WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, July 22, 2009

มองต่างมุม เหตุจลาจลในอิหร่าน: ปฏิวัติกำมะหยี่จอมปลอม

ที่มา ประชาไท


ความนำ
เมื่อได้เห็นการ์ตูนล้อเลียนสถานการณ์อิหร่านในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งวาดรูปผู้นำสูงสุดอิหร่านสวมระเบิดแทนผ้าโพกศีรษะ มีสีหน้าหวาดกลัว ใกล้ๆ กันนั้นมีประธานาธิบดีอะฮ์มาดีเนญอดยืนถือป้ายซึ่งมีข้อความว่า “ ชนะเลือกตั้งแต่ไม่ชนะม็อบ ” จึงรู้สึกฉงนในใจว่าคนไทยให้ความสำคัญต่อสถานการณ์อิหร่านถึงเพียงนี้เชียวหรือ
ทั้งที่การเมืองไทยก็มีประเด็นลัอเลียนมากมาย แต่เลือกเหตุการณ์ไม่สงบในอิหร่านมานำเสนอแทน เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาที่ได้รับการนำเสนอในเรื่องต่างๆ ซึ่งสวนทางกับความสนใจของคนไทยที่น้อยคนนักจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงเริ่มสังหรณ์ใจว่าคนไทยสนใจหรือว่าสื่อต้องการนำเสนอในสิ่งที่ตนต้องการกันแน่?
ภารกิจแกะรอยสื่อตะวันตก
เป็นที่ทราบกันดีว่าสื่อในเมืองไทยพึ่งพาเนื้อหาข่าวที่สื่อตะวันตกนำเสนอในฐานะสื่อกระแสหลักมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ฉะนั้นจำเป็นต้องแกะรอยไปถึงสื่อตะวันตกเพื่อทราบให้ได้ว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดแรงกระเพื่อมมาถึงเมืองไทยเช่นนี้ เมื่อเข้าสู่มหาสมุทรข่าวสารที่นำเสนอโดยสื่อตะวันตก ก็พบกับความผิดปกติวิสัยในหลายกรณีด้วยกัน
เป็นต้นว่า สื่ออังกฤษอย่าง BBC อยู่การรายงานความเคลื่อนไหวในอิหร่านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแถลงการณ์หรือความเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงผลการเลือกตั้ง อันนำไปสู่ชัยชนะของประธานาธิบดีอะฮ์มาดีเนญอดอีกสมัยหนึ่ง ที่มากไปกว่านั้นคือ BBC ทีวีภาคภาษาฟารซี (อิหร่าน ) เริ่มการแพร่ภาพก่อนการเลือกตั้งไม่นาน ทั้งที่ภาษาอื่นๆ ที่สำคัญกว่ายังไม่ได้รับการอนุมัติ CNN ของอเมริกาก็เกาะติดสถานการณ์ไม่แพ้กัน
นอกจากนี้ยังมี VOA ( Voice of America) ภาษาฟารซี ตลอดจนช่องดาวเทียมภาษาฟารซีมากมายที่ดำเนินการโดยผู้นิยมใน เรซอ พะฮ์ละวี ( ลูกชายของอดีตชาห์อิหร่าน ) ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับเงินอัดฉีดจากงบประมาณที่สภาคองเกรสอเมริกาอนุมัติทุกปี สิ่งที่เหมือนกันระหว่างสื่อยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็คือ พยายามแพร่ภาพผู้ประท้วงเป็นหลัก กระทั่งเคยนำภาพผู้เดินขบวนสนับสนุนประธานาธิบดีอะฮ์มาดีเนญอดไปบิดเบือนให้ผู้ชมเข้าใจผิดว่า เป็นภาพผู้สนับสนุนนายมูซาวี
ในส่วนของสื่อตะวันตก สามารถสรุปเนื้อหาข่าวที่นำเสนอและได้รับการวิเคราะห์วิจารณ์ดังนี้
1. มีการโกงการเลือกตั้ง
2. ผู้นำสูงสุดไม่เป็นกลาง และถือข้างประธานาธิบดีอะฮ์มาดีเนญอด
3. หน่วยงานความมั่นคงของอิหร่านสังหารประชาชน
4. ประชาชนปฎิเสธระบอบการปกครองแบบรัฐอิสลาม
เกิดอะไรขึ้นในอิหร่าน
