ที่มา มติชน ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีการประชุมแสดงความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปและตรวจสอบหาความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 โดยยกกรณีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ในวันที่เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนิน จนเหตุการณ์รุนแรงลุกลามทำให้ทั้งสองฝ่าย คือ พลเรือนและทหาร เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในการประชุมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ ทาง คอป. ได้เชิญตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ "เอ็บบีที" มาแสดงความคิดเห็นในฐานะสื่อที่ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น มีรายการวิพากษ์วิจารณ์ มีการออกแถลงการณ์ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานกาณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) และภาพเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นสื่อหลักที่ประชาชนคอยติดตามข่าวในช่วงเวลานั้น นายปริย นวมาลา เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที ได้กล่าวในประชุมสะท้อนภาพการทำงานของสื่อเอ็นบีทีว่า รัฐบาลพยายามที่จะใช้ สื่อ คือ เอ็นบีที ไม่ว่าจะเป็นข้อความตัววิ่งหน้าจอหรือการจัดเวทีสนทนาจะต้องเชิญวิทยากรที่คิดเหมือนกับรัฐบาลมาแสดงความเห็นผ่านโทรทัศน์ โดยที่ผู้จัดไม่สามารถหาคนที่เป็นกลางหรือฝ่ายที่คิดเห็นแบบเดียวกับเสื้อแดงมาออกรายการได้ เพื่อที่จะโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมเหมือนเป็นการราดน้ำมันลงในกองไฟ ซึ่งเอ็นบีทีกลายเป็นสื่อที่จุดชนวนความรุนแรงให้เกิดขึ้น นายปริย กล่าวว่า ความรุนแรงมาจากตรงนี้ส่วนหนึ่งรัฐบาลหลีกเลี่ยงได้ แต่เลือกที่จะมองประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นศัตรูของตัวเอง ทำให้นำพาเหตุการณ์ไปสู่ความรุนแรง ถ้า คอป.จะไปเจาะข้อมูลจากบุคลากรในสถานี เชื่อว่า 90 เปอร์เซนต์ไม่มีใครกล้าพูด เหตุผลก็น่าจะทราบว่าพวกตนรับเงินเดือนจากรัฐบาล แต่ส่วนตัวเห็นใจประชาชนจึงกล้าออกมาพูดเช่นนี้
รับชมข่าว VDO
"รัฐบาลพยายามใช้องค์กรของผม ถ้าสังเกตจากตัววิ่งที่ขึ้นหน้าจอ จะเห็นว่ามีข้อความด่าคนไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ที่คิดไม่เหมือนกับรัฐบาล ในรายการสนทนาทางผู้จัดทำรายการที่จะเชิญวิทยากรมาพูดถึงความรุนแรงในช่วงนั้น ไม่สามารถที่จะเชิญนักวิชาการที่มีความเป็นกลางหรือความคิดเห็นทางฝ่ายเสื้อแดงได้ คือ พูดง่ายๆ ระบุมาแล้วว่า จะต้องเอาคนที่คิดเหมือนรัฐบาลเท่านั้น เพื่อมาแสดงความคิดเห็นโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มประชาชนที่เห็นแตกต่างจากรัฐบาล ตรงนั้นเป็นส่วนที่เหมือนกับการราดน้ำมันลงไปในกองไฟ รัฐบาลเองก็ไม่ได้ใช้สมอง ในการเลือกหนทางที่จะแก้ปัญหาให้ถูกต้อง" นายปริย กล่าว
"ทำไมผมถึงพูดแบบนี้เพราะว่าองค์กรของผมได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็น ระเบิดเอ็ม 79 ก็ยอมรับว่า บางรายการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์ เจ้าหน้าที่จากหลายฝ่ายยอมรับว่า บุคลากรและเจ้าหน้าที่ก็เป็นบุคคลที่น่าเห็นใจ ไม่ว่ารัฐบาลใดจะมาก็ต้องทำไปตามเนื้อหาที่รัฐบาลต้องการ เพราะว่าสื่อที่ผมทำงานอยู่ก็เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความรุนแรง มีมุมตรงนี้ในเบื้องต้น " นายปริย กล่าว