่าลืม ยังมีความเชื่อเรื่องน้ำในความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ เช่น น้ำในพิธีกรรมทางศาสนาและสถาบัน และน้ำฝนจากฟ้า ซึ่งล้วนมีนัยยะของความบริสุทธิ์ บุญ และความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ความหมายในวิธีคิดเรื่องน้ำ จึงมีสองด้าน คือ ความศักดิ์สิทธิ์กับความสกปรก

Mary Douglas (1966) ได้กล่าวว่า แนวคิดสุดขั้วเรื่อง ความสะอาด-สกปรก เกิดจากการตีความ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติรอบตัว และมนุษย์กับความขัดแย้งทางจิตใจ ซึ่งความสะอาด-สกปรกในธรรมชาตินั้นเป็นของคู่กัน แต่มนุษย์ได้แยกแยะความสะอาดกับความสกปรกออกจากกัน จากนั้นก็สร้างพิธีกรรมและความเชื่อเรื่องความสะอาดให้กลายเป็นสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ความสกปรก หรือไม่สะอาด ถูกตีความใหม่ว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายและบาปของมนุษย์ที่ต้องขจัดทิ้ง เมื่อรากฐานความเชื่อนี้ได้แพร่กระจายไปสู่วิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ใน สังคม ผ่านอาหาร การทำงาน เพศสัมพันธ์ การชำระร่างกาย การแพทย์ ฯลฯ จนกลายเป็นฐานรากทางสังคมที่ฝังลึกในจิตไร้สำนึกของมนุษย์ กลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมขึ้นมา และมีการกำหนดสิ่งต้องห้ามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบสังคม โดยการวินิจฉัยเชิงคุณค่าเกี่ยวกับความสะอาด-สกปรกเป็นรากฐาน ซึ่งกระบวนการนี้ได้ถูกส่งผ่านวิถีคิดแบบตะวันตกเกือบทุกสาขามาจนถึง ปัจจุบัน

เมื่อสังคมโลกาภิวัตน์ขยายตัว เป็นคู่ขนานกับแนวคิดเรื่องความสะอาด-สกปรก และเคลื่อนย้ายไปผนวกรวมกับมายาคติปัญหามลพิษ และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโลก และดูเหมือนว่าวิธีคิดนี้จะเข้มข้นและแพร่กระจายในสังคมเมือง หมู่คนชั้นกลางสมัยใหม่ ทำให้แบ่งแยกเป็นสองขั้วความคิดชัดเจน เช่น ด้านการเมือง ชาติพันธุ์ เศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ทั้งนี้ ความแบ่งแยกขั้วความคิดเรื่องสะอาด-สกปรก ก็ยังมีจุดคลุมเครือและพร่ามัว ยกตัวอย่าง ประเด็นที่ว่า หากสุขาเป็นเรื่องความสกปรก ทำไมต้องทำสุขาไว้ภายในบ้านหรือบนบ้าน ไม่แยกออกจากบ้านเรือน หรือ สุขา เป็นเรื่องความสะอาด หรือถูกทำให้สะอาดเพราะน้ำ

ทั้งนี้ น้ำท่วมในความหมายของเมืองไทย ณ ช่วงเวลานี้ คือ ศัตรู หรือความสกปรกที่ต้องการกีดกั้นออกไป ด้วยกระบวนการจัดจำแนกพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมตามลำดับขั้น ซึ่งเมืองหลวง เป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และสังคมที่สำคัญที่สุดในการป้องกันน้ำท่วม สำหรับข้อกล่าวอ้าง เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพ คือ หากน้ำท่วมจะกระทบต่อศูนย์กลางเศรษฐกิจ และการบริหารราชการแผ่นดินของเมืองไทย ซึ่งสาเหตุหลักที่น้ำท่วมกรุงเทพ มาจากเงื่อนไข 3 ประการสำคัญ คือ 1) น้ำเหนือที่ไหลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา 2) น้ำทะเลหนุนเข้ามาทางปากอ่าวและปากคลองต่างๆ และ 3) ฝนที่ตกลงมาในพื้นที่

มีข้อเสนอว่า การป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพ ควรทำให้เป็นพื้นที่ปิดล้อม โดยปิดล้อมทางด้านเหนือและภาคตะวันออก รวมทั้งการปิดล้อมประตูระบายน้ำเมื่อน้ำหนุน และปิดล้อมน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนฝั่งตะวันตก หรือฝั่งธนบุรีจะทำให้มีพื้นที่ปิดล้อมย่อยๆ (สฤณี อาชวานันทกุล. 2554) ซึ่งการดำเนินการปัจจุบัน ก็ได้ทำให้กรุงเทพเป็นพื้นที่ปิดล้อมแล้ว ด้วยการสร้างแนวกระสอบทราย และเร่งสูบน้ำออก เพื่อไม่ให้น้ำไหลตามพื้นที่ความลาดชันตามธรรมชาติ หากแต่ผลักน้ำให้ไหลไปตามพื้นที่ที่มีลำดับขั้นความสำคัญต่ำกว่ากรุงเทพ บางส่วนก็ผลักน้ำเข้าเรือกสวนไร่นาหรือชุมชนรอบกรุงเทพ และภาคกลาง ซึ่งเป็นการจงใจปล่อยน้ำให้ท่วมจังหวัดรอบๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มปากอ่าวไทย อันเป็นทำเลน้ำท่วม