ท่านผู้อ่านคงอยากทราบว่า “แล้วมันเกิดอะไรขึ้นในอิหร่านกันแน่” ประเด็นปัญหาคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอิหร่านที่จัดให้มีขึ้นในวันที่ 13 มิถุนายน 2552. ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัคร 4 คนด้วยกัน
1. มะฮ์มูด อะฮ์มาดีเนญอด
2. มีรฮูเซน มูซาวี
3. มะฮ์ดี คะรูบี
4. มุฮ์ซิน เรซออี
อย่างไรก็ตาม การขับเคี่ยวระหว่างสองคนแรกเป็นที่จับตามากที่สุด แนวคิดที่แตกต่างกันของ อะฮ์มาดีเนญอด และ มูซาวีทำให้แต่ละคนมีกลุ่มผู้สนับสนุนที่แตกต่างกัน
จากซ้ายบนสู่ขวาล่าง.. อะฮ์มะดีเนญอด , มูซาวี , คารูบี , เรซออี
มะฮ์มูด อะฮ์มาดีเนญอด คือประธานาธิบดีผู้เรียบง่ายสมถะ แต่แข็งกร้าวต่อปัญหาคอร์รัปชั่น และมีภาพลักษณ์ที่ทรงอิทธิพลในของเวทีโลก ส่วน มีรฮูเซน มูซาวี โดดเด่นในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีในยุคของท่านอิหม่ามโคมัยนี และเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการบริหาร และการต่างประเทศของอะฮ์มาดีเนญอดอย่างเผ็ดร้อน ส่งผลให้เขาเป็นขวัญใจของผู้ที่เห็นว่า อะฮ์มาดีเนญอด เป็นผู้บริหารที่สุดโต่ง แข็งกร้าว และไม่ฟังเสียงวิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
ในการดีเบทสดทางโทรทัศน์ระหว่างสองคนนี้ อะฮ์มาดีเนญอดชูคำขวัญการปราบปรามคอร์รัปชั่นในประเทศและสร้างเสริมศักดิ์ศรีในเวทีโลก โดยกล่าววิจารณ์มูซาวีว่ามีความพยายามที่จะให้ร้ายป้ายสีรัฐบาลของเขามาตลอด และว่ามูซาวีคือหนึ่งในสามอดีตผู้นำที่ผนึกกำลังเพื่อหวังโค่นเขาและแนวทางของเขา สามผู้นำดังกล่าวคือ มูซาวี , รัฟซันญานี , คอตามี. ส่วนมูซาวี เน้นวิจารณ์ผลงานรัฐบาลมากกว่าจะชูนโยบายอันเป็นรูปธรรม เขาวิจารณ์อะฮ์มาดีเนญอดว่าเป็นคนทำให้ประเทศชาติตกต่ำในสายตาของชาวโลก ไม่จริงใจในการแก้ปัญหา
ก่อนวันเลือกตั้ง ผลการสำรวจความคิดเห็นชาวอิหร่านจากโพลหลายสำนักชี้ว่า ความนิยมของอะห์มะดีเนญอดนำหน้ามูซาวี[1] สอดคล้องกับโพลของสำนัก terrorfreetomorrow ร่วมกับ New Americafoundation ที่สอบถามทางโทรศัพท์จากประชาชน1,000 คนใน 30 จังหวัด ระหว่างวันที่ 10-20 พ.ค.2009 มีอัตราความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ +/- 3.1 เปอร์เซ็นต์ ที่นำเสนอใน นสพ.วอชิงตัน โพสท์ ฉบับวันที่ 15 มิ.ย. 2009 และในเว็บไซต์ นสพ.การ์เดียน (อังกฤษ) ซึ่งระบุว่า อะห์มะดีเนญอดมีคะแนนนิยม 34 % และมูซาวีมีคะแนนนิยม 14 % ส่วนที่เหลือ 27 % ยังไม่ตัดสินใจ [2]
ในที่สุดวันเลือกตั้งก็มาถึง มูซาวีประกาศชัยชนะทั้งที่ศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งยังไม่ยุติการนับคะแนน และคะแนนของเขายังตามหลังอะฮ์มาดีเนญอด ซึ่งตามกฎหมายอิหร่าน ผลคะแนนเป็นทางการคือผลคะแนนประกาศโดยศูนย์อำนวยการการเลือกตั้ง และได้รับการยืนยันจากสภาผู้พิทักษ์แล้วเท่านั้น
ในที่สุด ผลการเลือกตั้งที่ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งประกาศก็คือ :
- ยอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 39,165,191 คน หรือ 85 % จากยอดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- นายมะฮ์มูด อะห์มะดีเนญอด 24,527,516 เสียง หรือ 63.62%

