ที่มา ประชาไท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ภายหลังจากที่ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ แถลงข่าวผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่โรงแรมลากูนา บีช รีสอร์ท จ.ภูเก็ตแล้ว ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม
ทั้งนี้มีผู้สื่อข่าวจากประเทศอินโดนีเซีย ได้ถามว่าการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีพูดว่า ไทยพร้อมที่จะให้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เข้ามาสอบสวนในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่ให้มีการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้ง 2 อย่างจะไปด้วยกันอย่างไร
นายกษิต ตอบว่า ตนไม่ได้อยู่ตอนที่ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ แต่ตนคิดว่าเราอยู่ในสังคมเปิดเราไม่มีอะไรที่จะต้องปิดบัง ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีกลไกสิทธิมนุษยชนนี้ เราก็ยังเป็นสังคมเปิดสังคมที่มีกฎเกณฑ์และไม่มีการแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมาย อย่างที่ตนพูดมาตลอดเมื่อวันที่ 31ธันวาคมปีที่แล้ว นายกฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อรัฐสภา ซึ่ง 7 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเราให้ความเคารพกฎหมาย และการบริหารจะต้องโปร่งใส และถ้าหากใครทำอะไรผิดก็จะต้องสอบสวน ไม่มีการละเว้น
"ในรัฐธรรมนูญของไทย องค์พระมหากษัตริย์ อยู่เหนือการเมือง ดังนั้นอย่าสับสน เพราะมีบางคน บางกลุ่มมีความต้องการดึงสถาบันลงมาสู่การเมือง ขออย่าสับสน
"ประเด็นที่สองคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีใครคุ้มครองในเวลาที่ถูกโจมตี เราต้องมีกฎหมายเพื่อที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ คือกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะท่านไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถที่จะไปฟ้องร้องดำเนินคดีใครต่อศาลได้ เหมือนอย่างกรณีที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้พิพากษา เพราะพวกเขาไม่สามารถที่จะไปฟ้องศาลได้ ในกรณีประเทศไทยก็คล้ายๆ กับหลายประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือประเทศที่จำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิของผู้พิพากษาที่จะรักษาบทบาทธำรงบทบาทรักษาความเป็นธรรม ให้ปราศจากภัยคุกคาม ขอให้เข้าใจ ต้องแยกแยะให้ได้ว่าในการเมืองไทยมีผู้ที่ต้องการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาในการเมือง ซึ่ง ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง" นายกษิตกล่าว