ทั้งนี้ยังไม่มีข้อถกเถียงว่า ชาวบ้านในภาคกลางและเขตปริมณฑลที่ถูกน้ำท่วมจำนวนมากต้องหมดเนื้อหมดตัว ทุกอย่าง หรือบางคนถึงกับเสียชีวิต เพราะสายป่านทางเศรษฐกิจไม่ยาวพอที่จะเอาตัวรอดหรือเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่าง อื่นได้ และต้องรอเงินชดเชยจากรัฐเป็นเวลานาน หรือหลายคนไม่ได้รับเงินชดเชยเลย ส่วนเงินชดเชยที่ได้รับ็ก็เป็นเพียงส่วนน้อยของมูลค่าผลิตผลที่คาดว่าจะขาย ได้ถ้าน้ำไม่ท่วม (สฤณี อาชวานันทกุล. 2554) ขณะที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อคนกรุงเทพนั้น หากปล่อยให้น้ำท่วมอาจจะน้อยกว่าผลรวมของความเสียหายชาวบ้านในจังหวัดภาค กลางและเขตปริมณฑล เพราะมีสายป่านทางเศรษฐกิจที่ยาวกว่าชาวบ้านในเขตรอบนอก กล่าวได้ว่า บริษัท โรงงาน ห้างร้าน คอนโด บ้านจัดสรร ที่ถูกน้ำท่วมเพียงไม่กี่วัน อย่างมากก็สูญเสียรายได้บ้าง หรือต้องอดทนกับการลุยน้ำ ซึ่งมีน้อยรายที่ต้องหมดเนื้อหมดตัวทุกอย่าง

แผนผังแสดงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2553


ความไม่เท่าเทียมกันในการรับน้ำหลากท่วมทุ่งเมืองไทย ระหว่างคนกรุงเทพกับคนรอบนอกกรุงเทพและคนต่างจังหวัด ขณะที่คนกรุงเทพได้รับผลกระทบน้อยมาก ตรงกันข้าม คนอื่นต้องยืนมองน้ำท่วมบ้านและเรือกสวนไร่นา ด้วยเหตุผลว่า เป็นการเสียสละ เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมเมืองหลวง ขณะเดียวกัน คนกรุงเทพ แสดงออกถึงความสงสาร ความเห็นใจ และขานรับด้วยการระดมการบริจาคเงินและสิ่งของ ช่วยบรรเทาและเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแจกถุงยังชีพ และกล่อมผู้คนให้ลืมความไม่เท่าเทียมกันด้วยละคร เสียงเพลงและข่าวสถานการณ์น้ำท่วมผ่านรายการทีวี ซึ่งการกระทำเฉกเช่นนี้ เพื่อบอกให้รู้สึกว่า คนกรุงเทพได้ขอโทษในสิ่งที่ได้กระทำไปแล้ว และเมื่อรอบปีน้ำหลากท่วมผ่านมาอีกครั้ง กลไกความไม่เท่าเทียมกันก็จะทำงานอีก โดยกลบเกลื่อนเรื่องศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อกำหนดว่า ใครควรมีศักดิ์ศรีและคุณค่าเท่าไร โดยมีพื้นที่น้ำท่วม เป็นภาพสะท้อนตัวชี้วัดคุณค่าความสำคัญ

ทางเลือกการป้องกันน้ำท่วมดังกล่าวนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคนกับคน และคนกับน้ำ ซึ่งดูเหมือนว่า ปัจจุบันเมืองไทยกับน้ำท่วมจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ เว้นแต่ว่า น้ำท่วมจะอยู่คู่กับวิถีชีวิตตลอดทุกวัน เหมือนกับส้วมที่ตั้งอยู่ในบ้านจัดสรร หรือหากจะคิดจัดการน้ำท่วมต่อไปในอนาคต คงต้องคำนึงว่า น้ำจะอยู่ที่ไหนและอยู่ในสถานภาพอะไร (ความสกปรก-ความศักดิ์สิทธิ์-ความสะอาด)

ณ ขณะนี้ เกือบทุกสายตา เฝ้าจ้องมองว่า น้ำจะท่วมทุ่งเมืองไทยที่ไหนต่อไป ความทุกข์ยากของชาวบ้านมีอะไรบ้าง และการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ด้วยการแจกถุงยังชีพจะเข้าถึงชาวบ้านหรือ ไม่ ซึ่งการจ้องมองและช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม นับว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะต้องพบเจอเหตุการณ์น้ำท่วม การป้องกัน และการช่วยเหลือชาวบ้าน ด้วยกระบวนการนี้เกือบทุกปีเชียวหรือ หรือจะเปิดให้มีทางเลือกอื่นๆ เพื่อค้นหาคำตอบว่าจะทำให้อย่างไรให้ คน ท้องถิ่น และเมืองอยู่กับน้ำท่วมอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน

บรรณานุกรม

Mary Douglas. Purity and Danger: An Analysis of Concepts of Pollution and Taboo .Routledge Classics: London. 1966

ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์. บัญญัติ 20 ประการ เตรียมบ้านก่อนน้ำท่วม. http://www.tcijthai.com/column-article/886. 10 ตุลาคม 2554

สฤณี อาชวานันทกุล. เศรษฐศาสตร์และการเมืองเรื่องน้ำ. http://www.tcijthai.com/column-article/567. 30 มิถุนายน 2554