- นายมีร ฮุเซน มูซาวี 13,216,411 เสียง หรือ 33.75 %
- นายมุห์ซิน เรซออี 678,240 เสียง หรือ 1.73 %
- นายมะห์ดี คะรูบี 333,635 เสียง หรือ 0.85 %
รวมบัตรเสีย 409,389 หรือ 1.04 % ของบัตรเลือกตั้งทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อผลคะแนนเริ่มทิ้งห่างกันจนไม่อาจคาดหวังชัยชนะของมูซาวีได้ มูซาวีเริ่มกล่าวหาการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าไม่โปรงใส และมีการโกงการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดจึงมั่นใจเช่นนี้ เขาตอบว่า เพราะทีมงานของเขายืนยันจากผลสำรวจแล้วว่า เขาต้องเป็นฝ่ายชนะอย่างไม่ต้องสงสัย !

มูซาวี และ ซะฮ์รอ ระฮ์นะวัรด์ ภรรยา ขณะใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างอารมณ์ดี
เหตุผลอีกข้อของเขาคือ จำนวนบัตรเลือกตั้งของบางพื้นที่มีมากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้อย่างไร เหตุผลนี้ฟังดูน่าเชื่อถือสำหรับประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ประเทศไทย ที่ผู้ใช้สิทธิต้องกลับไปใช้สิทธิที่ภูมิลำเนาของตน แต่เหตุผลดังกล่าวถือว่าไม่มีน้ำหนักพอสำหรับการเลือกตั้งของอิหร่าน เพราะผู้ใช้สิทธิชาวอิหร่านสามารถใช้สิทธิได้ที่หน่วยเลือกตั้งใดก็ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ฉะนั้นในเมืองท่องเที่ยวจึงมีความเป็นไปได้ว่า จะมีจำนวนบัตรเลือกตั้งมากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิมาเลือกตั้งในทะเบียนราษฎร์
ข้อกล่าวหาของมูซาวีอาจมองได้ว่าเป็นสิทธิของเขาที่จะเชื่อเช่นนั้น แต่เมื่อพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาก็จะพบข้อพิรุธบางอย่าง ทำให้สงสัยว่า นี่คือเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ หรือว่าเป็นฉากหนึ่งของแผนที่ถูกวางไว้ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะเหตุใดฝ่ายของมูซาวีจึงพูดถึงการโกงการเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้น มูซาวีตั้งคณะกรรมการพิทักษ์คะแนนเสียงของตนก่อนการเลือกตั้งเพื่ออะไร
มูซาวีกล่าวปราศรัยท่ามกลางผู้สนับสนุน
และทั้งๆ ที่เขากล่าวหารัฐบาลอย่างดุเดือดว่าเป็นฝ่ายโกงการเลือกตั้ง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถนำเสนอพยานหลักฐานใดๆ ที่ชี้ชัดถึงเรื่องดังกลาวได้เลย มีเพียงความพยายามกล่าวอ้างและสร้างกระแสให้มวลชนเชื่อ และคล้อยตามโดยไม่ต้องถามหาหลักฐาน เพราะการที่จะกล่าวหาว่ามีการโกงคะแนนเสียงเกินสิบล้านเสียง คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวหาว่าเป็นการโกงเลือกตั้งที่กว้างขวางและชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าหลักฐานการโกงย่อมมีให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาจากจำนวนผู้สังเกตุการณ์ของมูซาวีที่ประจำอยู่ตามหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ มีจำนวนมากกว่าผู้สังเกตุการณ์จากผู้สมัครอื่นๆ บวกกับการจับตาของคณะกรรมการที่มูซาวีจัดตั้งขึ้น เพื่อพิทักษ์คะแนนเสียงของตนเอง หากมีการโกงในระดับสิบล้านเสียง พวกเขาย่อมทราบและรีบรายงานทันที ในขณะที่ทั้งผู้สังเกตการณ์และคณะกรรมการดังกล่าวมิได้ทักท้วงใดๆ จนจบการเลือกตั้งและประกาศผลเลือกตั้งแล้ว
เปรียบได้กับการแข่งขันกีฬา หากนักกีฬาไม่เชื่อถือในความเป็นกลางของกรรมการ เขาย่อมไม่ลงแข่งให้เหนื่อยเปล่า แต่ถ้าหากเขาตัดสินใจลงแข่งขันแล้ว ก็ต้องเคารพในการตัดสินของกรรมการ แม้ส่วนตัวจะไม่เชื่อตามนั้นก็ตาม หากนักกีฬาคนใดลงแข่งขันและถูกตัดสินในฝ่ายคู่ต่อสู้ เขามีสิทธิท้วงติงได้ตามช่องทางที่กำหนด แต่หากเขาแพ้การแข่งขันกลับโวยกรรมการและกดดันให้แข่งขันใหม่ นักกีฬาคนนี้มักจะถูกปรามาสว่า “ขี้แพ้ชวนตี”
ตรงกันข้ามกับกรณีที่ฮิซบุลลอฮ์ พ่ายการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเลบานอน ทั้งที่ฝ่ายตนเชื่อว่ามีการโกงการเลือกตั้ง แต่พวกเขาก็ยอมรับผลเลือกตั้ง หรือกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาในยุคที่บุชขับเคี่ยวกับอัลกอร์ มีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับความโปร่งใส แต่เมื่อตัดสินถึงที่สุดแล้ว อัล กอร์ ก็ยอมรับความพ่ายแพ้ แม้จะมีคะแนนเสียงเทียบเท่าหรือมากกว่าจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ก็ตาม ในประวัติการเลือกตั้งในอิหร่านที่จัดขึ้นเกือบ 30 ครั้ง ซึ่งทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายปฏิรูปผลัดกันครองอำนาจมาโดยตลอด ยังไม่เคยมีใครตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสเช่นนี้มาก่อน
อย่างไรก็ตาม หากมูซาวีกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวก็คงไม่มีใครตำหนิอะไร แต่เขาประกาศจุดยืนเด่นชัดที่จะคัดค้านผลการเลือกตั้ง ซ้ำยังระดมผู้สนับสนุนของตนออกมาเดินขบวนประท้วงนับแสนคน มีการทำลายสถานที่ราชการ ธนาคาร บ้านเรือน และรถยนต์ของประชาชนเกิดขึ้น การประท้วงค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นการก่อจลาจล เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาที่ก่อนการเลือกตั้งมีท่าทีพินอบพิเทาต่ออิหร่านกลับฮึกเหิมขึ้น และรู้สึกว่าตนมีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น
การเดินขบวนเปลี่ยนเป็นการก่อจลาจลเมื่อตำรวจสลายการชุมนุม
สื่อตะวันตกประโคมข่าวและแพร่ภาพเพียงการทุบตีผู้ประท้วงโดยหน่วยปราบจลาจล แต่ไม่เคยเสนอภาพที่ผู้ประท้วงทำร้ายประชาชน และทำลายข้าวของ. รัฐบาลตะวันตกและอิสราเอลแสดงท่าทีเป็นผู้พิทักษ์สิทธิ และเป็นห่วงเป็นใยผู้ประท้วงทันที สอดรับกับการเสนอข่าวของสื่อกระแสหลัก ประหนึ่งว่าพวกเขาไม่เคยมีส่วนในการคุกคามสิทธิมนุษยชนในกรณี คุกอบูฆุร็อยย์, กวนตานาโม, ชาวอัฟกานิสถาน, อิรัก, และฉนวนกาซ่าแต่อย่างใด
เหตุการณ์บานปลายจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 20 คน สถานการณ์ดังกล่าวกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ดังที่อิสราเอลประกาศให้การสนับสนุนผู้ประท้วง และพร้อมจะเผด็จศึกอิหร่านทางการทหาร แต่มูซาวีก็ยังยืนยันจุดยืนเดิมของตนและโยนความรับผิดชอบให้รัฐบาล

