ที่มา สยามรัฐ
สุรนันทน์ เวชชาชีวะ22/7/2552
มีข่าวว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีคณะทำงานพิเศษเพื่อรวบรวมรายชื่อวิทยุชุมชน เว็บไซต์ และสถานีเคเบิลทีวี ของผู้ที่สนับสนุนอดีตนายรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มคนเสื้อแดง
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่ามีวิทยุชุมชน 9 แห่ง เว็บไซต์ 17 แห่ง และสถานีโทรทัศน์เคเบิล 1 แห่ง ทั้งยังได้มีการประสานกับตำรวจและกระทรวงไอซีทีเพื่อดำเนินการจับกุมแล้วด้วย
โดยเนื้อหานั้นมีการกล่าวหาว่าเป็นการ “ปลุกระดมและยุยงให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาลและสถาบัน โดยแต่งเพลงโจมตีรัฐบาลและระบอบอำมาตย์” ทั้งยังมีการถ่ายทอดภารกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณ “ตลอดวันตลอดคืน” ทางสถานีโทรทัศน์เคเบิลด้วย
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า รัฐบาลต้องดำเนินการให้เข้มข้นขึ้น โดยให้หน่วยงานที่ติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่างๆ และเรียกร้องว่า “คนที่อยากจะแสดงออกต้องมีขอบเขต ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็ติดหล่มอยู่ตลอดเวลา หากเป็นการแสดงออกเฉยๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเชิญชวนให้คนทำผิดกฎหมายนั้นไม่ได้ รวมทั้งปัจจุบันสื่อมีหลากหลาย บางทีคนก็เลือกที่จะรับข้อมูลด้านเดียว ซึ่งก็เป็นปัญหา”
เรื่องนี้รัฐบาลควรที่จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะตราบใดที่ยังเป็นคนไทย ผู้นั้นย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และอาจเลือกช่องทางที่จะแสดงออกได้อย่างเสรี ไม่ควรมีผู้ไปปิดกั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นอำนาจรัฐที่ใช้อย่าง “เหมารวม” ไปยังทุกคนที่ “ต่อต้าน” รัฐบาล
เพราะ นายกฯอภิสิทธิ์ เองมิได้แจ้งเสียด้วยว่าอะไรคือ “ขอบเขต” ของการแสดงออก การเรียกร้อง การประท้วงนั้นย่อมทำได้ หรือแม้แต่การที่จะ “โน้มน้าว” ให้ผู้ชมผู้ฟัง “คล้อยตาม” ก็คงไม่ผิดอะไร ทั้งที่ผู้ไม่เห็นด้วยอาจตีความว่าเป็นการ “ปลุกระดม”
ซึ่งก็เป็นยุทธวิธีที่มีทั่วโลก ใครได้ดูโทรทัศน์เคเบิล ฟังวิทยุชุมชน หรืออ่านเว็บไซต์ ที่มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา ย่อมจะเห็นว่ามีจุดยืนและการแสดงออกทางความคิดที่ชัดเจน และหลายครั้งอาจเรียกได้ว่า “ปลุกระดม” ด้วยคำพูดที่ “รุนแรง”
แต่หากเชื่อในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้ว ก็ควรที่จะทำใจให้ “เปิดกว้าง” และไม่ควรที่จะกล่าวหาว่ามีใครที่เลือกรับ “ข้อมูลเพียงด้านเดียว” นั้น “เป็นปัญหา” เพราะทีวีมีรีโมต์ วิทยุมีแป้นหมุนหรือปุ่มกด และเว็บไซต์มีนับแสนที่จะท่องไปในโลกกว้าง
ประชาชนไม่ได้ “กินหญ้า” เขาเลือกชมเลือกอ่าน เลือกฟังเลือกดูได้!!
และในทางการเมืองนั้น หากปิดกั้นฝ่ายหนึ่ง แต่ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามออกอากาศได้อย่างเสรีในท่วงทำนองเดียวกัน รัฐบาลจะโดนข้อกล่าวหาว่า “สองมาตรฐาน” และเป็นการใช้อำนาจรัฐในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ
เพราะ “สีแดง” เขาก็จ้องจับผิด “สีเหลือง” เช่น ASTV อยู่เหมือนกัน!!
อย่างไรก็ตาม ใครจะมีความเห็นเช่นไร ย่อมต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และต้องมีความรับผิดชอบในคำพูดและการแสดงออกของตนเองและพรรคพวก การใช้สิทธิเสรีภาพย่อมกระทำได้แต่จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ทั้งยังมีกรอบศีลธรรมและจริยธรรมจรรยาอันดีงามของสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน
การรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องเป็นงานที่มีลำดับความสำคัญสูงสุดของทุกรัฐบาล และผู้ที่กระทำผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ก็ต้องระวังไม่ใช้เรื่องดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ทั้งยังต้องปกป้องสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งสามารถฟ้องร้อง “หมิ่นประมาท” ได้ โดยรัฐบาลจะต้องยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม สร้างความเชื่อมั่นในความโปร่งใส และไม่ให้มีการแทรกแซงโดยอำนาจอันมิชอบ
การใช้อำนาจโดยกล่าวหาแบบ “ยกเข่ง” ใครเกี่ยวข้องเป็นผิด ใครคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลต้องเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ถึงขนาดต้องมีบัญชีรายชื่อไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ทำไปยิ่งจะเป็นการ “ปลุกเร้า” และทำให้มีการเรียกร้องหาความ “ยุติธรรม” มากยิ่งขึ้น หาใช่ความ “สมานฉันท์” ที่ต้องการ
อันเป็นการสร้างแนวร่วมที่เป็น “ศัตรู” มากกว่า “มิตร” และนำมาซึ่งความแตกแยกล่มสลายในที่สุด!!