ที่มา ไทยรัฐ
ผมไม่เห็นด้วยกับ คุณวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ที่พยายามจะเบี่ยงประเด็น ไม่ให้ฝ่ายค้านนำเรื่องของ ความสูญเสียจากกรณีไข้หวัดใหญ่ 2009 มาเป็นประเด็นทางการเมือง
เพราะเรื่องนี้เกิดจากความผิดพลาดในนโยบายหรือมาตรการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่างจากคำว่าสุดวิสัย โดยพิสูจน์ ได้จากคำพูดและการกระทำของรัฐบาลทั้งของ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และตัวคุณวิทยาเอง
จนทำให้ประเทศไทยถูกจับตาในฐานะมีผู้เสียชีวิตเป็น อันดับ 1 ของเอเชีย
และกรณีนี้ผลอันเกิดจากความผิดพลาดของนโยบายส่งผลให้ ประชาชนถึงต้องเสียชีวิต ในทางความรับผิดชอบด้านการบริหารถือว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร ส่วนรัฐบาลจะแสดงสปิริตอะไรอย่างไรหรือไม่ น่าจะสายไปแล้ว เพราะความมั่นใจและความเชื่อมั่นในรัฐบาลได้ลดลงไปโดยอัตโนมัติ
การประชุม รมว.ต่างประเทศอาเซียน มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ สิทธิมนุษยชน ซึ่งบังเอิญมีหลายเรื่องหลายกรณีที่ทำให้ ประเทศไทยถูกมองว่า ยังอยู่ในหลุมดำของการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอยู่ จะโทษต่างประเทศเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งจะผ่านการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง
เรื่องของ คุกลับในประเทศไทย การทรมานนักโทษก่อการร้าย หรือแม้แต่เรื่องที่สื่อต่างประเทศตีพิมพ์เรื่องของนักท่องเที่ยวถูกรีดไถที่สนามบินสุวรรณภูมิ คงไม่ใช่ปัญหา โลกล้อมประเทศ ที่รองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ พยายามจะโยงใยให้ถึงใครบางคน เพื่อจะจุดประเด็น ว่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลเวลานี้ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังทางการเมืองทั้งนั้น
หากประชาธิปัตย์คิดแต่เรื่องการเมือง
บางสิ่งบางอย่างที่ควรจะมองว่าเป็นเรื่องของบ้านเมือง จึงถูกมองข้ามไป คำพูดของ คุณเสนาะ เทียนทอง อดีตผู้จัดการรัฐบาลและผู้อาวุโสทางการเมือง ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในสนามการเมืองมาไม่น้อย คงอธิบายให้เห็นถึงอนาคตของประเทศไทยได้ดีที่สุดและอธิบายตัวตนของผู้นำประเทศได้อย่างตรงไปตรงมา
เรื่องของคุกลับ ไม่ใช่เพิ่งจะมีการพูดถึงในรัฐบาลประชาธิปัตย์ เท่านั้น รัฐบาลสมัคร ก็เคยถูกร้องถูกตรวจสอบ ก่อนหน้านั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันหลายครั้ง อาจจะตั้งแต่เกิดสงครามอิรักเลยก็ว่าได้ และไม่ใช่มีการเพ่งเล็งมาที่ประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่นก็ถูกพูดถึง ดูจะหนักกว่าเราด้วยซ้ำ
เพราะนี่คือกติกาสากล