สัญลักษณ์สีเขียวเคียงข้างการเผาทำลายข้าวของ
ท่าทีเช่นนี้ของมูซาวีไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน อันเป็นช่วงที่อิหร่านยังสาละวนกับปัญหาสงครามกับอิรัก และต้องการความสงบและเอกภาพ มูซาวีกลับประกาศลาออกอย่างกะทันหันเนื่องจากความไม่ลงรอยกันกับ ส.ส.ในสภาในบางประเด็น แม้แต่ประธานาธิบดีในสมัยนั้น (อายะตุลลอฮ์ อลี คอเมเนอี) เองยังเพิ่งจะทราบข่าวนี้จากหน้าหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น จดหมายลาออกถูกส่งตรงถึงอิมามโคมัยนี แทนที่จะต้องผ่านการอนุมัติจากประธานาธิบดีเสียก่อน
อิหม่ามโคมัยนีตำหนิพฤติกรรมของเขาโดยตอบว่า “สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือ อย่างน้อยควรจะแจ้งให้ฉันหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงทราบล่วงหน้า ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเช่นนี้.. ในขณะที่ประชาชนผู้อาจหาญกำลังส่งลูกหลานไปพลีชีพเพื่อผดุงไว้ซึ่งอิสลาม มันถูกกาละเทศะแล้วหรือที่ท่านจะแสดงความไม่พอใจและขอลาออกเช่นนี้... เราทุกคนต้องขอความคุ้มครองจากพระองค์ และในยามที่บันดาลโทสะ เราจะต้องไม่ทำอะไรให้ศัตรูอิสลามสามารถตักตวงผลประโยชน์ได้เด็ดขาด... ประชาชนของเราเผชิญเรื่องทำนองนี้มามากนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามเป็นต้นมา การเคลื่อนใหวเช่นนี้จะไม่มีผลใดๆ ต่อแนวทางการปฏิวัติออิสลามแห่งอิหร่านอย่างแน่นอน” [3]

มูซาวี (ขวา) สมัยเป็นนายกรัฐมนตรียุคอิหม่ามโคมัยนี
อย่าลืมว่าผู้ที่ตอบจดหมายลาออกของมูซาวีนี้ คือคนเดียวกันกับที่เขียนจดหมายถึงกอร์บาชอฟแห่งโซเวียตในยุคที่ยังรุ่งเรืองอยู่ จดหมายดังกล่าวเตือนกอร์บาชอฟให้ตระหนักถึงจุดจบอันใกล้ของสหภาพโซเวียตอันเกิดจากระบอบคอมมิวนิสม์ที่ปฏิเสธพระเจ้า กาลเวลาพิสูจน์ความถูกต้องของวิสัยทัศน์ของท่านเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายไปตามคำพยากรณ์ ในกรณีของมูซาวีก็เช่นกัน ประหนึ่งว่าอิมามโคมัยนีเพิ่งจะเปล่งคำพูดประโยคดังกล่าวในวันนี้ การเคลื่อนใหวของนายมูซาวี แม้สมมุติว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่อย่างไรเสีย เขาไม่มีสิทธิจะปล่อยให้ขบวนการของตนกลายเป็นพาหนะให้เหล่ามหาอำนาจและศัตรูของการปฏิวัติขึ้นขี่และกุมบังเหียนได้อย่างที่เป็นอยู่

