ที่มา ไทยรัฐ
เมื่อตอนสิ้นเดือนมิถุนายนไปหมาดๆ ผมเคยปรารภกับท่านผู้อ่านว่าน่าจะมีสถาบันหรือนักวิชาการที่ผู้คนเชื่อถือลองมาประเมินสถาน- การณ์ด้านต่างๆของประเทศไทยเราเสียหน่อย...ว่าเป็นอย่างไรบ้าง?
เพราะปี 2552 ที่เรานึกว่าเพิ่งฉลองปีใหม่ไปเมื่อเร็วๆนี้ จึงยังเป็น ปีใหม่อยู่นั้น แท้ที่จริงได้กลายเป็นปีเก่าไปเรียบร้อยแล้ว เพราะผ่าน 6 เดือน หรือครึ่งปีไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน
สถานการณ์ที่ประชาชนทั่วๆไปให้ความสนใจนั้นมีเรื่องใหญ่ๆอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจตกสะเก็ดกับปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง
ส่วนเรื่องรองๆลงมาก็เช่นปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ปัญหาสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่หลวงในช่วงหลังๆ, ปัญหาสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะล่าสุดก็คือ ปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ถ้าเราจะลองเน้นเฉพาะ 2 เรื่องแรกซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจ สูงสุด เท่าที่ผมติดตามอ่านจากข่าวคราวและถ้อยแถลงของนักวิชาการ นักวิเคราะห์ ตลอดจนสถาบันที่เกี่ยวข้อง คงจะพอสรุปได้ดังนี้ครับ
สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ...เสียงส่วนใหญ่ระบุว่ายังไม่ดีขึ้น อัตราความเจริญเติบโตน่าจะยังติดลบ เพราะกิจกรรมด้านเศรษฐกิจส่วนมากยังซบเซา หรือถดถอย ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว ฯลฯ
ทำให้การว่างงานยังเพิ่มขึ้น รายได้โดยเฉลี่ยยังตํ่าลง คนจนทั้งในเมือง และในภาคเกษตรยังคงได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย
มาตรการแก้เศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ค่อยถูกใจประชาชน โดยเฉพาะยังไม่ค่อยถูกใจนักลงทุน หรือนักอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้ส่งออกต่างๆ และยังคงมีเสียงบ่นจากลุ่มนี้อยู่เสมอๆในทำนองไม่ค่อยมั่นใจในมาตรการแก้ เศรษฐกิจของรัฐบาล
แต่กระนั้น เมื่อมองถึงความรู้สึกโดยรวมๆ คนไทยก็ยังพอมีความหวัง ว่าสถานการณ์อาจจะดีขึ้นในช่วงปลายๆปีนี้...นักวิเคราะห์ไม่น้อยออกมา
ปลอบใจว่า สถานการณ์โลกอาจจะดีขึ้น เช่น สหรัฐฯอาจจะฟื้นขึ้น ในขณะที่ จีนนั้น อ้างว่าฟื้นแล้วด้วยซํ้า อาจจะช่วยฉุดเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆได้
ตรงข้ามกับปัญหาที่ 2 อันได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งการเมือง
เท่าที่อ่านจากบทวิพากษ์วิจารณ์ หรือจากการพูดคุยกับนักวิชาการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่าน ดูเหมือนว่าปัญหาประเด็นนี้จะหนักที่สุดและยังมองไม่เห็นแนวทางแก้ไข
ปัญหาหลักที่เป็นรากฐานของความขัดแย้งอันได้แก่ความคิดที่ไม่เหมือนกัน ความเชื่อที่ไม่เหมือนกันและความศรัทธาที่แตกต่างกัน ยังคงอยู่ในสภาพเดิมเหมือนเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
มีแต่จะรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วยซํ้า จนเกิดเหตุใหญ่เมื่อเดือนเมษายน
มองเผินๆเหมือนกับว่าหลังจากนั้นสถานการณ์จะคลี่คลายลง เพราะการรวมตัวก่อม็อบ น้อยลงและการประท้วงแม้จะยังมีอยู่แต่ก็ไม่รุนแรงนัก
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นความสงบเพียงชั่วคราวเท่านั้น และอาจจะปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้ เพราะความคิดความเชื่อและศรัทธา, อันเป็นสาเหตุสำคัญของการขัดแย้งมิได้ลดน้อยลงเลยดังที่กล่าวไว้ตอนต้น
ยังคงมีการพูดจาปลุกระดมภายในของแต่ละกลุ่มอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดงที่รวมตัวมากกว่ากลุ่มเสื้อเหลืองในระยะหลังๆ
นอกเหนือจากประเด็นความขัดแย้งหลักของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว โดยตัวของกฎหมายรัฐธรรมนูญอันหยุมหยิมก็ยังเป็นชนวนของความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา
มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ และทุกครั้ง ที่มีผลการพิจารณาก็มักจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความยุ่งเหยิงทางการเมืองตามมาไม่มากก็น้อย
ระลอกคลื่นทางการเมือง จึงกระเพื่อมไม่หยุดแม้จนวันนี้
ครับ! สาระข้างต้นนี้ คือประเด็นที่ผมได้ยินได้ฟังได้อ่านและได้คุยมากับผู้มีความรู้ และติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดหลายท่าน
ผมอาจจะสรุปได้ไม่ครบถ้วนหรือตกๆ หล่นๆ ในบางประเด็น แต่ก็ คงจะเห็นภาพได้ชัดเจนว่า แทบไม่มีอะไรดีขึ้นเลย...แถมนับวันจะย่ำแย่ลง
ของเศรษฐกิจเขายังพูดกันว่าพอจะมีความหวัง เมื่อนั่นเมื่อนี่ เราอาจจะ ได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กันบ้าง
แต่ด้านการเมือง ไม่มีใครพูดเลยครับว่าจะเห็นแสงสว่างเมื่อไร?
ผมเองก็ไม่รู้จะสรุปอย่างไรเหมือนกัน นอกจากจะหวังในปาฏิหาริย์ หวังในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองดูแลประเทศไทยของเราอยู่ จะช่วยบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้นบ้างเท่านั้น
ผมไม่อยากสรุปอย่างนี้เลยครับ เพราะมันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าไม่สรุปอย่างนี้ก็จะรู้สึกห่วงประเทศไทย จนทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับเสียเปล่าๆ ขออภัยท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยก็แล้วกัน.
"ซูม"