ที่มา ไทยรัฐ
เมื่อหลายปีก่อน คนไทยโดยเฉพาะเด็กๆชนบทเป็นโรค "ขาดสารอาหาร" กันมาก ทำให้เด็กไทยตัวแคระแกร็น มีปัญหาด้านสมองและความเจริญเติบโต
กระทรวงสาธารณสุขไทยต้องใช้เวลานับเป็น 10 ปีในการแก้ปัญหา และในที่สุดก็สามารถบรรเทาลงได้ในระดับหนึ่ง
มาถึงช่วงนี้ประเทศไทยของเรากำลังเป็นโรคสำคัญอีกอย่าง (นอกเหนือไปจากโรคหวัด 2009) ได้แก่ "โรคขาดสมานฉันท์" หรือเรียกให้เต็มๆก็คือ โรคขาดความสมานฉันท์...เกิดความขัดแย้ง แบ่งกลุ่มกันขึ้นโดยทั่วไป
รัฐบาลไม่ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขรับหน้าที่รักษาโรคนี้ แต่มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เรียกชื่อว่า "คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"
ให้ทำหน้าที่เสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาความไม่สมานฉันท์ หรืออีกนัยหนึ่งให้เสนอวิธีรักษาโรคขาดความสมานฉันท์ โดยเน้นที่การระบาด หรือเป็นอยู่ในแวดวงการเมืองเป็นสำคัญ
ปรากฏว่า คณะกรรมการประชุมหารือและศึกษาเบื้องต้นได้ข้อเสนอแนะในการที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อความสมานฉันท์มาหลายมาตราดังที่เป็นข่าวเกรียวกราวไปเมื่อ 2 วันก่อน
ผมไม่มีเวลาอ่านรายละเอียดว่า ข้อเสนอเป็นอย่างไรบ้าง แต่อ่านแค่ข่าวพาดหัวที่ว่า หนทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมือง จะต้องเริ่มด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็รู้สึกใจหาย
แสดงว่าโรคขาดความสมานฉันท์ทางการเมืองร้ายแรงกว่าที่คิดไว้มาก
มีบาดแผลหรือมีเนื้อร้ายก้อนใหญ่ ถึงขั้นจะต้องลงมือผ่าตัด (ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ) เลยทีเดียว
ผมเคยนึกว่า คำว่า "สมานฉันท์" นั้น เป็นถ้อยคำประเภทรูปธรรมที่มีความหมายดีงาม จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ในชุมชน ในสังคม หรือในประเทศชาติ
เพราะคำนี้หมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความเข้าใจ อย่างรักใคร่ กลมเกลียว ซึ่งไม่ว่าชุมชน หรือองค์กรใดที่มีคุณสมบัติในเรื่องสมานฉันท์เป็นที่ตั้ง ชุมชนนั้น องค์กรนั้นๆก็จะเปี่ยมไปด้วยความสุขและความสำเร็จ
เมื่อทึกทักว่าเป็นเรื่องของรูปธรรม เรื่องของความสำนึก และความ รู้สึกแล้ว ผมก็คิดต่อไปว่า วิธีแก้ไขก็น่าจะเน้นไปที่เรื่องการพัฒนาจิตใจ
ชุมชนใดขาดความสมานฉันท์ จะยกพวกตีกันอยู่เรื่อย...ก็หาทางไปห้ามไปปรามชี้ให้เห็นผิดเห็นถูก ชี้ให้รู้รักสามัคคี
ขึ้นมาในระดับชาติ เมื่อคนไทยขาดความสมานฉันท์ เราก็ควรให้ความรู้ความเข้าใจ และหันมารณรงค์ส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์ด้วยการนำหลักธรรมที่สำคัญๆจากพระศาสนาบ้าง จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสต่างๆบ้าง มาชี้นำ
ด้วยความหวังว่า เมื่อประชาชนเข้าใจและซาบซึ้งในพระธรรมคำสอนและพระราชดำรัสที่เกี่ยวเนื่อง ก็จะปรับตัวปรับใจ หันหน้าเข้าหากัน สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น
แต่พอเห็นข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องแก้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา ฯลฯ ในระยะสั้น ระยะยาว ผมถึงได้บอกว่าใจหายวาบ
เพราะความแตกแยกหรือความไม่สมานฉันท์ของประเทศไทยเรา ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการพัฒนาจิตใจเสียแล้ว ต้องใช้วิธีผ่าตัดแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่ว่า
ก็เอาเถิด เมื่อมันล่วงเลยมาถึงขนาดนี้ และอาการของโรคหนักหนาสาหัสถึงขนาดนี้ ก็ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเยียวยารักษา
อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นลงมือรักษา ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้
ผมเองไม่มีความรู้ในเรื่องกฎบัตรกฎหมาย ไม่ถนัดในเรื่องการแก้ไขกฎโน่นกฎนี่ คงไม่สามารถจะออกความเห็นได้ว่าควรจะแก้อย่างไรบ้าง?
แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมยังเชื่อมั่นในยากลางบ้าน ที่สำคัญที่สุดคือ "ธรรมะ" หรือคำสั่งสอนจากผู้หลักผู้ใหญ่จะเป็นหนทางสร้างความสมานฉันท์ได้ดีกว่าการเยียวยาใดๆ
พระธรรมที่สอนให้เราเกื้อกูลกัน เมตตาต่อกัน รวมทั้งพระบรมราโชวาท ที่สอนให้คนไทยรู้รักสามัคคียังใช้สร้างความสมานฉันท์ได้เสมอ
อย่างน้อยก็จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่รักกัน สมานฉันท์ต่อกัน ทำให้โรคขาดความสมานฉันท์ในระดับประชาชนเบาบางลง
สำหรับพวกที่เป็นโรคขาดความสมานฉันท์อย่างรุนแรงที่จะต้องรักษาเยียวยาด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันได้แก่ผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมือง หรือฝักใฝ่การเมืองนั้น
เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จก็ต้องพัฒนาจิตใจและสร้างจิตสำนึกควบคู่ไป ด้วยครับ...ไม่งั้นโรคขาดสมานฉันท์ทางการเมืองก็จะกลับมาระบาดเหมือนเดิม.
"ซูม"