หุ้นส่วนจากต่างแดนโดยสถาบัน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
เมื่อปี 2546 เกิดการปฏิวัติในประเทศจอร์เจีย ประธานาธิบดีไม่อาจต้านทานการปฏิวัติรูปแบบใหม่ที่ปราศจากความรุนแรงนี้ได้ ซึ่งในภายหลังได้ถูกขนานนามว่า“การปฏิวัติกำมะหยี่”( Velvet Revolution)(เพื่อสื่อถึงความนุ่มนวลดุจกำมะหยี่) (*) หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ “การปฏิวัติสี” (Colour Revolution) เพราะมักใช้สีเป็นสัญลักษณ์ การปฏิวัติรูปแบบนี้เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ อาทิเช่น ยูเครน เวเนซูเอลา ฯลฯ ที่น่าแปลกใจก็คือ การปฏิวัติกำมะหยี่เหล่านี้ มีสถาบัน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์อยู่เบื้องหลังเสมอ!


(*) สนใจอ่านเกี่ยวกับตัวอย่าง”การปฏิวัติกำมะหยี่”คลิกอ่านเรื่อง “
การปฏิวัติกำมะหยี่ของประชาชาติเชคฯ” สมเกียรติ ตั้งนโม: http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document95097.html
เดือนกันยายน 2003 สถาบันนี้แนะนำให้ฝ่ายค้านของจอร์เจีย ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง และให้พร้อมใจกันแสดงพลังคัดค้าน อันนำไปสู่การคว่ำรัฐบาลในที่สุด. เดือนตุลาคม 2004 จีน ชาร์ป (Gene Sharp) มันสมองของสถาบันดังกล่าว กุมบังเหียนฝ่ายค้านในเวเนซูเอลาเพื่อล้มรัฐบาลนายฮูโก ชาร์เวซ แต่ทำไม่สำเร็จ ครั้งนั้น เขากำชับฝ่ายค้านว่า “ต้องสร้างความคลางแคลงใจเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง และต้องวางแผนกดดันให้ประธานาธิบดียอมลาออกให้ได้ [4]”

จีน ชาร์ป มันสมองของสถาบันไอน์สไตน์
วิจารณ์ภารกิจก่อการปฏิวัติกำมะหยี่
แตรี เมซซอง นักหนังสือพิมพ์ชาวฝรั่งเศส กล่าวหลังวิจารณ์ภารกิจก่อการปฏิวัติกำมะหยี่โดยสถาบันดังกล่าวว่า “...สุดท้ายเราคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะจับตาการขุนนักสร้างสถานการณ์ในอิหร่านโดยสถาบัน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์”
เมซซองยืนยันว่าสถาบันดังกล่าวร่วมมือกับนาโต้และซีไอเอในการฝึกนักปฏิวัติในประเทศต่างๆ โดยที่เอ็ดเวิร์ด บี แอทเคสัน อดีต ผอ.ซีไอเอ ได้กำหนดให้สถาบันดังกล่าวเป็นผู้คุมเครือข่ายลับในการแทรกแซงประเทศต่างๆ [5] สรุปคือ สถาบันดังกล่าวทำงานให้รัฐบาลสหรัฐฯ อย่างแน่นอน
สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนาย มีรซา อัสลัม เบก อดีตผู้บัญชาการกองทัพปากีสถาน ผ่านทางวิทยุในวันที่ 15 มิถุนายน 2552 ว่า “มีหลักฐานยืนยันว่า CIA ได้ใช้จ่ายงบกว่า 400 ล้านดอลลาร์ในอิหร่าน เพื่อโอบอุ้ม”การปฏิวัติสี”ที่ไร้ประสิทธิผลภายหลังการเลือกตั้ง”[6] น่าสังเกตว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกนำมาใช้โดยมูซาวี เมื่อเขาประกาศชัยชนะหลังปิดหีบเลือกตั้งประมาณหนึ่งชั่วโมง ทั้งที่เพิ่งจะเริ่มนับคะแนนไปไม่นาน ทว่าเขาจัดแจงตัดสินโดยเสร็จสรรพว่า “ผมชนะการเลือกตั้งแล้ว และหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ประกาศชัยชนะดังนี้ แสดงว่ามีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น” !? การถือตนเป็นจุดศูนย์กลางเพื่อวัดคนทั้งโลกเช่นนี้ เป็นการหักล้างคำขวัญเลือกตั้งของเขาในการเชิดชูกฏหมายอย่างไม่ต้องสงสัย

