ที่มา สยามรัฐ การลาออกจาก ส.ส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วยข้ออ้างว่า “ รับไม่ได้กับการตัดสินของ กกต. และไม่ต้องการต่อสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญ อยากให้ทุกอย่างจบลงแค่นี้ จะได้มีเวลาทำงานในตำแหน่งรองนายกฯรับใช้ชาติบ้านเมืองให้เต็มที่ “ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์หลายแง่มุม ฝ่ายหนึ่งบอกว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ แสดงสปิริตถูกต้องแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่านายสุเทพทำไม่ถูก เพราะเหมือนกับเอาตัวรอดและทำให้ภาพลักษณ์ กกต.เสียหาย คนในพรรคประชาธิปัตย์ออกมาช่วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยบอกว่า “นายสุเทพถือหุ้นบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นเพียงเล็กน้อยและถือมาก่อนหน้าเข้าร่วมรัฐบาล พอรู้ว่าผิดก็รีบขายทิ้งจึงไม่มีส่วนได้เสียอะไรกับหุ้นตัวนี้” คำพูดดังกล่าวทำให้มีคนโต้แย้งว่า พูดอย่างนี้เหมือนเอาสีข้างเข้าถู เพราะไม่ว่าจะถือหุ้นมากหรือน้อย หรือถือหุ้นมานานเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเป็นความผิดก็ต้องรับผิดโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ดังนั้นการอ้างพอรู้ว่าทำผิดก็รีบขายหุ้นทิ้งจึงฟังไม่ขึ้น เนื่องจากความผิดนี้เป็นความผิดที่ทำสำเร็จแล้ว และมีบางเสียงตั้งคำถามว่า ถ้าส.ส.หรือส.ว.ทำผิดจนถูกเพิกถอนสมาชิกภาพ ทำให้กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ทำไมจึงไม่ให้ส.ส.หรือ ส.ว.ที่ทำผิดจ่ายค่าเลือกตั้งซ่อม นั่นเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน แต่มีประเด็นที่น่าคิดก็คือ การลาออกจากส.ส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะทำให้พ้นผิดและเรื่องยุติลงจริงหรือ ประเด็นนี้ทำให้ต้องเปิดดูรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 48 เขียนไว้ชัดเจนว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว” คำว่า”ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”ครอบคลุมกว้างมาก และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ก็ทำธุรกิจโทรคมนาคมและเคเบิลทีวี ดังนั้นกรณีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงน่าจะเข้าข่ายขัดต่อมาตรา 48 รัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหลายมาตรา เช่นมาตรา 265 ห้ามส.ส.และ ส.ว.รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการหรือเข้าเป็นคู่สัญญา ในกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐจาก หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน มาตรา 267 กับ 268 เขียนไว้ว่า ให้นำมาตรา 265 มาบังคับใช้กับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีด้วย เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ ในการบริหารราชการตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา 269 บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นต่อไป ทั้งนี้ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่อยากคงหุ้นไว้ให้นายกฯและรัฐมนตรีผู้นั้น แจ้งให้ประธานป.ป.ช.ทราบใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้นให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นเป็นผู้ดูแลทำการแทน บทบัญญัตินี้ให้บังคับใช้กับคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย มาตรานี้ทำให้นายไชยา สะสมทรัพย์ ต้องพ้นจากรมว. สาธารณสุขมาแล้ว
วิทยา ตัณฑสุทธิ์22/7/2552