การใช้สีเป็นสัญลักษณ์ก็เป็นสิ่งที่สถาบัน จอร์จ โซรอส (Open Society Institute and Soros Foundations Network) นำมาใช้ในการคว่ำประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ที่ยูเครนใช้สีส้ม, เคอร์กิสถานใช้สีชมพู, ส่วนฝ่ายค้านโดยการนำของนายมูซาวีใช้สีเขียว [7] คงเพราะต้นสายปลายเหตุเช่นนี้กระมังที่ มักจะเห็นข้อความต่อต้านรัสเซียเคียงข้างผ้าผูกข้อมือสีเขียวในหมู่ผู้ประท้วงในอิหร่านเสมอ
ชายโพกผ้ากับการชูข้อความ "รัสเซีย อิหร่านไม่มีวันให้อภัย"
อลาสเตร์ ครู้ก เขียนในหนังสือพิมพ์ แอลเอ ไทมส์ ว่า "ชาวอิหร่านจำนวนมากเชื่อว่า เหล่าผู้นำชาติตะวันตกล้ำเส้นตายอิหร่าน ด้วยการปลุกระดมเสียงคัดค้านของผู้สนับสนุนมูซาวี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายความชอบธรรมของการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ตลอดจนดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างละมุนละม่อม" [8]

โดยทั่วไปแล้ว “การปฏิวัติกำมะหยี่”จะต้องมีสองปัจจัยในการขับเคลื่อนและเติบโตเสมอ นั่นก็คือ “มวลชน”และ”สื่อ” ซึ่งเมื่อสื่อเริ่มสร้างกระแส ก็จะเกิดมวลชนสนับสนุน และมวลชนก็จะสร้างข่าวให้สื่อนำเสนอเพื่อที่จะเพิ่มจำนวนมวลชนไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากปฏิกริยาลูกโซ่ เพื่อกดดันให้กลไกรัฐเป็นอัมพาตและยอมต่อข้อเรียกร้องในที่สุด
สอดคล้องกับที่มูซาวีได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ เขาเชื่อว่า คลื่นมวลชนที่ร่วมประท้วงการเลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจอย่างกว้างขวาง และจะกดดันผู้นำสูงสุด(อายะตุลลอฮ์ อลี คอเมเนอี)ให้ยอมอ่อนท่าทีต่อข้อเรียกร้องของประชาชน เมื่อถูกถามว่า หากท่านแพ้เลือกตั้งจะทำอย่างไร? เขาตอบว่า “การเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้ว ชัยชนะจากคะแนนเสียงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่อีกส่วนจะเดินหน้าต่อไปและจะไม่มีวันถอย”[10] ซึ่งก็เป็นการไขข้อสงสัยที่ว่า เหตุใด มูซาวีจึงยังไม่หยุดแม้ผู้นำสูงสุดออกมาปฏิเสธข้อเรียกร้องอันไร้หลักฐานในการคัดค้านผลเลือกตั้งของเขา
.ดร. ฮะมีด เมาลานา หนึ่งในผู้วางรากฐานสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้กล่าวว่า “การปฏิวัติเหล่านี้จะสัมฤทธิ์ผลก็ต่อเมื่อ
1. ประเทศนั้นๆ มีความเป็นเผด็จการของผู้นำสูง
2. ประเทศนั้นๆ ไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวทางความคิดของตนเอง นอกจากลัทธิทุนนิยมและสังคมนิยม
ซึ่งเมื่อพิจารณากรณีของอิหร่านจะพบว่า อิหร่านอุดช่องโหว่ทั้งสองประการไว้แล้ว ประเด็นแรก อิหร่านเคารพเสียงประชาชนเป็นอย่างยิ่ง สังเกตจากถัวเฉลี่ยการเลือกตั้งหนึ่งครั้งต่อปี. ประเด็นที่สอง อิหร่านมีแนวคิดอิสลามและพึ่งพาแนวคิดนี้ในการบริหารจัดการ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทุนนิยมและสังคมนิยมที่จะเปิดช่องให้นักปฏิวัติกำมะหยี่แฝงกายเข้ามาในอนาคต
นอกจากมหาอำนาจตะวันตกจะมีส่วนร่วมในการปฏิวัติกำมะหยี่ในฐานะผู้วางแผนและสั่งการแล้ว ในแวดวงบันเทิงก็ยังมีการสอดแทรกประเด็นอิหร่านเข้าไปเช่นกัน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นชื่อของ อะฮ์มะดีเนญอด และ มูซาวี ปรากฏในภาพยนตร์ ทรานสฟอร์เมอร์ ภาคสอง [10]
ที่สำคัญ ในระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษก็ยังพยายามแสดงท่าทีให้การสนับสนุนผู้ประท้วง และถือว่านั่นคือการเรียกร้องเสรีภาพโดยชอบธรรม (ทั้งที่มีการทำลายสถานที่ราชการและตึกรามบ้านช่องมากมาย) แทนที่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่จะฮึกเหิมขึ้น กลับส่งผลให้พวกเขาปลีกตัวออกห่างพฤติกรรมที่เหล่ามหาอำนาจให้การสนับสนุน เพราะอิมามโคมัยนีเคยกล่าวเตือนสติพวกเขาไว้ว่า “หากวันใดศัตรูยกย่องเชิดชูเรา ให้เราพิจารณาให้จงดีว่า ผิดพลาดจุดใดอันเป็นเหตุให้ศัตรูระรื่น แล้วให้แก้ไขเสีย” หรือ “หากวันใดอเมริกายกย่องเรา วันนั้นคือวันที่เราต้องจัดงานไว้อาลัย” [11]
คุตบะฮ์วันศุกร์ของท่านผู้นำ เผาผ้ากำมะหยี่เขียวเป็นเถ้าถ่าน
พฤติกรรมของบางคนเปรียบเสมือนการถูตะเกียงให้ยักษ์อเมริกาและอังกฤษออกมาเริงระบำ และแสดงอาการดีใจอย่างออกหน้าออกตา ยักษ์ใหญ่เหล่านี้รีบปูพรมกำมะหยี่สีเขียวเพื่อต้อนรับมวลชนมหาศาลที่สนับสนุนมูซาวี พลางนึกภูมิใจและรู้สึกคุ้มค่ากับเวลาและทุนรอนที่เสียไปในการถักทอกำมะหยี่ผืนนี้ด้วยความปราณีต แต่ท้ายที่สุด พรมกำมะหยี่สีเขียวก็ต้องไหม้กลายเป็นเถ้าธุลี และยักษ์เหล่านั้นก็รีบกลับเข้าตะเกียงแทบไม่ทันด้วยเหตุผลเดียว นั่นก็คือ คุตบะฮ์วันศุกร์ของท่านผู้นำสูงสุด อายะตุลลอฮ์ ซัยยิด อลี คอเมเนอี!

ท่านแสดงภาวะผู้นำและแสดงท่าทีเป็นกลางระหว่างผู้สนับสนุนมูซาวีและอะฮ์มะดีเนญอด และตักเตือนทั้งสองฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา คำเตือนของท่านครอบคลุมไปถึงประธานาธิบดีอะฮ์มะดีเนญอด ที่กล่าวพาดพิงบุคคลที่สามเมื่อครั้งที่ดีเบทกับมูซาวี และยังเตือนว่าฝ่ายสนับสนุนผู้ชนะเลือกตั้งเอง ก็ไม่ควรตอบโต้การเดินขบวนของฝ่ายมูซาวีด้วยวิธีเดียวกัน อันจะเป็นการประจันหน้ากันอย่างไม่รู้จบ

แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่ได้รับการเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นของท่านก็คือ ไม่มีทางที่ท่านจะก้มหัวต่อการกดดันให้กระทำการฝ่าฝืนกฏหมายโดยอาศัยพลังมวลชนเด็ดขาด

เหล่านี้คือคุตบะฮ์ของท่านผู้นำโดยสังเขป: บทพิสูจน์ว่าประชาชนต้องการใคร คือคะแนนเสียงในหีบบัตร มิใช่การออกมาเดินขบวนบนท้องถนน ถ้าภายหลังจากการเลือกตั้งผ่านไป ทั้งสองฝ่ายต่างชักชวนพลพรรคให้ออกมาเดินขบวนบนท้องถนน ถ้าเช่นนั้นแล้วจะมีการเลือกตั้งไปเพื่ออะไร? การใช้กำลังคุกคามตามท้องถนนหลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติวิธีการเช่นนี้ เป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ที่เพ้อฝันว่า การใช้วิธีกดดันบนท้องถนน จะสามารถบีบคั้นให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองยอมจำนน อย่าลืมว่าการบีบบังคับให้เป็นไปตามอำเภอใจโดยผิดกฎหมายนั้น คือการเริ่มต้นใช้อำนาจเผด็จการ ปัญหาสำคัญของศัตรูคู่แค้นของอิหร่านก็คือ จนถึงขณะนี้พวกเขาก็ยังไม่รู้จักประชาชาติอิหร่าน พวกเขาคิดว่าที่นี่คือ “ประเทศจอร์เจีย” ที่จะปฏิวัติกำมะหยี่ได้ อเมริกาไม่มีสิทธิมาอบรมสั่งสอนปัญหาสิทธิมนุษยชนในอิหร่าน"
ในตอนท้าย ท่านกล่าวพรรณาถึงอิมามมะฮ์ดีไว้ว่า:
“โอ้ สัยยิด (นาย) ของข้าฯ
โอ้ เมาลา (ผู้ปกครอง) ของข้าฯ
ข้าฯ มีเพียงชีวิตที่ไร้ค่า
มีร่างกายที่พิการ (มือของท่านพิการจากแรงระเบิดของศัตรู ในขณะที่ท่านกำลังกล่าวคุฏบะฮฺวันศุกร์ หลังการปฏิวัติอิสลาม = ผู้แปล)
มีเกียรติอันน้อยนิด
ที่ท่านมอบทั้งหมดนี้แด่ข้าฯ
ที่ข้าฯ พร้อมยอมพลีอุทิศแด่การปฏิวัติและแด่ท่าน
โอ้ สัยยิด (นาย) ของเรา
โอ้ เมาลา (ผู้ปกครอง) ของเรา
โปรดดุอาอ์ให้เราด้วยเถิด
เพราะการปฏิวัติเป็นกรรมสิทธิ์ของท่าน”[12]

หลังการคุตบะฮ์ของผู้นำสูงสุด ละครเรื่องกำมะหยี่สีเขียวที่ตั้งใจจะให้เป็นมหากาพย์ ก็จำต้องถึงกาลอวสานก่อนเวลาที่กำหนดไว้ อเมริกาและยุโรปเพิ่งประจักษ์ว่า ประชาชนชาวอิหร่านยังยึดมั่นในระบอบวิลายะตุลฟะกีฮ์ (สิทธิการปกครองโดยนักการศาสนา) อย่างไม่เสื่อมคลาย
เพราะในแนวคิดของอิมามโคมัยนี อำนาจวิลายะตุลฟะกีฮ์มาจากเบื้องบนในฐานะตัวแทนอิมามที่จำเป็นต้องภักดีในทางศาสนา แต่อำนาจของประธานาธิบดี, ส.ส.,หรือนายกรัฐมนตรีนั้น มาจากเบื้องล่างในฐานะตัวแทนประชาชนที่ตั้งให้ทำหน้าที่แทนตน หากจะต้องขัดแย้งกัน แน่นอนว่าประชาชนย่อมให้ความเคารพต่อผู้นำทางศาสนาอย่างแน่นอน และนี่คือสิ่งที่ตะวันตกไม่เคยเข้าใจ และดำเนินนโยบายผิดพลาดมาโดยตลอด
ในอารมณ์ที่สื่อตะวันตกเริ่มไม่แน่ใจเกี่ยวกับความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่ทุ่มไปกับการนำเสนอข่าวสหายกำมะหยี่เขียว ทันใดนั้น ระฆังช่วยชีวิตก็ดังขึ้น การตายของไมเคิล แจ็คสัน เป็นช่องทางให้สื่อเหล่านั้นย่องกลับไปเลียแผลเงียบๆ
ส่วนบรรดาผู้นำชาติตะวันตกก็กำลังสังหรณ์ใจว่าอิหร่านจะโต้กลับอย่างไรบ้าง อย่างน้อยก็เป็นที่รู้กันดีในหมู่พวกเขาว่า ถ้าอิหร่านไม่ให้ความร่วมมือ กิจการใดๆ ในตะวันออกกลางโดยเฉพาะในอิรัก เลบานอน อัฟกานิสถาน ก็ไม่มีทางบรรลุผลอย่างแน่นอน ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ หากอิหร่านไม่เอาชีวิตทหารของตนเข้าแลกเพื่อสกัดกั้นยาเสพติดจากอัฟกานิสถาน ยาเสพติดหนึ่งในสามของโลกจะไหลทะลักเข้าสู่ยุโรปและอเมริกาและทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
มีรซา อัสลัม เบก อดีตผู้บัญชาการกองทัพปากีสถาน ยืนยันถึงบทบาทของอิหร่านในภูมิภาคว่า “หากปากีสถานและอัฟกานิสถานสามารถประสานความร่วมมือกับอิหร่านได้ แน่นอนว่าอเมริกาจะต้องถอนสมอจากภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอัฟกานิสถานอย่างไม่ต้องสงสัย [13]

ชัดเจนแล้วว่าในอนาคต เราคงเห็นกำมะหยี่สีเขียวในพิพิธภัณฑ์ได้เพียงที่เดียว
เมื่อหวนรำลึกถึงประโยคประวัติศาสตร์ของอิหม่ามโคมัยนี ที่มีต่อนายมูซาวีที่ว่า “การเคลื่อนใหวเช่นนี้จะไม่มีผลใดๆ ต่อแนวทางการปฏิวัติออิสลามแห่งอิหร่านอย่างแน่นอน”
ในที่สุดการพยากรณ์ของอิหม่ามโคมัยนีก็เป็นจริงอีกครั้ง

--------------------------------------------------------
หมายเหตุ
ประชาไทคงชื่อเรียกบุคคลตามต้นฉบับของผู้เขียน
อ้างอิง
[7] Colour Revolution ใน Wikipedia
[10] เขียนที่กำแพงว่า”มะฮ์มูด”และ “มีร ฮุเซน” อันเป็นชื่อของอะฮ์มะดีเนญอดและมูซาวี ในฉากที่ตัวละครคนหนึ่งกำลังโทรศัพท์หลังจากเพิ่งผ่านด่านในอิยิปต์ /Transformer2
[12] บางส่วนจากคำแปลโดย สายธารพิสุทธิ์ ใน http://www.islamichomepage.com